วันอังคารที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ภาพรวมของการวางแผนทางการเงินส่วนบุคคลมี 5 แผน



จากประสบการณ์การทำงานในส่วนของที่ปรึกษาการลงทุน(ชื่อตำแหน่งที่เปลี่ยนมาจาก "เจ้าหน้าที่การตลาด" ซึ่งเปลี่ยนชื่อแล้วก็ทำหน้าที่เหมือนเดิมคือ ดูแลลูกค้าเทรดหุ้นกับอนุพันธ์) ทำให้เจอกับคนที่หลากหลาย ลักษณะนิสัยที่แตกต่างกันออกไป แต่มีสิ่งหนึ่งที่ทุกคนเป็นเหมือนกันคือ ความกลัว การทำให้ลูกค้าคลายความกังวลหรือกลัวตลาดหุ้นน้อยลงก็เป็นหนึ่งในหน้าที่ของเรา ส่วนใหญ่แล้วเราอธิบายให้ลูกค้าเข้าใจถึงภาพรวมตลาดก่อนแล้วค่อยเจาะหุ้นรายอุตสาหกรรมที่เป็นผลดีต่อภาพรวมนั้น เหตุการณ์ชัดเจนที่สุด คือ การเติบโตของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงโลกเร็วมาก(ภาพรวมตลาด) ดังนั้นอุตสาหกรรมที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะเป็นหุ้นกลุ่มสื่อสาร ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต ผู้วางระบบ (เจาะหุ้นรายอุตสาหกรรม) และเราก็มาเลือกหุ้นรายตัวศึกษาธุรกิจให้เข้าใจก่อนลงทุน

ตัวอย่างเหตุการณ์ประมูล 3G  หลังจากมีข่าวการประมูลออกมาก็ทำให้หุ้นที่มีส่วนได้ประโยชน์นั้นถูกเก็งกำไรปรับตัวขึ้นมาก พอการประมูลนั้นถูกยกเลิกทำให้มีชาวดอยจำเป็นเกิดขึ้นมากมาย และเมื่อมีข่าวการประมูลเกิดขึ้นอีกครั้งลูกค้าเรากลัวว่าจะยกเลิกการประมูลเหมือนคราวที่แล้ว ถ้าซื้อหุ้นแบบนั้นราคาอาจจะตกลงอีก ส่วนตัวเชื่อว่าเหตุการณ์นั้นจะไม่เกิดขึ้นอีกเพราะผลประโยชน์จากการประมูลได้มากกว่าการยกเลิก อีกทั้งประเทศเพื่อนบ้านของเราไปถึง 4G แ้ล้วเราจะยอมได้อย่างไร เราชอบอธิบายด้วยการตั้งคำถามมากกว่าการอธิบายว่าทำไมถึงต้องประมูลเพราะคำตอบมันก็อยู่ในคำถามนั้นแล้ว อ่านไปอ่านมาอาจจะงงเรายกตัวอย่างสั้นๆที่ชอบคุยกับลูกค้าให้ดูละกันนะคะ
  • คุณคิดว่าถ้าไม่มีการประมูลครั้งนี้ประเทศเราจะเป็นอย่างไร โดยที่ประเทศลาวมี 4G ใช้แล้ว? 
  • คุณคิดว่า SCB คิดอะไรอยู่ถึงปล่อยกู้ให้กับ TRUE เพื่อเป็นเงินทุนในการวางระบบรองรับ 3G ทั้งที่ TRUE ยังขาดทุนและมีหนี้สินมากมาย? 
  • ถ้าลูกค้ายังกลัวอยู่เราก็จะใช้คำถามสุดท้ายว่า "คุณคิดว่าถ้าไม่มีการประมูล 3G ในประเทศไทยใครจะเสียหายมากกว่ากันระหว่างประเทศไทย, ธนาคารที่ปล่อยกู้หรือนักลงทุนอย่างพวกเรา" 
สรุปว่าลูกค้าส่วนใหญ่มีหุ้นสื่อสารสักตัวในพอร์ต มากบ้างน้อยบ้างขึ้นอยู่กับความกังวลส่วนตัว

การอธิบายให้ลูกค้าเห็นภาพรวมนั้นไม่จำเป็นต้องยกตัวอย่างหุ้นเสมอไป เราชอบใช้ตัวอย่างที่ลูกค้าน่าจะมีประสบการณ์เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น เราเชื่อว่าเกือบทุกคนเคยเห็นภาพวิวบนภูเขา ทั้งที่เดินขึ้นเขาไปสัมผัสด้วยตนเองหรือดูจากรูปถ่าย การมองภาพรวมเหมือนกับการยืนชมวิวทิวทัศน์บนยอดเขา เห็นท้องฟ้าที่กว้างใหญ่ ภาพเหล่านั้นจะเห็นชัดเจนที่สุดบนยอดเขา ไม่ใช่ตีนเขา
  • การมองจากมุมสูงบนภูเขามาที่ข้างล่างจะทำให้เราเห็นภาพรวมของสิ่งต่างๆได้ดีกว่าการมองวิวทิวทัศน์จากพื้นราบที่เชิงเขา  
  • ส่วนการมองที่พื้นราบจะทำให้เราเข้าใจรายละเอียดสิ่งต่างๆรอบตัวได้ดีกว่าการมองลงมาจากมุมสูง 
เรากำลังจะอธิบายถึงการวางแผนการเงินส่วนบุคคลที่บางคนมองว่าเป็นเรื่องเข้าใจยาก เพราะเรามองในรายละเอียดมากเกินไปทำให้เราคิดว่าเป็นเรื่องยาก ซึ่งในความจริงแล้วเราควรเข้าใจว่าภาพรวมมีอะไรบ้างแล้วค่อยเจาะลึกรายละเอียดของแต่ละแผน จากการวางแผนในแต่ละส่วนจะมีลิ้งค์เดิมที่เคยเขียนไว้อธิบายเพิ่มเติมในส่วนท้ายของบทความค่ะ

หลักการวางแผนการเงินส่วนบุคคลแบ่งเป็น 5 แผน ดังนี้


  1. สภาพคล่อง&หนี้สิน ==> เป็นเรื่องเกี่ยวกับงบดุลส่วนตัวของเราว่ามีสินทรัพย์อยู่เท่าไหร่ หนี้สินและความมั่งคั่งเป็นเท่าไหร่ โดยคำนวณจากอัตราส่วนทางการเงิน หัวใจสำคัญของเรื่องนี้อยู่ที่การจดบัญชีรายรับรายจ่าย เพื่อทราบแหล่งที่มาของรายได้และประวัติการใช้จ่ายเพื่อดูพฤติกรรมของเราว่าตัวเราอุดมไปด้วยความมั่งคั่งหรือหนี้สิน เช่น 
    • การสร้างหนี้เพื่อซื้อบ้านถือเป็นการลงทุนเพื่อความมั่งคั่ง แต่ถ้าราคาของบ้านนั้นสูงเกินไปเราผ่อนไม่ไหวก็จะกลายเป็นการก่อหนี้ที่มากเกินความจำเป็น ดังนั้นอาจจะไปซื้อบ้านในราคาที่เราสามารถผ่อนจ่ายได้เพื่อสภาพคล่องไม่ตึงจนเกินไป หรือบางคนก่อหนี้บัตรเครดิตเยอะเกินไปก็ดูได้จากอัตราส่วนทางการเงินในส่วนหนี้สินเพื่อปรับลดพฤติกรรมใช้จ่ายฟุ่มเฟือยก่อนที่ตนเองจะล้มละลาย 
  2. ความเสี่ยงส่วนบุคคล ==> เป็นการวางแผนเพื่อสร้างและรักษาความมั่งคั่งของสินทรัพย์ของเราให้ยั่งยืน ซึ่งลดความเสี่ยงโดยโอนความเสี่ยงนั้นให้กับบริษัทประกันรับผิดชอบ 
    • จากหลักการอาจจะเข้าใจยาก ลองดูตัวอย่างใกล้ตัว เช่น การประกันภัยรถยนต์นอกจาก พรบ.แล้วเราทำประกันภัยรถยนต์ชั้น  1 ,2,3 หรือ 4 เพิ่มเติม แล้วแต่เจ้าของรถยนต์ว่าจะซื้อประกันชั้นไหน พอเกิดรถชนกันก็เรียกประกันมาตรวจความเสียหาย การทำประกันชั้น 1,2,3,4 นั้นเป็นการโอนความเสี่ยงจากเจ้าของรถยนต์ให้บริษัทประกันภัยรับผิดชอบ เมื่อสิ่งของยังมีประกันคุ้มครอง ชีวิตของเราก็สมควรได้รับความคุ้มครองด้วยเช่นกัน (ในวีดีโอคลิปข้างล่างเป็นการสัมภาษณ์นักวางแผนการเงิน เราอยากให้ดูให้จบแล้วตอบคำถามตนเองว่า "ทุนประกันรถยนต์เท่าไหร่และทุนประกันชีวิตของเราเท่าไหร่")  
  3. การลงทุน = => เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับให้เงินช่วยเราทำงานซึ่งดอกผลจะออกมาในรูปแบบของเงินปันผล ดอกเบี้ย โดยจัดพอร์ตการลงทุนตามระดับความเสี่ยงที่เรารับได้ในตราสารทางการเงินหรือการลงทุนในรูปแบบต่างๆเพื่อที่จะได้รับผลตอบแทนที่เราต้องการในอนาคต เช่น
    •  หุ้น กองทุนรวม ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ พันธบัตร หุ้นกู้ ฯลฯ การศึกษาเรื่องการลงทุนนั้นมีมากมายไม่ว่าจะเป็นในอินเตอร์เน็ต หนังสือการลงทุน หลักสูตรการอบรมการลงทุนฟรี ซึ่งนักลงทุนสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลได้ทุกที่ทุกเวลา 
  4. ภาษี&มรดก 
    • เรื่องภาษีเป็นการวางแผนเพื่อลดฐานเงินได้ เพิ่มค่าลดหย่อน เพิ่มเงินที่ได้รับยกเว้นและเพิ่มค่าใข้จ่าย เพื่อเสียภาษีให้น้อยที่สุด ตัวอย่างที่เราชอบนำมาลดหย่อน เช่น
      • การซื้อประกันชีวิต การซื้อกองทุนรวม LTF RMF การบริจาคเงินสนับสนุนการศึกษา เป็นต้น โดยที่แต่ละรูปแบบจะมีเงื่อนไขการหักลดหย่อนแตกต่างกันออกไป ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนก็คือ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มนุษย์เงินเดือนอย่างเรารู้จักกันดี เมื่อเปลี่ยนงานแต่ละครั้งไม่ควรปิดกองทุนและรับเงิน เพราะเงินส่วนนั้นจะมารวมเป็นรายได้ปลายปีซึ่งทำให้เราเสียภาษีสูงขึ้น ดังนั้น เราควรคงกองทุนเดิมไว้เพื่อคงให้อายุงานนานที่สุด จำสั้นๆว่า "เปลี่ยนงาน คงกองทุน"
    • เรื่องมรดกเป็นเรื่องเกี่ยวกับการส่งมอบทรัพย์สมบัติของเราให้แก่ทายาทตามความเหมาะสมเพื่อสืบทอดและพัฒนาให้มีความมั่งคั่งต่อไป ทั้งนี้ควรทำให้เรียบร้อยโดยการเขียนพินัยกรรมก่อนเสียชีวิต มิฉะนั้นแล้วอาจจะกลายเป็นมรดกเลือดก็ได้
  5. การเกษียณ ==>เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการวางแผนเก็บเงินเพื่อใช้ในช่วงเกษียณอายุเพื่อให้คุณภาพชีวิตหลังเกษียณใกล้เคียงกับช่วงชีวิตก่อนเกษียณมากที่สุด 
    • รายละเอียดที่เคยเขียนการวางแผนเกษียณอยู่ในลิ้งค์ส่วนล่างของบล็อกจะไม่อธิบายซ้ำ แต่จะให้ดูเอกสารชุดนึงที่เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายดูแลผู้สูงอายุจากศูนย์ดูแลผู้สูงอายุแห่งหนึ่ง(แถวบ้านเราเอง) แม้ว่าอนาคตเราจะต้องเข้าไปอยู่ในศูนย์นี้หรือไม่ แต่ก็ทำให้เราทราบคร่าวๆเกี่ยวกับรายจ่ายดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ ซึ่งเราอาจจะเป็นลูกหลานที่ต้องจ่ายให้พ่อกับแม่หรืออาจจะเป็นตัวเราเองที่ต้องจ่ายให้ตนเองในสภาวะแบบนั้น เมื่อคุณอ่านจบแล้วรบกวนตอบคำถามว่า "เราควรเก็บเงินเกษียณเท่าไหร่"  


เมื่อเราทราบภาพรวมของการวางแผนการเงินส่วนบุคคลแล้วว่ามีอะไรบ้าง เราลองมาสำรวจตนเองดูซิว่ายังขาดส่วนไหนเพื่อจะได้เติมเต็มรายละเอียดในส่วนนั้นให้ครบถ้วย โดยศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมหรือหาที่ปรึกษาเฉพาะด้านนั้นๆ

ตัวอย่างการวางแผน(ขึ้นอยู่กับเป้าหมายของเราเป็นหลัก)

รูปที่ 1 ภาพรวมของการวางแผน คือ เรามีการวางแผนสภาพคล่อง&หนี้สิน กับ ภาษี& มรดก แสดงว่าเรายังขาดการวางแผนทางด้านความเสี่ยงส่วนบุคคล การลงทุนและการเกษียณ ดังนั้นเราควรเริ่มศึกษารายละเอียดในส่วนที่ขาดหายไปในแต่ละด้าน โดยเริ่มเรียงลำดับความสำคัญของเป้าหมายก่อน เช่น ถ้าอยู่ในช่วงวัยทำงานก็เริ่มศึกษาเรื่องการวางแผนลงทุน ความเสี่ยงส่วนบุคคลและแผนเกษียณ แต่ถ้าอยู่ในวัยใกล้เกษียณก็อาจจะวางแผนการลงทุนที่เสี่ยงมากไม่ได้ ก็อาจจะเน้นที่แผนเกษียณเป็นหลัก เป็นต้น

รูปที่ 1

รูปที่ 2 เรามีการวางแผนทางด้านสภาพคล่อง&หนี้สิน ภาษี&มรดก และการลงทุน โดยที่เน้นหนักทางการลงทุนมากเกินไป โดยเราลืมวางแผนทางด้านความเสี่ยงส่วนบุคคลและการเกษียณ การวางแผนลักษณะนี้อาจจะมีความเสี่ยงมากในกรณีที่สินทรัพย์ที่เราลงทุนเกิดการขาดทุนอย่างหนัก ทำให้เราไม่มีสภาพคล่องนำเงินไปใช้อย่างอื่นหรือเงินลงทุนหายไปเลยก็ได้ ดังนั้นควรแบ่งเงินจากการลงทุนไปวางแผนทางด้านอื่่นๆบ้าง 

รูปที่ 2

รูปที่ 3 เป็นการวางแผนการเงินที่ค่อนข้างสมบูรณ์ เพราะเฉลี่ยให้เท่ากันเกือบทุกส่วน ซึ่งการแบ่งสัดส่วนแต่ละแผนว่าควรมีเท่าใดนั้นขึ้นอยู่กับเป้าหมายของแต่ละคนนะคะ

รูปที่ 3

===============================================================

วีดีโอคลิปสัมภาษณ์การวางแผนการเงินของนักวางแผนการเงิน


===============================================================
ลิ้งค์ที่เกี่ยวข้องจากบทความที่เคยเขียน
  1. สภาพคล่อง&หนี้สิน 
  2. ความเสี่ยงส่วนบุคคล 
  3. การลงทุน 
  4. การเกษียณ 
  5. ภาษี&มรดก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น