วันอาทิตย์ที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2556

แนะนำหนังสือ "SOROS" (โซรอส)

เราเคยมีความคิดที่โง่เขลาเกี่ยวกับการโจมตีค่าเงินของ George Soros โดยคิดแต่มุมมองแคบๆว่า " Soros เป็นใคร เขาไม่รู้รึไงว่าการทำแบบนั้นทำให้คนอื่นเดือดร้อน เศรษฐกิจล้ม คนไม่มีงานทำ" (โดยลืมนึกไปว่ามันก็ต้องขึ้นอยู่กับคนบริหารประเทศด้วยว่าจะรับมืออย่างไร) และก็มารู้อีกว่าก่อนที่จะมาโจมตีค่าเงินบาทก็เคยโจมตีค่าเงินปอนด์มาแล้ว มันก็ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่าคนนี้เป็นคนใจร้ายออกไปทางขี้โกงอีกต่างหากที่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศอื่นล้ม

พอกันทีสำหรับความไม่รู้ การคาดเดาจากอากาศไม่ทำให้อะไรดีขึ้นมา ดังนั้นเราก็เลยคิดว่าน่าจะลองหาหนังสือที่เกี่ยวกับกระบวนการคิดของ Soros มาอ่านบ้างแล้วหละว่าเขาคิดยังไงถึงทำไปแบบนั้น แล้วเป็นความโชคดีที่บังเอิญเราเจอหนังสือเล่มนี้ในห้องสมุดมารวย


หนังสือเล่มนี้ทำให้เราเข้าใจอะไรต่างๆมากขึ้น จนกระทั่งสามารถลบความคิดเดิมออกได้ เราเริ่มเข้าใจความต่อเนื่องของเหตุกาณ์ว่าเมื่อเกิดสิ่งนี้ขึ้นแล้วอีกสิ่งหนึ่งก็จะเกิดตามมา แม้ว่าเราพึ่งเปิดอ่านไม่กี่หน้าแต่ก็อยากจะบอกให้คนอื่นลองอ่านดูจะได้เข้าใจสภาพการเก็งกำไรจากเหตุการณ์ต่างๆ และทำให้เราเริ่มเข้าใจวิธีการโจมตีค่าเงินบาทจากการโจมตีค่าเงินปอนด์

ในปีที่ 1990 เป็นช่วงที่ประเทศอังกฤษ เข้าร่วมกลไกอัตราแลกเปลี่ยนยุโรป (ERM) โดยเป็นโครงการที่ปูทางไปสู่การเป็นเงินยูโรสกุลเดียว ซึ่งโซรอสมองว่าระบบเศรษฐกิจของอังกฤษยังไม่แข็งแกร่ง แม้เข้าร่วมไปสักวันก็ต้องออกจากระบบ จนกระทั่งในปี 1992 วิกฤตการเงินก็เกิดขึ้นที่ยุโรปตะวันตกและอังกฤษก็ต้องการให้ลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เยอรมันไม่ยอมเพราะเกรงว่าจะเกิดเงินเฟ้อจะกลับมาในประเทศของตน อังกฤษต้องการปรับปรุงเศรษฐกิจของตนจึงจำเป็นที่จะต้องลดค่าเงินเพื่อให้ภาคการส่งออกดูดีขึ้น วิกฤตเริ่มชัดเจนขึ้นในกลางเดือนกันยายน สัญญาณแรกที่ทำให้โซรอสเริ่มขายเงินปอนด์มาจากการที่เงินเรียลของอิตาลีด้อยค่าลง แล้วสุดท้ายอังกฤษก็ลดค่าเงินจริงๆ(เนื้อหาบางส่วนเราถ่ายรูปจากในหนังสืออ่านไว้ที่ด้านล่างค่ะ)

ดูจากภาพรวมแล้วเป็นการเก็งกำไรจากความไม่สมดุลของเศรษฐกิจที่ไม่เป็นในทิศทางเดียวกัน คงคล้ายๆกับของประเทศไทยที่ตอนนั้นเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์กันมากชนิดที่ว่าราคาเปลี่ยนเป็นรายนาที เงินบาทของเราในปี 40 นั้นเป็นแบบคงที่ (ทั้งที่ความจริงควรจะอ่อนค่ามากกว่านี้) ซึ่งไม่ตรงกับสภาพเศรษฐกิจที่ภายนอกดูเฟืองฟู ทุกอย่างดูดีไปหมด แต่แท้ที่จริงแล้วกำลังเกิดฟองสบู่จากการเก็งกำไรชนิดที่ว่าไม่มองพื้นฐานที่แท้จริง สุดท้ายก็เป็นเป้าหมายของการเก็งกำไร

บทเรียนราคาแพงซึ่งเราต้องศึกษาไว้ เพราะมันเกี่ยวข้องโดยตรงกับเงินในกระเป๋าของเรา บางคนคิดว่าเก็งกำไรค่าเงินแล้วจะมาเกี่ยวอะไรกับเรา ทุกอย่างมันเชื่อมโยงกันหมด คล้ายๆกับคำว่า "เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว" วิกฤตปี 40 บอกเราได้ชัดเจนมาก แม้ว่าธุรกิจที่บ้านผู้เขียนไม่เกี่ยวข้องกับอัตราแลกเปลี่ยนก็จริง แต่ก็ทำให้เราขายของไม่ได้เพราะคนไม่มีกำลังซื้อ เราเรียนรู้อดีตเพื่อความไม่ประมาทและป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต หรือบางครั้งเรารู้ว่าวิกฤตกำลังเกิดเราจะได้ไหวตัวทัน เช่น ปี 40 เราเป็นประชาชนตัวเล็กๆไม่สามารถเข้าไปปกป้องค่าเงินบาทที่ถูกโจมตีได้ สิ่งที่เราทำได้เพื่อให้คุณภาพชีวิตของเราใกล้เคียงของเดิมภายหลังจากเกิดวิกฤต เช่น ถือทองคำ แลกดอลล่าร์เก็บไว้ ถือเงินสดเอาไว้ซื้อของจำเป็น และพยายามทำใจเพื่อรับสภาพเลวร้ายที่กำลังจะเกิดขึ้นด้วยสติ


"เหตุการณ์อะไรที่สงบ เรียบร้อยดูดีเกินไป
ในไม่ช้าก็จะเกิดเรื่องเลวร้ายตามมา"


===============================================================

เนื้อหาบางส่วนในหนังสือข้างต้นจากเหตุการณ์โจมตีค่าเงินปอนด์










ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น