วันจันทร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2556

สร้างแรงบันดาลใจเป็นตัวเลข



เชื่อว่าคุณวิกรมเป็นแรงบันดาลใจของใครหลายๆคนซึ่งรวมทั้งเราด้วย หลังจากเห็นโพสใน facebook ว่าคุณวิกรมจะมาแจกลายเซ็นในงานหนังสือเวลา 13.00 - 15.00 น. พอเสร็จธุระแล้วเราก็รีบมางานหนังสือทันที โชคดีที่มาทันเลยได้เจอตัวจริง ตื่นเต้นจนพูดผิดๆถูกๆ คุณวิกรมแจกลายเซ็นแล้วก็ถ่ายรูปคู่กับทุกคน พอถึงคิวเราที่ 166 (เราต่อแถวรอคิว 3 คน) ก็ยื่นหนังสือให้คุณวิกรมก็ถามว่าเราชื่ออะไร พอเราพูดชื่ออภินิหารเงินออมค่ะ เค้าก็หัวเราะนิดๆประมาณว่าชื่อนี้คิดได้ยังไง เราบอกว่าเราเป็นบล็อกเกอร์เขียนเรื่องการออมเงินเลยใช้ชื่่อนี้และอยากเป็นนักเขียนที่เก่งเหมือนคุณวิกรมด้วย ขอบอกว่าตื่นเต้นมาก พอถ่ายรูปเสร็จแล้วก็รีบเดินออกมาเพราะคนมารอคิดเยอะมาก จนลืมดูว่าเขียนชื่อเราไม่ครบ ไม่เป็นไรคราวหน้าซื้อหนังสือแล้วค่อยขอลายเซ็นใหม่ 

เราชอบแนวคิดของคุณวิกรมตั้งแต่ดูรายการที่นี่หมอชิตและติดตามผลงานมาตลอด ทำให้คิดตลกๆว่าถ้าได้ติดตามอยู่ในกองคาราวานไปดูวิถีชีวิต การดำเนินชีวิตในประเทศต่างๆคงสนุกและได้อะไรเยอะมากเพื่อมาเขียนหนังสือ การที่เราได้เจออะไรแปลกใหม่ ทำสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อนนั้นจะทำให้ชีวิตมีสีสัน และได้ไอเดียแปลกใหม่ในการดำเนินชีวิต แม้เราชอบการเดินทางแต่งบประมาณมีจำกัด ดังนั้น ตอนนี้เราต้องอยู่กับความจริงไปก่อน เพราะการสร้างฝันกับความจริงมันต้องไปด้วยกัน ก็เหมือนกับการเลือกทำงานว่าเรียนจบแล้วจะทำงานอะไรดี บางคนมีความฝันอยากจะทำหลายอย่างแต่ไม่มีงบประมาณหรือบางคนทำตามความฝันหลายอย่างจนไม่เป็นชิ้นเป็นอันสักอย่าง วิธีตัดสินใจว่าจะเลือกอาชีพอะไรนั้นควรจะเริ่มต้นที่ภาระทางครอบครัวว่าเราต้องแบกรับอะไรไว้บ้าง เช่น
  • ถ้าเราไม่ต้องเป็นเสาหลักของบ้านในการหาเลี้ยงครอบครัว รายได้ที่ได้มาก็ใช้ส่วนตัวและแบ่งให้พ่อแม่ตามความเหมาะสม ลักษณะนี้เราสามารถทำตามความฝันของเราได้ด้วยความสบายใจ เช่น ถ้าเรามีความฝันแล้วไม่มีงบประมาณก็อาจจะเขียนโครงการในฝันออกมาเป็นรูปธรรมแล้วเสนอไปยังกองทุนที่สนับสนุนเพื่อทำให้เป็นจริงต่อไป  
  • แต่ถ้าเราเป็นหลักให้กับครอบครัว ภาระรายจ่ายทุกอย่างเราต้องรับผิดชอบ ลักษณะนี้ก็อาจจะลำบากสักนิดนึงที่จะวิ่งตามความฝันของตนเอง เพราะเราต้องทำงานที่มีรายได้มาจุนเจือครอบครัวเราก่อน ถ้ามีความมั่นคงระยะหนึ่งแล้วก็เจียดเวลาเพื่อทำตามความฝัน เพราะถ้าเรามุ่งมั่นทำตามความฝันที่ไม่รู้จะเป็นจริงได้เมื่อไหร่ ในขณะที่เราเป็นเสาหลักของบ้านแบบนี้ครอบครัวอาจจะขาดความมั่นคงก่อนที่เราจะทำฝันสำเร็จก็ได้
สำหรับบางคนที่ยังไม่รู้ว่าตนเองชอบอะไรหรืออยากทำอะไรแล้วปล่อยชีวิตไปเรื่อยๆนั้นแสดงว่าเราเริ่มขาดแรงบันดาลใจในการดำเนินชีวิต ซึ่งวิธีสร้าแรงบันดาลใจในแต่ละด้านมีหลายรูปแบบ เช่น จากบุคคลที่ประสบความสำเร็จ จากดาราที่เราชื่นชอบ จากประวัติการสู้ชีวิตของผู้พิการ(เช่น Nick Vulicic ผู้พิการแขนขา) เป็นต้น ใครชอบแบบไหนก็เลือกได้ตามถนัด แต่ถ้าดูแล้วยังไม่ได้ผลจุดไฟให้แรงบันดาลใจไม่ได้ เราก็มีทางเลือกอีกหนึ่งทางที่ลองคิดขึ้นมาเพื่อทดลองดูว่าจะสร้างแรงบันดาลใจให้กับเพื่อนของเราโดยการคิดแรงบันดาลใจออกมาเป็นตัวเลข

เรื่องมีอยู่ว่าเราอยากจะเขียนพ็อกเก็ตบุ๊คเล่มใหม่ก็ลองปรึกษากับ บก.ว่าจะเขียนเกี่ยวกับอะไรดี เพราะแนวที่อยากเขียนสำนักพิมพ์เค้าไม่รับ(หากเขียนตามความฝันก็อาจจะไม่มีข้าวกิน กลายเป็นนักเขียนไส้แห้งไปจริงๆ งั้นเราควรเลือกอยู่กับความจริงโดยเขียนตามความต้องการของตลาด) สรุปว่าเขียนเกี่ยวกับมนุษย์เงินเดือนเพราะเป็นเรื่องใกล้ตัวเรามากที่สุด อุดมการณ์ในการเขียนก็ยังอยู่ครบ จากนี้ไปก็เป็นเรื่องของการหาข้อมูลในการเขียน บางคนมองว่าแค่เราไปอ่านของคนที่เคยเขียนอยู่แล้วมาพัฒนาต่อยอดแค่นี้ก็เขียนได้ละ ฮีฮึ!! ชีวิตมันไม่ง่ายขนาดนั้น เพราะถ้าไปอ่านของคนอื่นเราก็จะติดกรอบความคิดของคนนั้น ความเป็นตัวตนของเราก็จะหายไป ดังนั้น เราควรต้องคิดใหม่ขึ้นเองโดยไม่อ่านของเดิมซึ่ง บก.ก็คิดเหมือนกัน และอีกคำถามที่ตามมาก็คือ แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่าสิ่งที่เราเขียนจะซ้ำกับของเดิมรึเปล่า นั่นแหละเป็นความท้าทายที่จะทำยังไงให้แตกต่างโดยไม่อ่านของเดิม

จากความคิดที่เป็นอากาศแล้วไม่รู้จะเริ่มยังไงกลายมาเป็นความสนุกที่ต้องลุ้นว่าเล่มนี้จะเขียนรอดไหม เราเริ่มต้นที่การสัมภาษณ์มนุษย์เงินเดือนรอบข้าง คิดว่าควรถามต่างอาชีพ ต่างวัยจำนวน 40 คนขึ้นไปน่าจะเริ่มเขียนได้ จากคนแรกที่สัมภาษณ์เพียง 10 นาทีแล้วจบเพราะไม่รู้จะถามอะไร กลายมาเป็นคำถามที่มากขึ้นกับเวลา  1 ชั่วโมงกว่าจะสัมภาษณ์จบ แล้ววิธีการคิดแรงบันดาลใจเป็นตัวเลขก็เกิดขึ้น ซึ่งแรงบันดาลใจในที่นี้เกี่ยวกับการเริ่มต้นออมเพื่อที่จะมีเงินใช้ถึงวัยเกษียณ บังเอิญเพื่อนสนิทที่เราสัมภาษณ์นั้นมีวินัยการออมเงินที่ดีมาก เก็บเงินเก่ง ไม่มีภาระครอบครัว ประเด็นอยูที่ว่าเก็บแต่ฝากออมทรัพย์กับฝากประจำซึ่งนับวันดอกเบี้ยยิ่งน้อยลงทุกที แล้วแบบนี้เงินจะงอกเงยแซงเงินเฟ้อได้อย่างไร (ขออนุญาตคุณเพื่อนที่นำมาเป็นกรณีศึกษา ทั้งนี้เพื่อเป็นความรู้ให้แก่คนอื่นๆนะจ๊ะ) เพราะเราอยากรู้ว่าทำไมคนถึงไม่นำเงินไปลงทุน เค้ากำลังคิดอะไรและจะมีวิธีปรับวิธีคิดเค้าได้อย่างไรบ้าง เป็นประเด็นที่น่าสนใจมาก

ก่อนจบการสัมภาษณ์เราฝากให้เพื่อนอ่านบทความและดูภาพประกอบในบล็อกก่อนหน้านี้(ตามภาพข้างล่าง)และคำถามให้คิด  3 ข้อ คือ
  1. ถ้าเราต้องเตรียมเงินให้พ่อกับแม่เพื่อดูแลสุขภาพของท่านต้องเตรียมเงินเท่าไหร่และเก็บเงินเผื่อส่วนนี้แล้วรึยัง
  2. ถ้าสมมติเราเป็นโสดต้องเตรียมเงินดูแลสุขภาพตนเองหลังเกษียณเท่าไหร่และเก็บเงินเผื่อส่วนนี้แล้วรึยัง 
  3. ถ้าเราแต่งงานมีลูกแล้ววาระสุดท้ายลูกพึ่งพาไม่ได้ เราจะเตรียมเงินไว้ดูแลตนเองเท่าไหร่และเก็บเงินเผื่อส่วนนี้แล้วรึยัง
เราอยากรู้ว่าวิธีสร้างแรงบันดาลใจเกี่ยวกับจำนวนเงินที่ต้องใช้จ่ายดูแลสุขภาพในวัยเกษียณจะทำให้เพื่อนเราศึกษาวิธีออมเงินแบบอื่นได้ไหม ถ้าใช้ได้ผลดีก็คงมีอะไรไปเขียนบ้าง แต่ถ้าใช้ไม่ได้ผลคงต้องลองวิธีใหม่ หากผู้อ่านนำไปใช้ได้ผลอย่างไร หรือมีคำแนะนำเพิ่มเติมรบกวนส่งเมล์บอกกล่าวกันได้นะคะ ยินดีรับทุกคอมเม้นค่ะ ^_^

อ่อ....อ่านจบแล้วคุณอย่าลืมตอบคำถาม 3 ข้อ ข้างต้นกับตนเองด้วยนะคะ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจที่จะออมเงินใช้ในวัยเกษียณค่ะ




บทความน่าสนใจ

งดเหล้า เลิกบุหรี่ สุขภาพดีและมีเงินออม 
==> http://pajareep.blogspot.com/2013/11/blog-post.html




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น