วันอาทิตย์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

กว่าจะมาเป็น 5 บทความ "พระมหากษัตริย์นักออม เดอะซีรีย์"




พระมหากษัตริย์นักออม.jpg


ที่มาของบทความ “พระมหากษัตริย์นักออม เดอะซีรีย์” ทั้ง 5 เรื่องนี้ เราอยากเขียนเก็บไว้เป็นไดอารี่เส้นทางการเขียนว่ากว่าจะเขียนเสร็จต้องผ่านอะไรมาบ้าง แต่สิ่งที่เราทำมาทั้งหมดนี้ก็ยังน้อยกว่าเรื่องราวที่ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงทำให้ปวงชนชาวไทย 

เราอยากเป็นส่วนหนึ่งในหน้าประวัติศาตร์ที่เก็บรวบรวมเรื่องราวและแนวคิดของพระองค์ท่านไว้ในรูปแบบออนไลน์ เพื่อให้คนรุ่นหลังได้มีข้อมูลเพื่อค้นคว้าต่อไป



เรื่องนี้มีจุดเริ่มต้นในปี 2558


วันที่ 31 ตุลาคมของทุกปีเป็นวันออมแห่งชาติที่ส่งเสริมให้คนไทยมีนิสัยรักการออม ให้ความสำคัญและประโยชน์ของการออมเงิน ในช่วงต้นเดือนตุลาคม เราคิดจะเขียนบทความที่เป็นแรงบันดาลใจเกี่ยวกับการออมที่คนอ่านแล้วเห็นภาพชัด เข้าใจง่ายและที่สำคัญทำได้จริง นั่นซิจะหาใครดีล่ะ

ติ๊กต๊อก ติ๊กต๊อก!! ระหว่างที่กำลังหาคนสร้างแรงบันดาลใจ เราก็เปิด FB สไลด์หน้าจอไปเรื่อยๆ ก็สังเกตเห็นว่าเพื่อนหลายๆคนชอบแชร์คำคมหรือแนวคิดของคนที่มีชื่อเสียง เช่น สตีฟจ๊อบ , วอร์เรนบัฟเฟตต์ , ลีกาซิง , มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก , แจ๊กหม่า เราดูไปเรื่อยๆก็เกิดคำถามว่า


ทำไมไม่เห็นมีคนไทยบ้างเลย?


แล้วอยู่ดีๆก็มีใบหน้าของบุคคลหนึ่งแว๊บเข้ามาในหัวเรา ปิ้ง!! ภาพนั้นคือ “ในหลวง รัชกาลที่ 9” จำได้ว่าเคยอ่านเรื่องราวของพระองค์ท่านเกี่ยวกับหลอดยาสีพระทนต์ที่แบนเรียบ ฉลองพระบาทที่ซ่อมแล้วซ่อมอีก ใช่เลย!! นี่แหละแบบอย่างการออมของคนไทย



เป้าหมายเพื่อ…..

เราต้องการเก็บข้อมูลแนวคิดและวิธีการปฎิบัติของพระองค์ท่านจากที่ต่างๆไว้ในที่เดียวกัน ในรูปแบบออนไลน์ เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เข้ามาศึกษาค้นคว้า นำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันของตัวเองและแสดงความรักด้วยการ “ลงมือทำ” ตามคำสอนของพระองค์ท่าน




รวบรวมข้อมูลครั้งแรก

ส่วนตัวมีความเชื่ออยู่อย่างหนึ่งว่า สิ่งที่ทำไปในอดีตนั้นส่งผลถึงปัจจุบันและอนาคต การที่พระองค์มีแนวคิดการใช้เงินที่ประหยัดและออมเงิน อย่างที่พวกเราเห็นทุกวันนี้ มาจากคำสอนของสมเด็จย่า ทำให้เรารู้ว่าควรหาข้อมูลอะไรบ้าง วิธีเริ่มหาข้อมูลด้วยวิธีที่ง่ายที่สุด คือ google  

เปิดไปหลายสิบเว็บ อ่านไปเรื่อยๆรู้สึกว่ามีแต่เรื่องซ้ำๆกัน อืมมม มันต้องมีมากกวา่นี้ซิ เราก็เลยไปหาหนังสืออ่านเพิ่มเติมที่ “หอสมุดแห่งชาติ” โชคร้ายที่หอสมุดยังต่อเติมไม่เสร็จ กว่าจะใช้งานได้ทั้งหมดก็กลางปี 2560 มีหนังสือให้อ่านน้อยกว่าที่คิดไว้ ทำให้เราหาข้อมูลได้ไม่เต็มที่ 

เปิดหนังสืออ่านไปหลายสิบเล่ม ได้ข้อมูลใหม่มาบ้าง พอรวบรวมข้อมูลได้มากพอแล้วก็เริ่มเขียน จนออกมาเป็นบทความ “พระมหากษัตริย์นักออมเงิน” 



พระมหากษัตริย์นักออมเงิน.jpg
ลิงค์บทความแรก http://www.aommoney.com/?p=14069



เราแบ่งการเขียนออกเป็น 2 ส่วน โดยเริ่มจากส่วนแรกจะข้อมูลที่ไปค้นคว้ามา มีทั้งแนวคิดและสิ่งที่พระองค์ทรงปฏิบัติ ส่วนที่สองจะเป็นวิธีการนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน แบ่งออกเป็น 5 เรื่อง คือ

เรื่องที่ 1  สมเด็จย่าทรงสอนวิธีจัดการเงิน
เรื่องที่ 2 เก็บออมเงินเพื่อซื้อของใช้ส่วนพระองค์
เรื่องที่ 3 การสร้างรายได้และการให้
เรื่องที่ 4 การประหยัด
เรื่องที่ 5 เงินค่าไถ่บ้านเมืองของรัชกาลที่ 3 (เงินถุงแดง)

เราเขียนบทความในเว็บออมมันนี่ http://www.aommoney.com/?p=14069 เสร็จแล้วก็โพสต์ไว้ที่เพจอภินิหารเงินออมใน https://www.facebook.com/miracleofsaving/ ในวันออมแห่งชาติปี 2558




การบริจาคสเต็มเซลล์ในปี 2559

 หลายปีที่แล้วเราเคยบริจาคเลือดและสมัครเป็นผู้บริจาคสเต็มเซลล์ซึ่งเป็น เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต (Stem Cell)ที่จะกลายเป็นเม็ดโลหิตแดง เม็ดโลหิตขาว และเกล็ดโลหิตต่อไป หาคนที่มีสเต็มเซลล์ตรงกันยากมาก แม้แต่ครอบครัวเดียวกันก็ยังไม่ตรงกัน ถ้าเจอนี่เรียกว่าคู่แท้กันเลยทีเดียว

ช่วงต้นปี 59 มีเจ้าหน้าที่ของสภากาชาดก็โทรกลับมาถามว่ามีผู้ป่วยชาวต่างชาติท่านหนึ่งเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉีบบพลัน ต้องการขอรับบริจาคสเต็มเซลล์จากเรา หมอไปค้นหามาหลายประเทศแล้วก็มาเจอว่าใกล้เคียงกับเรา เขาถามว่าตอนนี้ยังพร้อมที่จะบริจาคหรือไม่ แล้วเจ้าหน้าที่ก็เล่าวิธีและขั้นตอนการบริจาค เพื่อให้เราตัดสินใจ


---------------------------------------------------------------------------------------
มีบริจาค 3 วิธีคือ

  1. เจาะเส้นเลือดดำที่แขน
  2. การบริจาคไขกระดูก วิธีนี้เสียเลือดเยอะและใช้เวลาพักฟื้นนาน
  3. เจาะเส้นเลือดดำที่บริเวณคอ

ก่อนที่จะเริ่มบริจาคก็จะต้องเก็บเลือดเพิ่มว่าเรากับคนไข้ตรงกันเกือบ 100% หรือไม่ แล้วไปตรวจสุขภาพชุดใหญ่ที่ รพ.จุฬา เพื่อให้แพทย์ตรวจและรับรองว่าสุขภาพของเราแข็งแรงพอที่จะให้บริจาคได้ ก่อนวันบริจาค 5 วันจะต้องฉีดยากระตุ้นให้สเต็มเซลล์ออกมาจากไขกระดูก

วิธีการเก็บสเต็มเซลล์เหมือนการฟอกไต โดยเอาเลือดออกจากร่างกายแล้วเข้าเครื่องสกัดสเต็มเซลล์ จากนั้นเลือดที่เหลือก็จะกลับเข้าสู่ร่างกาย วนแบบนี้จนกว่าจะได้ครบตามปริมาณที่ต้องการ 

ดังนั้น ก่อนวันบริจาคจะต้องมานอนพักในห้องปลอดเชื้อที่โรงพยาบาล 1 คืน แล้วตอนเช้าก็จะมีรถตู้ขับไปส่งที่สภากาชาด ทั้งหมดนี้จะมีเจ้าหน้าที่จากสภากาชาดมาช่วยดูแลให้ เราไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไรเลย

 ---------------------------------------------------------------------------------------


ฟังจบแล้วอึ้ง!! สมองเบลอไปสักพัก มันต้องขนาดนี้เลยหรอเนี่ย เจ็บตัวสุดๆ แล้วปลายสายก็พูดกลับมาว่า “เรายังจะสมัครใจบริจาคอยู่อีกหรือไม่” เอาวะ มาถึงจุดนี้ล่ะ ตั้งใจจะบริจาคแล้วก็ต้องไปให้สุดทาง สูดลมหายใจลึกๆแล้วตอบกลับไปว่า “ตกลงค่ะ”

วันที่เราเข้าไปที่สภากาชาดเพื่อเข้าไปเก็บตัวอย่างเลือดเพิ่ม เจ้าหน้าที่ก็บอกว่าหลังจากการบริจาคครั้งนี้ เราจะได้รับประกันชีวิต ตรวจสุขภาพฟรี 10 ปี และได้รับเข็มสภากาชาดจากพระหัตถ์ของพระเทพฯ จุดพีคอยู่ตรงนี้แหละ ได้เข้าเฝ้าพระเทพฯ ด้วยอ่ะ มันตื่นเต้นและดีใจมากๆ แล้วก็คิดว่าจะต้องมีอะไรบางอย่างไปถวายท่านให้ได้ 


วันที่ 13 ตุลาคม 2559

มีแถลงการรณ์จากสำนักพระราชวังว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคต เป็นวันที่เศร้าจนเราทำอะไรไม่ถูก แต่ทุกอย่างมันต้องทำต่อไป ตอนนั้นมีเรื่องราวของพระองค์ท่านมากมายถูกแชร์ทางสื่อออนไลน์ รวมทั้งบทความ “พระมหากษัตริย์นักออมเงิน” ด้วย เราจึงคิดที่จะทำบทความนี้ให้เป็นรูปเล่มเพื่อถวายพระเทพฯ




รวบรวมและเรียบเรียงข้อมูลครั้งที่สอง

เรามีเวลาเก็บรวบรวมข้อมูลและเรียบเรียงให้เสร็จประมาณ 1 เดือน

ตัวอย่างแหล่งข้อมูล

  1. อ่านหนังสือเจ้านายเล็กๆยุวกษัตริย์
  2. หาข้อมูลที่หอสมุดแห่งชาติ ครั้งนี้มีการจัดมุมพิเศษที่เป็นหนังสือเกี่ยวกับ ในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยเฉพาะ ทำให้เราหาหนังสืออ่านง่ายขึ้น ใช้เวลาครึ่งวัน เปิดอ่านอยู่หลายเล่มได้ข้อมูลมาบ้าง แต่ยังไม่จุใจ
  3. ไปหอสมุดกลางที่จุฬา เจอข้อมูลอะไรน่าสนใจมาเยอะมาก
  4. ดูคลิปต่างๆในยูทูป เช่น ลิงค์ https://www.youtube.com/watch?v=Sl2Bf4gjZFw&index=6&list=PL9WEcJOIXshGTpPpvAVv1PNlPly1Si1h7


แผ่นดินวัยเยาว์.jpg


หลังจากรวบรวมข้อมูลมาได้พอสมควรแล้วเราก็นำมาเรียบเรียงใหม่ ตามโครงเรื่องเดิม เราทำเป็นเล่มได้ประมาณ 40 หน้านิดๆปริ๊นใส่กระดาษ A4 เตรียมนำไปเข้าเล่ม




ยกเลิกการบริจาคสเต็มเซลล์

ก่อนวันบริจาคประมาณ 1 สัปดาห์เจ้าหน้าที่สภากาชาดโทรมาบอกเราว่า ตอนนี้คนไข้อาการทรุดหนัก ร่างกายไม่แข็งแรงพอที่จะรับการรักษาด้วยสเต็มเซลล์ได้ ในใจเราก็สวดมนต์ให้คนไข้ไม่เจ็บปวดมากไปกว่านี้ เมื่อทุกอย่างถูกยกเลิก เราก็อดเข้าเฝ้าพระเทพฯไปด้วย เฮ้อ...เศร้าเลย สุดท้ายต้นฉบับที่ทำไว้ก็เป็นอันยุติ เก็บเข้ากรุไป




ถูกก๊อปปี้ผลงาน

วันหนึ่งเราเปิด Facebook เปิดหน้าฟีดอ่านไปเรื่อยๆก็ต้องมาสะดุดกับโพสต์รูปภาพของบริษัทขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง มันรู้สึกคุ้นๆอย่างบอกไม่ถูก ยิ่งอ่านก็ยิ่งใช่ มันเหมือนจริงๆ แล้วเราก็ลองเปิดบทความ "พระมหากษัตริย์นักออมเงิน" ก็ถึงบางอ้อ นี่มันข้อความที่เราเขียนไว้เป๊ะเลย

เราเขียนบทความฟรี แต่คนที่ก๊อปปี้งานไปใช้เขาได้เงิน ทำไมเขาหากินกันง่ายจัง ตอนนั้นก็สูดหายใจเข้าลึกๆแล้วแคปหน้าจอเก็บหลักฐานไว้ เราไม่รู้จะทำยังไงเพราะไม่เคยเจอเรื่องแบบนี้ ก็เลยโพสต์ระบายไว้ใน Facebook ส่วนตัว

ปรากฎว่าพี่ที่รู้จักในบริษัทแห่งนั้นมาเห็น เขาก็รีบโทรมาเล่าเรื่องโพสต์เจ้าปัญหานั้นให้ฟัง แล้วถามว่าจะให้เขาจัดการยังไงบ้าง เป้าหมายของเราต้องการเตือนว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นไม่ถูกต้อง ไม่ต้องการเรียกร้องค่าปรับอะไรทั้งนั้น เพราะเราตั้งใจเขียนเรื่องนี้ฟรี ไม่คิดจะหารายได้

สรุปว่าเรื่องนี้พี่เขาเครียให้จบแล้ว เรารับคำขอโทษเรียบร้อยแล้ว

แต่ว่า...มันยังมีต่อ

ครั้งนี้มีคนก๊อปปี้งานเขียนของเราประมาณ 5 เรื่องไปทำรายการทีวี เราเขียนงานฟรีมาแทบตาย แต่สุดท้ายคนอื่นได้ผลงาน ได้เงินไปใช้ซะงั้น มันก็ปรี๊ดซิจ๊ะ แล้วบทความ "พระมหากษัตริย์นักออมเงิน" ก็เป็นหนึ่งในเรื่องที่ถูกก๊อบด้วย ตอนนี้ก็รออยู่ว่าจะหาทางออกยังไงต่อไป



ก้มหน้าแล้วเขียนงานต่อไป

ถูกก๊อบงานบ่อยๆแบบนี้มันก็มีท้อใจบ้างนะ ว่าทำไมคนอื่นเขาหากินกันง่ายจัง เอาผลงานเราไปหารายได้ให้ตัวเอง แต่ก็มานั่งคิดอีกมุมนึงว่าแสดงว่าของเราดีก็เลยถูกก๊อบ ตอนนั้นเราระบายความโกรธด้วยการเข้าฟิตเนสออกกำลังกาย คงหนักมากไปหน่อยก็เลยปวดแขน ปวดขาไปหมด จากนั้นก็ไปกินของอร่อยๆให้สบายใจ นอนพักอีกสักคืนค่อยกลับมาคิดว่าจะทำไงดี

ตื่นเช้ามาบรรลุเลย สมองมันคิดให้ว่าเราไม่ควรเลิกงานเขียนเพราะคนมักง่ายแค่ไม่กี่คนที่มาก๊อบงานของเรา แต่เราควรเขียนเพื่อคนอ่านอีกหลายแสนคนน่าจะดีกว่า เราจะไม่เสียเวลากับคนก๊อบงานอีกต่อไป จะตั้งใจเขียนให้มันดีขึ้นเรื่อยๆ ใช้เวลาไปหาอะไรใหม่ๆสนุกๆเขียนดีกว่า

เราทำภาพนี้แปะไว้ที่เพจอภินิหารเงินออม






เผยแพร่ออนไลน์

เมื่อตั้งใจเขียนแล้วก็ต้องไปให้สุดทาง เราเป็นบล็อกเกอร์เขียนงานออนไลน์อยู่แล้ว ก็ใช้ช่องทางที่เราถนัดนี่แหละในการเผยแพร่ผลงานเป็นรูปแบบออนไลน์ เพื่อให้คนที่สนใจเข้ามาอ่านได้ฟรี แล้วรู้วิธีว่าควรนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันอย่างไร ส่วนตัวคิดว่าแม้ว่าเราจะตายไปแล้ว แต่ผลงานออนไลน์นี้ยังคงอยู่ตลอดไป


บทความทั้งหมดอยู่ลิงค์ข้างล่างนี้แล้วนะจ๊ะ


สมเด็จย่าทรงสอนวิธีจัดการเงิน.jpg
ลิงค์บทความ http://www.aommoney.com/?p=22623


ทรงเก็บออมเงินเพื่อซื้อของใช้ส่วนพระองค์.jpg
ลิงค์บทความ http://www.aommoney.com/?p=22670


การสร้างรายได้และการให้.jpg
ลิงค์บทความ http://www.aommoney.com/?p=22778

การประหยัด.jpg
ลิงค์บทความ http://www.aommoney.com/?p=22802


เงินถุงแดงไถ่บ้านเมือง.jpg
ลิงค์บทความ http://www.aommoney.com/?p=22820




ผลงาน 5 เรื่องนี้เป็นสิ่งที่เราภาคภูมิใจที่สุดในชีวิต ที่นักเขียนตัวเล็กๆคนหนึ่งทำตอบแทนพระองค์ท่านได้ โดยการนำแนวคิดและคำสอนของพระองค์ท่าน มาเรียบเรียงและเผยแพร่ในรูปแบบออนไลน์ เพื่อให้ลูกหลานของเราได้รับแบบอย่างที่ดีและจะได้เดินตามรอยเท้าพ่อตลอดไป 


แล้วไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราก็จะเขียนงานของเราต่อไป ^^




แอดมินเพจอภินิหารเงินออม