วันเสาร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ประกันชีวิตลดหย่อนภาษี 200,00 บาท ตอนที่ 2/2


ใกล้ช่วงสิ้นปีจะเป็นเทศกาลลงทุนลดหย่อนภาษีโค้งสุดท้าย คำถามที่ตามมา คือ
  • เราควรซื้ออะไรเพื่อลดหย่อนเป็นกองทุน LTF , RMF หรือประกันชีวิตอันไหนดีกว่ากัน?
  • เรามีสิทธิ์ซื้อกองทุนได้สูงสุดเท่าไหร่?
  • เราซื้อกองทุนของอะไรดี?
  • เราซื้อประกันชีวิตลดหย่อนภาษีมากกว่า 100,000 บาทได้ไหม?
ก่อนที่จะจ่ายเงินให้กับอะไรสักอย่าง เราควรศึกษาให้ดีก่อนว่ามีความจำเป็นต้องซื้อหรือไม่ การลงทุนเืพื่อลดหย่อนภาษีควรตอบสนองต่อเป้าหมายการออมเงินมากกว่าลงทุนเพื่อให้เกิดค่าลดหย่อนเท่านั้น เช่น เมื่อเห็นว่าหุ้นลงจึงรีบซื้อ LTF เพราะจะได้ราคาถูกลง ซื้อกองอะไรก็ได้แล้วแต่เจ้าหน้าที่แนะนำโดยไม่อ่านนโยบายการลงทุน ไม่อ่านผลประกอบการย้อนหลังของกองทุน ไม่ศึกษาอะไรทั้งนั้น รู้แต่ว่าปีนี้มีค่าลดหย่อนแล้วก็พอ ซึ่งไม่ควรทำอย่างยิ่ง หรือการซื้อประกันชีวิตที่เคยเป็นประเด็นในกระทู้ Pantip ในลักษณะที่ถูกหลอกขายประกันชีวิต นอกจากการรับฟังจากตัวแทนแล้วเราควรศึกษาข้อมูลเองและสอบถามกลับไปที่ต้วแทนให้เกิดความเข้าใจตรงกันด้วย

==> ตามหาเป้าหมายการออมเงิน <==

เราควรดูว่าเป้าหมายการออมเงินของเราคืออะไรแล้วจึงไปจับคู่กับแหล่งเก็บเงินออมที่ตอบสนองกับเป้าหมายที่ตั้งไว้  อยากให้ลองเปรียบเทียบแหล่งเก็บเงินออมในรูปแบบต่างๆ (เช่น เงินฝาก หุ้น กองทุนรวม ทองคำ ประกันชีวิตฯลฯ) เหมือนอุปกรณ์ของใช้ในครัว เช่น หม้อ ไมโครเวฟ เขียง มีด ครก สาก ฯลฯ เราควรรู้ว่าการทำอาหารแต่ละประเภทควรใช้อุปกรณ์อะไรบ้างเืพื่อให้อาหารของเราออกมาหน้าตาสวยงาม
  • เราใช้มีดไว้หั่นผักโดยใช้มีดขนาดเล็ก สับหมูโดยมีดอีโต้ แล่เนื้อปลาโดยใช้มีดที่เหมาะกับเนื้อปลา(เคยดูสารคดีของคนญี่ปุ่นจะมีการแบ่งแยกว่าเนื้อปลาชนิดนี้ควรใช้มีดอะไร) 
    • อาหารเราคงออกมาหน้าตาแย่ถ้าเราใช้มีดอีโต้สับหมูมาแล่เนื้อปลา
ภาพมีดแล่เนื้อปลาของคนญี่ปุ่น
ที่มา http://www.bladereview.com/forums/index.php?topic=15369.150
  • เรามีหม้อสารพัดแบบไว้ใช้ในกิจกรรมที่แตกต่างกัน เช่น หม้อหุงข้าวไว้หุงข้าว(หรือบางครั้งออกแบบมาให้นึ่งอาหารได้) หม้อนึ่ง หม้อตุ๋น หม้อต้มไข่ 
    • ข้าวสวยคงไม่สุกถ้าเรานึ่งข้าวในหม้อต้มไข่
คงไม่ต้องยกมาทั้งครัวว่าอุปกรณ์แต่ละแบบใช้งานอย่างไรก็คงเห็นภาพแล้วว่าอุปกรณ์แต่ละแบบมีประโยชน์ที่แตกต่างกันอย่างไรบ้าง เช่น เรารู้ว่าการทำข้าวผัดกุ้งควรใช้อุปกรณ์อะไรบ้าง การทำต้มจืดไข่น้ำควรใช้อุปกรณ์อะไรบ้าง ก็เหมือนกับ "แหล่งเก็บเงินออม" ของเรานั่นเอง แต่ละที่นั้นมีประโยชน์เหมาะกับเป้าหมายที่แตกต่างกัน ดังนั้นเราควรศึกษาเรียนรู้ให้เข้าใจถึงแหล่งเก็บเงินออมในแต่ละรูปแบบก่อนตัดสินใจว่าจะนำเงินของเราไปเก็บไว้ที่ใดและเพื่อเป้าหมายอะไร

เปรียบเทียบการออมเงินเหมือนการทำอาหาร 


เราแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ
  1. รายการอาหารที่เราจะทำเปรียบเหมือนกับเป้าหมายการออม เมื่อรู้ว่าจะทำอะไรจึงจัดเตรียมอุปกรณ์และวัตถุดิบเพื่อทำอาหารตรงกับที่เราต้องการ
  2. อุปกรณ์ในการทำอาหารเปรียบเหมือนกับแหล่งเก็บเงินออม เราควรรู้ว่ามีเครื่องมืออะไรบ้างที่ทำให้เราบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้(แกงจืดไข่น้ำ,การศึกษาลูก)
  3. วัตถุดิบเพื่อใช้ในการประกอบอาหารเปรียบเหมือนกับแหล่งความรู้ อาหารจะอร่อยก็ต้องมีเคล็ดลับในการปรุงเพื่อให้มีรสชาติกลมกล่อม เหมือนกับความรู้ที่ถูกต้องนั้นมาจากการเลือกศึกษาจากแหล่งข้อมูลที่มีคุณภาพ เชื่อถือได้ (ไม่ใช่จากการบอกเล่าว่าลงทุนอันนี้แล้วรวยเร็วเพราะมันไม่มีจริง) แล้วนำมาปรุงรวมกันให้ได้การลงทุนที่มีประสิทธิภาพและตรงกับเป้าหมายที่ตั้งไว้
เมื่อเรารู้แล้วว่าเป้าหมายการออมเหมือนการทำอาหาร ถ้าเราจะทำให้อร่อยแซ่บเวอร์จนเกษียณได้ต้องอาศัยการวางแผนมาอย่างดี ในบทความนี้จะยกตัวอย่างของการทำประกันชีวิตลดหย่อนภาษี 200,000 บาทที่เป็นเฉพาะแบบบำนาญ คือ ลดหย่อนภาษีสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาทและต้องไม่เกิน 15% ของเงินได้พึงประเมิน และเมื่อรวมกับ(กองทุน RMF ,กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ,กบข.,กองทุนสงเคราะห์โรงเรียนเอกชน) แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท 

==> ลดหย่อนภาษี + เกษียณสบาย <==

ประกันชนิดนี้เหมาะกับผู้ที่ใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษี 100,000 บาทแรกหมดแล้ว(ประกันชีวิตที่ให้ความคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไปจะได้รับสิทธิ์ลดหย่อนภาษี 100,000 บาท) หรือบุคคลที่ต้องวางแผนเกษียณสบาย

หนังสือที่ควรอ่านก่อนตัดสินใจซื้อประกันชีวิต

ที่มา http://www.thinkbeyondbook.com
ตัวอย่างต่อไปนี้จะเป็นกรณีของคุณอภินิหารเงินออมอายุ 35 ปีต้องการทำประกันแบบบำนาญทุนประกัน 1,000,000 บาท ซึ่งมีให้เลือกรับเงินบำนาญได้ 3 ช่วงอายุ คือ อายุ 55 ปี , อายุ 60 ปีและอายุ 65 ปี โดยประกันชีวิตชนิดนี้จะเรียกว่า "ยิ่งอยู่นาน ยิ่งคุ้มค่า" เพราะรับบำนาญถึงอายุ 90 ปี ดังนี้

แบบที่ 1 เลือกรับเงินบำนาญ ณ อายุ 55 ปี


คุณอภินิหารเงินออมจะต้องเสียเบี้ยประกันปีละ 139,400 บาท(เฉลี่ยเดือนละ 11,616.66 บาท) โดยชำระเบี้ยตั้งแต่อายุ 35 ปีจนกระทั่งอายุ 54 ปี โดยความคุ้มครอง(ตัวเลขสีดำแนวตั้ง) จะเพิ่มขึ้นตามอายุ เช่น ปีที่ 54 ความคุ้มครองจะอยู่ที่ 2,927,400 บาท (ถ้าคุณอภินิหารเงินออมเสียชีวิต ณ อายุ 54 ปีก็จะได้รับเงินจำนวน 2,927,400 บาท) การเริ่มรับเงินบำนาญจะเริ่มที่อายุ 55 ปีจะได้รับเงินบำนาญปีละ 150,000 บาทไปจนกระทั่งอายุ 90 ปีแต่ถ้าบังเอิญเสียชีวิตช่วงรับเงินบำนาญที่อายุ 56 ปี จะได้รับเงินบำนาญบวกกับความคุ้มครองชีวิต(ตัวเลขสีน้ำเงินแนวตั้ง) จะให้ความคุ้มครองลดลงตามอายุที่เพิ่มขึ้น คือ 150,000 + 1,699,000 = 1,849,000 บาท

ตารางอธิบายสิทธิประโยชน์ตามฐานภาษี ชนิดเลือกรับเงินบำนาญ ณ อายุ 55 ปี


ฐานภาษีใหม่ที่มีตั้งแต่ 0% , 5% ,10% ,15% ,20% , 25% ,30% และ 35% โดยจะยกตัวอย่างที่ฐานภาษี 15% ดังนี้
  • ได้รับเงินบำนาญคืน 15% ทุกปีตั้งแต่อายุ 55-90 ปี(บำนาญ) ทั้งหมด 150,000 x 36 = 5,400,000 บาท
  • ได้รับผลประโยชน์ลดหย่อนภาษี ณ ฐาน 15% (สมมติว่าเท่ากันทุกปีตั้งแต่อายุ 35-54 ปี) คือ 418,200 บาท 
  • ผลประโยชน์รวมตลอดสัญญา(เงินบำนาญ + ลดหย่อนภาษี) คือ 5,400,000 + 418,200 = 5,818,200 บาท
  • เราจ่ายเบี้ยประกันตั้งแต่อายุ 35-54 ปี จำนวนปีละ 139,000 บาท รวมทั้งสิ้น 139,400 x 20 = 2,788,000 บาท
  • สรุปว่ามีส่วนต่างที่ได้รับมากกว่าเบี้ยประกันที่จ่าย 5,818,200 - 2,788,000 = 3,030,200 บาท 

แบบที่ 1.2 เลือกรับเงินบำนาญ ณ อายุ 55 ปี แต่ตัดสินใจเริ่มทำช้าไป โดยเริ่มทำที่อายุ 45 ปีที่ทุนประกัน 1,000,000 บาทเท่ากัน


การเริ่มทำช้าจะต้องชำระเบี้ยประกันเพิ่มขึ้นเป็น 322,200 บาทต่อปี(เฉลี่ยเดือนละ 26,850 บาท) แต่ลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาทเท่านั้น ถ้าบุคคลที่เลือกทำแบบนี้มีเป้าหมายที่ต้องการเก็บเงินไว้ใช้หลังเกษียณแต่รู้ตัวช้าทำให้เริ่มเก็บช้าจึงต้องเก็บเป็นจำนวนที่มาก

ตารางสิทธิประโยชน์ ของแบบที่ 1.2


แบบที่ 2 เลือกรับเงินบำนาญ ณ อายุ 60 ปี (วิธีการอ่่านข้อมูลเหมือนแบบที่ 1 เพียงแต่เปลี่ยนอายุการเริ่มรับเงินบำนาญเป็นอายุ 60 ปี)


แบบที่ 3 เลือกรับเงินบำนาญ ณ อายุ 65 ปี (วิธีการอ่่านข้อมูลเหมือนแบบที่ 1 เพียงแต่เปลี่ยนอายุการเริ่มรับเงินบำนาญเป็นอายุ 65 ปี)



การซื้อประกันบางคนบอกว่าเป็นการเก็บเงินที่นานเกินไป ไม่มีสภาพคล่อง ถ้าฉุกเฉินก็ไม่สามารถนำออกมาใช้ได้ ฯลฯ ก็แล้วแต่มุมมองของแต่ละคน แต่เราขอถามนิดนึงว่าถ้าเงินออมนั้นถอนออกมาใช้ง่ายๆแล้วเราจะเป็นการบังคับตนเองให้ออมเงินได้อย่างไร เคยเจอเคสนึงที่แม่ต้องการเก็บเงินให้ลูกเรียนหนังสือ ก็ฝากเงินในธนาคารไว้ธรรมดา อยู่มาวันนึงเกิดจะต้องใช้เงินก็ถอนเงินการศึกษาของลูกในอนาคตออกมาใช้ก่อน และคิดว่าค่อยเริ่มเก็บใหม่ ถ้าเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆแล้วเมื่อไหร่จะเก็บได้ตามที่ตั้งใจไว้ ทุกคนมีปัญหาการเงินด้วยกันทั้งนั้น แล้วคนที่มีปัญหาการเงินเค้าจัดการกันอย่างไร คำตอบอยู่ที่การวางแผนการใช้เงิน ขอเพียงอย่าหลอกตัวเองโดยนำเงินในอนาคตมาใช้(การใช้บัตรเครดิตแบบไม่ระมัดระวัง)หรือคิดว่าตนเองสบายเพราะมีมรดกของที่บ้านจึงไม่คิดจะเก็บเงินเอง ถึงแม้วันที่เราได้รับมรดกมาจริงๆแล้วรักษาไว้ไม่ได้ ใช้อย่างสิ้นเปลือง ยังไงมรดกนั้นก็หมดอยู่ดี



บทความน่าสนใจ

ประกันชีวิตหักลดหย่อนภาษี 200,000 บาท ตอนที่ 1/2

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น