วันจันทร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

อยากให้คนออมเงินแต่ทำไมมีแต่โฆษณาสินเชื่อ??


ขณะที่หนี้ภาคครัวเรือนสูงขึ้นมาอยู่ที่ 56% ของจีดีพี 
และสูงกว่าสัดส่วนผลตอบแทนจากการจ้างงาน
ต่อรายได้ประชาชาติคงที่อยู่ระดับ 35-38% 
แสดงถึงความเสี่ยงที่สูงขึ้นต่อความสามารถชำระหนี้ของครัวเรือน 
จากข้อมูลปี 2554 พบว่า ครัวเรือนที่มีการชำระหนี้ 
มีสัดส่วนของการชำระหนี้สูง 1 ใน 3 ของรายได้ในแต่ละเดือน 
เกินระดับหนี้ต่อรายได้ที่มีความเหมาะสมอยู่ที่ 28% 
โดยเฉพาะอย่างยิ่งครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาทต่อเดือน 
จะมีสัดส่วนการชำระหนี้ต่อรายได้เฉลี่ยสูงถึงเกือบสองเท่าของระดับดังกล่าว **

**ติดตามเนื้อหาข่าวฉบับเต็มอยู่ด้านล่าง

โฆษณาหลายๆสื่อ เช่น ทีวี วิทยุ อินเตอร์เน็ต นิตยสาร FB ป้ายโฆษณาและอีกหลายๆทางตามแต่จะมีช่องทางให้เข้าถึงคนหมู่มากๆ เคยลองนั่งนับไหมว่ามีโฆษณาให้สินเชื่อจำนวนเท่าไหร่ ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถยนต์ อนุมัติเร็วทันใจภายในไม่กี่นาที มาขอสินเชื่อวันนี้ลุ้นแลกทอง และมีอีกหลายโฆษณาที่ดูแล้วยังจำไม่ค่อยได้เลยว่าบริษัทให้อะไรบ้าง มันเยอะไปหมดเลือกไปกู้ไม่ถูกกันเลยทีเดียวว่าจะไปกู้ใครดี โปรโมชั่นน่าสนใจทั้งนั้นเลย

จากคำพูดที่พร่ำบอก(หรือแค่พูดถึงพอเป็นพิธีก็ไม่ทราบ)ว่าเป็นห่วงเรื่องการออมของประชาชนและรณรงค์เรื่องการออมเงิน อยากให้คนไทยเป็นสังคมการออมกันมากขึ้น ออมเงินไว้ใช้หลังเกษียณ ฯลฯ นอกจากสื่อทางหนังสือพิมพ์ที่เป็นข่าวแล้ว ทำไมไม่เห็นมีโฆษณาทางทีวีบ้างเลย หรือถ้ามีแล้วช่วยกันนับหน่อยว่าโฆษณากี่ครั้ง มีบ้างไหมที่จะทำโฆษณาส่งเสริมการออมเงินออกมาเผยแพร่ให้ดูน่าสนใจ มากกว่าให้นักข่าวอ่านให้ผ่านหูไปวันๆ

แค่อยากเห็นโฆษณาสร้างสรรค์สังคมบ้างหนะค่ะ

เชื่อว่าหลายคนเคยเห็นโฆษณาของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ประโยคเด็ดๆที่จำได้ " จนเ ครียด กินเหล้า" , "ให้เหล้า = แช่ง"

วีดีโอของ สสส. การทำเกษตรผสมผสานชุดนึงที่ดูแล้วน่ารักดีค่ะ ชื่อชุด เกษตรประณีต


หลายโฆษณาที่ออกมาก็เป็นจุดเริ่มสร้างค่านิยมใหม่ๆให้กับสังคมไทย เช่น ให้เหล้า = แช่ง ทำให้คนมาฉุกคิดเรื่องของขวัญกันมากขึ้น แม้ว่าตอนแรกอาจจะเปลี่ยนได้ยาก แต่เชื่อว่าถ้าตอกย้ำทุกวันคนก็จะเลิกให้เหล้าเป็นของขวัญอย่างแน่นอน

ลองคิดเล่นๆถ้าทาง สสส. เพิ่มการดูแลสุขภาพร่างกายมาช่วยดูแลสุขภาพของเงินในกระเป๋าบ้างหละรูปแบบโฆษณาจะออกมาเป็นอย่างไร ถ้าได้รับเงินสนับสนุนจากแหล่งสถาบันการเงินที่ได้ชื่อว่าส่งเสริมให้คนรักการออมเงิน มียอดการปล่อยสินเชื่อพุ่งกระฉูดมาสนับสนุนด้วยแล้ว รับรองว่าได้หน้า เอ๊ย!!ไม่ใช่ซิ เป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีทีเดียวแหละ อาจจะเห็นโฆษณาเด็ดๆวิ่งไปมาในทีวีบ่อยๆก็ได้ เช่น

"จน เครียด เลิกเล่นหวย"  หรือ "ออมเงิน = รวย" หรือ "เครดิตดี = ไม่มีหนี้ก็ได้"

การบริโภคนั้นทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบก็จริง แต่ถ้ามากเกินไปจนไม่ป้องกันก็จะทำให้ระบบเสียหายได้เหมือนปี 40 ที่เราโตจากภาคการเงิน การเก็งกำไร ไม่ได้โตจากพื้นฐานเศรษฐกิจที่แท้จริงก็เกิดเป็นวิกฤตขึ้นมา ลองคิดเล่นๆว่าการสมัครบัตรเครติดจะมีสัญญาที่ตัวเล็กและพิมพ์ชนิดที่ไม่ชวนอ่านเอาซะเลย เหมือนตั้งใจไม่อยากให้อ่าน น่าจะมีการนำเสนอแบบอื่นดูบ้าง ของเดิมคงมีอยู่แค่ทำเพิ่มโดยใช้สื่ออินเตอร์เน็ตให้เป็นประโยชน์ ทำวีดีโอนำเสนอสัญญาเป็นตัวการ์ตูนที่ดูแล้วเข้าใจง่ายๆว่าเนื้อหาของสัญญาคืออะไร เลือกมาแต่เรื่องที่ต้องรู้เบื้องต้นของสัญญา พอดูจบตอบคำถาม 5 ข้อ ถ้าตอบถูก 3 ใน 5 ข้อก็จะได้รับคะแนนสะสม 100 คะแนน เป็นของรางวัล แค่นี้ก็จะทำให้คนเริ่มสนใจอ่านสัญญาด้านหลังมากขึ้น หรือว่าจะแจกวิธีการใช้บัตรเครดิตที่ถูกต้องเพื่อให้ผู้บริโภครู้จักป้องกันตนเอง ไม่ให้เป็นหนี้เกินตัวและจะได้เป็นลูกหนี้เกรด A ของเรานานๆไงค่ะ ก็ทำเป็น CSR ได้ด้วย

การซื้อขายในสมัยก่อนก็เป็นลักษณะของการแลกกัน ก็แค่หาคนที่มีความต้องการเหมือนกันก็แลกกันได้ แต่กว่าจะหากันเจอในบางครั้งก็เหนื่อย ก็เลยเกิดมาเป็นหาตัวกลางในการแลกเปลี่ยนโดยที่เรากำหนดมูลค่าให้ตัวกลางนั้นๆ ซึ่งปัจจุบัน คือ เงิน นั่นเอง จากแต่ก่อนที่ต้องหอบเหรียญร้อยใส่เอวไปซื้อของ ก็เริ่มทำให้พกพาสะดวกขึ้นเป็นธนบัตร บางครั้งพกเงินสดมากๆก็กลัวหายก็เลยต้องพกเป็นบัตรเครดิตเวลาจะจ่ายอะไรก็สะดวกมากขึ้น(เป็นหนี้โดยไม่รู้ตัวง่ายขึ้นด้วย) ก็เลยลองคิดเล่นๆว่า ต่อไปเราอาจจะไม่ต้องพกเงินสดเลยก็ได้ มีบัตรใบเดียวใช้แทนเงินสดและก็ทำธุรกรรมได้ทุกอย่าง เพียงแค่มีโทรศัพท์มือถือเป็นตัวช่วยในการส่งคำสั่งทำธุรกรรมเพียงแค่กดๆๆ ทำได้ทุกที่ทุกเวลา ประหนึ่งว่ามีธนาคารบนมือถือ ต่อไปคนหน้าเคาเตอร์ที่ธนาคารคงมีน้อยลงเพราะโทรศัพท์ทำได้เองทุกอย่าง มีคนเคยบอกว่า "ทุกความคิดเป็นไปได้" ก็เลยมีไอเดียฟุ้งๆ คิดขำๆเรื่องการออมเงิน เลยตั้งคำถามว่า...

ถ้าโลกนี้มี "บัตรเงินออม" มันจะเป็นอย่างไร??

บัตรเงินออมเป็นบัตรที่บ่งบอกทางวินัยทางการเงินส่วนบุคคลของผู้ถือบัตร โดยที่บัตรเงินออมจะบันทึกรายรับรายจ่ายของผู้ถือบัตร ว่าแต่ละเดือนมียอดรายรับรายจ่ายเท่าไหร่ ถ้าใครมีพฤติกรรมการใช้เงินที่ผิดปกติ เช่น ฟุ้งเฟ้อ ใช้เงินเกินตัว หรือควบคุมการใช้จ่ายของตัวเองไม่ได้ ระบบก็จะส่งเมล์ไปแจ้งเตือนว่า "คุณมียอดการใช้จ่ายที่ควรได้รับการดูแล" พอแจ้งเตือนไปแล้วเจ้าของบัตรไม่สนใจแก้ไขปรับปรุงการใช้เงินของตัวเอง ก็จะถูกเรียกเข้าพบซึ่งในครั้งนี้ก็จะต้องถูกเข้ารับการอบรมวิธีการใช้เงินที่ถูกต้อง(เหมือนจับมาเลิกยาที่ถ้ำกระบอก)หลังจากจบการอบรมเค้าก็จะมีความรู้ในการดูแลการเงินของตัวเองมากขึ้น

บทความน่าสนใจ


บัตรเครติต & ตลาดหุ้น...หลักการกับปฎิบัติมันไม่เหมือนกัน
==>http://pajareep.blogspot.com/2012/12/blog-post.html


=============================================================


ไทยพาณิชย์ชี้เสี่ยง"หนี้แซงรายได้" ธปท.เกาะติดครัวเรือนค้างชำระเกิน1เดือนพุ่งขึ้น


ธปท.ย้ำเกาะติดสถานการณ์หนี้เอกชนหลังเติบโตสูงต่อเนื่อง หวั่นกระทบเสถียรภาพระบบการเงิน ชี้เริ่มเห็นสัญญาณภาคครัวเรือนชำระหนี้ช้าลง ด้าน "ไทยพาณิชย์" เตือนระวังภาระหนี้โตเร็วนำรายได้ กระทบเศรษฐกิจ

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า แม้ขณะนี้ ธปท.ให้น้ำหนักความเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจมากกว่า แต่ขณะเดียวกันก็กังวลต่อปัญหาระยะยาวที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานานเกินไป ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการออมของเอกชน รวมถึงการกู้ยืมเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ทำให้ราคาปรับขึ้นและหนี้ภาคครัวเรือนที่ขยับขึ้นตาม ซึ่งธปท.ยังติดตามอย่างใกล้ชิด อีกทั้งมีหลายปัจจัยมีผลต่อทิศทางของนโยบายการเงินในระยะต่อไป หนึ่งในนั้นคือความเสี่ยงจากสินเชื่อเอกชนที่ขยายตัวสูง ซึ่งช่วงที่ผ่านมาสินเชื่อขยายตัว 15-16% ทำให้ ธปท.ต้องเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะเป้าหมายของนโยบายการเงินต้องดูแลเสถียรภาพสถาบันการเงินด้วย

"ธปท.ติดตามขณะนี้ระดับหนี้เสียยังไม่ได้น่ากังวล เพราะดอกเบี้ยแบงก์จะลดลง ความต้องการสินเชื่อเข้ามามาก แต่มาตรฐานการกลั่นกรองให้สินเชื่อของแบงก์พาณิชย์ไม่ได้ลดลง" นายไพบูลย์กล่าว 

ทั้งนี้ รายงานแนวโน้มเงินเฟ้อฉบับล่าสุดของ ธปท. ระบุผลสำรวจความเห็นผู้บริหารระดับสูงของสถาบันการเงินที่ดูแลงานด้านสินเชื่อ ณ สิ้นเดือน ก.ย. 2555 พบว่า การขยายตัวของสินเชื่อเอกชนในระยะต่อไปมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งส่วนสินเชื่อธุรกิจและครัวเรือน 

ทั้งนี้ ณ เดือน ส.ค. สินเชื่อภาคเอกชนขยายตัว 15.93% ชะลอลงจาก 16.49% ในเดือนก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเป็นผลจากสินเชื่อภาคธุรกิจเริ่มชะลอ ขณะที่สินเชื่อภาคครัวเรือนยังขยายตัวสูง เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ 

ในรายงาน ยังระบุว่า ปัจจัยเสี่ยงของภาคครัวเรือนระยะต่อไปมีทั้งจากปัญหาเศรษฐกิจโลกที่กระทบต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้น และอาจส่งผลถึงรายได้ภาคครัวเรือน ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนที่ด้อยลงจากการก่อหนี้สินเชื่อที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 

"เริ่มเห็นสัญญาณความเสี่ยงต่อความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนกลุ่มที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลางหรือรายได้น้อยกว่า 25,000 บาทต่อเดือน ที่กู้เงินจากบริษัทประกอบธุรกิจบัตรเครดิตกลุ่มน็อนแบงก์ สะท้อนจากสินเชื่อค้างชำระเกิน 1 เดือนของครัวเรือนเร่งสูงขึ้นต่อเนื่อง" 

นางสาวสุทธาภา อมรวิวัฒน์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่า สัดส่วนหนี้ภาคเอกชนของไทยต่อจีดีพีได้ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง เฉลี่ย 4% ต่อปีในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา และปัจจุบันหนี้ภาคครัวเรือนและหนี้ภาคธุรกิจมีขนาดเท่ากันแล้ว คือประมาณ 56% ของจีดีพี ซึ่งการขยายตัวของหนี้ภาคครัวเรือนเป็นผลจากการให้สินเชื่อของธนาคารเป็นหลัก โดยเฉพาะธนาคารรัฐที่สนองนโยบายของรัฐ จนสินเชื่อภาคครัวเรือนสูงกว่า 45% ของสินเชื่อภาคครัวเรือนทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม แม้หนี้เอกชนจะเพิ่มขึ้น แต่ภาระหนี้ได้ลดลงมาก เห็นได้จากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ 5-8% ทำให้ต้นทุนดอกเบี้ยต่อปีของเอกชนเท่ากับ 7.7% ของจีดีพี หรือครึ่งหนึ่งของช่วงก่อนวิกฤตปี 2540

ขณะที่หนี้ภาคครัวเรือนสูงขึ้นมาอยู่ที่ 56% ของจีดีพี และสูงกว่าสัดส่วนผลตอบแทนจากการจ้างงานต่อรายได้ประชาชาติคงที่อยู่ระดับ 35-38% แสดงถึงความเสี่ยงที่สูงขึ้นต่อความสามารถชำระหนี้ของครัวเรือน จากข้อมูลปี 2554 พบว่า ครัวเรือนที่มีการชำระหนี้ มีสัดส่วนของการชำระหนี้สูง 1 ใน 3 ของรายได้ในแต่ละเดือน เกินระดับหนี้ต่อรายได้ที่มีความเหมาะสมอยู่ที่ 28% โดยเฉพาะอย่างยิ่งครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาทต่อเดือน จะมีสัดส่วนการชำระหนี้ต่อรายได้เฉลี่ยสูงถึงเกือบสองเท่าของระดับดังกล่าว 

นอกจากนี้ ครัวเรือนในเกือบทุกกลุ่มรายได้ (ยกเว้นครัวเรือนที่มีรายได้ต่อเดือนเกินกว่า 100,000 บาท) ยังมีภาระหนี้ต่อเดือนต่ำกว่าระดับ 28% เพียงเล็กน้อย อาจก่อให้เกิดปัญหาทั้งต่อครัวเรือนและเศรษฐกิจไทยโดยรวมได้ในอนาคต หากภาระหนี้ดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้น


31 ต.ค. 2555 เวลา 16:43:57 น.
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น