ความรักของพ่อแม่นั้นยิ่งใหญ่เกินคำบรรยายจริงๆ แม้ว่าเรายังไม่เคยรู้สึกถึงความเป็นแม่ แต่ก็รับรู้ได้บ้างจากความรู้สึกของเพื่อนที่มีลูกแล้วผ่าน Facebook และสัมผัสได้จากสิ่งที่แม่ทำให้เรา
ครั้งแรกที่ต้องบอกแม่ว่าลาออกจากงานประจำ เราก็เตรียมเช็ดหูรอไว้เลยว่าต้องโดนเยอะแน่ๆ สรุปว่าผิดคาดเพราะถูกบ่นนิดหน่อย แล้วที่สุดยอดกว่านั้นอยู่ตอนที่เรากำลังจะกลับบ้านที่นนทบุรีเพื่อมานั่งเขียนงานตามความฝัน แม่ถามว่า "เงินพอใช้หรอ" เรางี้ซึ้งสุดๆ ส่วนเราก็บอกแม่ไปว่า "ยังมีใช้อยู่" เพราะเราคิดว่าจะลองดิ้นรนเองสักพักให้มันรู้กันไปว่าเราจะทำตามฝันให้แม่เห็นได้ไหม นี่หละมั้งที่เรียกว่าความเป็นแม่ ไม่ว่าลูกจะเป็นอย่างไร ดื้อมากแค่ไหนก็พร้อมที่จะช่วยเหลือตลอดเวลา
ความรักที่ต้องการให้ลูกได้รับแต่สิ่งดีๆ สิ่งแวดล้อมทางสังคม การศึกษา หรือทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำได้เพื่อลูก เราจึงอยากจะเขียนบทความนี้มอบให้แก่ทุกคนที่พร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อลูก โดยเฉพาะเรื่องการศึกษาที่จะเป็นอาวุธติดตัวไปในอนาคต
วิธีหาเงินเพื่อเป็นทุนการศึกษาให้ลูก มี 4 รูปแบบ
1. ทุนเรียนดี
หลายองค์กรก็จะมีสวัสดิการให้พนักงานโดยการแจกทุนเรียนดีให้แก่ลูกของพนักงาน ถ้าลูกของเราอยู่ในเกณฑ์นั้นก็จะได้รับเงินการศึกษาซึ่งเป็นวิธีประหยัดเรื่องการหาเงินเพื่อการศึกษาให้ลูกอีกทางหนึ่ง บังเอิญพ่อเราเป็นข้าราชการทหาร ซึ่งจะมีการแจกทุนการศึกษาแบบนี้แหละ เราก็เคยได้รับบ้างบางปี และจะมีบอกไว้ว่าจะหยุดแจกทุนการศึกษาที่อายุเท่าไหร่ ซึ่งแต่ละที่อาจจะให้แตกต่างกัน ดังนั้น เราควรดูว่าที่ทำงานของเรามีแจกทุนแบบนี้ไหมจะได้ส่งผลการเรียนของลูกรับทุน
2. สอบชิงทุน
สถาบันการศึกษาแต่ละแห่งจะมีการให้เด็กสอบแข่งกันเพื่อรับทุนการศึกษาหรือบางองค์กรเช่น ธนาคารบางแห่งก็จะมีการสอบเพื่อชิงทุนเรียนต่อในระดับชั้นต่างๆ เมื่อเรียนจบแล้วจึงกลับมาทำงานใช้ทุน ซึ่งเราควรรู้ว่าลูกถนัดจะเรียนไปทางด้านไหนเพื่อเตรียมข้อมูลไว้ว่าสาขาที่จะเรียนต่อนั้นมีที่ไหนเปิดสอบบ้าง ถ้าลูกเราสอบชิงทุนได้ก็จะได้ทุ่นค่าเทอมไปได้มากเลยหละ
ตัวอย่าง เว็ปที่รวบรวมเรื่องการแจกทุนการศึกษา
ที่มา : http://www.ocsc.go.th |
3. ออมเงินเพื่อการศึกษา
ถ้าเป็นวิธีที่เราต้องเก็บเงินเองนั้นก็จะต้องใช้วินัยในการออมค่อนข้างสูง ถอนออกยากๆ ซึ่งเราเคยได้ยินบางคนที่ตั้งใจเก็บเงินให้ลูกเรียนก็ไม่รู้จะฝากยังไงจึงฝากออมทรัพย์ทิ้งไว้เฉยๆ แต่บังเอิญเกิดเหตุต้องใช้เงินก็ถอนเงินที่ตั้งใจจะเป็นทุนการศึกษาลูกนั้นออกมาใช้ก่อน แล้วคิดว่าค่อยฝากเข้าไปใหม่ สุดท้ายก็ผัดผ่อนการฝากมาเรื่อยๆ เราเชื่อว่าอาจจะมีหลายคนที่เป็นแบบนี้ซึ่งเรียกว่า "ขาดวินัยการออมที่ดี" แล้วถ้านำเงินกลับมาฝากให้ลูกเรียนไม่ทันจะเป็นอย่างไร ก็อาจจะทำให้ผิดจากเป้าหมายที่วางไว้ว่าจะให้ลูกเรียนสูงๆ
การเลือกแหล่งเก็บเงินนั้นสำคัญ ควรเลือกที่มีระยะเวลาในการฝากที่พอดีกับช่วงที่จะใช้เงิน เป็นการออมแบบภาคบังคับเพื่อสร้างวินัยการออมที่ดี และค่อนข้างถอนออกยาก เราขอแนะนำให้ทำประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ เพราะมีระยะเวลาการเก็บเงินที่แน่นอน ซึ่งจะเลือกทำประกันกับที่ไหนก็ได้ที่ตอบโจทย์เป้าหมายการออมของเรา โดยระหว่างการทำประกันถ้าเราจำเป็นต้องการใช้เงินจริงๆก็สามารถกู้ประกันชีวิตของตนเองได้ ซึ่งอาจจะต้องสอบถามกับตัวแทนประกันของตัวท่านเอง
ตัวอย่าง ตอนนี้เด็กหญิงอภินิหารเงินออมอายุ 3 ขวบซึ่งพ่อกับแม่ต้องการเก็บเงินเพื่อเป็นทุนการศึกษาในระดับมัธยมและอุดมศึกษาให้ลูก โดยมีเป้าหมายการออมดังนี้
- เพื่อเป็นทุนการศึกษาให้ลูก
- จำนวนเงิน 1 ล้านบาท
- ระยะเวลาเก็บเงิน 10 ปี
- ได้รับเงินปันผล 9 ครั้งซึ่งแล้วแต่บริษัทจะจ่าย
- ทำทุนประกันไว้ 1 ล้านบาท(เงินที่เราตั้งใจจะเก็บ)
- จ่ายเบี้ยประกันปีละ 98,630 บาท(จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับอายุของผู้ทำประกัน ในกรณีนี้เป็นเด็กก็จะใช้อายุของผู้ปกครองมาคิดคำนวณเบี้ย)
- ได้รับการคุ้มครองชีวิตในกรณีที่จากไปก่อนครบกำหนด
บางคนเห็นตัวเลขจ่ายรายปีแล้วแทบจะน้ำตาไหลว่าทำไมมันเยอะขนาดนี้ จะเก็บไหวหรอ หรืออาจจะไปลดความฝัน 1 ล้านให้มันลดลง อย่าพึ่งตกใจนะคะ ลองมาดูวิธีเก็บเงินให้ได้ 1 ล้านบาทภายในระยะเวลา 10 ปีได้จากตัวอย่างนี้ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ วิธีเก็บคนเดียวกับวิธีช่วยกันเก็บค่ะ
วิธีเก็บเงินคนเดียว
สมมติผู้ที่สร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวทำงานคนเดียวเงินเดือน 50,000 บาท มีวิธีการออมดังนี้
- เปิดบัญชีกองทุนรวมโดยแบ่งเก็บเงินเข้าบัญชีกองทุนรวมตราสารหนี้ทุกเดือนๆละ 8,219 บาท( 8,219 / 50,000 =16.43% ของรายได้)
- พอครบปีก็ขายกองทุนนั้นเพื่อจะนำเงินมาชำระค่าเบี้ยประกันจำนวน 98,630 บาท (8,219 x 12) ซึ่งอาจจะได้รับดอกเบี้ยระหว่างปีขึ้นอยู่กับกองทุนรวมที่ไปฝาก
สมมติพ่อกับแม่ช่วยกันเก็บเงิน โดยที่แต่ละคนมีเงินเดือนคนละ 40,000 บาท มีวิธีการออมดังนี้
- เปิดบัญชีกองทุนรวมโดยแบ่งเก็บเงินเข้าบัญชีกองทุนรวมตราสารหนี้ทุกเดือน คนละ 4,109 บาท (4,109 / 40,000 = 10.27% ของรายได้) รวมกันสองคนก็เดือนละ 8,219 บาท
- พอครบปีก็ขายกองทุนนั้นเพื่อจะนำเงินมาชำระค่าเบี้ยประกันจำนวน 98,630 บาท
หมายเหตุ : ไม่ได้ขายประกันแต่กำลังจะจับคู่เครื่องมือทางการเงินทีี่น่าจะตอบโจทย์กับเป้าหมายการออมเงินของเรามากที่สุด โดยการคิดล่วงหน้าแบบนี้จะทำให้เรารู้คร่าวๆว่าจะเก็บเงินได้ตามเป้าหรือไม่ ถ้าทำไม่ได้ก็อาจจะต้องหางานพิเศษเพิ่มเพื่อจะได้ถึงเป้าหมาย คุณสามารถออมแบบอื่นตามวิธีที่คุณถนัดได้ เช่น
- ออมเงินรอปันผลในหุ้น ==> แต่จะตกใจไหมถ้าปีที่ต้องใช้เงินแล้วหุ้นมันตกอย่างแรง
- ออมเงินในกองทุนรวม ==> อาจจะเผลอถอนออกมาใช้หมุนก่อนในช่วงเราขาดเงิน
- ออมเงินในทองคำ ==> แน่ใจนะว่าตลอด 10 ปีที่เก็บทองจะไม่ตื่นเต้นกับราคาขึ้นลงของราคาทองคำ
4. หัดให้ลูกทำงาน
วิธีนี้จะทำให้บรรเทารายจ่ายของพ่อกับแม่ เพราะการสอนเรื่องการใช้เงินไม่มีสอนในตำราเรียน ถ้าจะสอนให้จดจำได้ก็ต้องทำเป็นตัวเป็นแบบอย่าง
เมื่อลูกโตในระดับหนึ่งควรหัดให้ลองทำงาน เพราะจะทำให้เด็กรู้จักการใช้เงินมากขึ้น รู้ว่ากว่าที่พ่อแม่จะได้เงินมาแต่ละบาทนั้นแลกมาด้วยความยากลำบาก ซึ่งส่วนใหญ่พ่อแม่จะไม่อยากให้ลูกลำบากเหมือนตนเอง จึงบอกให้ลูกเรียนอย่างเดียวเพื่อได้มีเวลาเรียนอย่างเต็มที่จะได้เรียนเก่งๆ แต่อย่าลืมประเด็นสำคัญ คือ คนเก่งนั้นไม่จำเป็นต้องเก่งทุกอย่าง คนเรียนเก่งไม่จำเป็นต้องจัดการเงินเก่ง เพราะความเก่งทำให้คนตกม้าตายเรื่องการเก็บเงินมาเยอะแล้ว ก็คล้ายๆกับทำงานได้เงินเดือนสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่มีเงินเก็บนั่นแหละ
จุดสำคัญอยู่ที่ "ไม่มีใครมีอายุยืนค้ำฟ้า" ซึ่งวันนึงเราก็ต้องตาย ถ้าสอนให้ลูกรู้จักใช้เงิน รู้จักทำงานเลี้ยงตัวเอง เห็นลูกลำบากตั้งแต่เรามีชีวิตอยู่ยังดีกว่าเพราะจะได้ช่วยกันแก้ปัญหาให้ลูกได้ หนึ่งในวิธีที่แม่ฝึกเรา คือ การสอนให้ทำงาน เราเห็นแม่ทำงานตั้งแต่เด็ก ช่วยยกของไปขาย หัดพูดกับลูกค้า ทักษะเหล่านี้มันไม่มีสอนในตำราเรียนจริงๆ ถ้าหัดให้ลูกใช้เงินเป็น คนที่เป็นพ่อแม่จะไม่เหนื่อยในการหาเงินเพื่อลูก เพราะลูกเราใช้เงินแต่ละบาทอย่างรู้คุณค่า
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น