วันพุธที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

6 วิธีเก็บเงินแบบมีผลเห็นได้ชัด


เราเชื่อว่าหลายคนอาจจะเคยเจอสถานการณ์เดียวกันที่ว่า.........
  • เงินเดือนพึ่งออกมาไม่กี่วัน ทำไมถึงหมดเร็วจัง
  • เราได้เลื่อนตำแหน่งรับเงินเดือนเพิ่มขึ้น แต่ทำไมยังไม่พอใช้จ่าย
  • เงินโบนัสก้อนโตที่พึ่งได้รับมาเมื่อปลายปีมันหายไปไหนหมด
ถ้าเงินที่หายไปนั้นสร้างคุณค่าเกิดประโยชน์แก่ชีวิตมากขึ้น เช่น นำไปลงทุนให้เงินงอกเงย นำไปเข้าคอร์สฝึกอบรมพัฒนาความรู้ นำไปบริจาคเพื่อการศึกษาเด็กด้อยโอกาส ฯลฯ ก็จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อความมั่งคั่งของเรา ได้พัฒนาตนเองจากการเข้าฝึกอบรมและสร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่เด็กที่ขาดโอกาสเพื่อแบ่งปันให้สังคมดีขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่เงินของเราหายไปกับสิ่งเหล่านี้

ลองนึกภาพตัวอย่างนี้ดูนะคะ สมมติว่าพ่อซึ่งเป็นเสาหลักของครอบครัวสูบบุหรี่จัดมาก ลูกและภรรยาที่ไม่สูบนั้นต้องทนกลิ่นบุหรี่ของพ่อทุกวี่ทุกวัน มีอยู่วันนึงหมอตรวจพบว่าลูกและภรรยาป่วยเป็นโรคมะเร็งจากการสูดควันบุหรี่มือสองของพ่อ จากเหตุการณ์นี้น่าจะออกมาเป็นแบบไหนบ้าง
  • เสาหลักที่หารายได้ของครอบครัวเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ปล่อยให้ลูกและภรรยาเผชิญชะตากรรมต่อไป
  • หรือ ลูกป่วยจากโรคมะเร็งมากขึ้นทำให้ต้องหยุดเรียนเพื่อออกมารักษาตัว ส่วนพ่อต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อหาเงินรักษาลูก
  • หรือ ภรรยาป่วยจากโรคมะเร็งมากขึ้นทำให้ดูแลลูกและทำงานในบ้านไม่ได้ ส่วนพ่อต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อหาเงินรักษาภรรยา ส่วนลูกก็ขาดความอบอุ่นเพราะไม่มีใครดูแล
"ตอนจบจะเป็นอย่างไรไม่มีใครรู้เพราะเป็นเพียงเรื่องสมมติ 
แต่ถ้าเป็นชีวิตจริงคุณมีความเห็นอย่างไร"

วิธีการที่เงินจะสร้างคุณค่าให้ชีวิตของเราได้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับผู้ใช้ว่าจะมีวิจารณญาณในการใช้เงินอย่างไร บทความนี้ขออนุญาตแนะนำ "6 วิธีเก็บเงินแบบมีผลเห็นได้ชัด" เพื่อเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้เงินสร้างคุณค่าให้แก่ชีวิตมากขึ้น โดยจะแบ่งเป็นสองส่วน คือ "การเพิ่ม" และ "การลด"

==> การเพิ่ม

วิธีที่ 1 เพิ่มวินัย
เมื่อเรามีความมุ่งมั่นที่จะออมเงินก็ควรแยกบัญชีเงินออมให้ชัดเจน หลายธนาคารมักจะมีผลิตภัณฑ์ออมทรัพย์หลายตัว ขออนุญาตอ้างอิงของธนาคาร Krungsri ตัวอย่างเช่น ออมทรัพย์จัดให้ ออมทรัพย์มีแต่ได้และบัญชีฝากออมทรัพย์พิเศษ เป็นต้น แยกบัญชีเพื่อจะได้ไม่ปะปนกับบัญชีที่ใช้จ่ายทั่วไปเพื่อกันความสับสน สมมติว่าเราใช้บัญชีเงินเดือนกับบัญชีเงินออมเป็นบัญชีเดียวกัน ถ้ามีเดือนไหนเราช๊อตก็อาจจะกดเงินในส่วนของการออมมาใช้ด้วย สุดท้ายแล้วเงินที่เราตั้งใจจะออมก็ไม่เหลือเพราะใช้หมด

วิธีที่ 2 เพิ่มความมั่งคั่ง
การนำเงินไปลงทุนเพื่อให้เงินงอกเงยนั้นเป็นสิ่งที่ดีเพราะจะสร้างความมั่งคั่งในระยะยาว ส่วนการเลือกว่าเรานั้นจะไปลงทุนอะไรต้องขึ้นอยู่กับการทนรับความเสี่ยงของแต่ละคนว่ายอมรับได้มากน้อยแค่ไหน เช่น ถ้าเราไม่มีเวลาติดตามข้อมูล ไม่มีความชำนาญในการลงทุน อยากให้มืออาชีพช่วยดูแลและยอมรับความเสี่ยงได้ต่ำมาก ก็อาจจะนำเงินไปลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ภาครัฐ ทั้งนี้ การลงทุนทุกรูปแบบควรศึกษาความเสี่ยงและเงื่อนไขการลงทุนให้เข้าใจก่อนการลงทุนทุกครั้ง

วิธีที่ 3 เพิ่มเงินออม
คนทำงานมีรายได้ทุกคนต้องเสียภาษีให้แก่ภาครัฐ แต่เพื่อไม่ให้การจ่ายภาษีเป็นภาระมากเกินไป จึงมีนโยบายลดหย่อนภาษีเกิดขึ้นเพื่อจูงใจให้เกิดการออมเงินมากขึ้น เช่น การซื้อกองทุนรวม LTF RMF การซื้อประกันชีวิตทั่วไปที่มีอายุ 10 ขึ้นไป การซื้อประกันชีวิตแบบบำนาญ เป็นต้น ซึ่งทุกปีเราควรตรวจดูภาษีของเราว่ามีแนวโน้มจะเสียภาษีเท่าไหร่แล้วมาตัดสินใจว่าจะใช้ลดหย่อนภาษีอะไรบ้าง เพื่อให้เรามีเงินออมเพิ่มขึ้นจากการประหยัดภาษี

วิธีที่ 4 เพิ่มรายได้
ในโลกที่แทบทุกอย่างจัดการได้บนสมาร์ทโฟนเพียงแค่ "คลิก ไลท์ แชร์" ก็ทำให้เกิดรายได้ ดังนั้นช่องทางการหารายได้เพิ่มก็ไม่เป็นอะไรที่ยากลำบากอีกต่อไป มนุษย์เงินเดือนสามารถมีอาชีพเสริมได้เพียงขายสินค้าบนอินเตอร์เน็ต เจ้าของกิจการหาช่องทางใหม่ๆที่จะโปรโมทร้านค้าเพื่อให้ลูกค้ารู้จักมากขึ้นผ่านการแชร์หน้า Facebook หรือ IG ซึ่งการสื่อสารทางอินเตอร์เน็ตเหล่านี้จะประสบความสำเร็จและสร้างรายได้ให้แก่เราได้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับความคิดสร้างสรรค์ของผู้ใช้สื่อว่าจะดึงดูดให้คนเข้ามาดูในเว็ปและซื้อของเราได้อย่างไร

วิธีที่ 5 เพิ่มความรู้
การเพิ่มพูนความรู้เพื่อพัฒนาตนเองนั้นจะทำให้เราก้าวทันโลกตลอดเวลา เมื่อมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปเราก็จะสามารถหาวิธีรับมือหรือปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงนั้นๆได้ ถ้าเรามีเงินแต่ไม่มีความรู้ก็จะทำให้เงินของเราอาจจะหมดได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว แต่ถ้าเรามีความรู้แม้ว่าไม่มีเงินก็สามารถใช้ความรู้นั้นหาเงินได้

==> การลด

วิธีที่ 6 การลดหนี้
การสร้างหนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าเป็นการสร้างหนี้เืพื่อให้เกิดประโยชน์ในระยะยาว เช่น การกู้เงินเรียน การกู้เงินซื้อบ้าน การกู้เงินลงทุนทำธุรกิจ เป็นต้น แต่ถ้าเป็นการสร้างหนี้จากการใช้จ่ายบริโภคฟุ้งเฟ้อ ฟุ่มเฟือยเกินตัวก็จะกลายเป็นหนี้ไม่ดี เพราะเป็นหนี้ที่ไม่สร้างประโยชน์ในระยะยาว ที่สำคัญเราควรพยายามที่จะชำระหนี้ให้ตรงเวลาจะได้ไม่ต้องจ่ายธรรมเนียมการชำระเงินล่าล้า


ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก http://krungsri.com



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น