วันเสาร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2557

วิธีเก็บเงินไปท่องเที่ยว


การออกเดินทางท่องเที่ยวเพื่อเรียนรู้โลกของความแตกต่างจะทำให้เราได้มุมมองใหม่ๆในการใช้ชีวิตมากขึ้น ถ้าน้ำในอ่างหยุดนิ่งไม่ไหลเวียนอีกไม่นานมันก็เน่า เหมือนชีวิตที่คงอยู่กับที่เดิมๆ สิ่งแวดล้อมเช่นเดิมก็จะมีแต่มุมมองในการใช้ชีวิตเช่นเดิม ที่รอวันจะร่วงโรยตามกาลเวลา การออกไปเผชิญกับสิ่งแปลกใหม่จะทำให้สมองได้ออกกำลัง หัวใจได้เต้นแรงจากการรับรู้สิ่งที่ไม่คุ้นเคยจะทำให้เรารู้สึกสดชื่นและมีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้งนึง

ถึงเวลาแล้วที่เราต้องใช้เงินเพื่อสร้างประสบการณ์กับโลกใบเดิมในมุมที่เปลี่ยนไป เราทุ่มเทเวลาให้กับการหาเงินโดยที่ร่างกายไม่ได้พักผ่อนมากี่ปีแล้ว ดังนั้นเราก็ควรแบ่งเวลาเพื่อให้ร่างกายได้ผ่อนคลายจากการท่องเที่ยวบ้าง การเก็บเงินไปเที่ยวนั้นไม่ยากอย่างที่คิด เพียงแต่เราควรรู้วิธีว่าควรเก็บอย่างไร

ออกแบบภาพโดย : www.facebook.com/richsalaryman

บทความนี้มีวิธีการเก็บเงินไปท่องเที่ยวมาแนะนำซึ่งจะแบ่งเป็น 2 วิธี คือ
  • การทะยอยเก็บเงินทุกเดือน
  • การเก็บเงินก้อนเดียว 
โจทย์เพื่อเก็บเงินไปท่องเที่ยวของเรามีอยู่ว่า ==> เราต้องการเก็บเงินไปเที่ยวต่างประเทศในอีก 10 เดือนข้างหน้า ด้วยงบประมาณ 40,000 บาท โดยระหว่างที่เก็บเงินควรตรวจสอบโปรโมชั่นตั๋วเดินทางราคาประหยัดเป็นระยะๆเพื่อที่จะทำให้ต้นทุนในการท่องเที่ยวลดลง จะได้มีเงินเหลือไปกินของอร่อยหรือช้อปปิ้งมากขึ้น

ส่วนใหญ่แล้วสายการบินทั่วไปจะเปิดให้จองตั๋วเครื่องบินจองล่วงหน้าก่อนเดินทางได้ 6-12 เดือน ยิ่งจองเร็วราคายิ่งถูก ซึ่งเราอาจจะต้องถอนเงินออกมาบางส่วนเพื่อมาจ่ายค่าตั๋วเดินทางก่อนครบกำหนดเก็บเงิน 10 เดือน ดังนั้นควรวางแผนเก็บเงินให้ตรงกับช่วงเวลาใช้เงิน ทั้งนี้เงื่อนไขในการจองตั๋วตามโปรโมชั่นหรือตั๋วราคาถูกของแต่ละสายการบินไม่เหมือนกัน เช่น ราคาแตกต่างกัน เงื่อนไขการเปลี่ยนวันเดินทาง ดังนั้นเราควรเลือกเงื่อนไขที่เหมาะสมกับตนเองมากที่สุด

ตัวอย่างเว็ปเปรียบเทียบโปรโมชั่น

เรามาเริ่มเก็บเงินไปท่องเที่ยวกันเลยนะคะ ^_^

วิธีที่ 1 คือ การทะยอยเก็บเงินทุกเดือน
วิธีนี้เหมาะกับผู้ที่ชอบทะยอยสะสมเงินที่ละนิดและไม่อยากให้เงินไปเที่ยวนั้นสร้างภาระในการดำรงชีพมากเกินไป โดยเก็บเงินในสินทรัพย์ทางการเงินที่ที่ความเสี่ยงต่ำเป็นหลัก เช่น เงินฝากออมทรัพย์ กองทุนรวมตราสารหนี้ โดยเก็บเดือนละ 40,000/10 = 4,000 บาท
  • เงินฝากออมทรัพย์ เราควรเปิดบัญชีเพื่อการท่องเที่ยวแยกต่างหากไม่ควรปะปนกับรายการทางการเงินอื่นเพื่อกันความสับสน เมื่อเงินเดือนเข้าบัญชีเราก็โอนเงินไปเก็บไว้บัญชีเพื่อการท่องเที่ยวทันที เป็นการสร้างวินัยทางการเงินอีกแบบหนึ่งเพื่อที่จะได้ไปเที่ยวได้ตามที่ตั้งใจไว้ ทำแบบนี้ทุกเดือนจนครบ 
    • วิธีนี้เงินต้นอยู่ครบ ส่วนดอกเบี้ยก็อาจจะต้องดูบัญชีที่เราฝากว่ามีวิธีจ่ายดอกเบี้ยแบบไหน
  • กองทุนรวมตราสารหนี้ การออมเงินประเภทนี้เราไปเปิดบัญชีกองทุนรวมที่ธนาคารหรือบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน โดยให้เจ้าหน้าที่แนะนำว่ามีกองทุนตราสารหนี้แบบใดบ้าง ผลตอบแทนเฉลี่ยเท่าไหร่ เมื่อเลือกกองทุนที่เหมาะสมกับความเสี่ยงแล้วเราก็ใช้วิธีผูกบัญชีเงินเดือนของเรากับบัญชีกองทุนรวมตราสารหนี้(ควรเป็นธนาคารเดียวกัน) เมื่อเงินเดือนเราออกก็จะถูกตัดมาซื้อหน่วยลงทุน ทำแบบนี้ทุกเดือนจนกระทั่งถึงจำนวนที่ต้องการจึงขายหน่วยลงทุน โดยเงินจากการขายหน่วยลงทุนจะได้รับในวันถัดไป ไม่เหมือนกับถอนเงินฝากออมทรัพย์ที่ถอนแล้วได้เงินทันที 
    • วิธีนี้เงินต้นอยู่ครบและอาจจะได้รับผลตอบแทนจากส่วนต่างของหน่วยลงทุนนิดหน่อย(ขึ้นอยู่กับการเลือกกองทุนรวม) 
    • ความเสี่ยงของวิธีนี้อยู่ที่ผู้ออกตราสารหนี้ ดังนั้นควรศึกษาก่อนว่ากองทุนลงทุนกับตราสารหนี้ชนิดใดบ้าง ผู้ออกตราสารหนี้เป็นใคร มีแนวโน้มว่าจะเบี้ยวหนี้หรือไม่
วิธีที่ 2 คือ การเก็บเงินก้อนเดียว
วิธีนี้เหมาะกับผู้ที่มีเงินก้อน(เช่น เงินโบนัส) ต้องการได้รับผลตอบแทนที่มากกว่าวิธีที่ 1 โดยจะเก็บเงินในสินทรัพย์ทางการเงินที่มีระยะเวลาแน่นอน ถอนเงินระหว่างทางไม่ได้ มีเงื่อนไขการฝากเงินขั้นต่ำ เช่น การฝากประจำดอกเบี้ยสูงแบบกำหนดระยะเวลา กองทุนทริกเกอร์ฟันด์
  • เงินฝากประจำ ธนาคารแต่ละแห่งจะจูงใจผู้ฝากเงินด้วยอัตราดอกเบี้ยสูง ควรตัดสินว่าจะฝากกับที่ไหน ให้มองช่วงเวลาถอนเงินเป็นสำคัญ เช่น เงินฝากประจำ 3 เดือนดอกเบี้ย 2% ต่อปีของธนาคารXXXXX หมายความว่า เราฝากเงิน 40,000 บาทกับธนาคาร XXXXX รูปแบบเงินฝากประจำ 3 เดือน พอถึงวันครบกำหนด 3 เดือนเราจะได้รับเงินฝากคืนพร้อมดอกเบี้ย ซึ่งดอกเบี้ยนั้นจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ดังนั้นดอกเบี้ยที่เราจะได้รับจึงไม่ถึง 2% ต่อปีเพราะถูกหักภาษีดอกเบี้ย 
    • เราสามารถค้นหาโปรโมชั่นการฝากประจำได้ในเว็ปของธนาคารหรือเว็ปเปรียบเทียบราคา ซึ่งเราควรเลือกวิธีการฝาก-ถอนให้เหมาะสมกับเป้าหมายเก็บเงินเพื่อการท่องเที่ยวของเราให้มากที่สุด
เว็ปตัวอย่างการเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก

  • กองทุนทริกเกอร์ฟันด์ เป็นกองทุนรวมอีกประเภทหนึ่งที่เป็นการลงทุนระยะสั้นถึงกลางโดยใช้ประโยชน์จากความผันผวนของตลาดหุ้น ซึ่งมีนโยบายในการลงทุน ความเสี่ยงและเงื่อนไขการปิดกองทุนแตกต่างกัน ดังนั้นเราควรเลือกกองทุนที่ตรงกับเป้าหมายการออมเงินเพื่อการท่องเที่ยวของเรามากที่สุด โดยศึกษา "หนังสือชี้ชวน" ให้เข้าใจก่อนการลงทุน ตัวอย่างกองทุนรวมทริกเกอร์ฟันด์   
    • "กองทุนเปิดทิสโก้ ไทย อิควิตี้ ทริกเกอร์ 8% กองที่ 12 ลงทุนในหุ้นไทย ตั้งเป้าผลตอบแทนที่ 8% ไม่กำหนดอายุโครงการ โดยจะเลิกกองทุนหากผลตอบแทนถึงเป้าหมาย 8% ซึ่งกองทุนนี้ใช้เวลาปิดกองทุนเพียง 2 สัปดาห์ " 
      • ความเสี่ยง คือ เป้าหมายผลตอบแทนที่ 8% ถ้าทำไม่ได้ก็จะไม่ปิดกองทุน ก็หมายความว่าเงินก้อนนั้นของเราอาจจะไม่ได้ใช้ตามเวลาที่กำหนดในอีก 10 เดือนข้างหน้าก็ได้ แต่ถ้าเป็นไปตามเป้าหมาย 8% ก็อาจจะได้รับเงินเร็วกว่าที่คาดไว้
    • "กองทุนเปิดกรุงไทย 5% ทริกเกอร์ฟันด์ 2 จะเลิกโครงการโดยอัตโนมัติเมื่อหน่วยลงทุนไม่ต่ำกว่า 10.5555 บาทเป็นเวลา 3 วันทำการติดต่อกัน และหากไม่สามารถทำผลตอบแทนได้ภายใน 6 เดือนบริษัทจะรับซื้อคืนหน่วยลงทุน"
      • ผลตอบแทนอาจจะไม่สูงเท่ากองทุนอื่น แต่ก็สามารถขายหน่วยลงทุนคืนได้แม้ว่าไม่ถึงเป้าหมาย ทั้งนี้ควรศึกษาหนังสือชี้ชวนเพิ่มเติมเกี่ยวกับเงื่อนไขอื่นๆให้เข้าใจก่อนการลงทุน
ตัวอย่างข่าวการเปิดขายกองทุนทริกเกอร์ฟันด์


ข่าวล่าสุดเกี่ยวกับกองทุนทริกเกอร์ฟันด์ จาก นสพ.ทันหุ้น (27 ม.ค. 57)
"มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ทฯ เผยทริกเกอร์ฟันด์ปีที่ผ่านมา 90 กองทุน ส่วนใหญ่ 70% ขาดทุนยับ เหลือแค่ 30% ทำกำไรตามเป้า"

==> เราควรติดตามข่าวสารต่างๆของกองทุนก่อนสินใจในการลงทุน สามารถติดตามเรื่องกองทุนได้ที่ www. morningstarthailand.com


ส่วนวิธีที่ไม่อยากจะแนะนำสำหรับผู้ที่ยังไม่มีวินัยทางการเงินที่ดีพอหรือยังชักหน้าไม่ถึงหลัง เราไม่ควรรูดบัตรเครติดที่เป็นเงินในอนาคตมาใช้เพื่อแลกกับการท่องเที่ยว บางคนเจอโปรโมชั่นรูดบัตรเครดิตมากๆมีสิทธิ์ลุ้นบินฟรีเที่ยวต่างประเทศ ประเด็นคือต้องรูดเท่าไหร่หละถึงจะได้บินฟรี ถ้าประสบการณ์จากการท่องเที่ยวนั้นทำให้วินัยทางการเงินของเราล้มเหลวหละก็ไม่ควรทำ เพราะจะทำให้ครอบครัวเสียหาย มีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งทางด้านการเงินก็ได้ มันได้ไม่คุ้มเสียเลยจริงๆ -_-!!


เที่ยวให้พอดีกับเงินในกระเป๋า 
แล้วชีวิตเราจะไม่ลำบาก


===============================================================

ขอขอบคุณประสิทธิ์ เจ้าของบริษัท Panorama Travel ผู้ใจดีที่ช่วยตรวจสอบข้อมูลการเดินทางไปต่างประเทศ โดยแนะนำเนื้อหาที่ต้องแก้ไขเพื่อความถูกต้องของข้อมูล ทางบล็อกอภินิหารเงินออมขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้ด้วยค่ะ





วันอาทิตย์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2557

เปลี่ยนความกลัวเป็นความท้าทาย




ถ้าพูดถึงความกลัวว่าหน้าตาเป็นแบบไหน แล้วทำไมเราต้องกลัวมันด้วย ถ้าจะให้นิยามความกลัวว่าเป็นอย่างไร เราไม่ต้องมองอื่นไกล เดินไปดูที่หน้ากระจกก็จะรู้ว่าความกลัวหน้าตาเหมือนคนที่อยู่ในกระจกนั่นแหละ เพราะความกลัวก็คือความคิดของเราเอง โดยที่ความคิดของคนอื่นไม่อาจทำให้เรากลัวได้ถ้าเราไม่ตอบรับให้เข้ามาในพื้นที่ความคิดของเรา

ถ้าใช้ความกลัวให้เป็นประโยชน์เราก็จะไม่ประมาทในการใช้ชีวิต
     ==> โดยจะระมัดระวังทุกครั้งที่ขับขี่รถ เพราะกลัวจะเกิดอุบัติเหตุ
     ==> หมั่นเติมอาหารสมองโดยเสริมความรู้และอ่านหนังสือพัฒนาความคิด เพราะกลัวล้าหลัง
     ==> คิดถี่ถ้วนทุกครั้งที่จะใช้จ่ายเงิน เพราะกลัวไม่มีเงินไว้ใช้ในขณะที่ทำงานไม่ไหว
     ==> ศึกษาข้อมูลการลงทุนก่อนการลงทุนทุกครั้ง เพราะกลัวขาดทุน

แต่ถ้าความคิดที่อุดมด้วยความกลัวมากเกินไป เราก็ไม่กล้าที่จะสร้างหรือคิดสิ่งใหม่ๆได้ สุดท้ายเราก็จะติดกับดักของความกลัวที่ไม่กล้าทำอะไรเลย
     ==>ไม่กล้าทำตามความฝันให้เป็นจริง เพราะคิดไปเองว่าตนเองเก่งสู้คนอื่นไม่ได้(ยังไม่ลองจะรู้ได้อย่าไรหละจ๊ะ)
     ==> อกหักกับความฝันเดิม ผิดหวังซ้ำซากก่อให้เกิดความท้อแท้ เพราะคิดไปเองว่าโชคชะตาไม่เข้าข้าง (ทั้งที่ความจริงเราอาจจะอดทนไม่พอก็ได้)
     ==> ไม่กล้าที่จะเปลี่ยนแปลง เพราะคิดไปเองว่าสิ่งเดิมที่เป็นอยู่นั้นดีอยู่แล้ว(ถ้าสิ่งเดิมนั้นเปลี่ยนไปจะทำอย่างไร เช่น บริษัทที่เราฝากชีวิตไว้เพราะคิดว่ามั่นคงนั้นเกิดวิกฤตที่นอกเหนือความคาดหมาย เราอาจจะกลายเป็นหน่วยงานแรกๆที่ถูกยุบเพราะต้องการประหยัดต้นทุนก็ได้)
     ==> ไม่กล้าออกไปทำสิ่งแปลกใหม่เพราะคนอื่นบอกว่าเราทำไม่ได้ (คนอื่นจะรู้จักตัวเรามากกว่าตัวเราได้อย่างไร)

วิธีกำจัดความกลัวนั้นไม่ยาก หลายคนที่ทำได้จะรู้สึกถึงความมีอิสระเพราะถูกปลดปล่อยจากคุกทางความคิด การอ่านหนังสือหรือหาข้อมูลทางเน็ตนั้นทำให้เรารู้วิธีกำัจัดความกลัวได้ก็จริง แต่มันจะไม่ประสบความสำเร็จถ้าเราไม่เริ่มลงมือทำ เพราะความกลัวกำจัดได้ด้วยการลงมือทำ(สักที)

เราขอยกตัวอย่างวิธีการเปลี่ยนแปลงความกลัวจากประสบการณ์ส่วนตัวมาเล่าให้ฟัง วิธีทางการตลาดที่มักใช้กันเพื่อให้สินค้าดูแปลกใหม่อยู่เสมอคือ การเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ใหม่ เช่น ชมพูสระผมอาจจะมีการปรัีบปรุงสูตรเล็กน้อยและเปลี่ยนลักษณะขวดใหม่ ซึ่งทำให้แบรนด์มีความแปลกใหม่และผู้ใช้จะรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลง ความตื่นเต้น ไม่ซ้ำซากจำเจ


เมื่อเราเห็นภาพแล้วว่าการเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์นั้นสร้างความแตกต่างทางความรู้สึกได้ แ้ล้วทำไมเราถึงไม่ลองเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ให้กับความคิดของเราบ้างหละ 

==> เปลี่ยนความคิด(แชมพู)ที่ถูกห่อหุ้มด้วยความกลัว(บรรจุภัณฑ์ขวดเดิม) 
==> มาเป็นความคิดที่หุ่อหุ้มด้วยความท้าทาย(บรรจุภัณฑ์ขวดใหม่)  

เราใช้วิธีเปลี่ยนชื่อความกลัวเป็นความท้าทาย คนเราไม่ได้เก่งหรือทำอะไรเป็นมาตั้งแต่เกิด ทุกอย่างต้องมีจุดเริ่มต้นที่การฝึกฝนและลงมือทำ เส้นทางนักเขียนไม่ได้มาจากการนั่งหน้าคอมฯแล้วพิมพ์ได้เลย แต่มันต้องมาจากการรักการอ่าน การได้ออกไปเจอโลกกว้างพบสิ่งแปลกใหม่ เพราะเนื้อหาที่อ่านและประสบการณ์จากการเดินทางเป็นวัตถุดิบชั้นดีที่เป็นตัวกำหนดความคิดของเรา

เริ่มอ่านจากสิ่งที่ตนเองอยากรู้ ค้นคว้าเพิ่มเติมให้ความรู้นั้นสมบูรณ์ขึ้น แล้วลงมือเขียนอะไรก็ได้ออกมาเพื่อเป็นการฝึกฝน แม้ช่วงแรกภาษาอาจจะยังไม่เหมาะสม ยังจับทางแนวการเขียนของตนเองไม่ได้ แต่เราก็ต้องพยายามฝึกเขียนให้บ่อยที่สุด การฝึกเขียนจะทำให้เราเก่งขึ้น เมื่อเขียนแล้วก็ต้องให้คนอื่นอ่านเพื่อคอมเม้นท์สิ่งที่เราเขียน เพราะผู้อ่านเป็นกระจกสะท้อนว่าข้อความที่เราต้องการจะบอกนั้นตรงกับที่ผู้อ่านตีความหรือไม่ แล้วการเขียนของเราก็จะพัฒนาขึ้นเอง

แต่อย่าฝึกเขียนโดยการไปอ่านของคนอื่นแล้วลอกเลียนแนวความคิดนั้นเป็นของตนเอง เพราะจะทำให้เราเป็นเงาของคนอื่น ไม่เป็นตัวเอง สุดท้ายคุณก็จะเป็นเพียงนักเขียนเงาที่จะมีตัวตนสีดำในขณะที่มีแสงอาทิตย์สาดส่องมาเท่านั้น

ก่อนจบบทความก็มีเพลงที่สร้างไฟฝันให้เราลุกขึ้นอีกครั้งและอยากจะให้ผู้อ่านที่รักกับการตามหาความฝันลุกขึ้นออกเดินทางตามเส้นทางที่มีความท้าทายเหล่านั้นไปด้วยกัน

เรามาจุดไฟของความฝันไปด้วยกัน.....



เนื้อเพลงที่ต้องการให้เราออกเดินทางตามความฝัน ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตามก็ต้องก้าวผ่านมันไปให้ได้ อุปสรรคที่รอเราอยู่ข้างหน้าก็ต้องพ่ายแพ้ให้กับหัวใจนักสู้ที่ไม่ยอมแพ้ เพราะวิกฤตนั้นสร้างคนให้เต็มคน ซึ่งทั้งหมดนี้เริ่มต้นจาก "ความกล้า" ที่จะก้าวเท้าเล็กๆของเราไปข้างหน้า เนื้อเรื่องในมิวสิกวีดีโอทำให้เรารู้สึกถึงความอดทน ความกล้าชน ความเพียรพยายามของนักกีฬารุ่นจิ๋วที่ตั้งใจฝึกซ้อมด้วยความมุ่งมั่น ไม่ว่าจะชนะหรือแพ้ก็จะสู้ไม่ถอย สู้จนหมดแรง ร่องรอยจากบาดแผลจะทำให้รู้ว่าพลาดตรงไหน เพื่อจะได้กลับไปฝึกฝนให้แข็งแกร่งกว่าเดิม


"ฟังเพลงจบแล้วตอบคำถามตัวเองด้วยว่า
เราสู้เพื่อความฝันของเรามากแค่ไหน"


----------------------------------------------------------

หมายเหตุ เรามองในมุมของนักกีฬาที่ตั้งใจทุ่มเทฝึกซ้อมเพื่อจะไปที่จุดสูงสุดในอาชีพโดยมีความฝันเป็นเครื่องนำทางนั้นแตกต่างกับอีกโลกที่เรียกว่า "ผลประโยชน์" โดยมีเงินเป็นเครื่องนำทาง  ถ้าเราไม่สามารถรักษาสมดุลของความฝันและเงินตราให้อยู่ร่วมกันได้ ก็จะไม่มีความคิดแปลกใหม่เกิดขึ้นบนโลก ครั้งแรกที่เราดูมิวสิกวีดีโอแล้วนึกถึงข่าวการแข่งขันกีฬาที่ใช้ตัดสินด้วยสายตาแบบกีฬาชกมวย ที่สร้างความเจ็บปวดให้แก่กองเชียร์ด้วยคำว่า "ชนะแบบค้านสายตา" แต่ก็ยังเจ็บปวดและเจ็บใจไม่เท่ากับตัวนักมวยที่ทุ่มเทเวลาให้แก่การฝึกซ้อมทุกวันเพื่อให้การขึ้นชกของตนเองนั้นออกมาดีที่สุด ความรู้สึกหดหู่เกิดขึ้นระหว่างที่ดูมิวสิกวีดีโอเพลงนี้ คือ นักกีฬารุ่นจิ๋วเลือดใหม่ที่กำลังฝึกซ้อมในโลกความจริงในขณะนี้ น้องๆจะรู้สึกอย่างไรถ้าความตั้งใจฝึกซ้อมทั้งหมดนี้ถูกทำลายด้วยกติกาที่ไม่เป็นธรรม กติกาที่สร้างขึ้นมาเพื่ออวยให้แก่พวกพ้องตนเอง เราเป็นคนนอกก็ได้แต่ภาวนาให้ความละอายต่อบาปนั้นเกิดขึ้นในจิตใจของกรรมการผู้ตัดสินให้ควบคุมการแข่งขันให้ยุติธรรม









วันอาทิตย์ที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2557

จดบันทึกเพื่อให้เงินหมดช้าลง


หลายครั้งที่เจอคนรอบข้างบ่นว่า.....
  • ไม่รู้ว่าเงินหายไปไหน
  • เงินเดือนพึ่งออกทำไมถึงหมดเร็วจัง
  • ทำยังไงดีเงินไม่พอใช้
  •  เงินหมดแล้ว!! เหมือนว่ายังไม่ได้อะไรเป็นชิ้นเป็นอันเลย
คำแนะนำเดิมๆที่บอกอยู่เสมอว่า "เราก็ต้องจดซิคะว่าเงินของเราไหลไปไหนบ้าง" หลายคนอยากรู้ว่าเงินของตนเองหายไปไหน แต่สุดท้ายก็ยอมแพ้ให้กับความขี้เกียจ ถ้าขี้เกียจจดบัญชีรายรับรายจ่ายแบบนี้ใครที่ไหนจะไปช่วยเราได้หละจ๊ะ ไม่มีใครรู้ว่าเราใช้เงินไปกับอะไรบ้างมากเท่ากับตัวเราเอง ที่จริงแล้วการจดบัญชีในปัจจุบันนี้ไม่ได้ยากมากขนาดที่เราต้องซื้อสมุดมานั่งตีเส้นแล้วบวกเลขเอง โปรแกรมบันทึกรายรับรายจ่ายมีโหลดฟรีมากมาย ดังนั้นเราควรใช้เทคโนโลยีให้มีประโยชน์ ลองโหลดมาลองใช้แล้วจะรู้ว่า "เงินของเรามันไปหลบอยู่ที่ไหน"

เราใช้โปรแกรมของกสิกรมา 2 ปีละ ก็โอมากเลยนะ มีให้เลือกทั้งหมด 3 รูปแบบ คือ Excel ,Website และ Mobile ซึ่งการใช้งานขึ้นอยู่กับความสะดวกของผู้ใช้ว่าชอบวิธีการลงบัญชีแบบไหน (ความแตกต่างของแต่ละวิธีศึกษาได้ที่ลิ้งค์นี้คะ http://k-expert.askkbank.com/Pages/3-PlatformComparison.aspx) สำหรับปี 2014 โหลดได้ตามลิ้งค์ข้างล่างนี้คะ


ส่วนตัวใช้งานรูปแบบ Excel เพราะชอบที่จะโหลดโปรแกรมไว้ในคอมฯส่วนตัว จดบันทึกได้แม้ไม่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ต เราก็เป็นเหมือนคนทั่วไปที่มีความขี้เกียจอยู่ในสายเลือด(ที่จริงก็มีอยู่เยอะมากเลยหละ)  แต่เื่พื่อเป้าหมายยังไงเราก็ต้องทำให้ได้ บางคนอาจจะจดบันทึกในมือถือทุกครั้งเมื่อมีการรับหรือจ่ายเงิน ตัวเราทำไม่ได้ขนาดนั้น เราเพียงแต่ฝึกไว้ว่าทุกเช้าระหว่างนั่งรถไฟใต้ดินไปทำงานต้องจดบันทึกว่าเมื่อวานนี้เราใช้จ่ายอะไรไปบ้าง เราจะจดไปที่ Notes บนมือถือว่า วันที่นี้ค่ากินเท่าไหร่ ค่าเดินทางเท่าไหร่ ค่าซื้อของอื่นๆเท่าไหร่ ฯลฯ โดยจดตัวเลขการใช้จ่ายลงไปให้หมด พอสิ้นสัปดาห์หรือสิ้นเดือนเราก็จะมาจดลงในโปรแกรม Excel ที่โหลดไว้ในคอมฯ จากจุดเล็กๆที่เราจดทุกวันก็จะกลายเป็นภาพใหญ่ว่าทั้งเดือนเราใช้จ่ายเงินไปกับอะไรบ้าง พอสรุปเป็นรายปีก็จะรู้ว่าทั้งปีเราออมเงิน กิน เที่ยว ช้อปเป็นกี่% ของเงินทั้งหมด

เราฝึกทุกวันจนกลายเป็นนิสัยไปแล้วว่า "ทุกเช้าต้องจดบันทึกรายจ่าย" บางคนก็ทำได้เฉพาะช่วงแรกๆแล้วก็ลืมจนกลายเป็นความขี้เกียจ สุดท้ายก็เลิกจดไปซะอย่างงั้น ทุกอย่างเริ่มต้นใหม่ได้เพียงปรับวิธีคิด เราอยากให้คิดว่าการจดบัญชีรายจ่ายนั้นเหมือนการที่เราดู Facebook , Line , Instagram ที่ทุกเช้าเราเปิดดูโดยไม่ต้องมีคนมาบอก เราเห็นสังคมก้มหน้าในรถไฟฟ้าใต้ดินก็รู้แล้วว่าคนส่วนใหญ่มีสมาร์ทโฟนใช้ ซึ่งมันทำอะไรได้มากกว่าการดู Facebook , Line, Instagram ของเพื่อนหรือดาราที่เราชื่นชอบ

เราควรจดบันทึกรายรับรายจ่ายไม่ใช่เพื่อใครอื่นไกล แต่เป็นการทำเพื่อตัวเอง เพื่อความสุขระยะยาวในครอบครัว แต่จะใช้วิธีการอย่างไรนั้นแล้วแต่ความถนัดของแต่ละคน ขอให้จดแค่นี้ก็ดีใจสุดๆละ ในบทความนี้แนะนำเพียงวิธีการส่วนตัวที่ทำแล้วได้ผลมาเล่าสู่กันฟัง อย่างน้อยตอนนี้เราก็รู้ว่าปี 2555 - 2556 เรามีนิสัยการใช้เงินหมดไปกับอะไรบ้าง ควรลดหรือจ่ายอะไรเพิ่มบ้าง



เราส่องกระจกเพื่อดูการแต่งกายของตนเอง
เหมือนกับการจดบัญชีรายรับรายจ่าย
เพื่อเราจะได้รู้ขนาดกระเป๋าของตนเอง