ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเราเจอคอมเม้นหนึ่งในกระทู้ Pantip ว่า "เงินเรื่องใหญ่ที่โรงเรียนไม่เคยสอน" ซึ่งเป็นประโยคที่โดนใจเรามาก จนเกิดเป็นคำถามขึ้นในใจว่าโรงเรียนไม่สอนเรื่องการใช้เงินจริงหรือ ถาม Google คงตอบเราไม่ได้ทุกอย่าง แบบนี้เราต้องพิสูจน์ว่าจริงหรือไม่ สถานที่ที่ตอบคำถามเราดีที่สุด คือ โรงเรียน ปกติช่วงเวลาบ่ายโมงของทุกวันอาทิตย์เราเป็นครูอาสาสอนเด็กแถวบ้านในวัดแห่งหนึ่งที่ จ.นนทบุรี ซึ่งพระอาจารย์ให้เด็กมาทำกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาพร้อมกับสอนวิชาการให้เด็กเพื่อให้มีจริยธรรมและความรู้กลับบ้าน มีครูสอนด้วยกัน 2 คนคือ รุ่นพี่กับเรา ซึ่งปกติจะสอนวิชาภาษาอังกฤษกับคณิตศาสตร์ สัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นช่วงเวลาที่ดีที่จะสอนเรื่อง การออมเงิน ให้กับเด็กกลุ่มนี้
เราแจกกระดาษเปล่าให้เด็กทั้งหมด 36 คน ซึ่งเป็นเด็กช่วงอายุเด็กตั้งแต่อนุบาล 2 - ม.3 โดยให้ตอบคำถามว่า "ถ้าได้เงินค่าขนมจากผู้ปกครองมาน้องจะนำเงินนั้นไปทำอะไร" ซึ่งเด็กอนุบาล 2- ป3 ได้ค่าขนม 50 บาทและเด็ก ป.4 ขึ้นไปได้ค่าขนม 1,000 บาท เราให้เวลาน้องเขียนคำตอบ 10 นาทีแล้วก็ส่งกระดาษคำตอบ ซึ่งคำตอบที่เราได้รับแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม(มีภาพคำตอบให้ดูที่ข้างท้ายบทความ) คือ
- กลุ่มที่ 1 เด็กที่แบ่งสัดส่วนการใช้เงินว่ากิน ออมเงิน เก็บไว้ฉุกเฉินเท่าไหร่ คิดเป็น 11%
- กลุ่มที่ 2 เด็กที่นำเงินฝากธนาคารเพียงอย่างเดียว คิดเป็น 36%
- กลุ่มที่ 3 เด็กที่ตอบว่านำเงินไปกินขนมทั้งหมด คิดเป็น 53%
ประเด็นสุดท้ายที่เราสอนเื่รื่องการออมเงินจะเป็นสิ่งที่เราอยากให้เด็กๆคิดเป็นมากกว่าใส่ความคิดเราลงไป เราตั้งคำถามและให้เด็กทั้งห้องช่วยกันตอบ เพราะเราอยากรู้ว่าถ้าเจอสถานการณ์แบบนั้นน้องจะแก้ปัญหากันอย่างไร มีการสนทนาดังนี้
เรา : ถ้าน้องใช้เงินกินขนมหมดเลยไม่มีเงินออม แล้วจะนำเงินตรงไหนไปซื้อของเล่นที่อยากได้คะ?
เด็ก : ขอพ่อกับแม่ไงครับ
เรา : ถ้าพ่อกับแม่ทำงานแล้วเงินไม่พอใช้ หาเงินให้น้องเรียนไม่ได้ น้องจะทำยังไงคะ?
เด็ก : ก็ไปถอนเงินในธนาคาร
เรา : ถ้าน้องถอนเงินในธนาคารใช้จนหมดแล้วจะนำเงินตรงไหนมาใช้คะ?
เด็ก : ก็ไปกู้ไงคะ (คำตอบนี้เป็นของเด็ก ป.4 ซึ่งทำให้เราเจ็บใจสุดๆ)
เรา : ถ้าน้องไปกู้เงินแล้วน้องใช้หนี้เค้าไม่ได้น้องจะทำยังไงคะ?
เด็ก : ก็ไปกู้อีกที่นึงมาให้อีกที่นึงไง (มันจี๊ดตรงนี้แหละ -_-!!)
-------จบการสนทนา-------
เป้าหมายของคำถามทั้งหมดเพื่อจะได้ยินคำตอบว่า "หยอดกระปุกออมเงิน ลดค่าขนม หาเงินเพิ่ม" ไม่มีสักคำตอบเดียวที่เข้าข่ายสิ่งที่เราต้องการอยากจะได้ยิน พอเรารู้ว่าความคิดเรื่องการออมเงินเป็นอย่างไรเราก็เริ่มใส่สิ่งที่มีประโยชน์กว่าการกู้เงินเพื่อใช้จ่ายให้น้องฟังว่าควรทำอะไรบ้าง เช่น คิดก่อนที่จะใช้เงิน ตั้งใจเรียน ช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน ถ้าเด็กโตหน่อยก็จะให้ทำกำไรข้อมือขายแทนที่จะซื้อ และสอนน้องให้จำไว้คำนึงว่า "เป็นหนี้มันไม่ดี" แต่ถ้าสอนรายละเอียดมากกว่านี้น้องคงไม่เข้าใจว่าหนี้ดีกับหนี้ไม่ดีเป็นอย่างไร ไว้ให้น้องหาคำตอบเองตอนโตขึ้น ถ้าอยากรู้ว่าลูกของคุณคิดอย่างไรกับการออมเงินอาจจะใช้คำถามข้างต้นเป็นประตูสู่ความคิดของเด็กก็ได้ว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร
แม้ว่าเด็กกลุ่มนี้ไม่ได้เป็นคำตอบของเด็กทุกคน แต่มีสิ่งนึงที่เราได้รับจากกรณีตัวอย่างข้างต้นที่เป็นบันไดขั้นแรกของความมั่งคั่ง คือ การปลูกฝั่งค่านิยมการออมเงิน ให้เด็กโดยที่ผู้ใหญ่ต้องทำตัวเป็นแบบอย่างให้ดูเป็นรูปธรรมจับต้องได้มากกว่าการพูดให้เด็กออมเงินที่เป็นนามธรรมซึ่งเด็กอาจจะฟังแต่ไม่เข้าใจว่าออมเงินไปทำไม
ตัวอย่างเช่น การฝากเงินในธนาคารโดยเปิดบัญชีในชื่อของเด็กหรือชื่อร่วมกับผู้ปกครอง เมื่อหยอดเงินในกระปุกจนเต็มแล้วก็พาเด็กไปฝากเงินที่ธนาคาร โดยให้เด็กทำกิจกรรมทุกอย่างด้วยตัวเอง เพื่อให้เค้าได้รู้สึกถึงความเป็นเจ้าของและหวงแหนเงินที่ฝาก การที่เด็กได้เห็นเงินที่ฝากมีปริมาณมากขึ้นจากเงินต้นกับดอกเบี้ยจะทำให้เด็กภาคภูมิใจ โดยเห็นว่าทุกบาททุกสตางค์นั้นมีค่า เศษเหรียญค่าขนมที่หยอดกระปุกทุกเย็นเมื่อรวมกันก็จะกลายเป็นก้อนใหญ่ที่ฝากในบัญชีธนาคาร
"ไม่มีคำว่าสายที่จะเริ่มต้น" เราเริ่มต้นออมเงินตอนเป็นผู้ใหญ่ก็ยังไม่สายเพราะดีกว่าไม่เริ่ม (แต่จะมีพอใช้ไปจนเกษียณรึเปล่าก็อีกประเด็นนึงนะคะ) โดยที่เราเริ่มจากสิ่งเล็กๆก่อน เมื่อทำสำเร็จก็จะเป็นความภาคภูมิใจเล็กๆ แล้วค่อยสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่โดยการทำเงินให้งอกเงยต่อไป จำไว้ว่า สิ่งเล็กๆรวมตัวกันนั้นสามารถสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้ ดูตัวอย่างน้ำท่วมก็น่าจะเห็นภาพว่า "น้ำฝนหยดเล็กๆนั้นสร้างความเสียหายได้เพราะมีมากเกินไปจนกลายเป็นน้ำท่วม"
การออมเงินเบื้องต้น คือ การฝากเงินในบัญชีธนาคาร เมื่อเงินฝากก้อนเล็กๆของเรารวมตัวใหญ่มากขึ้นจึงค่อยขยับขยายไปทำอย่างอื่นที่จะไปสร้างความยิ่งใหญ่ให้เราในอนาคต สิ่งแรกที่เราควรทำ คือ การค้นหาข้อมูลว่าจะไปฝากเงินที่ธนาคารไหนดี ดอกเบี้ยของแต่ละที่ให้เท่าไหร่ จะฝากออมทรัพย์หรือฝากประจำ โปรโมชั่นของแต่ละธนาคารมีอะไรบ้างแล้วนำมาเปรียบเทียบกันว่าที่ไหนเข้าเงื่อนไขการฝากเงินของเรามากที่สุดจึงนำเงินไปฝากที่นั่น
เวลาของเราก็ไม่ได้มีมากมายอะไรขนาดนั้นที่จะมาเปรียบเทียบให้ครบทุกธนาคาร ก็น่าจะมีบางเว็ปที่เก็บข้อมูลเปรียบเทียบให้ดูเบื้องต้นก่อนตัดสินใจ ลองถาม Google โดยใช้คำว่า "เปรียบเทียบเงินฝากหลายธนาคาร" ก็เจอเว็ปนึงที่น่าสนใจ คือwww.checkraka.com ซึ่งจะมีการเปรียบเทียบเงื่อนไขเบื้องต้นที่ใช้ในการตัดสินใจ อีกทั้งยังมีบทความการออมเงินให้ด้านต่างๆให้ความรู้อีกด้วย
ที่มา : www.checkraka.com
ตัวอย่างการเปรียบเทียบบัญชีเงินฝากธนาคาร
------------------------------------------------------------------------------------------
ภาพคำตอบส่วนหนึ่งในกิจกรรมสอนการออมเงิน