วันอาทิตย์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2557

กล้าเสี่ยงกับความฝันเพื่ออิสรภาพของชีวิต


ลาออกจากงานมาเป็นนักเขียนอิสระ!!!

เราเชื่อว่าความคิดนึงที่โผล่ขึ้นมาแว๊บแรกหลังจากที่อ่านประโยคข้างต้นจบคิดว่า "นักเขียนไส้แห้งแล้วมันจะไปรอดไหมเนี้ย" อยากบอกว่าที่จริงเราก็กลัวเหมือนกันเพราะไม่ใช่คนมีฐานะที่มีเงินใช้อย่างสบายๆ เราต้องทำงานแลกเงินเหมือนคนอื่นทั่วไป แต่เป้าหมายของการทำงานมันเปลี่ยนไปจากการทำงานเพื่อแลกเงินเป็นการทำงานเพื่อแลกกับความฝันที่อยากจะให้ผู้อ่านมีแรงบันดาลใจเรื่องการออมเงินมากขึ้นและแนะนำวิธีการใช้เงินว่าการใช้เงินเป็นมันคืออะไรโดยผ่านงานเขียน

ณ จุดนี้ไม่ว่าจะเป็นงานประจำหรืองานอิสระก็ไม่แตกต่างกัน เพราะเราจะเลือกทำงานที่ตอบโจทย์ความฝันของเราเท่านั้น ตอนนี้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิตน่าจะเป็นประสบการณ์ให้แก่คนอื่นที่กำลังกล้าๆกลัวๆที่จะลาออกจากงานประจำให้กล้ามาวิ่งไล่ตามความฝัน และอีกเหตุผลหนึ่งก็เป็นบันทึกการเดินทางวิ่งไล่ตามความฝันของเรา เผื่อวันใดที่ไฟฝันเริ่มมอดลงเราจะได้กลับมาอ่านเติมเชื้อไฟของความฝันให้มันลุกท่วมตัวเราอีกครั้ง

เรื่องทั้งหมดมีอยู่ว่า..................
เรารู้ตัวมาสักระยะแล้วว่างานประจำที่ทำอยู่นั้นยังไม่ตอบโจทย์ของชีวิตและทัศนคติส่วนตัวอย่างแรง แต่ก็ยังทำเพื่อที่จะรู้ใจตัวเองว่าความจริงแล้วเราชอบทำงานอะไรกันแน่ สิ่งที่ทำอยู่นั้นเป็นการเบื่อแบบชั่วคราวหรือแบบถาวร ไม่อยากคิดแต่ว่าลาออกมาเพื่อให้ได้งานใหม่อะไรก็ได้ที่แตกต่างจากของเดิมแล้วก็เกิดอาการเบื่ออีกครั้ง เราอยากจะหางานที่ใช่แล้วลาออกไปทำอย่างจริงจัง แต่ดูเหมือนว่าเราจะเรื่องมากเกินไปจนยังไม่เจองานที่ใช่สักที

ระหว่างทำงานประจำและกำลังค้นหาตนเองว่าชอบงานแบบไหน เราก็เขียนบล็อกอภินิหารเงินออมเป็นงานอดิเรก พยายามฝึกเขียนไปเรื่อยๆจนเลยเถิดออกมาเป็นพ็อกเก็ตบุ๊ค "เล่นหวย(สลากกินแบ่งรัฐบาล) ก็รวยได้" แม้ว่าชื่อดูไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่ แถมเวลามีคนมาโพสหน้าปกหนังสือที่ FB ก็เรียกแขกให้มาเจิมได้ไม่น้อย แต่อยากให้ลองอ่านจะได้รู้ว่าข้างในแซ่บมาก ====> ลองกดไปที่ภาพหนังสือ

ทำให้เรามานั่งคิดว่างานอดิเรกอย่างงานเขียนนี้เราชอบจริงๆรึเปล่า??

วิธีที่ทำให้เรารู้ว่าชอบอะไรจริงหรือไม่นั้น คือ
  • เราจะทำมันได้โดยไม่รู้สึกเบื่อ 
  • ทำจนลืมเวลาว่านี่มันเป็นเวลานอนได้ละนะ (ทั้งๆที่รู้ว่านอนดึกสิวต้องขึ้นก็ยังนอนดึกเพราะอยากเขียนบล็อกให้เสร็จ)
  • ทำได้แม้ว่าไม่ได้รับค่าตอบแทน (ยังจะทำทั้งๆที่จะไม่มีกินอยู่ละ)
  • ความรู้สึกมีชีวิตชีวาทีทำเพราะอยากทำ ไม่ใช่การทำเพราะหน้าที่ที่ถูกสั่งให้ทำ
  • ความรู้สึกที่เป็นอิสระทางความคิดที่ไม่ถูกครอบงำเพียงเพราะความรับผิดชอบในหน้าที่
  • และรู้สึกมีความสุขที่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนในสังคมมีความรู้เกี่ยวกับการออมเงินมากขึ้น
ถ้าคุณเจองานที่ใช่ทำแล้วชอบแบบข้างบนนี้แล้ว แสดงว่าคุณได้ค้นพบตนเองแล้วหละ อย่ารอให้ความฝันมันล่องลอยในอากาศ ไม่มีคำว่า "พร้อมก่อนแล้วค่อยทำ" เพราะไม่มีอะไรที่เรียกว่าพร้อมหรอกนะ มีแต่เริ่มทำตามฝันเดี๋ยวนี้เท่านั้น เราคิดว่าไม่ว่างานนั้นจะเป็นงานประจำหรืองานอิสระ ขอแค่เป็นงานที่ตอบโจทย์ของฝันได้ก็พอแล้วหละ

......ลุกขึ้นมาทำตามฝัน  เราทุกคนพูดกันได้ 
แต่มีสักกี่คนที่ทำได้ สำเร็จหรือไม่ก็ยังดีกว่าไม่ได้ลองทำ.......

จุดเปลี่ยนก็มาถึงในวันที่เราต้องเลือกว่า "ทำงานประจำหรืองานเขียน" เพราะงานประจำที่ทำอยู่นั้นขัดแย้งกับทัศนคติส่วนตัวจึงทำให้ไม่สามารถทำงานเขียนควบคู่กับงานประจำได้ ดังนั้น เราจึงเลือกที่จะลาออกมาเพื่อให้เวลากับงานเขียนอย่างเต็มที่ อย่าลืมว่าเราทุกคนมีพื้นฐานของความกลัวเหมือนกัน ซึ่งเราก็รู้สึกกลัวมากเช่นกัน เพราะงานเขียนที่รับไว้ก็ยังไม่สร้างรายได้ที่สม่ำเสมอพอที่จะเลี้ยงตัวเองได้ แต่เราก็จะสู้และจะเขียนงานต่อไป เราเชื่อว่าความรักและศรัทธาน่าจะมีผลงานสัก  1 ชิ้นที่จะสามารถสร้างรายได้พอเลี้ยงตัวเองได้ (ถ้าใครจะจ้างเขียนงานก็ส่งเมล์มาได้นะคะ ^_^ )

มาช่วยลุ้นกันนะคะว่าการตัดสินใจครั้งนี้ของเราจะไปรอดไหม ^_^!!

สำหรับผู้ที่มีความฝันที่อยากจะเป็นนักเขียน แม้ว่าเราอาจจะไม่ใช่คนที่เขียนเก่งสักเท่าไหร่แต่ก็สามารถแนะนำได้บ้าง  "ถ้าอยากเป็นนักเขียนควรทำอย่างไร"

==> รักการอ่านเป็นชีวิตจิตใจ 

ความสุขครั้งแรกในชีวิตของเราเกิดขึ้นในวันที่โรงเรียนประถมที่เราเรียนอยู่นั้นจัดงานสัปดาห์หนังสือ มีหนังสือน่าอ่านมาขายเยอะมาก เราก็แค่เดินไปเล็งๆไว้ว่าอยากจะได้อะไรบ้างแล้วก็ไปอ้อนแม่ให้ช่วยมาซื้อให้หน่อย แม้ความทรงจำในวัยเด็กจะหายไปบ้าง แต่เราจำวันที่เราได้อ่านหนังสือการ์ตูนนิทานได้แม่นมาก เพราะเราอ่านไปยิ้มไป ภาพสวยๆทำให้เราอยากอ่านหนังสือมากขึ้นแล้วบางวันกลับจากโรงเรียนเราก็ชอบนั่งอ่านหนังสือให้พ่อกับแม่ฟัง

โตขึ้นมาหน่อยมีแนวทางในการอ่านมากขึ้น ไม่เคยจำกัดว่าจะต้องอ่านอะไร คิดแต่ว่าอยากรู้อะไรก็อ่านอันนั้น หลักการในการเลือกก็จะยืนอ่านให้รู้ว่าชอบจริงๆค่อยซื้อ อ่านทุกครั้งที่ว่าง เช่น เข้าห้องน้ำ นั่งบนรถเมล์ นั่งรอเพื่อน สรุปว่าเราจะหยิบหนังสือติดมือไปทุกที่ว่างเมื่อไหร่ก็หยิบมาอ่าน

ภาพตัวอย่างหนังสือที่ชอบอ่าน นอกจากนี้ก็มีอ่านของอีกหลายคน เช่น "คุยกับประภาส, หนุ่มเมืองจันท์ , วินทร์ เลียววาริณ(หนังสือเสริมกำลังใจ), โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี" ก็ไม่ได้ชอบอะไรมากหรอกนะ แค่เก็บครบทุกเล่มเท่านั้น ^_^!!


==> ฝึกเขียน

บังเอิญลายมือเราเขียนหวัดมาก สมองมันคิดไวกว่าปากกาที่จะเขียนบนกระดาษ ก็เลยใช้วิธีการนั่งพิมพ์ที่คอมฯน่าจะดีกว่า ช่วงแรกที่เราเริ่มเขียนนั้นก็ยากเหมือนกัน ไม่รู้จะเริ่มเขียนยังไง นั่งจ้องคอมฯนานมากกว่าจะพิมพ์ได้สักประโยค บางครั้งพิมพ์แล้วลบอยู่นั่นแหละ แต่พอได้เริ่มพิมพ์ออกมาสักพักก็เริ่มพลิ้วมากขึ้น ไอเดียพลั่งพลูออกมาเยอะขึ้น เหมือนเครื่องยนต์ที่ต้องอุ่นเครื่องก่อนวิ่ง พอเครื่องร้อนก็วิ่งได้ฉิวเลย

"มันทำให้เรารู้ว่าไม่ต้องรอให้พร้อมทุกอย่างเราก็สามารถเริ่มทำได้ 
พอเริ่มทำไปแล้วเราจะได้รู้ว่าอะไรบ้างที่เรายังไม่พร้อม
เพื่อจะได้ฝึกฝนในจุดนั้นๆให้มันพัฒนาเพิ่มขึ้น"

เทคนิคส่วนตัวที่ใช้ในงานเขียน คือ การอ่านเพื่อรีเช็คในเรื่องที่เราพึ่งเขียนไป เมื่อเราเขียนงานอะไรออกมาแล้วยังไม่ควรปล่อยผลงานออกสู่สาธารณะทันที หรือถ้าใครมาจ้างเขียนงานก็จะไม่เขียนแล้วรีบส่งทันที ควรทำให้สมองว่างๆแล้วอ่านซ้ำก่อนส่งงาน เคล็ดลับสำคัญ คือ เขียนงานเสร็จวันนี้แล้วอีก 1-2 วันมาอ่านเรื่องซ้ำอีกสัก 2-3 รอบ ตอนนั้นก็อาจจะมีการแก้ไขข้อมูลและเรียบเรียงคำให้ดูดีขึ้นอีกครั้ง การอ่านรีเช็คทุกครั้งต้องถามตัวเองตลอดเวลาว่า "ข้อความตรงนี้ควรเขียนไหม ผู้อ่านจะได้รับประโยชน์อะไรหลังจากที่อ่านบทความนี้จบแล้วบ้าง"

==> หมั่นเติมความรู้

วิธีเติมความรู้มาจากหลายช่องทาง เช่น
  • ที่เห็นใกล้ตัวที่สุดจะเป็นการอ่านเพื่อนำความรู้ใหม่ๆมาต่อยอด ซึ่งเราควรเลือกรับรู้ข้อมูล เช่น อ่านจากหนังสือ นิตยสาร อินเตอร์เน็ต
  • การเข้ารับการอบรมหรือนั่งฟังสัมมนาเพราะจะได้เพื่อนเพ่ิมขึ้น มีคนให้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นจะได้เปิดมุมมองใหม่ๆ หนึ่งในคำพูดที่เราชอบถามคนอื่นหลังจากที่คุยกันจบแล้วว่า "ทำไมคุณถึงคิดแบบนี้" เพื่อจะได้รู้หลักของความคิดว่าเกิดจากอะไร ความคิดเห็นที่เหมือนและแตกต่างจะทำให้เราเข้าใจเพื่ออยู่ร่วมกับคนอื่นได้ดีมากขึ้น 
  • ส่งผลงานให้คนอื่นอ่านแล้ววิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา วิธีที่เราใช้ในการอธิบายเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่ายนั้น เมื่อเราเขียนบทความจบแล้วจะส่งบทความนั้นให้คนในอาชีพอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับเราอ่านเพื่อจะถามว่า "อ่านบทความนี้จบแล้วเข้าใจว่าอย่างไร" ถ้าคนนั้นเข้าใจเป้าหมายในการเขียนของเรานั้นคือ แฮปปี้ละ แต่ถ้าออกมาในทิศทางตรงกันข้าม เช่น เข้าใจคนละแบบ เขียนแบบงงๆ วกไปเวียนมาให้ปวดหัว ถ้าเป็นแบบนี้เราก็จะต้องกลับมาคิดว่าจะแก้ปัญหาตรงนั้นได้อย่างไร แล้วก็มาเขียนใหม่ให้เข้าใจมากขึ้น 
    • การเลือกคนมาอ่านรีเช็คบทความนั้นสำคัญ เช่น การเขียนอธิบายศัพท์เทคนิคทางการเงินให้คนทั่วไปเข้าใจอย่างง่ายได้ คนที่มาอ่านรีเช็คของเราก็ควรเป็นคนที่ไม่เคยเรียนเรืองการเงินมาก่อน เพราะเรามองว่าเรื่องที่เขียนคนที่อ่านเป็นคนทั่วไปไม่ใช่เฉพาะนักการเงิน

==> เป็นตัวของตัวเอง

บุคคลิกของแต่ละคนก็จะสะท้อนออกมาในงานเขียน สไตล์ในงานเขียนจะเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่สามารถลอกเลียนแบบได้ เราเชื่อว่าการลอกเลียนแบบนั้นทำให้เราจะหมดศรัทธาในตัวเอง เพราะคุณจะเป็นเพียงเงาของคนอื่น ถ้าเรายังหาแนวการเขียนของตัวเองยังไม่ได้ก็อย่าพึ่งท้อ ลองหาไปเรื่อยๆก็เจอเอง ซึ่งแนวการเขียนของเราอาจจะมีทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบ เป็นเรื่องปกติที่ทุกคนต้องเจอ เราไม่ปรับเพื่อให้เข้ากับทุกคน แต่เราจะคงเอกลักษณ์นี้ไว้ให้เป็นจุดเด่นของตัวเอง

เอกลักษณ์ในการเขียนของตัวเองจะมาจากการเขียนให้เหมือนกับการพูด หลังจากที่หนังสือเราวางแผงเพื่อนของเราก็อ่านแล้วมีคำวิจารณ์นึงที่ติดใจเรามาถึงวันนี้ เพื่อนบอกว่า "อ่านหนังสือของเราแล้วเหมือนเรามาพูดให้ฟังอยู่ข้างๆ" ก็ใช่ซิจ๊ะก็นั่นมันสไตล์การพูดของเรานิหน่า อิอิ

==> อย่าพึ่งคิดถึงเรื่องเงิน 

เราควรรู้ว่าจะเขียนไปเพื่ออะไร เช่น เขียนเพื่อแบ่งปันความรู้ เขียนเพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ หรือว่าจะเขียนเพื่ออะไรก็ตามควรตั้งเป้าหมายการเขียนให้ชัดเจนเพื่อผลิตผลงานที่มีคุณภาพออกมา การเขียนครั้งแรกๆจะยังไม่ได้รับค่าตอบแทน แต่เราควรขยันเขียนออกมาเพื่อเป็นตัวอย่างงานเขียนของเรา ถ้ามีใครสนใจจ้างให้เราเขียนก็จะได้ส่งผลงานที่เคยเขียนให้ดู ถ้าอ่านแล้วสนใจแนวการเขียนแบบเราค่อยจ้างเขียนงาน ซึ่งส่วนใหญ่เราจะใช้วิธีการแบบนี้ในการนำเสนอผลงาน

เคยมีคนจ้างให้เขียนหนังสือเล่มเล็กๆประมาณ 20 หน้า A5 (ประมาณ 10 หน้า A4)ให้เราเขียนไปก่อนจะจ้างเขียนจริงรึเปล่าก็ยังไม่รู้ ซึ่งเค้าก็เกรงใจเราที่อาจจะเสียเวลาเขียนฟรี เค้าก็บอกว่าลองเขียนมานิดหน่อยก็พอ สำหรับเรามันไม่ใช่แบบนั้น ทุกอย่างต้องจัดเต็ม มีอะไรในหัวก็ใส่ให้หมด เราจะได้ไม่ต้องมาเสียใจทีหลังเพราะเราทำเต็มที่แล้ว สุดท้ายถ้าเค้าไม่จ้างเขียนก็คิดซะว่าได้รับความรู้เพิ่มและเป็นการฝึกเขียนไปด้วย เรื่องนี้จบลงที่เราได้เขียนงานนี้และงานอื่นๆของเค้าด้วย เอาไว้ผลงานตีพิมพ์เมื่อไหร่จะนำมาให้ดูนะจ๊ะ

แต่ถ้าเราเขียนขึ้นมาเพื่อเรื่องเงินล้วนๆ เช่น เขียนแบบขอไปทีหรืออาจจะไปก๊อบเว็ปอื่นมาเพื่อเรียกยอดการเข้าชม แล้วก็ขายโฆษณาหน้าบล็อกเพื่อสร้างรายได้ แบบนี้มีรายได้เร็วก็จริงแต่ไม่ยั่งยืน ทำให้คุณมีกินแบบช่วงสั้นๆ แล้วพอมีคนรู้มากขึ้นก็จะไม่สนใจเข้ามาอ่านในบล็อกหรือเว็ปของคุณอีกต่อไป 



"อย่าหยุดที่จะฝัน
เมื่อกล้าที่ฝันก็ต้องกล้าที่จะทำด้วย
ลุกออกมาสู้เพื่อความฝันกันนะคะ"



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น