วันพฤหัสบดีที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2556

บันไดขั้นแรกของความมั่งคั่ง




ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเราเจอคอมเม้นหนึ่งในกระทู้ Pantip ว่า "เงินเรื่องใหญ่ที่โรงเรียนไม่เคยสอน" ซึ่งเป็นประโยคที่โดนใจเรามาก จนเกิดเป็นคำถามขึ้นในใจว่าโรงเรียนไม่สอนเรื่องการใช้เงินจริงหรือ ถาม Google คงตอบเราไม่ได้ทุกอย่าง แบบนี้เราต้องพิสูจน์ว่าจริงหรือไม่ สถานที่ที่ตอบคำถามเราดีที่สุด คือ โรงเรียน ปกติช่วงเวลาบ่ายโมงของทุกวันอาทิตย์เราเป็นครูอาสาสอนเด็กแถวบ้านในวัดแห่งหนึ่งที่ จ.นนทบุรี ซึ่งพระอาจารย์ให้เด็กมาทำกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาพร้อมกับสอนวิชาการให้เด็กเพื่อให้มีจริยธรรมและความรู้กลับบ้าน มีครูสอนด้วยกัน 2 คนคือ รุ่นพี่กับเรา ซึ่งปกติจะสอนวิชาภาษาอังกฤษกับคณิตศาสตร์ สัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นช่วงเวลาที่ดีที่จะสอนเรื่อง การออมเงิน ให้กับเด็กกลุ่มนี้

เราแจกกระดาษเปล่าให้เด็กทั้งหมด 36 คน ซึ่งเป็นเด็กช่วงอายุเด็กตั้งแต่อนุบาล 2 - ม.3 โดยให้ตอบคำถามว่า "ถ้าได้เงินค่าขนมจากผู้ปกครองมาน้องจะนำเงินนั้นไปทำอะไร"  ซึ่งเด็กอนุบาล 2- ป3 ได้ค่าขนม 50 บาทและเด็ก ป.4 ขึ้นไปได้ค่าขนม 1,000 บาท เราให้เวลาน้องเขียนคำตอบ 10 นาทีแล้วก็ส่งกระดาษคำตอบ ซึ่งคำตอบที่เราได้รับแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม(มีภาพคำตอบให้ดูที่ข้างท้ายบทความ) คือ
  • กลุ่มที่ 1 เด็กที่แบ่งสัดส่วนการใช้เงินว่ากิน ออมเงิน เก็บไว้ฉุกเฉินเท่าไหร่ คิดเป็น 11%
  • กลุ่มที่ 2 เด็กที่นำเงินฝากธนาคารเพียงอย่างเดียว คิดเป็น 36%
  • กลุ่มที่ 3 เด็กที่ตอบว่านำเงินไปกินขนมทั้งหมด คิดเป็น 53%
เราให้น้องที่อยู่กลุ่มที่ 1 มาบอกว่าทำไมถึงมีวิธีการใช้เงินแบบนั้นเพราะจะได้เป็นประโยชน์ให้คนอื่นทำตาม ระหว่างนั้นเด็กหลายคนก็เริ่มคุยกันไม่ฟังคนที่อยู่หน้าห้องว่ากำลังพูดอะไร เราตะโกนให้เงียบสักพักเริ่มเจ็บคอก็เลยหาวิธีใหม่ให้เด็กยอมฟังและไม่เจ็บคอด้วย คือ ให้เด็กที่กำลังคุยกับเพื่อนออกมาตอบคำถามเราที่หน้าห้อง เรามองไปทั่วห้องถ้าเห็นเด็กคนไหนคุยก็เรียกออกตอบคำถามที่หน้าห้อง จนมีเด็ก ป.1 คนนึงหันมามองหน้าเรา โบกไม้โบกมือแล้วพูดว่า "หนูตั้งใจฟังแล้วค่ะ อย่าเรียกหนูไปหน้าห้องนะคะ" ตอนนั้นอยากอัดวีดีโอหน้าของน้องมาให้ดูจริงๆเพราะขำตลอดที่นึกถึง น้องดูซื่อและน่ารักมากๆ เราคิดว่าเด็กกลัวการพูดหน้าห้องก็เลยใช้วิธีนี้ให้เด็กเงียบ แล้วมันก็ได้ผลซะด้วยซิ

ประเด็นสุดท้ายที่เราสอนเื่รื่องการออมเงินจะเป็นสิ่งที่เราอยากให้เด็กๆคิดเป็นมากกว่าใส่ความคิดเราลงไป เราตั้งคำถามและให้เด็กทั้งห้องช่วยกันตอบ เพราะเราอยากรู้ว่าถ้าเจอสถานการณ์แบบนั้นน้องจะแก้ปัญหากันอย่างไร มีการสนทนาดังนี้

เรา : ถ้าน้องใช้เงินกินขนมหมดเลยไม่มีเงินออม แล้วจะนำเงินตรงไหนไปซื้อของเล่นที่อยากได้คะ?
เด็ก : ขอพ่อกับแม่ไงครับ
เรา : ถ้าพ่อกับแม่ทำงานแล้วเงินไม่พอใช้ หาเงินให้น้องเรียนไม่ได้ น้องจะทำยังไงคะ?
เด็ก : ก็ไปถอนเงินในธนาคาร
เรา : ถ้าน้องถอนเงินในธนาคารใช้จนหมดแล้วจะนำเงินตรงไหนมาใช้คะ?
เด็ก : ก็ไปกู้ไงคะ (คำตอบนี้เป็นของเด็ก ป.4 ซึ่งทำให้เราเจ็บใจสุดๆ)
เรา : ถ้าน้องไปกู้เงินแล้วน้องใช้หนี้เค้าไม่ได้น้องจะทำยังไงคะ?
เด็ก : ก็ไปกู้อีกที่นึงมาให้อีกที่นึงไง (มันจี๊ดตรงนี้แหละ -_-!!)
-------จบการสนทนา-------

เป้าหมายของคำถามทั้งหมดเพื่อจะได้ยินคำตอบว่า "หยอดกระปุกออมเงิน ลดค่าขนม หาเงินเพิ่ม" ไม่มีสักคำตอบเดียวที่เข้าข่ายสิ่งที่เราต้องการอยากจะได้ยิน พอเรารู้ว่าความคิดเรื่องการออมเงินเป็นอย่างไรเราก็เริ่มใส่สิ่งที่มีประโยชน์กว่าการกู้เงินเพื่อใช้จ่ายให้น้องฟังว่าควรทำอะไรบ้าง เช่น คิดก่อนที่จะใช้เงิน ตั้งใจเรียน ช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน ถ้าเด็กโตหน่อยก็จะให้ทำกำไรข้อมือขายแทนที่จะซื้อ และสอนน้องให้จำไว้คำนึงว่า "เป็นหนี้มันไม่ดี" แต่ถ้าสอนรายละเอียดมากกว่านี้น้องคงไม่เข้าใจว่าหนี้ดีกับหนี้ไม่ดีเป็นอย่างไร ไว้ให้น้องหาคำตอบเองตอนโตขึ้น ถ้าอยากรู้ว่าลูกของคุณคิดอย่างไรกับการออมเงินอาจจะใช้คำถามข้างต้นเป็นประตูสู่ความคิดของเด็กก็ได้ว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร

แม้ว่าเด็กกลุ่มนี้ไม่ได้เป็นคำตอบของเด็กทุกคน แต่มีสิ่งนึงที่เราได้รับจากกรณีตัวอย่างข้างต้นที่เป็นบันไดขั้นแรกของความมั่งคั่ง คือ การปลูกฝั่งค่านิยมการออมเงิน ให้เด็กโดยที่ผู้ใหญ่ต้องทำตัวเป็นแบบอย่างให้ดูเป็นรูปธรรมจับต้องได้มากกว่าการพูดให้เด็กออมเงินที่เป็นนามธรรมซึ่งเด็กอาจจะฟังแต่ไม่เข้าใจว่าออมเงินไปทำไม

ตัวอย่างเช่น การฝากเงินในธนาคารโดยเปิดบัญชีในชื่อของเด็กหรือชื่อร่วมกับผู้ปกครอง เมื่อหยอดเงินในกระปุกจนเต็มแล้วก็พาเด็กไปฝากเงินที่ธนาคาร โดยให้เด็กทำกิจกรรมทุกอย่างด้วยตัวเอง เพื่อให้เค้าได้รู้สึกถึงความเป็นเจ้าของและหวงแหนเงินที่ฝาก การที่เด็กได้เห็นเงินที่ฝากมีปริมาณมากขึ้นจากเงินต้นกับดอกเบี้ยจะทำให้เด็กภาคภูมิใจ โดยเห็นว่าทุกบาททุกสตางค์นั้นมีค่า เศษเหรียญค่าขนมที่หยอดกระปุกทุกเย็นเมื่อรวมกันก็จะกลายเป็นก้อนใหญ่ที่ฝากในบัญชีธนาคาร

"ไม่มีคำว่าสายที่จะเริ่มต้น" เราเริ่มต้นออมเงินตอนเป็นผู้ใหญ่ก็ยังไม่สายเพราะดีกว่าไม่เริ่ม (แต่จะมีพอใช้ไปจนเกษียณรึเปล่าก็อีกประเด็นนึงนะคะ) โดยที่เราเริ่มจากสิ่งเล็กๆก่อน เมื่อทำสำเร็จก็จะเป็นความภาคภูมิใจเล็กๆ แล้วค่อยสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่โดยการทำเงินให้งอกเงยต่อไป จำไว้ว่า สิ่งเล็กๆรวมตัวกันนั้นสามารถสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้ ดูตัวอย่างน้ำท่วมก็น่าจะเห็นภาพว่า "น้ำฝนหยดเล็กๆนั้นสร้างความเสียหายได้เพราะมีมากเกินไปจนกลายเป็นน้ำท่วม"

การออมเงินเบื้องต้น คือ การฝากเงินในบัญชีธนาคาร เมื่อเงินฝากก้อนเล็กๆของเรารวมตัวใหญ่มากขึ้นจึงค่อยขยับขยายไปทำอย่างอื่นที่จะไปสร้างความยิ่งใหญ่ให้เราในอนาคต สิ่งแรกที่เราควรทำ คือ การค้นหาข้อมูลว่าจะไปฝากเงินที่ธนาคารไหนดี ดอกเบี้ยของแต่ละที่ให้เท่าไหร่ จะฝากออมทรัพย์หรือฝากประจำ โปรโมชั่นของแต่ละธนาคารมีอะไรบ้างแล้วนำมาเปรียบเทียบกันว่าที่ไหนเข้าเงื่อนไขการฝากเงินของเรามากที่สุดจึงนำเงินไปฝากที่นั่น

เวลาของเราก็ไม่ได้มีมากมายอะไรขนาดนั้นที่จะมาเปรียบเทียบให้ครบทุกธนาคาร ก็น่าจะมีบางเว็ปที่เก็บข้อมูลเปรียบเทียบให้ดูเบื้องต้นก่อนตัดสินใจ ลองถาม Google โดยใช้คำว่า "เปรียบเทียบเงินฝากหลายธนาคาร" ก็เจอเว็ปนึงที่น่าสนใจ คือwww.checkraka.com ซึ่งจะมีการเปรียบเทียบเงื่อนไขเบื้องต้นที่ใช้ในการตัดสินใจ อีกทั้งยังมีบทความการออมเงินให้ด้านต่างๆให้ความรู้อีกด้วย


ที่มา : www.checkraka.com

ตัวอย่างการเปรียบเทียบบัญชีเงินฝากธนาคาร


ตัวอย่างบทความการออมเงิน


------------------------------------------------------------------------------------------

ภาพคำตอบส่วนหนึ่งในกิจกรรมสอนการออมเงิน







วันอาทิตย์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2556

เปลือกนอกที่หลอกตา



วันเลขสวย
เวลาช่วงเช้า 8 นาฬิกา 9 นาที 10 วินาที 
วันที่ 11 เดือนธันวาคม 2013
เวลาช่วงบ่าย 14 นาฬิกา 15 นาที 16 วินาที

เมื่อวันพุธที่ผ่านมาเป็นวันเลขเรียงกันสวยดีก็น่าจะทำสิ่งดีๆให้น่าจดจำ จึงเขียนบล็อกฉลองวันเลขสวยสักหน่อย บทความนี้จะพูดถึงสิ่งสวยงามรอบๆตัวเราซึ่งแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ สวยงามจากภายนอกและงดงามจากภายใน

==> สิ่งสวยงามภายนอก เป็นการมองเพียงผิวเผินที่ทำให้ตัดสินคนจากลักษณะภายนอก เช่น คิดว่าคนนี้รวยจากรถที่ขับ คนนั้นสวยจากใบหน้าที่เข้ารูปและรูปร่างที่ดูดี คนโน้นดูดีจากเสื้อผ้าที่สวมใส่ ซึ่งแท้จริงแล้วอาจจะไม่เป็นอย่างที่เราคิดก็ได้ การตัดสินด้วยข้อมูลที่ได้รับเพียงสายตาอาจไม่เพียงพอที่จะตัิดสินใจควรพิสูจน์และศึกษาข้อมูลให้กระจ่างก่อนที่จะเชื่ออะไร เช่น ผู้หญิงสวยที่ทำให้คุณต้องหันหลังกลับไปมองแท้จริงแล้วอาจจะไม่ใช่ผู้หญิงแท้ก็ได้(สวยจนผู้หญิงจริงๆต้องอายกันเลย) คนดีที่คุณชื่นชมอาจจะมาจากการทำตัวให้คนอื่นดูแย่เพื่อให้ตนเองดูดีก็ได้ คนที่ดูดีมีฐานะร่ำรวยอาจจะได้เงินมาจากวิธีที่ไม่เหมาะสมก็ได้ ฯลฯ อาจจะมองโลกในแง่ร้ายไปสักนิดแต่ก็เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นที่เราควรทำความเข้าใจและอย่าเืชื่อจากภาพที่เห็น

==> สิ่งงดงามจากภายใน การตัดสินอะไรก็ตามในรูปแบบนี้ทำยากเพราะต้องใช้เวลาในการค้นหา คนที่สามารถมองเห็นความงดงามจากภายในได้นั้นจะเป็นกลุ่มคนพิเศษและได้รับสิ่งดีๆไปครอบครอง เพราะใช้การมองด้วยตาและความรู้สึกที่อยากจะค้นหาความจริงเป็นเครื่องมือในการตัดสินใจก่อนที่จะเชื่ออะไร เช่น คุณตาขอทานที่บริจาคเงินให้วัดเป็นล้าน นิทานของไทยเรื่องพระสังข์ทอง แม้เป็นเพียงนิทานแต่ก็เป็นเรื่องสำคัญที่แฝงความคิดให้เด็กว่า "อย่ามองอะไรแค่ภายนอกอย่างเดียว" ซึ่งผู้ใหญ่อย่างเราควรนำเป็นแบบอย่าง (คติที่ได้จากนิทานเรื่องนี้มีหลายประเด็นขึ้นอยู่กับมุมมองของผู้เล่านิทานว่าต้องการสอนอะไรเด็กบ้าง ในกรณีนี้จะยกตัวอย่างเรื่องอย่ามองคนแค่ภายนอกอย่างเดียวค่ะ)


การตัดสินจากความสวยงามภายนอกหรือสิ่งงดงามจากภายในนั้น ปัจจุบันนี้ตัดสินกันได้ยากมากขึ้น แม้ว่าโลกจะท้วมท้นไปด้วยข้อมูลจากการสื่อสารที่รวดเร็วด้วยอินเตอร์เน็ต ความรู้หาได้ง่ายเพียงถาม Mr.Google ข่าวสารแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ข้อมูลไหนจริงหรือหลอก ภาพนี้มีการตัดต่อหรือไม่ จนยากที่จะตัดสินใจได้ว่าจะเชื่ออะไร สิ่งเดียวที่ทำได้ คือ การสร้างภูมิคุ้มกันความคิดให้ตนเอง โดยการค้นหาความจริงก่อนที่จะเชื่ออะไร  วันนี้มีเรื่องของเปลือกนอกมาเล่าให้ฟัง 2 เรื่อง คือ เรื่องของอินเตอร์เน็ตและน้องแสน

เรื่องแรก "อินเตอร์เน็ต"
บังเอิญว่าหนังสือที่เราตั้งใจเขียนอย่างสุดชีวิตนั้นไปปรากฏอยู่ในหน้า Facebook ของบุคคลท่านนึง โดยใช้คำบรรยายที่มีลักษณะเชิงลบ คุณคงเดาไม่ยากว่าคอมเม้นต่อจากนี้จะเป็นลักษณะไหน แต่อยู่ในลักษณะที่คาดการณ์ไว้ตั้งแต่แรกก่อนที่หนังสือจะวางแผงว่าอาจจะถูกคอมเม้นอะไรบ้าง จากเปลือกนอกที่มีหน้าปกชื่อว่า "เล่นหวย(สลากกินแบ่งรัฐบาล)ก็รวยได้" ก็สร้างความรู้สึกเชิงลบให้กับผู้ที่ยังไม่ได้สัมผัสมันอย่างแท้จริง ประมาณว่าแค่เห็นหน้าก็เกลียดกันซะแล้ว ทั้งที่ยังไม่ได้ศึกษานิสัยใจคอกันเลย

ถ้าจะเปรียบเรื่องนี้กับการลงทุนในหุ้นที่รู้ว่าควรศึกษาความเสี่ยงและตัวของหุ้นที่เราซื้อว่ามีผลประกอบการเป็นอย่างไร ดูสารพัดพื้นฐานเพื่อที่ว่าจะเป็น VI อย่างแท้จริง ทฤษฏีแม่นเป๊ะ แต่ที่สุดแล้วเมื่อเราซื้อหุ้นเก็บไว้จริงๆ หุ้นที่มีไม่วิ่งแล้วหุ้นคนอื่นวิ่งดีจัง นักลงทุน VI (เปลือกนอก) เริ่มร้อนใจว่าทำไมการลงทุนของเรามันถึงแย่กว่าคนอื่น แล้วก็กลายร่างเป็นนักเก็งกำไรโดยอัตโนมัติ คำพูดหนึ่งที่เราพูดกับนักลงทุนของเราเสมอคือ "พื้นฐานหุ้นไม่เปลี่ยน มีแต่จิตใจของเราเท่านั้นที่เปลี่ยนไป" เราให้น้ำหนักการถือหุ้นเป็น 2 ส่วน คือ พื้นฐาน 30% และจิตวิทยา 70% เพราะความอ่อนไหวต่อตลาดส่งผลเสียต่อวินัยการลงทุน ไม่ว่าคุณจะไปเรียนกราฟหลักสูตรแพงแค่ไหน เปิดอ่านหนังสือการลงทุนมาหลายสิบเล่ม แต่สุดท้ายมาตกม้าตายด้วยความอ่อนไหวของจิตใจอยู่ดี

บทสรุปของคอมเม้นหน้า Fb นั้นจบลงที่ผู้ใจดีไปค้นข้อมูลจาก Mr.Google แล้วมาทำลิ้งค์ให้อ่านว่าหนังสือเล่มนี้เป็นอย่างไร ส่งผลให้กระแสคอมเม้นในแง่ลบน้อยลง ขอขอบผู้ใจดีทุกท่านที่ช่วยชีวิตหนังสือเล่มนี้ไว้ เราไม่รู้ว่าคุณเป็นใครแต่ขอกราบขอบคุณมา ณ โอกาสนี้ด้วยค่ะ (* // \\ *)

==> บทเรียนจากเรื่องนี้สอนให้เรารู้ว่า "คิดอะไรไม่ออก ให้คิดถึง Mr.Google"

เรื่องที่ 2  "น้องแสน"
ตารางทุกวันอาทิตย์ตอนบ่ายโมงเราต้องไปสอนน้องเรียนหนังสือที่วัดแถวบ้าน โดยมีค่าตอบแทนเป็นรอยยิ้มและเสียงหัวเราะของเด็กๆ น้องแสนเป็นเด็กชายอยู่ชั้นป.1 รูปร่างอ้วนกำลังดี แก้มยุ้ย หน้าตาซนๆ เพราะแม่อ่านหนังสือไม่ออกจึงส่งลูกมาเรียนเพื่อเป็นความรู้ติดตัวและมีโอกาสในสังคมมากขึ้น ครั้งแรกที่เราเจอน้องแสนเป็นวันที่ต้องจดคำศัพท์จากกระดานลงสมุด เด็กคนอื่นก็ลอกตามเป็นปกติ แต่น้องแสนก็ยังคงเขียนไม่เสร็จสักคำ เราก็มาถามว่าทำไมไม่เขียนหละและบอกว่าคำศัพท์บนกระดานแต่ละคำมีตัวภาษาอังกฤษอะไรบ้าง เราพูดแต่ละตัวเพื่อให้น้องแสนเขียนตาม แต่ก็ยังเขียนตัวอักษรผิด เช่น บอกตัว R ก็เขียนตัว P ทำให้เราคิดว่าน้องคนนี้คงต้องแยกเรียนแล้วหละ เราจึงดึงน้องเค้ามานั่งคัดตัวอักษรภาษาอังกฤษใหม่ 26 ตัว เรียงเป็นแถวๆละ 8 ตัว สรุปคือเขียนจนเมื่อยมือกันเลยทีเดียว แต่มันก็ทำให้น้องเค้าจำตัวอักษรได้ดีขึ้น

หลังจากนั้นอีก 2 สัปดาห์ก็มีการทดสอบนักเรียนโดยการแปลเป็นไทยจากประโยคทักทายภาษาอังกฤษอย่างง่าย เช่น Good morning แปลว่าอะไร ฯลฯ เราทดสอบทั้งหมด 10 ประโยค เด็กบางคนเก่งเขียนเสร็จเร็ว บางคนก็ช้าตามเพื่อนไม่ทัน กรณีของน้องแสนจะเป็นอย่างหลังเพราะกระดาษน้องว่างเปล่า ระหว่างที่เพื่อนทำแบบทดสอบน้องแสนก็ถูกดุนิดหน่อยว่าทำไมไม่ทำ เราเป็นคนช่วยสอนก็ไม่รู้จะทำยังไงเพราะน้องเค้าไม่ยอมเขียนเอง คิดว่าท้ายชั่วโมงคงต้องคุยกับน้องเค้าสักหน่อย

ระหว่างที่เรากำลังสอนเด็กคนอื่นอยู่นั้น น้องแสนก็เดินถือกระดาษว่างเปล่านั้นมาหาเราแล้วพูดว่า "พี่ครับช่วยสอนผมหน่อย" เรารู้สึกดีใจมากที่น้องยังคิดถึงและไม่เกลียดเราไปซะก่อนจากคราวที่แล้วสั่งให้คัดตัวอักษรไปเยอะมาก เราก็ค่อยสอนทีละประโยคว่าแปลว่าอะไร อ่านออกเสียงอย่างไร ถ้าตัวไหนอ่านไม่ออกให้เขียนคำออกเสียงเป็นภาษาไทยไว้ข้างบนเพื่อว่ากลับมาอ่านทีหลังจะได้อ่านออก เราพูดให้น้องแสนฟังว่าเค้าต้องเรียนเรื่องยากๆนี้ไปเพื่ออะไร

"น้องแสนต้องเรียนไปเพื่อช่วยแม่ทำงาน หาเลี้ยงแม่ตอนที่แสนโตเป็นผู้ใหญ่นะครับ" 

น้องแสนพยักหน้ารับคำที่เราสอนและตั้งใจเขียนคำแปลให้จบทั้ง 10 ข้อ มันรู้สึกตื้นตันใจอย่างบอกไม่ถูกจริงๆนะ เพราะสภาพแวดล้อมที่น้องอยู่อาจจะทำให้เดินผิดเส้นทางได้ เราไม่สามารถอยู่ตักเตือนน้องได้ตลอดเวลา สิ่งที่เราทำได้คือสร้างเกราะป้องกันความคิดเพื่อให้น้องแยกสิ่งที่ถูกหรือผิดด้วยตัวเองให้ได้เท่านั้น

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นการสอนเรื่องคิดเลขเร็ว โดยเป็นการบวก ลบ คูณธรรมดา เราก็เดินดูเด็กทำแบบฝึกเหมือนเคย พอเราเดินผ่านน้องแสนก็สังเกตว่าน้องทำอะไรทำไมต้องชี้ไปที่นิ้วเท้าด้วย เราก็ถามว่า "น้องแสนทำอะไรหงะ" น้องตอบกลับมาว่า "พอดีนิ้วมือมีไม่พอนับเลขเลยต้องใช้นิ้วเท้าด้วย" ตึ่งโป๊ะ!! เราก็ได้แต่ยืนยิ้มและก็ขำในใจกับความน่ารักของเด็ก เพราะไม่คิดว่าจะเจอวิธีการนับแบบนี้ที่นี่

==> บทเรียนจากเรื่องนี้สอนให้เรารู้ว่า เราไม่ควรตัดสินเด็กจากเปลือกนอกที่ไม่สนใจเรียนว่าเป็นเด็กดื้อหรือขี้เกียจ แท้จริงแล้วเด็กไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร มีเพียงผู้ใหญ่เท่านั้นที่ช่วยแนะแนวทางด้วยวิธีที่ถูกต้อง

วันเสาร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ประกันชีวิตลดหย่อนภาษี 200,00 บาท ตอนที่ 2/2


ใกล้ช่วงสิ้นปีจะเป็นเทศกาลลงทุนลดหย่อนภาษีโค้งสุดท้าย คำถามที่ตามมา คือ
  • เราควรซื้ออะไรเพื่อลดหย่อนเป็นกองทุน LTF , RMF หรือประกันชีวิตอันไหนดีกว่ากัน?
  • เรามีสิทธิ์ซื้อกองทุนได้สูงสุดเท่าไหร่?
  • เราซื้อกองทุนของอะไรดี?
  • เราซื้อประกันชีวิตลดหย่อนภาษีมากกว่า 100,000 บาทได้ไหม?
ก่อนที่จะจ่ายเงินให้กับอะไรสักอย่าง เราควรศึกษาให้ดีก่อนว่ามีความจำเป็นต้องซื้อหรือไม่ การลงทุนเืพื่อลดหย่อนภาษีควรตอบสนองต่อเป้าหมายการออมเงินมากกว่าลงทุนเพื่อให้เกิดค่าลดหย่อนเท่านั้น เช่น เมื่อเห็นว่าหุ้นลงจึงรีบซื้อ LTF เพราะจะได้ราคาถูกลง ซื้อกองอะไรก็ได้แล้วแต่เจ้าหน้าที่แนะนำโดยไม่อ่านนโยบายการลงทุน ไม่อ่านผลประกอบการย้อนหลังของกองทุน ไม่ศึกษาอะไรทั้งนั้น รู้แต่ว่าปีนี้มีค่าลดหย่อนแล้วก็พอ ซึ่งไม่ควรทำอย่างยิ่ง หรือการซื้อประกันชีวิตที่เคยเป็นประเด็นในกระทู้ Pantip ในลักษณะที่ถูกหลอกขายประกันชีวิต นอกจากการรับฟังจากตัวแทนแล้วเราควรศึกษาข้อมูลเองและสอบถามกลับไปที่ต้วแทนให้เกิดความเข้าใจตรงกันด้วย

==> ตามหาเป้าหมายการออมเงิน <==

เราควรดูว่าเป้าหมายการออมเงินของเราคืออะไรแล้วจึงไปจับคู่กับแหล่งเก็บเงินออมที่ตอบสนองกับเป้าหมายที่ตั้งไว้  อยากให้ลองเปรียบเทียบแหล่งเก็บเงินออมในรูปแบบต่างๆ (เช่น เงินฝาก หุ้น กองทุนรวม ทองคำ ประกันชีวิตฯลฯ) เหมือนอุปกรณ์ของใช้ในครัว เช่น หม้อ ไมโครเวฟ เขียง มีด ครก สาก ฯลฯ เราควรรู้ว่าการทำอาหารแต่ละประเภทควรใช้อุปกรณ์อะไรบ้างเืพื่อให้อาหารของเราออกมาหน้าตาสวยงาม
  • เราใช้มีดไว้หั่นผักโดยใช้มีดขนาดเล็ก สับหมูโดยมีดอีโต้ แล่เนื้อปลาโดยใช้มีดที่เหมาะกับเนื้อปลา(เคยดูสารคดีของคนญี่ปุ่นจะมีการแบ่งแยกว่าเนื้อปลาชนิดนี้ควรใช้มีดอะไร) 
    • อาหารเราคงออกมาหน้าตาแย่ถ้าเราใช้มีดอีโต้สับหมูมาแล่เนื้อปลา
ภาพมีดแล่เนื้อปลาของคนญี่ปุ่น
ที่มา http://www.bladereview.com/forums/index.php?topic=15369.150
  • เรามีหม้อสารพัดแบบไว้ใช้ในกิจกรรมที่แตกต่างกัน เช่น หม้อหุงข้าวไว้หุงข้าว(หรือบางครั้งออกแบบมาให้นึ่งอาหารได้) หม้อนึ่ง หม้อตุ๋น หม้อต้มไข่ 
    • ข้าวสวยคงไม่สุกถ้าเรานึ่งข้าวในหม้อต้มไข่
คงไม่ต้องยกมาทั้งครัวว่าอุปกรณ์แต่ละแบบใช้งานอย่างไรก็คงเห็นภาพแล้วว่าอุปกรณ์แต่ละแบบมีประโยชน์ที่แตกต่างกันอย่างไรบ้าง เช่น เรารู้ว่าการทำข้าวผัดกุ้งควรใช้อุปกรณ์อะไรบ้าง การทำต้มจืดไข่น้ำควรใช้อุปกรณ์อะไรบ้าง ก็เหมือนกับ "แหล่งเก็บเงินออม" ของเรานั่นเอง แต่ละที่นั้นมีประโยชน์เหมาะกับเป้าหมายที่แตกต่างกัน ดังนั้นเราควรศึกษาเรียนรู้ให้เข้าใจถึงแหล่งเก็บเงินออมในแต่ละรูปแบบก่อนตัดสินใจว่าจะนำเงินของเราไปเก็บไว้ที่ใดและเพื่อเป้าหมายอะไร

เปรียบเทียบการออมเงินเหมือนการทำอาหาร 


เราแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ
  1. รายการอาหารที่เราจะทำเปรียบเหมือนกับเป้าหมายการออม เมื่อรู้ว่าจะทำอะไรจึงจัดเตรียมอุปกรณ์และวัตถุดิบเพื่อทำอาหารตรงกับที่เราต้องการ
  2. อุปกรณ์ในการทำอาหารเปรียบเหมือนกับแหล่งเก็บเงินออม เราควรรู้ว่ามีเครื่องมืออะไรบ้างที่ทำให้เราบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้(แกงจืดไข่น้ำ,การศึกษาลูก)
  3. วัตถุดิบเพื่อใช้ในการประกอบอาหารเปรียบเหมือนกับแหล่งความรู้ อาหารจะอร่อยก็ต้องมีเคล็ดลับในการปรุงเพื่อให้มีรสชาติกลมกล่อม เหมือนกับความรู้ที่ถูกต้องนั้นมาจากการเลือกศึกษาจากแหล่งข้อมูลที่มีคุณภาพ เชื่อถือได้ (ไม่ใช่จากการบอกเล่าว่าลงทุนอันนี้แล้วรวยเร็วเพราะมันไม่มีจริง) แล้วนำมาปรุงรวมกันให้ได้การลงทุนที่มีประสิทธิภาพและตรงกับเป้าหมายที่ตั้งไว้
เมื่อเรารู้แล้วว่าเป้าหมายการออมเหมือนการทำอาหาร ถ้าเราจะทำให้อร่อยแซ่บเวอร์จนเกษียณได้ต้องอาศัยการวางแผนมาอย่างดี ในบทความนี้จะยกตัวอย่างของการทำประกันชีวิตลดหย่อนภาษี 200,000 บาทที่เป็นเฉพาะแบบบำนาญ คือ ลดหย่อนภาษีสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาทและต้องไม่เกิน 15% ของเงินได้พึงประเมิน และเมื่อรวมกับ(กองทุน RMF ,กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ,กบข.,กองทุนสงเคราะห์โรงเรียนเอกชน) แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท 

==> ลดหย่อนภาษี + เกษียณสบาย <==

ประกันชนิดนี้เหมาะกับผู้ที่ใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษี 100,000 บาทแรกหมดแล้ว(ประกันชีวิตที่ให้ความคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไปจะได้รับสิทธิ์ลดหย่อนภาษี 100,000 บาท) หรือบุคคลที่ต้องวางแผนเกษียณสบาย

หนังสือที่ควรอ่านก่อนตัดสินใจซื้อประกันชีวิต

ที่มา http://www.thinkbeyondbook.com
ตัวอย่างต่อไปนี้จะเป็นกรณีของคุณอภินิหารเงินออมอายุ 35 ปีต้องการทำประกันแบบบำนาญทุนประกัน 1,000,000 บาท ซึ่งมีให้เลือกรับเงินบำนาญได้ 3 ช่วงอายุ คือ อายุ 55 ปี , อายุ 60 ปีและอายุ 65 ปี โดยประกันชีวิตชนิดนี้จะเรียกว่า "ยิ่งอยู่นาน ยิ่งคุ้มค่า" เพราะรับบำนาญถึงอายุ 90 ปี ดังนี้

แบบที่ 1 เลือกรับเงินบำนาญ ณ อายุ 55 ปี


คุณอภินิหารเงินออมจะต้องเสียเบี้ยประกันปีละ 139,400 บาท(เฉลี่ยเดือนละ 11,616.66 บาท) โดยชำระเบี้ยตั้งแต่อายุ 35 ปีจนกระทั่งอายุ 54 ปี โดยความคุ้มครอง(ตัวเลขสีดำแนวตั้ง) จะเพิ่มขึ้นตามอายุ เช่น ปีที่ 54 ความคุ้มครองจะอยู่ที่ 2,927,400 บาท (ถ้าคุณอภินิหารเงินออมเสียชีวิต ณ อายุ 54 ปีก็จะได้รับเงินจำนวน 2,927,400 บาท) การเริ่มรับเงินบำนาญจะเริ่มที่อายุ 55 ปีจะได้รับเงินบำนาญปีละ 150,000 บาทไปจนกระทั่งอายุ 90 ปีแต่ถ้าบังเอิญเสียชีวิตช่วงรับเงินบำนาญที่อายุ 56 ปี จะได้รับเงินบำนาญบวกกับความคุ้มครองชีวิต(ตัวเลขสีน้ำเงินแนวตั้ง) จะให้ความคุ้มครองลดลงตามอายุที่เพิ่มขึ้น คือ 150,000 + 1,699,000 = 1,849,000 บาท

ตารางอธิบายสิทธิประโยชน์ตามฐานภาษี ชนิดเลือกรับเงินบำนาญ ณ อายุ 55 ปี


ฐานภาษีใหม่ที่มีตั้งแต่ 0% , 5% ,10% ,15% ,20% , 25% ,30% และ 35% โดยจะยกตัวอย่างที่ฐานภาษี 15% ดังนี้
  • ได้รับเงินบำนาญคืน 15% ทุกปีตั้งแต่อายุ 55-90 ปี(บำนาญ) ทั้งหมด 150,000 x 36 = 5,400,000 บาท
  • ได้รับผลประโยชน์ลดหย่อนภาษี ณ ฐาน 15% (สมมติว่าเท่ากันทุกปีตั้งแต่อายุ 35-54 ปี) คือ 418,200 บาท 
  • ผลประโยชน์รวมตลอดสัญญา(เงินบำนาญ + ลดหย่อนภาษี) คือ 5,400,000 + 418,200 = 5,818,200 บาท
  • เราจ่ายเบี้ยประกันตั้งแต่อายุ 35-54 ปี จำนวนปีละ 139,000 บาท รวมทั้งสิ้น 139,400 x 20 = 2,788,000 บาท
  • สรุปว่ามีส่วนต่างที่ได้รับมากกว่าเบี้ยประกันที่จ่าย 5,818,200 - 2,788,000 = 3,030,200 บาท 

แบบที่ 1.2 เลือกรับเงินบำนาญ ณ อายุ 55 ปี แต่ตัดสินใจเริ่มทำช้าไป โดยเริ่มทำที่อายุ 45 ปีที่ทุนประกัน 1,000,000 บาทเท่ากัน


การเริ่มทำช้าจะต้องชำระเบี้ยประกันเพิ่มขึ้นเป็น 322,200 บาทต่อปี(เฉลี่ยเดือนละ 26,850 บาท) แต่ลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาทเท่านั้น ถ้าบุคคลที่เลือกทำแบบนี้มีเป้าหมายที่ต้องการเก็บเงินไว้ใช้หลังเกษียณแต่รู้ตัวช้าทำให้เริ่มเก็บช้าจึงต้องเก็บเป็นจำนวนที่มาก

ตารางสิทธิประโยชน์ ของแบบที่ 1.2


แบบที่ 2 เลือกรับเงินบำนาญ ณ อายุ 60 ปี (วิธีการอ่่านข้อมูลเหมือนแบบที่ 1 เพียงแต่เปลี่ยนอายุการเริ่มรับเงินบำนาญเป็นอายุ 60 ปี)


แบบที่ 3 เลือกรับเงินบำนาญ ณ อายุ 65 ปี (วิธีการอ่่านข้อมูลเหมือนแบบที่ 1 เพียงแต่เปลี่ยนอายุการเริ่มรับเงินบำนาญเป็นอายุ 65 ปี)



การซื้อประกันบางคนบอกว่าเป็นการเก็บเงินที่นานเกินไป ไม่มีสภาพคล่อง ถ้าฉุกเฉินก็ไม่สามารถนำออกมาใช้ได้ ฯลฯ ก็แล้วแต่มุมมองของแต่ละคน แต่เราขอถามนิดนึงว่าถ้าเงินออมนั้นถอนออกมาใช้ง่ายๆแล้วเราจะเป็นการบังคับตนเองให้ออมเงินได้อย่างไร เคยเจอเคสนึงที่แม่ต้องการเก็บเงินให้ลูกเรียนหนังสือ ก็ฝากเงินในธนาคารไว้ธรรมดา อยู่มาวันนึงเกิดจะต้องใช้เงินก็ถอนเงินการศึกษาของลูกในอนาคตออกมาใช้ก่อน และคิดว่าค่อยเริ่มเก็บใหม่ ถ้าเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆแล้วเมื่อไหร่จะเก็บได้ตามที่ตั้งใจไว้ ทุกคนมีปัญหาการเงินด้วยกันทั้งนั้น แล้วคนที่มีปัญหาการเงินเค้าจัดการกันอย่างไร คำตอบอยู่ที่การวางแผนการใช้เงิน ขอเพียงอย่าหลอกตัวเองโดยนำเงินในอนาคตมาใช้(การใช้บัตรเครดิตแบบไม่ระมัดระวัง)หรือคิดว่าตนเองสบายเพราะมีมรดกของที่บ้านจึงไม่คิดจะเก็บเงินเอง ถึงแม้วันที่เราได้รับมรดกมาจริงๆแล้วรักษาไว้ไม่ได้ ใช้อย่างสิ้นเปลือง ยังไงมรดกนั้นก็หมดอยู่ดี



บทความน่าสนใจ

ประกันชีวิตหักลดหย่อนภาษี 200,000 บาท ตอนที่ 1/2