วันศุกร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ขึ้นคานอย่างมีศักดิ์ศรี ต้องมีแผนทางการเงิน

จากการพยากรณ์ของนักวิชาการหลายๆสำนักที่บอกว่าธรรมชาติจะเลวร้ายลงเรื่อยๆ ประชากรที่เกิดใหม่ในอนาคตก็จะผจญกับภาวะการขาดแคลนอาหารอันเนื่องมาจากความเลวร้ายของภัยธรรมชาติ กลุ่มคนโสดที่รักคานทองยิ่งชีพยอมไม่ได้ที่จะให้เกิดเหตุการณ์นั้น เราก็เลยร่วมด้วยช่วยกันดูแลธรรมชาติและช่วยกันคุมกำเนิดไม่ให้มีเด็กเกิดขึ้นมาเยอะเกินไป!!

ก็ว่าไปนั่น.....ก็แค่ขำๆ ให้กำลังใจคนโสดหนะค่ะ ^_^!!

คนโสดก็ไม่มีอะไรมากก็แค่ดูแลตัวเอง ดูแลพ่อแม่ หาความสุขให้กับตัวเอง ท่องเที่ยวไปในที่ที่อยากจะไป จะสังเกตได้ว่าเงินส่วนใหญ่จะหมดไปกับการท่องเที่ยวหาความสุขใส่ตัว ในกลุ่มที่ดูแลตัวเองและวางแผนทางการเงินดีก็จะไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าบางคนใช้จ่ายจนเกินตัวเองไปนิด ทำงานเดือนนี้เพื่อใช้หนี้บัตรเครดิตที่ใช้เกินไปหลายเดือนแบบนี้ก็ไม่ค่อยสนุกกับการใช้ชีวิตสักเท่าไหร่

เราต้องมาจุดประกายให้คนโสดเริ่มคิดที่จะวางแผนการเงินกันมากขึ้นแล้วหละ !!

เริ่มจากมาดูอนาคตว่าเราต้องเจอกับอะไรบ้าง เพื่อเป็นแรงกระตุ้นใ้ห้เกิดความอยากที่จะเก็บเงิน ส่วนวิธีการเก็บเงินนั้นก็จะตามมาเอง แนวโน้มของประชากรจะมีคนโสดมากขึ้น ก็เป็นที่รู้กับอยู่แล้ว แต่ว่าคนโสดมาเกี่ยวอะไรกับการวางแผนทางการเงินหละ?? คนแต่งงานก็มีภาระแบบคนมีคู่ ส่วนคนโสดก็มีภาระของคนที่ต้องอยู่คนเดียว เราเคยลองคิดไหมว่า.....

"ถ้าคนโสดอย่างเราแก่ตัวไป 
ทำงานไม่ไหว 
ตอนนั้นใครจะมาดูแล"

อย่าหวังให้ใครมาเลี้ยงเพราะเราไ่ม่ได้ให้กำเนิดใครเพื่อมาเลี้ยงดูเรายามชรา ภาระของคนโสดก็อยู่ตรงนี้แหละ แม้ว่าการยืนด้วยลำแข้งของตัวเองมันจะเหนื่อย แต่ก็ต้องเริ่มคิดตั้งแต่ตอนที่มีกำลังทำงานแล้วหละ ว่า ณ อายุ 70 ปีเราจะอยู่ยังไง คงไม่ต้องรอให้ถึงก่อนแล้วค่อยคิดนะจ๊ะ เพราะมันจะช้าไป และถ้าพัฒนาการทางการแพทย์ทำให้เราอายุยืนกว่านั้นหละ โครงการบ้านพักคนชราคนเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ดเลยหละ เป้าหมายกลุ่มคนหลังเกษียณก็เป็นอีกธุรกิจนึงที่น่าจะเติบโตมากๆในอนาคต

เฮ้ออออ.....แค่คิดภาพว่าตัวเองต้องแบกสังขารไปหุงข้าวกินเองก็เหนื่อยละ

เมื่อเราตัดสินใจแล้วว่าจะอยู่คนเดียวแล้วหละก็ต้องมีการวางแผนการใช้เงินให้ดีเลยหละ ณ จุดนั้นคงต้องจ้างพยาบาลมาดูแล เพราะเราคงดูแลตัวเองไม่ได้ ถ้าจะให้มีคนมาดูแลเราฟรีๆก็คงเป็นจิตอาสาเกินไป ผลตอบแทนให้คนดูแลก็ต้องมีบ้าง เราก็เลยต้องวางแผนการใช้เงินไงจ๊ะ  พอแก่ชราตำหมากไม่ไหวแล้วจะได้ไม่ลำบาก ก็เลยคิดว่าน่าจะต้องรู้ว่าช่วงอายุที่เราทำงานไม่ได้นั้นต้องมีรายจ่ายเท่าไหร่ หรือความจำเป็นในการใ้ช้เงินว่าเราจะต้องใช้เงินจนกระทั่งวาระของสุดท้ายเท่าไหร่ แล้วมาดูว่าปัจจุบันเราเก็บเงินได้เท่ากับจำนวนที่ใ้ช้หลังเกษียณอายุแล้วรึยัง ภาพนี้เขียนไปในบล็อกเดือนกันยายนมีวิธีคำนวณเป็นตัวอย่างที่ http://pajareep.blogspot.com/2012/09/blog-post_30.html แต่ถ้าใครไม่ชอบตัวเลขก็จำเป็น concept ว่า "เก็บเงินให้พอใช้ในวัยหลังเกษียณ"




หลังจากนี้ไปก็ต้องเรียนรู้วิธีการเก็บเงินว่าจะทำอย่างไรให้เงินของเรางอกเงยทันใจไว้ใช้ในอนาคต โลกของการลงทุนนั้นไม่ยากมันจะไปทุกที่ที่อินเตอร์เน็ตเข้าถึง ถ้าเรารู้แล้วว่าต้องใช้เงินจำนวนเท่าไหร่มันก็จะเป็นแรงผลักดันให้เราอยากวางแผนการเงิน อยากเรียนรู้ อยากเก็บเงินจากการทำงาน(ไม่ใช้การคาดหวังว่าจะถูกล็อกเตอร์รี่) สินทรัพย์ที่ใช้รักษามูลค่าของเงินนั้นก็มีเยอะมาก ก็ต้องค่อยๆศึกษาเงื่อนไขของแต่ละแบบ มีตั้งแต่ฝากประจำ ลงทุนในหุ้น ตราสารหนี้ กองทุนรวม พันธบัตรรัฐบาล ซื้อทองแท่ง ทองรูปพรรณ โปรแกรมออมทองทุกเดือน เครื่องประดับเช่นเพชร ภาพเขียน งานศิลปะต่างๆ ของหายากต่างๆ นาฬิกา แอลกฮอล์ เช่น เหล้า ไวน์ ฯลฯ เลือกศึกษาเฉพาะที่เราเข้าใจก่อนแล้วค่อยศึกษาในส่วนอื่นมากขึ้นเรื่อยๆ 

เว็ปแนะนำ http://www.tsi-thailand.org/index.php ซึ่งมีสาระความรู้เรื่องการลงทุนให้ศึกษา 
มันไม่ยากอย่างที่คิด ยอมลำบากตอนนี้ดีกว่าลำบากตอนแก่นะจ๊ะ

คำนี้มันโดนจริงๆ เจอใน FB เราก็ยืมมาเขียนเป็นเรื่องของการเงินสักหน่อยละกัน

"เป็นโสดอย่างกล้าหาญ 
ขึ้นคานอย่างมีศักดิ์ศรี 
ต้องมีแผนทางการเงิน"









วันอังคารที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

การพนัน คือ การวางเดิมพันอนาคต





โฆษณาชิ้นนี้บอกอะไรกับคุณบ้าง??

..........ก็เป็นแค่โฆษณา
..........ก็แค่เกิดกับครอบครัวเดียวไม่เห็นมีอะไรเลย 
..........เป็นเรื่องของคนอื่นไม่เกี่ยวข้องกับเราสักหน่อย 
..........ก็เป็นตัวอย่างที่ไม่ดี แต่ถ้าครอบครัวเราไม่มีคนเล่นพนันก็ไม่ต้องกังวลอะไรอยู่แล้ว
..........ดูหน้าตาฉลาดแบบนี้ไม่น่าติดพนันจนเสียครอบครัวเลย (ออกสงสารมากกว่า) 

คุณคิดว่าถ้าผู้ชายในวีดีโอไม่ติดการพนัน ครอบครัวจะเป็นอย่างไร??

ลองนึกขำๆซิว่าถ้าคนส่วนใหญ่ของสังคมเป็นนักพนันแบบนี้หละจะเป็นอย่างไร ไม่แค่ครอบครัวจะพัง สังคมก็จะพังไปด้วย มันจะเป็นอย่างไรถ้าเราเดินอยู่แล้วมีคนมาจี้หรือปล้นนำทรัพย์สินของเราไป จากที่เป็นปัญหาของครอบครัวอื่นที่เราไม่สนใจก็จะกลายมาเป็นปัญหาของเราแล้วหละ ถ้าเป็นปัญหาของเราเมื่อไหร่ก็ค่อยรู้สึกเดือดร้อน ร้องประกาศให้คนอื่นช่วยเหลือว่าเราถูกทำร้ายเพราะถูกชิงทรัพย์จากนักพนัน และก็ออกมาช่วยกันรณรงค์ให้สังคมมันดีขึ้น 

ถามจริงๆ ถ้าถึงตอนนั้นมันจะแก้ปัญหาทันไหม!!

แนวทางในการเปิดคาสิโนของไทยก็น่าสนใจเพราะเป็นการสร้างงานให้กับคนในประเทศ และเงินของคนที่เล่นพนันจะได้อยู่ในประเทศไม่ไหลออกไปที่ประเทศเืพื่อนบ้าน สุดท้ายก็ต้องบอกว่าเพื่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศนั่นแหละ แล้วยังไงต่อหละ วิธีการสร้างความเจริญเนี้ยมันมีวิธีเดียวหรืออย่างไร ถ้าแก้ปัญหาหนึ่งแล้วก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆตามมา เช่น ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาหนี้สิน ปัญหาครอบครัว แล้วเมื่อไหร่จะแก้ปัญหาจบกันหละ

สมมติว่าถ้าทางผู้รักประเทศไทยทั้งหลายลงมติว่าต้องการส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยการเปิดคาสิโนให้ถูกกฎหมาย (ทั้งที่เรามีแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติเป็นจุดขายที่ดีอยู่แล้วไม่ค่อยส่งเสริมสักเท่าไหร่)โดยออกมาในรูปแบบของสถานบันเทิงกึ่งรีสอร์ท เช่น โครงการ Integrated Resort ซึ่งในที่แห่งนั้นจะมีสิ่งบันเทิงครบวงจรในที่เดียวกัน มีโรงแรมให้พัก อาหารอย่างดีไว้เลี้ยงต้อนรับบุคคลที่เครียดเนื่องจากมีเงินเหลือเยอะจนคิดไม่ออกว่าจะเอาไปทำอะไรก็มาผ่อนคลายโดยการเสี่ยงโชคแก้เครียด หรือบางคนที่คิดว่าจะมากอบโกยเงินทองจากคาสิโนเพื่อหวังนำไปก่อร่างสร้างตัวเพราะอยากรวยกับเค้าสักที แล้วสุดท้ายมันก็เป็นแค่ความหวังจริงๆ ยิ่งหวังมากก็เจ็บมาก

แน่นอนว่าคาสิโนจะก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้.... ว่าแต่จะสร้างแบบไหนดีหละ??

สร้างเงิน
==> สร้างงานให้กับธุรกิจก่อสร้างและธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการก่อสร้าง
==> สร้างงานให้กับคนในท้องถิ่นจากการเข้าไปทำงานในสถานบันเทิง
==> สร้างรายได้ให้กับประเทศจากนักท่องเที่ยวที่เข้ามาใช้บริการ

.....อาจจะสร้างเงินได้อีกนะ ตอนนี้คิดไม่ออก แต่ถ้าต้องทำให้ถูกกฎหมายจริงๆก็จะมีการเขียนแผนและประมาณการรายได้มาให้ดูว่าเราจะได้เงินเท่าไหร่จากการลงทุน เขียนนโยบายโดยชักแม่น้ำทั้งห้าเพื่อบอกถึงผลประโยชน์และความคุ้มค่าของการก่อสร้าง โดยที่มีแนวทางการแก้ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นป้องกันไว้รอบด้าน แต่จะทำได้จริงรึเปล่าก็อีกเรื่องนึง

ตัวอย่างของประเทศสิงค์โปร์ 
"มองในแง่ผลประโยชน์ รัฐบาลคาดหวังว่าโครงการนี้จะก่อให้เกิดการจ้างงาน 35,000 อัตรา มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 15,000 ล้านดอลลาร์สิงค์โปร์ต่อปี และผลอันเกิดจากการทำงานของตัวทวีคูณ จะทำให้ภาคเศรษฐกิจอื่นๆขยายตัวตามไปด้วย เช่น โรงแรม สายการบิน ค้าปลีก ห้องพักและเช่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ ภาพรวมเหล่านี้จะส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศเพิ่มขึ้นระหว่างร้อยละ 0.3-1.3 ต่อปี" (อ่านข้อมูลทั้งหมดได้ที่ข่าวด้านล่างค่ะ)

สร้างสังคม
==> สร้างงานให้กับตำรวจเพราะมีเหตุร้ายไม่เว้นแต่ละวัน อาชญากรรมบ้าง ลักทรัพย์บ้าง
==> สร้างธุรกิจ Call Center เพราะจะเกิดปัญหาคนที่อยากเลิกเล่นพนันแล้วไม่มีที่ปรึกษา
        ก็ต้องมีสายด่วนให้คำปรึกษา
==> สร้างปัญหาครอบครัว (ในตัวอย่างวีดีโอข้างต้น)
==> สร้างงานให้รัฐบาลเพราะต้องเสียงบประมาณมาดูแลคุณภาพชีวิตของคนชรามากขึ้น
        อันเนื่องมาจากไ่ม่มีเงินออมเหลือเก็บ 

......อาจจะสร้างสังคมได้อีกนะ ตอนนี้คิดไม่ออก ก็ต้องรอดูว่าแนวทางการแก้ไขที่เขียนเป็นนโยบายนั้นจะใช้ได้จริงๆรึเปล่า 

จากในอดีต มีการเล่นการพนันในบ่อน ได้แก่ บ่อนถั่วและบ่อนโปโดยใช้เบี้ยเล่นแทนเงิน เมื่อเลิกเล่นจึงเอาเบี้ยไปขึ้นเป็นเงิน สถานที่เล่นพนันจึงเรียกว่า "บ่อนเบี้ย" และการเล่นพนันถั่วและโปจึงเรียกว่า "เล่นเบี้ย" ในคราวนั้น แม้รัฐจะมีรายได้จาก "อากรบ่อนเบี้ย" มาใช้จ่ายในการพัฒนาประเทศ
แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ 5 (พระพุทธเจ้าหลวง) ทรงตระหนักถึงภัยอันใหญ่หลวงของบ่อนเบี้ยการพนัน ดังความบางตอนในพระราชหัตถเลขา 

พระราชทานกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ว่า......

"...ได้เรียนตำราเล่นเบี้ยอย่างฝรั่งเข้าใจ ข้อซึ่งเข้าใจกันว่าเล่นไม่น่าสนุกนั้นไม่จริงเลย สนุกยิ่งกว่าอะไรๆหมด ถ้าชาวบางกอกได้รู้ไปเล่นแล้ว ฉิบหายกันไม่เหลือ ถ้าหากว่าไปถึงเมืองเราเข้าเมื่อไรจะรอช้าแต่สักวันเดียวก็ไม่ควร ต้องห้ามทันที"

พระองค์เห็นว่าการมีราษฎรมัวเมาในการพนันย่อมเป็นเหตุนำไปสู่ความวิบัติ ทั้งส่วนตัวและส่วนรวมในความมั่นคงของประเทศชาติ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดการปรับปรุงงานพระคลังเพื่อหารายได้อื่น มาทดแทนรายได้จากอากรบ่อนเบี้ย
 

รัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงรู้ถึงผลเสียของการพนันว่าจะทำให้ประเทศจะไม่เหลืออะไร พระองค์ยังทรงห้ามไม่ให้เกิดขึ้น ทรงมองการณ์ไกลถึงอนาคตของประเทศเป็นร้อยกว่าปีว่าจะล่มจมอย่างไร ไม่เข้าใจว่าทำไมบางคนที่เปล่งวาจาว่ารักประเทศไทยทั้งหลายไม่ทำตามดำริของพระองค์ท่าน 
==============================================================


ธุรกิจพนันเอเชียแจ้งเกิด ไทยเดินเกมอย่างไร เมื่อถูกเพื่อนบ้านล้อม !!



คนไทย 90% แห่เล่นพนันบ่อนชายแดน
ถึงกระนั้น เมื่อเส้นทางการพนัน ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในประเทศ เล่นใน ‘บ้าน’ ไม่ได้ก็ออกไปเล่นข้างนอก ข้อมูลจึงพบว่าคนไทยร้อยละ 90 นิยมเข้าไปลุ้นหน้าไพ่ในบ่อนพนันตามแนวชายแดน โดยทำทีเข้าไปในลักษณะส่วนบุคคล และจัดเป็นกรุ๊ปทัวร์เพื่อไปท่องเที่ยว แต่จริงๆ แล้วมีจุดประสงค์เข้าไปเล่นพนันโดยเฉพาะ
ที่สำคัญคนกลุ่มนี้ยังมีตั้งแต่กลุ่มเยาวชนไปจนถึงผู้สูงอายุ เพราะปัจจุบันบ่อนพนันชายแดนได้ปรับกลยุทธ์ ขยายฐานผู้เล่นหน้าใหม่ นำระบบไอทีเข้ามาเป็นส่วนผสม กลายเป็นการพนันระบบออนไลน์ต่างๆ
ที่มา : สำนักข่าวอิศรา 
เขียนโดย ณัฐนันท์  อิทธิยาภรณ์
วันอาทิตย์ที่ 26 สิงหาคม 2012 เวลา 12.08 น.



=================================================


เรื่อง เรียนรู้ประสบการณ์การเปิดบ่อนคาสิโนของสิงคโปร์

โดย ดร. รัตพงษ์ สอนสุภาพ

สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีขนาดเล็กและมีทรัพยากรจำกัด รัฐบาลเห็นว่า รายได้จากการท่องเที่ยวจะเป็นรายได้สำคัญต่อการพัฒนาประเทศ จึงตัดสินใจเปิดบ่อนการพนันภายใต้โครงการคาสิโนรีสอร์ท (Casinos Integrated Resort : IRs) ขึ้นในปี 2005 เพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าหลากหลายประเภท

ในช่วงก่อสร้าง รัฐบาลสิงคโปร์ดำเนินกระบวนการสร้างความรู้ความเข้าใจต่อสังคมอย่างต่อเนื่อง และในช่วงปี 2009-2010 ได้อนุญาตให้เปิดบ่อนการพนันอย่างถูกกฎหมายสองแห่ง คือ เซนโทซ่า (Sentosa) และมารีนาเบย์ (Marina Bay) โดยใช้เงินลงทุนเบื้องต้น 5,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์

มองในแง่ผลประโยชน์ รัฐบาลคาดหวังว่าโครงการนี้จะก่อให้เกิดการจ้างงาน 35,000 อัตรา มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 15,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ต่อปี และผลอันเกิดจากการทำงานของตัวทวีคูณ (Multiplier effect) จะทำให้ภาคเศรษฐกิจอื่นๆขยายตัวตามไปด้วย เช่น โรงแรม สายการบิน ค้าปลีก ห้องพัก และเช่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ ภาพรวมเหล่านี้จะส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศเพิ่มขึ้นระหว่างร้อยละ 0.3-1.3 ต่อปี


มองในแง่ผลกระทบ การเปิดบ่อนการพนันอาจส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศ รวมทั้งอาจนำไปสู่ปัญหาอื่นๆทางสังคม ได้แก่ ความพยายามที่จะหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย เป็นเหตุให้ปัญหาการคอร์รัปชันเพิ่มขึ้น และอาจส่งผลในแง่ประสิทธิภาพในการบริหารงานของรัฐบาลและรัฐสภาต่อทิศทางในการกำหนดเกมการพนันของประเทศ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากภาพลวงตาของโครงการ IRs รวมทั้งการกำหนดแนวทางในการนำเงินที่ได้จากธุรกิจการพนันไปใช้ประโยชน์ต่อสังคมอย่างไรเพื่อให้สังคมได้ประโยชน์สูงสุด เช่นด้านการศึกษาและสาธารณสุขรวมถึงการรณรงค์เพื่อลดผลกระทบจากธุรกิจการพนัน


ข้อกังวลอีกประการหนึ่งสำหรับการเปิดบ่อนการพนันในสิงคโปร์คือ ปัญหาการเสพติดการพนันของชาวสิงคโปร์เอง ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาอื่นๆตามมา ได้แก่ ปัญหาครอบครัว ปัญหาอาชญากรรม และปัญหาหนี้สิน เป็นต้น


รัฐบาลสิงคโปร์ตระหนักถึงผลกระทบทางสังคม จึงได้ถอดบทเรียนและประสบการณ์ของเมืองหรือประเทศที่ได้มีการอนุญาตให้เปิดบ่อนการพนันอย่างถูกกฎหมายมาเป็นกรณีตัวอย่าง เช่น เมืองแอตแลนติกซิตี้ บาฮามาส และเมืองเวเนเซีย ลาสเวกัสในรัฐเนวาดา


รัฐบาลสิงคโปร์ได้ออกมาตรการทางสังคม กฎระเบียบในการเข้าไปเล่นการพนันในบ่อนคาสิโนอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะชาวสิงคโปร์และคนที่มีถิ่นพำนักอยู่ถาวรในสิงคโปร์จะต้องเสียค่าใช้จ่าย 100 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อ 24 ชั่วโมง และ 2,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อปี ส่วนชาวต่างชาติสามารถเข้าได้ฟรี ทั้งนี้ผู้เข้าไปเล่นจะต้องมีอายุตั้งแต่ 21 ปีขึ้นไป การเข้าไปใช้บริการในแต่ละครั้งจะต้องแสดงหลักฐานตัวตนอย่างชัดเจน เช่น บัตรประชาชนใบขับขี่ ส่วนชาวต่างชาติก็แสดงหลักฐาน เช่น หนังสือเดินทาง เป็นต้น


Pricewaterhouse Coopers LLP และ Wilkofsky Gruen Associates (2011) ประเมินว่าสิงคโปร์เป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตในธุรกิจนี้รวดเร็วมาก ในปี 2010 ซึ่งเป็นปีแรกที่เปิดบ่อนคาสิโน สิงคโปร์มีส่วนแบ่งตลาดถึงร้อยละ 8.2 มูลค่า 2,827 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นรองจากมาเก๊าและออสเตรเลียเท่านั้น สูงกว่าตลาดเก่าที่เปิดให้บริการอยู่แล้วทั้งเกาหลีใต้ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ นิวซีแลนด์ และเวียดนาม ในช่วงปี 2011-2015 ตลาดสิงคโปร์มีแนวโน้มเติบโตสูงมาก มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 20.5 ต่อปี กลายเป็นตลาดใหญ่อันดับสองทั้งในแง่มูลค่าและอัตราการเติบโต เป็นรองเพียงมาเก๊าที่เดียวเท่านั้น โดยในปี 2015 มีมูลค่าสูงถึง 7,172 ล้านดอลลาร์สหรัฐ


ล่าสุดมีข่าวออกมาว่า การพนันโดยรวมของคนสิงคโปร์ลดลง แต่ผลการสำรวจสะท้อนว่า ประชาชนที่มีรายได้ต่ำทุ่มเงินไปกับการพนันมากขึ้น วางเดิมพันก้อนใหญ่ขึ้น นักพนันหน้าเดิมเล่นพนันบ่อยขึ้น และมีคนขอคำปรึกษาเกี่ยวเนื่องกับปัญหาการพนันมากขึ้น ทำให้รัฐบาลต้องเดินหน้าแก้ปัญหาเรื่องนี้ ด้วยการห้ามผู้ล้มละลายหรือผู้ที่พึ่งพาความช่วยเหลือจากรัฐเข้าคาสิโน เพิ่มโทษทางวินัยแก่ผู้ดำเนินงานคาสิโนที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย รวมถึงจำกัดสินเชื่อสำหรับนักพนัน และกำลังพิจารณามาตรการอื่นๆเพิ่มเติมจากกฎที่เคยห้ามคาสิโนโฆษณาพุ่งเป้าไปที่คนท้องถิ่น และจำกัดหน้าม้าที่หานักพนันกระเป๋าหนักเข้าคาสิโน






วันจันทร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

อยากให้คนออมเงินแต่ทำไมมีแต่โฆษณาสินเชื่อ??


ขณะที่หนี้ภาคครัวเรือนสูงขึ้นมาอยู่ที่ 56% ของจีดีพี 
และสูงกว่าสัดส่วนผลตอบแทนจากการจ้างงาน
ต่อรายได้ประชาชาติคงที่อยู่ระดับ 35-38% 
แสดงถึงความเสี่ยงที่สูงขึ้นต่อความสามารถชำระหนี้ของครัวเรือน 
จากข้อมูลปี 2554 พบว่า ครัวเรือนที่มีการชำระหนี้ 
มีสัดส่วนของการชำระหนี้สูง 1 ใน 3 ของรายได้ในแต่ละเดือน 
เกินระดับหนี้ต่อรายได้ที่มีความเหมาะสมอยู่ที่ 28% 
โดยเฉพาะอย่างยิ่งครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาทต่อเดือน 
จะมีสัดส่วนการชำระหนี้ต่อรายได้เฉลี่ยสูงถึงเกือบสองเท่าของระดับดังกล่าว **

**ติดตามเนื้อหาข่าวฉบับเต็มอยู่ด้านล่าง

โฆษณาหลายๆสื่อ เช่น ทีวี วิทยุ อินเตอร์เน็ต นิตยสาร FB ป้ายโฆษณาและอีกหลายๆทางตามแต่จะมีช่องทางให้เข้าถึงคนหมู่มากๆ เคยลองนั่งนับไหมว่ามีโฆษณาให้สินเชื่อจำนวนเท่าไหร่ ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถยนต์ อนุมัติเร็วทันใจภายในไม่กี่นาที มาขอสินเชื่อวันนี้ลุ้นแลกทอง และมีอีกหลายโฆษณาที่ดูแล้วยังจำไม่ค่อยได้เลยว่าบริษัทให้อะไรบ้าง มันเยอะไปหมดเลือกไปกู้ไม่ถูกกันเลยทีเดียวว่าจะไปกู้ใครดี โปรโมชั่นน่าสนใจทั้งนั้นเลย

จากคำพูดที่พร่ำบอก(หรือแค่พูดถึงพอเป็นพิธีก็ไม่ทราบ)ว่าเป็นห่วงเรื่องการออมของประชาชนและรณรงค์เรื่องการออมเงิน อยากให้คนไทยเป็นสังคมการออมกันมากขึ้น ออมเงินไว้ใช้หลังเกษียณ ฯลฯ นอกจากสื่อทางหนังสือพิมพ์ที่เป็นข่าวแล้ว ทำไมไม่เห็นมีโฆษณาทางทีวีบ้างเลย หรือถ้ามีแล้วช่วยกันนับหน่อยว่าโฆษณากี่ครั้ง มีบ้างไหมที่จะทำโฆษณาส่งเสริมการออมเงินออกมาเผยแพร่ให้ดูน่าสนใจ มากกว่าให้นักข่าวอ่านให้ผ่านหูไปวันๆ

แค่อยากเห็นโฆษณาสร้างสรรค์สังคมบ้างหนะค่ะ

เชื่อว่าหลายคนเคยเห็นโฆษณาของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ประโยคเด็ดๆที่จำได้ " จนเ ครียด กินเหล้า" , "ให้เหล้า = แช่ง"

วีดีโอของ สสส. การทำเกษตรผสมผสานชุดนึงที่ดูแล้วน่ารักดีค่ะ ชื่อชุด เกษตรประณีต


หลายโฆษณาที่ออกมาก็เป็นจุดเริ่มสร้างค่านิยมใหม่ๆให้กับสังคมไทย เช่น ให้เหล้า = แช่ง ทำให้คนมาฉุกคิดเรื่องของขวัญกันมากขึ้น แม้ว่าตอนแรกอาจจะเปลี่ยนได้ยาก แต่เชื่อว่าถ้าตอกย้ำทุกวันคนก็จะเลิกให้เหล้าเป็นของขวัญอย่างแน่นอน

ลองคิดเล่นๆถ้าทาง สสส. เพิ่มการดูแลสุขภาพร่างกายมาช่วยดูแลสุขภาพของเงินในกระเป๋าบ้างหละรูปแบบโฆษณาจะออกมาเป็นอย่างไร ถ้าได้รับเงินสนับสนุนจากแหล่งสถาบันการเงินที่ได้ชื่อว่าส่งเสริมให้คนรักการออมเงิน มียอดการปล่อยสินเชื่อพุ่งกระฉูดมาสนับสนุนด้วยแล้ว รับรองว่าได้หน้า เอ๊ย!!ไม่ใช่ซิ เป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีทีเดียวแหละ อาจจะเห็นโฆษณาเด็ดๆวิ่งไปมาในทีวีบ่อยๆก็ได้ เช่น

"จน เครียด เลิกเล่นหวย"  หรือ "ออมเงิน = รวย" หรือ "เครดิตดี = ไม่มีหนี้ก็ได้"

การบริโภคนั้นทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบก็จริง แต่ถ้ามากเกินไปจนไม่ป้องกันก็จะทำให้ระบบเสียหายได้เหมือนปี 40 ที่เราโตจากภาคการเงิน การเก็งกำไร ไม่ได้โตจากพื้นฐานเศรษฐกิจที่แท้จริงก็เกิดเป็นวิกฤตขึ้นมา ลองคิดเล่นๆว่าการสมัครบัตรเครติดจะมีสัญญาที่ตัวเล็กและพิมพ์ชนิดที่ไม่ชวนอ่านเอาซะเลย เหมือนตั้งใจไม่อยากให้อ่าน น่าจะมีการนำเสนอแบบอื่นดูบ้าง ของเดิมคงมีอยู่แค่ทำเพิ่มโดยใช้สื่ออินเตอร์เน็ตให้เป็นประโยชน์ ทำวีดีโอนำเสนอสัญญาเป็นตัวการ์ตูนที่ดูแล้วเข้าใจง่ายๆว่าเนื้อหาของสัญญาคืออะไร เลือกมาแต่เรื่องที่ต้องรู้เบื้องต้นของสัญญา พอดูจบตอบคำถาม 5 ข้อ ถ้าตอบถูก 3 ใน 5 ข้อก็จะได้รับคะแนนสะสม 100 คะแนน เป็นของรางวัล แค่นี้ก็จะทำให้คนเริ่มสนใจอ่านสัญญาด้านหลังมากขึ้น หรือว่าจะแจกวิธีการใช้บัตรเครดิตที่ถูกต้องเพื่อให้ผู้บริโภครู้จักป้องกันตนเอง ไม่ให้เป็นหนี้เกินตัวและจะได้เป็นลูกหนี้เกรด A ของเรานานๆไงค่ะ ก็ทำเป็น CSR ได้ด้วย

การซื้อขายในสมัยก่อนก็เป็นลักษณะของการแลกกัน ก็แค่หาคนที่มีความต้องการเหมือนกันก็แลกกันได้ แต่กว่าจะหากันเจอในบางครั้งก็เหนื่อย ก็เลยเกิดมาเป็นหาตัวกลางในการแลกเปลี่ยนโดยที่เรากำหนดมูลค่าให้ตัวกลางนั้นๆ ซึ่งปัจจุบัน คือ เงิน นั่นเอง จากแต่ก่อนที่ต้องหอบเหรียญร้อยใส่เอวไปซื้อของ ก็เริ่มทำให้พกพาสะดวกขึ้นเป็นธนบัตร บางครั้งพกเงินสดมากๆก็กลัวหายก็เลยต้องพกเป็นบัตรเครดิตเวลาจะจ่ายอะไรก็สะดวกมากขึ้น(เป็นหนี้โดยไม่รู้ตัวง่ายขึ้นด้วย) ก็เลยลองคิดเล่นๆว่า ต่อไปเราอาจจะไม่ต้องพกเงินสดเลยก็ได้ มีบัตรใบเดียวใช้แทนเงินสดและก็ทำธุรกรรมได้ทุกอย่าง เพียงแค่มีโทรศัพท์มือถือเป็นตัวช่วยในการส่งคำสั่งทำธุรกรรมเพียงแค่กดๆๆ ทำได้ทุกที่ทุกเวลา ประหนึ่งว่ามีธนาคารบนมือถือ ต่อไปคนหน้าเคาเตอร์ที่ธนาคารคงมีน้อยลงเพราะโทรศัพท์ทำได้เองทุกอย่าง มีคนเคยบอกว่า "ทุกความคิดเป็นไปได้" ก็เลยมีไอเดียฟุ้งๆ คิดขำๆเรื่องการออมเงิน เลยตั้งคำถามว่า...

ถ้าโลกนี้มี "บัตรเงินออม" มันจะเป็นอย่างไร??

บัตรเงินออมเป็นบัตรที่บ่งบอกทางวินัยทางการเงินส่วนบุคคลของผู้ถือบัตร โดยที่บัตรเงินออมจะบันทึกรายรับรายจ่ายของผู้ถือบัตร ว่าแต่ละเดือนมียอดรายรับรายจ่ายเท่าไหร่ ถ้าใครมีพฤติกรรมการใช้เงินที่ผิดปกติ เช่น ฟุ้งเฟ้อ ใช้เงินเกินตัว หรือควบคุมการใช้จ่ายของตัวเองไม่ได้ ระบบก็จะส่งเมล์ไปแจ้งเตือนว่า "คุณมียอดการใช้จ่ายที่ควรได้รับการดูแล" พอแจ้งเตือนไปแล้วเจ้าของบัตรไม่สนใจแก้ไขปรับปรุงการใช้เงินของตัวเอง ก็จะถูกเรียกเข้าพบซึ่งในครั้งนี้ก็จะต้องถูกเข้ารับการอบรมวิธีการใช้เงินที่ถูกต้อง(เหมือนจับมาเลิกยาที่ถ้ำกระบอก)หลังจากจบการอบรมเค้าก็จะมีความรู้ในการดูแลการเงินของตัวเองมากขึ้น

บทความน่าสนใจ


บัตรเครติต & ตลาดหุ้น...หลักการกับปฎิบัติมันไม่เหมือนกัน
==>http://pajareep.blogspot.com/2012/12/blog-post.html


=============================================================


ไทยพาณิชย์ชี้เสี่ยง"หนี้แซงรายได้" ธปท.เกาะติดครัวเรือนค้างชำระเกิน1เดือนพุ่งขึ้น


ธปท.ย้ำเกาะติดสถานการณ์หนี้เอกชนหลังเติบโตสูงต่อเนื่อง หวั่นกระทบเสถียรภาพระบบการเงิน ชี้เริ่มเห็นสัญญาณภาคครัวเรือนชำระหนี้ช้าลง ด้าน "ไทยพาณิชย์" เตือนระวังภาระหนี้โตเร็วนำรายได้ กระทบเศรษฐกิจ

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า แม้ขณะนี้ ธปท.ให้น้ำหนักความเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจมากกว่า แต่ขณะเดียวกันก็กังวลต่อปัญหาระยะยาวที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานานเกินไป ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการออมของเอกชน รวมถึงการกู้ยืมเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ทำให้ราคาปรับขึ้นและหนี้ภาคครัวเรือนที่ขยับขึ้นตาม ซึ่งธปท.ยังติดตามอย่างใกล้ชิด อีกทั้งมีหลายปัจจัยมีผลต่อทิศทางของนโยบายการเงินในระยะต่อไป หนึ่งในนั้นคือความเสี่ยงจากสินเชื่อเอกชนที่ขยายตัวสูง ซึ่งช่วงที่ผ่านมาสินเชื่อขยายตัว 15-16% ทำให้ ธปท.ต้องเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะเป้าหมายของนโยบายการเงินต้องดูแลเสถียรภาพสถาบันการเงินด้วย

"ธปท.ติดตามขณะนี้ระดับหนี้เสียยังไม่ได้น่ากังวล เพราะดอกเบี้ยแบงก์จะลดลง ความต้องการสินเชื่อเข้ามามาก แต่มาตรฐานการกลั่นกรองให้สินเชื่อของแบงก์พาณิชย์ไม่ได้ลดลง" นายไพบูลย์กล่าว 

ทั้งนี้ รายงานแนวโน้มเงินเฟ้อฉบับล่าสุดของ ธปท. ระบุผลสำรวจความเห็นผู้บริหารระดับสูงของสถาบันการเงินที่ดูแลงานด้านสินเชื่อ ณ สิ้นเดือน ก.ย. 2555 พบว่า การขยายตัวของสินเชื่อเอกชนในระยะต่อไปมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งส่วนสินเชื่อธุรกิจและครัวเรือน 

ทั้งนี้ ณ เดือน ส.ค. สินเชื่อภาคเอกชนขยายตัว 15.93% ชะลอลงจาก 16.49% ในเดือนก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเป็นผลจากสินเชื่อภาคธุรกิจเริ่มชะลอ ขณะที่สินเชื่อภาคครัวเรือนยังขยายตัวสูง เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ 

ในรายงาน ยังระบุว่า ปัจจัยเสี่ยงของภาคครัวเรือนระยะต่อไปมีทั้งจากปัญหาเศรษฐกิจโลกที่กระทบต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้น และอาจส่งผลถึงรายได้ภาคครัวเรือน ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนที่ด้อยลงจากการก่อหนี้สินเชื่อที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 

"เริ่มเห็นสัญญาณความเสี่ยงต่อความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนกลุ่มที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลางหรือรายได้น้อยกว่า 25,000 บาทต่อเดือน ที่กู้เงินจากบริษัทประกอบธุรกิจบัตรเครดิตกลุ่มน็อนแบงก์ สะท้อนจากสินเชื่อค้างชำระเกิน 1 เดือนของครัวเรือนเร่งสูงขึ้นต่อเนื่อง" 

นางสาวสุทธาภา อมรวิวัฒน์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่า สัดส่วนหนี้ภาคเอกชนของไทยต่อจีดีพีได้ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง เฉลี่ย 4% ต่อปีในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา และปัจจุบันหนี้ภาคครัวเรือนและหนี้ภาคธุรกิจมีขนาดเท่ากันแล้ว คือประมาณ 56% ของจีดีพี ซึ่งการขยายตัวของหนี้ภาคครัวเรือนเป็นผลจากการให้สินเชื่อของธนาคารเป็นหลัก โดยเฉพาะธนาคารรัฐที่สนองนโยบายของรัฐ จนสินเชื่อภาคครัวเรือนสูงกว่า 45% ของสินเชื่อภาคครัวเรือนทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม แม้หนี้เอกชนจะเพิ่มขึ้น แต่ภาระหนี้ได้ลดลงมาก เห็นได้จากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ 5-8% ทำให้ต้นทุนดอกเบี้ยต่อปีของเอกชนเท่ากับ 7.7% ของจีดีพี หรือครึ่งหนึ่งของช่วงก่อนวิกฤตปี 2540

ขณะที่หนี้ภาคครัวเรือนสูงขึ้นมาอยู่ที่ 56% ของจีดีพี และสูงกว่าสัดส่วนผลตอบแทนจากการจ้างงานต่อรายได้ประชาชาติคงที่อยู่ระดับ 35-38% แสดงถึงความเสี่ยงที่สูงขึ้นต่อความสามารถชำระหนี้ของครัวเรือน จากข้อมูลปี 2554 พบว่า ครัวเรือนที่มีการชำระหนี้ มีสัดส่วนของการชำระหนี้สูง 1 ใน 3 ของรายได้ในแต่ละเดือน เกินระดับหนี้ต่อรายได้ที่มีความเหมาะสมอยู่ที่ 28% โดยเฉพาะอย่างยิ่งครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาทต่อเดือน จะมีสัดส่วนการชำระหนี้ต่อรายได้เฉลี่ยสูงถึงเกือบสองเท่าของระดับดังกล่าว 

นอกจากนี้ ครัวเรือนในเกือบทุกกลุ่มรายได้ (ยกเว้นครัวเรือนที่มีรายได้ต่อเดือนเกินกว่า 100,000 บาท) ยังมีภาระหนี้ต่อเดือนต่ำกว่าระดับ 28% เพียงเล็กน้อย อาจก่อให้เกิดปัญหาทั้งต่อครัวเรือนและเศรษฐกิจไทยโดยรวมได้ในอนาคต หากภาระหนี้ดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้น


31 ต.ค. 2555 เวลา 16:43:57 น.
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์