รุ่นพี่ที่อยู่ในซอยบ้านเดียวกันเป็นจิตอาสาสอนภาษาอังกฤษให้เด็กนักเรียนวัดแถวบ้าน โดยสอนทุกวันอาทิตย์ช่วง 13.00 - 15.00 น. ซึ่งเป็นเด็กที่พ่อแม่ต้องออกไปทำงานไม่มีเวลาสอนลูก จึงมาฝากให้ทางวัดอบรมในเรื่องพุทธศาสนาและการศึกษาอื่นๆเพิ่มเติม เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน เราอยากรู้ว่าเค้าสอนกันยังไงก็เลยตามเป็นผู้ช่วยสอน โดยช่วงชั่วโมงแรกจะสอนเด็กประถมตั้งแต่ ป.1- ป.3 เราลองนับดูแล้วประมาณ 20 กว่าคน ส่วนช่วงหลังจะสอนเด็ก ป.4- ม.2 เด็กน่าจะเกือบ 20 คน แต่ก่อนไม่มีหนังสือเรียนก็อาศัยจดที่กระดานแล้วให้เด็กจดลงในสมุด รุ่นพี่คนนี้รวบรวมเงินบริจาคได้จำนวนหนึ่งจึงไปซื้อหนังสือเรียนภาษาอังกฤษแจกเด็กๆ เราชอบสอนเด็กเล็กที่สอนในชั่วโมงแรกเพราะเราได้เดินดูเด็กทุกคนหัดเขียนตัวอักษรภาษาอังกฤษในหนังสือที่แจกไป
วันนี้เราสอนการทักทายเบื้องต้น เราอ่านนำให้เด็กๆอ่านตาม พอพูดได้บ้างแล้วก็หัดเขียนคำทักทายที่เราพูดตามรอยเส้นปะ พอเด็กๆเขียนเสร็จก็มาให้ตรวจโดยสอบอ่านทีละคน ระหว่างที่รอตรวจการบ้านก็จะมีเด็กบางคนที่ยังเขียนไม่เสร็จ เราก็เดินดูไปเรื่อยๆว่าเขียนกันไปถึงไหนแล้ว บางคนเขียนตรงตามเส้นเป๊ะ บางคนก็เขียนไม่ตรงเส้นหยิกๆงอๆก็มี แต่มีอย่างนึงที่น่าสนใจจากการที่เราเดินดูเด็กๆหัดเขียน
วิธีการเขียนให้เสร็จเร็ว โดยวิธีที่เด็กคนนี้ใช้นั้นทำให้เค้าจำคำศัพท์ไม่ได้ เขียนเพื่อใ้ห้เสร็จแล้วส่งเท่านั้น เพราะเราทดสอบให้เด็กสะกดคำศัพท์ที่พึ่งเขียนเสร็จให้ฟังก็ยังจำไม่ได้ เรามาดูวิธีการเขียนของเด็กคนนี้กันว่าเขียนตามเส้นปะอย่างไร
ตัวอย่างคำที่เขียนตามเส้นปะวันนี้ คือ GOOD MORNING
วิธีเขียนของเด็กคนนี้จะเขียนตัว G จากทั้งหมดก่อนแล้วตามด้วยตัว O ทีละแถวจากซ้ายไปขวา ซึ่งคล้ายๆกับการเขียนซ้ำๆกันจนชำนาญก็ทำให้เขียนเร็ว
หลังจากที่มองเด็กเขียนสักพักเราก็เข้าไปบอกวิธีการเขียนใหม่ที่น่าจะทำให้จำคำศัพท์ได้ง่ายขึ้น โดยบอกให้เด็กเขียนทีละบรรทัดจากบนลงล่าง ระหว่างเขียนให้อ่านออกเสียงตัวอักษรและท่องศัพท์ไปด้วย
ตอนแรกเราก็ไม่คิดว่าเด็กประถม 3 จะเข้าใจที่เราพูด เด็กอีกคนที่นั่งข้างหน้าเด็กคนนี้ก็ใช้วิธีการเขียนแนวตั้งเพื่อเขียนให้เสร็จเร็วเหมือนกัน เราก็เดินเข้าไปบอกว่า "ถ้าหนูเขียนแบบนี้หนูเขียนเสร็จเร็ว แต่หนูจำคำศัพท์ไม่ได้แสดงว่า........." เด็กตอบกลับมาว่า "เขียนไม่เสร็จ" เราก็ดีใจมากเพราะเด็กเข้าใจ แค่เราอธิบายเหตุผลให้ฟังเด็กก็รู้เรื่อง ถ้าเราใช้วิธีออกคำสั่งว่า "ห้ามเขียนแบบนี้นะ" เด็กก็อาจจะฟังบ้าง ไม่ฟังบ้าง แต่ไม่เข้าใจว่าเพราะอะไรถึงห้ามทำแบบนั้น
** อย่าลืมว่าเด็กรู้เรื่องทุกอย่างที่เราต้องการจะบอก เพียงแต่เราจะมีวิธีอธิบายให้เด็กเข้าใจได้มากแค่ไหน ถ้าสารที่ส่งออกไปมันผิดที่คนส่งสารก็อย่าไปโทษว่าเด็กไม่เข้าใจ
แบบฝึกหัดเขียนครั้งนี้ทำให้เรารู้ว่าเขียนเสร็จเหมือนกัน แต่ผลลัพธ์ที่ได้ต่างกัน ถ้าเปรียบเทียบการจำคำศัพท์ได้และจำคำศัพท์ไม่ได้กับการทำงาน ดังนี้
จำคำศัพท์ได้ ==> การทำงานอย่างมีแบบแผน ช้าๆแต่ชัวร์
จำคำศัพท์ไม่ได้ ==> การทำงานเสร็จเร็วแต่ไม่มีคุณภาพทำให้ต้องมาแก้ไขทีหลัง
จากเรื่องนี้ก็สะท้อนให้เราเห็นอะไรบางอย่าง คือ ระบบการศึกษา หลังจากที่เห็นข่าวว่า "เด็กไทยระดับประถมอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้" เราจึงโทรถามน้าที่เป็นผู้ตรวจโรงเรียนที่ต่างจังหวัดว่าการศึกษาเด็กไทยเป็นถึงขนาดนั้นเลยหรอ ไฟฟ้าเข้าถึงเกือบทุกบ้านแล้วก็น่าจะมีเวลาอ่านหนังสือมากขึ้น เราถามน้าด้วยคำถามที่คับข้องใจมานานว่า "พ่อแม่ก็อ่านหนังสือออกทำไมไม่สอนลูกอ่านหนังสือ ครอบครัวช่วยกันดูแลบ้าง ไม่ใช่อะไรก็โยนให้ครูสอนทุกอย่าง ลูกศิษย์ตั้งเยอะครูดูแลไม่ทั่วถึงอยู่แล้ว" จากคำตอบของน้าก็ทำให้เรารู้เลยว่าระบบการศึกษาของเราไม่พัฒนาขึ้นเพราะอะไร "ก็เพราะพ่อกับแม่ต้องออกไปทำงานหาเงินจนไม่มีเวลาอบรมสั่งสอนลูก"
น้าแนะนำว่าถ้าเราอยากจะช่วยก็ไปสอนเด็กยากจนที่เร่ร่อนใต้สะพานน่าจะดีกว่า เพราะความคิดที่ให้ครอบครัวดูแลกันเองนั้นเป็นเพียงหลักการที่ดูดีแต่ทำยาก เราเห็นคนพูดเรื่องช่วยสังคมมามากแล้ว ตอนนี้เราอยากเห็นคนช่วยกันลงมือทำ ลองหาเวลาว่างวันเสาร์ - อาทิตย์เป็นจิตอาสาสอนเด็กๆที่ไหนก็ได้ แล้วเราจะเห็นพลังของเด็กที่ทำให้ไฟในการทำงานของเราลุกขึ้นอีกครั้ง
บทความน่าสนใจ
สร้างแรงบันดาลใจเป็นตัวเลข
==> http://pajareep.blogspot.com/2013/10/blog-post_28.html
ภาพรวมของการวางแผนการเงินส่วนบุคคลมี 5 แผน
==> http://pajareep.blogspot.com/2013/10/5.html
สร้างแรงบันดาลใจเป็นตัวเลข
==> http://pajareep.blogspot.com/2013/10/blog-post_28.html
ภาพรวมของการวางแผนการเงินส่วนบุคคลมี 5 แผน
==> http://pajareep.blogspot.com/2013/10/5.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น