การออกเดินทางท่องเที่ยวเพื่อเรียนรู้โลกของความแตกต่างจะทำให้เราได้มุมมองใหม่ๆในการใช้ชีวิตมากขึ้น ถ้าน้ำในอ่างหยุดนิ่งไม่ไหลเวียนอีกไม่นานมันก็เน่า เหมือนชีวิตที่คงอยู่กับที่เดิมๆ สิ่งแวดล้อมเช่นเดิมก็จะมีแต่มุมมองในการใช้ชีวิตเช่นเดิม ที่รอวันจะร่วงโรยตามกาลเวลา การออกไปเผชิญกับสิ่งแปลกใหม่จะทำให้สมองได้ออกกำลัง หัวใจได้เต้นแรงจากการรับรู้สิ่งที่ไม่คุ้นเคยจะทำให้เรารู้สึกสดชื่นและมีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้งนึง
ถึงเวลาแล้วที่เราต้องใช้เงินเพื่อสร้างประสบการณ์กับโลกใบเดิมในมุมที่เปลี่ยนไป เราทุ่มเทเวลาให้กับการหาเงินโดยที่ร่างกายไม่ได้พักผ่อนมากี่ปีแล้ว ดังนั้นเราก็ควรแบ่งเวลาเพื่อให้ร่างกายได้ผ่อนคลายจากการท่องเที่ยวบ้าง การเก็บเงินไปเที่ยวนั้นไม่ยากอย่างที่คิด เพียงแต่เราควรรู้วิธีว่าควรเก็บอย่างไร
ออกแบบภาพโดย : www.facebook.com/richsalaryman
บทความนี้มีวิธีการเก็บเงินไปท่องเที่ยวมาแนะนำซึ่งจะแบ่งเป็น 2 วิธี คือ
- การทะยอยเก็บเงินทุกเดือน
- การเก็บเงินก้อนเดียว
ส่วนใหญ่แล้วสายการบินทั่วไปจะเปิดให้จองตั๋วเครื่องบินจองล่วงหน้าก่อนเดินทางได้ 6-12 เดือน ยิ่งจองเร็วราคายิ่งถูก ซึ่งเราอาจจะต้องถอนเงินออกมาบางส่วนเพื่อมาจ่ายค่าตั๋วเดินทางก่อนครบกำหนดเก็บเงิน 10 เดือน ดังนั้นควรวางแผนเก็บเงินให้ตรงกับช่วงเวลาใช้เงิน ทั้งนี้เงื่อนไขในการจองตั๋วตามโปรโมชั่นหรือตั๋วราคาถูกของแต่ละสายการบินไม่เหมือนกัน เช่น ราคาแตกต่างกัน เงื่อนไขการเปลี่ยนวันเดินทาง ดังนั้นเราควรเลือกเงื่อนไขที่เหมาะสมกับตนเองมากที่สุด
ตัวอย่างเว็ปเปรียบเทียบโปรโมชั่น
เรามาเริ่มเก็บเงินไปท่องเที่ยวกันเลยนะคะ ^_^
วิธีที่ 1 คือ การทะยอยเก็บเงินทุกเดือน
วิธีนี้เหมาะกับผู้ที่ชอบทะยอยสะสมเงินที่ละนิดและไม่อยากให้เงินไปเที่ยวนั้นสร้างภาระในการดำรงชีพมากเกินไป โดยเก็บเงินในสินทรัพย์ทางการเงินที่ที่ความเสี่ยงต่ำเป็นหลัก เช่น เงินฝากออมทรัพย์ กองทุนรวมตราสารหนี้ โดยเก็บเดือนละ 40,000/10 = 4,000 บาท
- เงินฝากออมทรัพย์ เราควรเปิดบัญชีเพื่อการท่องเที่ยวแยกต่างหากไม่ควรปะปนกับรายการทางการเงินอื่นเพื่อกันความสับสน เมื่อเงินเดือนเข้าบัญชีเราก็โอนเงินไปเก็บไว้บัญชีเพื่อการท่องเที่ยวทันที เป็นการสร้างวินัยทางการเงินอีกแบบหนึ่งเพื่อที่จะได้ไปเที่ยวได้ตามที่ตั้งใจไว้ ทำแบบนี้ทุกเดือนจนครบ
- วิธีนี้เงินต้นอยู่ครบ ส่วนดอกเบี้ยก็อาจจะต้องดูบัญชีที่เราฝากว่ามีวิธีจ่ายดอกเบี้ยแบบไหน
- กองทุนรวมตราสารหนี้ การออมเงินประเภทนี้เราไปเปิดบัญชีกองทุนรวมที่ธนาคารหรือบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน โดยให้เจ้าหน้าที่แนะนำว่ามีกองทุนตราสารหนี้แบบใดบ้าง ผลตอบแทนเฉลี่ยเท่าไหร่ เมื่อเลือกกองทุนที่เหมาะสมกับความเสี่ยงแล้วเราก็ใช้วิธีผูกบัญชีเงินเดือนของเรากับบัญชีกองทุนรวมตราสารหนี้(ควรเป็นธนาคารเดียวกัน) เมื่อเงินเดือนเราออกก็จะถูกตัดมาซื้อหน่วยลงทุน ทำแบบนี้ทุกเดือนจนกระทั่งถึงจำนวนที่ต้องการจึงขายหน่วยลงทุน โดยเงินจากการขายหน่วยลงทุนจะได้รับในวันถัดไป ไม่เหมือนกับถอนเงินฝากออมทรัพย์ที่ถอนแล้วได้เงินทันที
- วิธีนี้เงินต้นอยู่ครบและอาจจะได้รับผลตอบแทนจากส่วนต่างของหน่วยลงทุนนิดหน่อย(ขึ้นอยู่กับการเลือกกองทุนรวม)
- ความเสี่ยงของวิธีนี้อยู่ที่ผู้ออกตราสารหนี้ ดังนั้นควรศึกษาก่อนว่ากองทุนลงทุนกับตราสารหนี้ชนิดใดบ้าง ผู้ออกตราสารหนี้เป็นใคร มีแนวโน้มว่าจะเบี้ยวหนี้หรือไม่
วิธีนี้เหมาะกับผู้ที่มีเงินก้อน(เช่น เงินโบนัส) ต้องการได้รับผลตอบแทนที่มากกว่าวิธีที่ 1 โดยจะเก็บเงินในสินทรัพย์ทางการเงินที่มีระยะเวลาแน่นอน ถอนเงินระหว่างทางไม่ได้ มีเงื่อนไขการฝากเงินขั้นต่ำ เช่น การฝากประจำดอกเบี้ยสูงแบบกำหนดระยะเวลา กองทุนทริกเกอร์ฟันด์
- เงินฝากประจำ ธนาคารแต่ละแห่งจะจูงใจผู้ฝากเงินด้วยอัตราดอกเบี้ยสูง ควรตัดสินว่าจะฝากกับที่ไหน ให้มองช่วงเวลาถอนเงินเป็นสำคัญ เช่น เงินฝากประจำ 3 เดือนดอกเบี้ย 2% ต่อปีของธนาคารXXXXX หมายความว่า เราฝากเงิน 40,000 บาทกับธนาคาร XXXXX รูปแบบเงินฝากประจำ 3 เดือน พอถึงวันครบกำหนด 3 เดือนเราจะได้รับเงินฝากคืนพร้อมดอกเบี้ย ซึ่งดอกเบี้ยนั้นจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ดังนั้นดอกเบี้ยที่เราจะได้รับจึงไม่ถึง 2% ต่อปีเพราะถูกหักภาษีดอกเบี้ย
- เราสามารถค้นหาโปรโมชั่นการฝากประจำได้ในเว็ปของธนาคารหรือเว็ปเปรียบเทียบราคา ซึ่งเราควรเลือกวิธีการฝาก-ถอนให้เหมาะสมกับเป้าหมายเก็บเงินเพื่อการท่องเที่ยวของเราให้มากที่สุด
เว็ปตัวอย่างการเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก
- กองทุนทริกเกอร์ฟันด์ เป็นกองทุนรวมอีกประเภทหนึ่งที่เป็นการลงทุนระยะสั้นถึงกลางโดยใช้ประโยชน์จากความผันผวนของตลาดหุ้น ซึ่งมีนโยบายในการลงทุน ความเสี่ยงและเงื่อนไขการปิดกองทุนแตกต่างกัน ดังนั้นเราควรเลือกกองทุนที่ตรงกับเป้าหมายการออมเงินเพื่อการท่องเที่ยวของเรามากที่สุด โดยศึกษา "หนังสือชี้ชวน" ให้เข้าใจก่อนการลงทุน ตัวอย่างกองทุนรวมทริกเกอร์ฟันด์
- "กองทุนเปิดทิสโก้ ไทย อิควิตี้ ทริกเกอร์ 8% กองที่ 12 ลงทุนในหุ้นไทย ตั้งเป้าผลตอบแทนที่ 8% ไม่กำหนดอายุโครงการ โดยจะเลิกกองทุนหากผลตอบแทนถึงเป้าหมาย 8% ซึ่งกองทุนนี้ใช้เวลาปิดกองทุนเพียง 2 สัปดาห์ "
- ความเสี่ยง คือ เป้าหมายผลตอบแทนที่ 8% ถ้าทำไม่ได้ก็จะไม่ปิดกองทุน ก็หมายความว่าเงินก้อนนั้นของเราอาจจะไม่ได้ใช้ตามเวลาที่กำหนดในอีก 10 เดือนข้างหน้าก็ได้ แต่ถ้าเป็นไปตามเป้าหมาย 8% ก็อาจจะได้รับเงินเร็วกว่าที่คาดไว้
- "กองทุนเปิดกรุงไทย 5% ทริกเกอร์ฟันด์ 2 จะเลิกโครงการโดยอัตโนมัติเมื่อหน่วยลงทุนไม่ต่ำกว่า 10.5555 บาทเป็นเวลา 3 วันทำการติดต่อกัน และหากไม่สามารถทำผลตอบแทนได้ภายใน 6 เดือนบริษัทจะรับซื้อคืนหน่วยลงทุน"
- ผลตอบแทนอาจจะไม่สูงเท่ากองทุนอื่น แต่ก็สามารถขายหน่วยลงทุนคืนได้แม้ว่าไม่ถึงเป้าหมาย ทั้งนี้ควรศึกษาหนังสือชี้ชวนเพิ่มเติมเกี่ยวกับเงื่อนไขอื่นๆให้เข้าใจก่อนการลงทุน
ตัวอย่างข่าวการเปิดขายกองทุนทริกเกอร์ฟันด์
ข่าวล่าสุดเกี่ยวกับกองทุนทริกเกอร์ฟันด์ จาก นสพ.ทันหุ้น (27 ม.ค. 57)
"มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ทฯ เผยทริกเกอร์ฟันด์ปีที่ผ่านมา 90 กองทุน ส่วนใหญ่ 70% ขาดทุนยับ เหลือแค่ 30% ทำกำไรตามเป้า"
==> เราควรติดตามข่าวสารต่างๆของกองทุนก่อนสินใจในการลงทุน สามารถติดตามเรื่องกองทุนได้ที่ www. morningstarthailand.com
ส่วนวิธีที่ไม่อยากจะแนะนำสำหรับผู้ที่ยังไม่มีวินัยทางการเงินที่ดีพอหรือยังชักหน้าไม่ถึงหลัง เราไม่ควรรูดบัตรเครติดที่เป็นเงินในอนาคตมาใช้เพื่อแลกกับการท่องเที่ยว บางคนเจอโปรโมชั่นรูดบัตรเครดิตมากๆมีสิทธิ์ลุ้นบินฟรีเที่ยวต่างประเทศ ประเด็นคือต้องรูดเท่าไหร่หละถึงจะได้บินฟรี ถ้าประสบการณ์จากการท่องเที่ยวนั้นทำให้วินัยทางการเงินของเราล้มเหลวหละก็ไม่ควรทำ เพราะจะทำให้ครอบครัวเสียหาย มีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งทางด้านการเงินก็ได้ มันได้ไม่คุ้มเสียเลยจริงๆ -_-!!
เที่ยวให้พอดีกับเงินในกระเป๋า
แล้วชีวิตเราจะไม่ลำบาก
===============================================================
ขอขอบคุณประสิทธิ์ เจ้าของบริษัท Panorama Travel ผู้ใจดีที่ช่วยตรวจสอบข้อมูลการเดินทางไปต่างประเทศ โดยแนะนำเนื้อหาที่ต้องแก้ไขเพื่อความถูกต้องของข้อมูล ทางบล็อกอภินิหารเงินออมขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้ด้วยค่ะ