วันจันทร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2557

มนุษย์เงินเดือนมีเงินก้อนจะนำมาซื้อหุ้นดีไหม?



ช่วงนี้กระแสลงทุนในหุ้นเกิดขึ้นมากมาย หนังสือที่สอนเล่นหุ้นวางขายจนเลือกไม่ถูกเลยว่าจะอ่านของใครดี เพราะแต่ละเล่มมีดีแตกต่างกัน เราเห็นเรื่องดีๆของการเล่นหุ้นมาเยอะแล้ว จึงอยากจะลองเขียนในฝั่งตรงข้ามดูบ้างว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างถ้าเราลงทุนแบบไม่ระมัดระวัง ด้วยเรื่องจริงที่เกิดขึ้นกับคนรอบตัว เขียนไว้เพื่อที่จะได้ระมัดระวังในการลงทุนมากขึ้น 

ก่อนหน้าที่เราจะตัดสินใจลงทุนเคยศึกษาถึงวิกฤตที่เกิดขึ้นในปี 40 ว่าความล้มเหลวเรื่องการลงทุนนั้นเกิดจากอะไร เมื่อเราไม่อยากเจ็บเองก็ต้องอ่าน ฟังให้มากๆก่อนที่จะเริ่มลงทุนจริง การเรียนรู้ความผิดพลาดของคนอื่นเพื่อป้องกันความผิดพลาดซ้ำรอยเดิม ซึ่งเป็นอาวุธชั้นดีที่จะทำให้เรารู้ว่าข้างหน้าจะมีอุปสรรคอะไรเกิดขึ้นบ้าง เราควรเตรียมตัวและเตรียมใจว่าจะเจอกับอะไรบ้าง

บทความนี้จะมีตัวอย่างจากประสบการณ์จริง 2 เหตุการณ์มาเล่าให้ฟังเพื่อเป็นเครื่องเตือนใจจะได้ไม่ทำผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้น

เรื่องที่ 1 มีเงินก้อนจะทำอะไรก่อนดี ระหว่างผ่อนบ้านกับลงทุนหุ้น

เรามีโอกาสได้คุยกับนายธนาคารคนหนึ่ง ดูท่าทางน่าจะผ่านร้อนผ่านหนาวมาพอสมควรโดยเฉพาะปี 40 เราลองถามว่าช่วงนั้นการลงทุนของเขาเป็นยังไงบ้าง สิ่งที่เล่ามาน่าสนใจมากในแง่ของการตัดสินใจลงทุน ช่วงนั้นเขามีเงินก้อนหนึ่งเตรียมจะซื้อบ้าน  2 ล้านบาท ขณะเดียวกันในปีนั้นตลาดหุ้นขึ้นดีมาก หลายคนรอบตัวที่ลงทุนในหุ้นก็ได้กำไรมาง่ายมากโดยวิธีการซื้อเก็งกำไร ทำให้เขาคิดว่าน่าจะนำเงินก้อนนั้นมาซื้อหุ้นก่อนแล้วค่อยผ่อนบ้านเพราะจะได้ไม่เสียโอกาสทำกำไร

สิ่งที่คาดหวัง คือ เงินก้อน ==> ลงทุนหุ้น ==> นำกำไรมาจ่ายค่าผ่อนบ้าน

โลกการเก็งกำไรมันไม่ได้สวยงามขนาดนั้น อีกไม่นานเขาก็ไม่มีโอกาสได้เห็นเงิน 2 ล้านอีกต่อไปเพราะมันละลายหายไปกับหุ้นในปี 40 นั่นแหละ ความเจ็บปวดนั้นตามมาจนกระทั่งตอนนี้ที่เขายังคงผ่อนบ้านหลังนั้นยังไม่หมด

ความจริงที่เจอ คือ เงินก้อน ==> ลงทุนหุ้น ==> เงินหายจนไม่มีเงินผ่อนบ้าน

อย่ามองว่าเรื่องแบบนั้นจะไม่เกิดขึ้นกับเรา เพราะบางครั้งเราก็ไม่รู้หรอกว่าอะไรบ้างที่กำลังจะเป็นปัญหา ลักษณะการมองปัญหาคล้ายๆกับเรื่องเหล่านี้
  • การที่เราสวมบทบาทของคนดูผู้ที่เล่นหมากรุกแข่งกัน คนนอกกระดานจะมองว่าทำไมไม่เดินตัวนั้น ตัวนี้ จนบางครั้งผู้เล่นอยากจะลุกให้คนที่พูดนั้นมาเล่นแทน 
  • เราดูบอลแล้วชอบพูดว่า "ทำไมไม่เตะไปตรงนั้นหละ"
  • คนซื้อตำหนิแบบเสื้อว่าออกแบบไม่ได้เรื่อง ที่ถูกต้องมันน่าจะเป็นแบบนี้
บางครั้งการวิจารณ์จากคนนอกที่รู้จริงจะทำให้มองเห็นปัญหามากกว่าผู้เล่น และเราจะได้รับคำวิจารณ์ออกมาในเชิงสร้างสรรค์เพื่อช่วยเราแก้ไขจุดบกพร่อง จากเรื่องข้างต้นบางคนมองออกว่าควรนำเงินมาจ่ายหนี้ก่อนแล้วค่อยลงทุน แต่ความโลภมันไม่ได้บอกเราแบบนั้น บางคนรู้ทุกอย่าง จัดการได้ทุกเรื่องแต่บางครั้งมองข้ามความผิดพลาดของตนเองจนกลายเป็นปัญหา

ดังนั้น ในฐานะของผู้ลงทุนควรแยกแยะปัญหาของตนเอง ถ้าอยู่ในสภาวะที่เป็นหนี้นั้นควรทำให้เบาบางลงก่อนที่จะลงทุน หรือถ้ามีหนี้แล้วต้องการลงทุนจริงๆควรระมัดระวังโดยมีวินัยในการคัทลอสให้มากๆ  

เรื่องที่ 2 จะเกษียณแล้วได้รับเงินก้อน อยากจะนำเงินมาลงทุนหุ้น

คนรู้จักท่านนึงเกษียณอายุจากการทำงานประจำแล้วเล่นหุ้นอยู่บ้าน พร้อมกับบริหารพอร์ตการลงทุนให้ลูกไปด้วย ท่านบอกว่ารุ่นเราโชคดีมากที่มีอินเตอร์เน็ตเทรดหุ้นเองได้ เพราะสมัยก่อนนั้นกว่าจะซื้อหรือขายได้ก็ต้องโทรบอกมาร์เก็ตติ้ง ถามราคาราคาหุ้นขึ้นหรือลงก็ช้ามาก ทำให้บางครั้งซื้อขายไม่ทัน

วิธีคิดนึงของท่านที่น่าสนใจในเรื่องที่คนเกษียณเล่นหุ้น เพราะต้องการฝึกสมอง ฝึกคิด ไม่อยากอยู่ว่างๆกลัวว่าสมองจะฝ่อ จากความเก๋าของท่านทำให้มีความระมัดระวังในการลงทุนมาก ชอบการเล่นหุ้นแต่ก็ไม่ทุ่มสุดตัว เพราะถ้าเล่นเสี่ยงมากเกินไปก็อาจจะทำให้เงินเกษียณหายหมด โดยส่วนใหญ่ท่านจะลงทุนในหุ้นปันผลสูงเพื่อรอรับปันผล

รุ่นเก๋าลงทุนหุ้น คือ เงินก้อนเพื่อเกษียณ ==> ลงทุนหุ้นบางส่วน ==> มีรายได้จากหุ้นปันผล

แต่เรื่องที่เจอค่อนข้างบ่อย คือ นักลงทุนมือใหม่หรือมีประสบการณ์น้อย อยากจะใช้เงินเกษียณก้อนสุดท้ายกับการลงทุนในหุ้น เพราะปกติตอนทำงานไม่มีเวลาศึกษาเรื่องการลงทุนกะว่าจะใช้เวลาว่างหลังเกษียณใช้ไปกับการลงทุน

อืม!! มันช้าไปไหมจ๊ะ

นอกจากช้าไปแล้วยังเสี่ยงมากด้วย คิดง่ายๆว่าถ้าเงินเกษียณก้อนสุดท้ายนี้หายไปกับตลาดหุ้นแล้วจะมีเงินตรงไหนเพื่อไว้ใช้ในช่วงสุดท้ายของชีวิต จะมีเรี่ยวแรงที่ไหนไปทำงานเพื่อสร้างเงินให้กลับมาอีกครั้ง อย่ามองเพียงมุมบวกของผลประโยชน์ที่ได้รับจากการลงทุนในแง่มุมเดียวแต่ควรหาทางออกฉุกเฉินเผื่อไว้ด้วย เพราะการลงทุนในวัยเกษียณนั้นจะเสี่ยงมากไม่ได้

แต่ถ้ามือใหม่ใกล้เกษียณอยากลงทุนหุ้นก็ทำได้ แต่ควรจัดพอร์ตการลงทุนหรือลงทุนผ่านกองทุนรวมที่มีสัดส่วนลงทุนในหุ้นน้อยมาก เพราะกองทุนรวมมีคนช่วยดูแลเรื่องการลงทุนแทนเรา แต่ถ้าต้องการจะเทรดหุ้นเองก็ควรใช้เงินไม่มาก เราไม่มีสัดส่วนบอกได้ว่าน้อยเท่าไหร่เพราะขึ้นอยู่กับฐานะและการยอมรับความตื่นเต้นของแต่ละคน เรามองว่าถ้าเงินจำนวนนี้หายไปแล้วจะไม่ตื่นเต้นมาก จำนวนนั้นแหละเอามาลงทุน

ประเด็นสำคัญที่ไม่ค่อยแนะนำให้มือใหม่ใกล้เกษียณเล่นหุ้นเองนั้นเพราะท่านยังไม่เคยเจอความตื่นเต้นตอนที่ตลาดหุ้นผันผวนหนัก อาจจะทำใจยอมรับไม่ได้จนเกิดความเครียดมีผลเสียต่อสุขภาพ

หวังว่าเหตุการณ์  2 เรื่องนี้น่าจะทำให้มองเห็นอีกแง่มุมของการลงทุนที่ไม่ได้มีเฉพาะด้านที่สวยงามเสมอไป ถ้าเปรียบการลงทุนนั้นก็เหมือนมีดจะใช้ให้เป็นประโยชน์โดยการทำอาหาร ตัดไม้ ถางหญ้าก็ได้หรือจะให้โทษที่เป็นอาวุธทำร้ายร่างกายคนอื่นก็ได้ ดังนั้นผู้จับมีดควรรู้ว่ามีวิธีใช้อย่างไรเพื่อที่เป็นประโยชน์แก่ตนเองให้มากที่สุด






วันอังคารที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2557

วิธีเก็บเงินเพื่อเป็นทุนการศึกษาให้ลูก


ความรักของพ่อแม่นั้นยิ่งใหญ่เกินคำบรรยายจริงๆ แม้ว่าเรายังไม่เคยรู้สึกถึงความเป็นแม่ แต่ก็รับรู้ได้บ้างจากความรู้สึกของเพื่อนที่มีลูกแล้วผ่าน Facebook และสัมผัสได้จากสิ่งที่แม่ทำให้เรา

ครั้งแรกที่ต้องบอกแม่ว่าลาออกจากงานประจำ เราก็เตรียมเช็ดหูรอไว้เลยว่าต้องโดนเยอะแน่ๆ สรุปว่าผิดคาดเพราะถูกบ่นนิดหน่อย แล้วที่สุดยอดกว่านั้นอยู่ตอนที่เรากำลังจะกลับบ้านที่นนทบุรีเพื่อมานั่งเขียนงานตามความฝัน แม่ถามว่า "เงินพอใช้หรอ" เรางี้ซึ้งสุดๆ ส่วนเราก็บอกแม่ไปว่า "ยังมีใช้อยู่" เพราะเราคิดว่าจะลองดิ้นรนเองสักพักให้มันรู้กันไปว่าเราจะทำตามฝันให้แม่เห็นได้ไหม นี่หละมั้งที่เรียกว่าความเป็นแม่ ไม่ว่าลูกจะเป็นอย่างไร ดื้อมากแค่ไหนก็พร้อมที่จะช่วยเหลือตลอดเวลา

ความรักที่ต้องการให้ลูกได้รับแต่สิ่งดีๆ สิ่งแวดล้อมทางสังคม การศึกษา หรือทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำได้เพื่อลูก เราจึงอยากจะเขียนบทความนี้มอบให้แก่ทุกคนที่พร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อลูก โดยเฉพาะเรื่องการศึกษาที่จะเป็นอาวุธติดตัวไปในอนาคต

วิธีหาเงินเพื่อเป็นทุนการศึกษาให้ลูก มี 4 รูปแบบ

1.  ทุนเรียนดี

หลายองค์กรก็จะมีสวัสดิการให้พนักงานโดยการแจกทุนเรียนดีให้แก่ลูกของพนักงาน ถ้าลูกของเราอยู่ในเกณฑ์นั้นก็จะได้รับเงินการศึกษาซึ่งเป็นวิธีประหยัดเรื่องการหาเงินเพื่อการศึกษาให้ลูกอีกทางหนึ่ง บังเอิญพ่อเราเป็นข้าราชการทหาร ซึ่งจะมีการแจกทุนการศึกษาแบบนี้แหละ เราก็เคยได้รับบ้างบางปี และจะมีบอกไว้ว่าจะหยุดแจกทุนการศึกษาที่อายุเท่าไหร่ ซึ่งแต่ละที่อาจจะให้แตกต่างกัน ดังนั้น เราควรดูว่าที่ทำงานของเรามีแจกทุนแบบนี้ไหมจะได้ส่งผลการเรียนของลูกรับทุน

2. สอบชิงทุน

สถาบันการศึกษาแต่ละแห่งจะมีการให้เด็กสอบแข่งกันเพื่อรับทุนการศึกษาหรือบางองค์กรเช่น ธนาคารบางแห่งก็จะมีการสอบเพื่อชิงทุนเรียนต่อในระดับชั้นต่างๆ เมื่อเรียนจบแล้วจึงกลับมาทำงานใช้ทุน ซึ่งเราควรรู้ว่าลูกถนัดจะเรียนไปทางด้านไหนเพื่อเตรียมข้อมูลไว้ว่าสาขาที่จะเรียนต่อนั้นมีที่ไหนเปิดสอบบ้าง ถ้าลูกเราสอบชิงทุนได้ก็จะได้ทุ่นค่าเทอมไปได้มากเลยหละ

ตัวอย่าง เว็ปที่รวบรวมเรื่องการแจกทุนการศึกษา

ที่มา : http://www.ocsc.go.th

3. ออมเงินเพื่อการศึกษา

ถ้าเป็นวิธีที่เราต้องเก็บเงินเองนั้นก็จะต้องใช้วินัยในการออมค่อนข้างสูง ถอนออกยากๆ ซึ่งเราเคยได้ยินบางคนที่ตั้งใจเก็บเงินให้ลูกเรียนก็ไม่รู้จะฝากยังไงจึงฝากออมทรัพย์ทิ้งไว้เฉยๆ แต่บังเอิญเกิดเหตุต้องใช้เงินก็ถอนเงินที่ตั้งใจจะเป็นทุนการศึกษาลูกนั้นออกมาใช้ก่อน แล้วคิดว่าค่อยฝากเข้าไปใหม่ สุดท้ายก็ผัดผ่อนการฝากมาเรื่อยๆ เราเชื่อว่าอาจจะมีหลายคนที่เป็นแบบนี้ซึ่งเรียกว่า "ขาดวินัยการออมที่ดี" แล้วถ้านำเงินกลับมาฝากให้ลูกเรียนไม่ทันจะเป็นอย่างไร ก็อาจจะทำให้ผิดจากเป้าหมายที่วางไว้ว่าจะให้ลูกเรียนสูงๆ

การเลือกแหล่งเก็บเงินนั้นสำคัญ ควรเลือกที่มีระยะเวลาในการฝากที่พอดีกับช่วงที่จะใช้เงิน เป็นการออมแบบภาคบังคับเพื่อสร้างวินัยการออมที่ดี และค่อนข้างถอนออกยาก เราขอแนะนำให้ทำประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ เพราะมีระยะเวลาการเก็บเงินที่แน่นอน ซึ่งจะเลือกทำประกันกับที่ไหนก็ได้ที่ตอบโจทย์เป้าหมายการออมของเรา โดยระหว่างการทำประกันถ้าเราจำเป็นต้องการใช้เงินจริงๆก็สามารถกู้ประกันชีวิตของตนเองได้ ซึ่งอาจจะต้องสอบถามกับตัวแทนประกันของตัวท่านเอง

ตัวอย่าง ตอนนี้เด็กหญิงอภินิหารเงินออมอายุ 3 ขวบซึ่งพ่อกับแม่ต้องการเก็บเงินเพื่อเป็นทุนการศึกษาในระดับมัธยมและอุดมศึกษาให้ลูก โดยมีเป้าหมายการออมดังนี้
  • เพื่อเป็นทุนการศึกษาให้ลูก
  • จำนวนเงิน 1 ล้านบาท 
  • ระยะเวลาเก็บเงิน 10 ปี
==> สมมติเราเลือกประกันชีวิตสะสมทรัพย์ที่มีระยะเวลาการเก็บเงิน 10 ปี

  • ได้รับเงินปันผล 9 ครั้งซึ่งแล้วแต่บริษัทจะจ่าย 
  • ทำทุนประกันไว้ 1 ล้านบาท(เงินที่เราตั้งใจจะเก็บ) 
  • จ่ายเบี้ยประกันปีละ 98,630 บาท(จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับอายุของผู้ทำประกัน ในกรณีนี้เป็นเด็กก็จะใช้อายุของผู้ปกครองมาคิดคำนวณเบี้ย)
  • ได้รับการคุ้มครองชีวิตในกรณีที่จากไปก่อนครบกำหนด





บางคนเห็นตัวเลขจ่ายรายปีแล้วแทบจะน้ำตาไหลว่าทำไมมันเยอะขนาดนี้ จะเก็บไหวหรอ หรืออาจจะไปลดความฝัน 1 ล้านให้มันลดลง อย่าพึ่งตกใจนะคะ ลองมาดูวิธีเก็บเงินให้ได้ 1 ล้านบาทภายในระยะเวลา 10 ปีได้จากตัวอย่างนี้ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ วิธีเก็บคนเดียวกับวิธีช่วยกันเก็บค่ะ

วิธีเก็บเงินคนเดียว



สมมติผู้ที่สร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวทำงานคนเดียวเงินเดือน 50,000 บาท มีวิธีการออมดังนี้
  • เปิดบัญชีกองทุนรวมโดยแบ่งเก็บเงินเข้าบัญชีกองทุนรวมตราสารหนี้ทุกเดือนๆละ 8,219 บาท( 8,219 / 50,000 =16.43% ของรายได้) 
  • พอครบปีก็ขายกองทุนนั้นเพื่อจะนำเงินมาชำระค่าเบี้ยประกันจำนวน 98,630 บาท (8,219 x 12) ซึ่งอาจจะได้รับดอกเบี้ยระหว่างปีขึ้นอยู่กับกองทุนรวมที่ไปฝาก
วิธีช่วยกันเก็บเงิน


สมมติพ่อกับแม่ช่วยกันเก็บเงิน โดยที่แต่ละคนมีเงินเดือนคนละ 40,000 บาท มีวิธีการออมดังนี้
  • เปิดบัญชีกองทุนรวมโดยแบ่งเก็บเงินเข้าบัญชีกองทุนรวมตราสารหนี้ทุกเดือน คนละ 4,109 บาท (4,109 / 40,000 = 10.27% ของรายได้) รวมกันสองคนก็เดือนละ 8,219 บาท
  • พอครบปีก็ขายกองทุนนั้นเพื่อจะนำเงินมาชำระค่าเบี้ยประกันจำนวน 98,630 บาท 

หมายเหตุ : ไม่ได้ขายประกันแต่กำลังจะจับคู่เครื่องมือทางการเงินทีี่น่าจะตอบโจทย์กับเป้าหมายการออมเงินของเรามากที่สุด โดยการคิดล่วงหน้าแบบนี้จะทำให้เรารู้คร่าวๆว่าจะเก็บเงินได้ตามเป้าหรือไม่ ถ้าทำไม่ได้ก็อาจจะต้องหางานพิเศษเพิ่มเพื่อจะได้ถึงเป้าหมาย คุณสามารถออมแบบอื่นตามวิธีที่คุณถนัดได้ เช่น
  • ออมเงินรอปันผลในหุ้น ==> แต่จะตกใจไหมถ้าปีที่ต้องใช้เงินแล้วหุ้นมันตกอย่างแรง
  • ออมเงินในกองทุนรวม ==> อาจจะเผลอถอนออกมาใช้หมุนก่อนในช่วงเราขาดเงิน
  • ออมเงินในทองคำ ==> แน่ใจนะว่าตลอด 10 ปีที่เก็บทองจะไม่ตื่นเต้นกับราคาขึ้นลงของราคาทองคำ

4. หัดให้ลูกทำงาน

วิธีนี้จะทำให้บรรเทารายจ่ายของพ่อกับแม่ เพราะการสอนเรื่องการใช้เงินไม่มีสอนในตำราเรียน ถ้าจะสอนให้จดจำได้ก็ต้องทำเป็นตัวเป็นแบบอย่าง

เมื่อลูกโตในระดับหนึ่งควรหัดให้ลองทำงาน เพราะจะทำให้เด็กรู้จักการใช้เงินมากขึ้น รู้ว่ากว่าที่พ่อแม่จะได้เงินมาแต่ละบาทนั้นแลกมาด้วยความยากลำบาก ซึ่งส่วนใหญ่พ่อแม่จะไม่อยากให้ลูกลำบากเหมือนตนเอง จึงบอกให้ลูกเรียนอย่างเดียวเพื่อได้มีเวลาเรียนอย่างเต็มที่จะได้เรียนเก่งๆ แต่อย่าลืมประเด็นสำคัญ คือ คนเก่งนั้นไม่จำเป็นต้องเก่งทุกอย่าง คนเรียนเก่งไม่จำเป็นต้องจัดการเงินเก่ง เพราะความเก่งทำให้คนตกม้าตายเรื่องการเก็บเงินมาเยอะแล้ว ก็คล้ายๆกับทำงานได้เงินเดือนสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่มีเงินเก็บนั่นแหละ

จุดสำคัญอยู่ที่ "ไม่มีใครมีอายุยืนค้ำฟ้า" ซึ่งวันนึงเราก็ต้องตาย ถ้าสอนให้ลูกรู้จักใช้เงิน รู้จักทำงานเลี้ยงตัวเอง เห็นลูกลำบากตั้งแต่เรามีชีวิตอยู่ยังดีกว่าเพราะจะได้ช่วยกันแก้ปัญหาให้ลูกได้ หนึ่งในวิธีที่แม่ฝึกเรา คือ การสอนให้ทำงาน เราเห็นแม่ทำงานตั้งแต่เด็ก ช่วยยกของไปขาย หัดพูดกับลูกค้า ทักษะเหล่านี้มันไม่มีสอนในตำราเรียนจริงๆ ถ้าหัดให้ลูกใช้เงินเป็น คนที่เป็นพ่อแม่จะไม่เหนื่อยในการหาเงินเพื่อลูก เพราะลูกเราใช้เงินแต่ละบาทอย่างรู้คุณค่า










วันอาทิตย์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2557

กล้าเสี่ยงกับความฝันเพื่ออิสรภาพของชีวิต


ลาออกจากงานมาเป็นนักเขียนอิสระ!!!

เราเชื่อว่าความคิดนึงที่โผล่ขึ้นมาแว๊บแรกหลังจากที่อ่านประโยคข้างต้นจบคิดว่า "นักเขียนไส้แห้งแล้วมันจะไปรอดไหมเนี้ย" อยากบอกว่าที่จริงเราก็กลัวเหมือนกันเพราะไม่ใช่คนมีฐานะที่มีเงินใช้อย่างสบายๆ เราต้องทำงานแลกเงินเหมือนคนอื่นทั่วไป แต่เป้าหมายของการทำงานมันเปลี่ยนไปจากการทำงานเพื่อแลกเงินเป็นการทำงานเพื่อแลกกับความฝันที่อยากจะให้ผู้อ่านมีแรงบันดาลใจเรื่องการออมเงินมากขึ้นและแนะนำวิธีการใช้เงินว่าการใช้เงินเป็นมันคืออะไรโดยผ่านงานเขียน

ณ จุดนี้ไม่ว่าจะเป็นงานประจำหรืองานอิสระก็ไม่แตกต่างกัน เพราะเราจะเลือกทำงานที่ตอบโจทย์ความฝันของเราเท่านั้น ตอนนี้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิตน่าจะเป็นประสบการณ์ให้แก่คนอื่นที่กำลังกล้าๆกลัวๆที่จะลาออกจากงานประจำให้กล้ามาวิ่งไล่ตามความฝัน และอีกเหตุผลหนึ่งก็เป็นบันทึกการเดินทางวิ่งไล่ตามความฝันของเรา เผื่อวันใดที่ไฟฝันเริ่มมอดลงเราจะได้กลับมาอ่านเติมเชื้อไฟของความฝันให้มันลุกท่วมตัวเราอีกครั้ง

เรื่องทั้งหมดมีอยู่ว่า..................
เรารู้ตัวมาสักระยะแล้วว่างานประจำที่ทำอยู่นั้นยังไม่ตอบโจทย์ของชีวิตและทัศนคติส่วนตัวอย่างแรง แต่ก็ยังทำเพื่อที่จะรู้ใจตัวเองว่าความจริงแล้วเราชอบทำงานอะไรกันแน่ สิ่งที่ทำอยู่นั้นเป็นการเบื่อแบบชั่วคราวหรือแบบถาวร ไม่อยากคิดแต่ว่าลาออกมาเพื่อให้ได้งานใหม่อะไรก็ได้ที่แตกต่างจากของเดิมแล้วก็เกิดอาการเบื่ออีกครั้ง เราอยากจะหางานที่ใช่แล้วลาออกไปทำอย่างจริงจัง แต่ดูเหมือนว่าเราจะเรื่องมากเกินไปจนยังไม่เจองานที่ใช่สักที

ระหว่างทำงานประจำและกำลังค้นหาตนเองว่าชอบงานแบบไหน เราก็เขียนบล็อกอภินิหารเงินออมเป็นงานอดิเรก พยายามฝึกเขียนไปเรื่อยๆจนเลยเถิดออกมาเป็นพ็อกเก็ตบุ๊ค "เล่นหวย(สลากกินแบ่งรัฐบาล) ก็รวยได้" แม้ว่าชื่อดูไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่ แถมเวลามีคนมาโพสหน้าปกหนังสือที่ FB ก็เรียกแขกให้มาเจิมได้ไม่น้อย แต่อยากให้ลองอ่านจะได้รู้ว่าข้างในแซ่บมาก ====> ลองกดไปที่ภาพหนังสือ

ทำให้เรามานั่งคิดว่างานอดิเรกอย่างงานเขียนนี้เราชอบจริงๆรึเปล่า??

วิธีที่ทำให้เรารู้ว่าชอบอะไรจริงหรือไม่นั้น คือ
  • เราจะทำมันได้โดยไม่รู้สึกเบื่อ 
  • ทำจนลืมเวลาว่านี่มันเป็นเวลานอนได้ละนะ (ทั้งๆที่รู้ว่านอนดึกสิวต้องขึ้นก็ยังนอนดึกเพราะอยากเขียนบล็อกให้เสร็จ)
  • ทำได้แม้ว่าไม่ได้รับค่าตอบแทน (ยังจะทำทั้งๆที่จะไม่มีกินอยู่ละ)
  • ความรู้สึกมีชีวิตชีวาทีทำเพราะอยากทำ ไม่ใช่การทำเพราะหน้าที่ที่ถูกสั่งให้ทำ
  • ความรู้สึกที่เป็นอิสระทางความคิดที่ไม่ถูกครอบงำเพียงเพราะความรับผิดชอบในหน้าที่
  • และรู้สึกมีความสุขที่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนในสังคมมีความรู้เกี่ยวกับการออมเงินมากขึ้น
ถ้าคุณเจองานที่ใช่ทำแล้วชอบแบบข้างบนนี้แล้ว แสดงว่าคุณได้ค้นพบตนเองแล้วหละ อย่ารอให้ความฝันมันล่องลอยในอากาศ ไม่มีคำว่า "พร้อมก่อนแล้วค่อยทำ" เพราะไม่มีอะไรที่เรียกว่าพร้อมหรอกนะ มีแต่เริ่มทำตามฝันเดี๋ยวนี้เท่านั้น เราคิดว่าไม่ว่างานนั้นจะเป็นงานประจำหรืองานอิสระ ขอแค่เป็นงานที่ตอบโจทย์ของฝันได้ก็พอแล้วหละ

......ลุกขึ้นมาทำตามฝัน  เราทุกคนพูดกันได้ 
แต่มีสักกี่คนที่ทำได้ สำเร็จหรือไม่ก็ยังดีกว่าไม่ได้ลองทำ.......

จุดเปลี่ยนก็มาถึงในวันที่เราต้องเลือกว่า "ทำงานประจำหรืองานเขียน" เพราะงานประจำที่ทำอยู่นั้นขัดแย้งกับทัศนคติส่วนตัวจึงทำให้ไม่สามารถทำงานเขียนควบคู่กับงานประจำได้ ดังนั้น เราจึงเลือกที่จะลาออกมาเพื่อให้เวลากับงานเขียนอย่างเต็มที่ อย่าลืมว่าเราทุกคนมีพื้นฐานของความกลัวเหมือนกัน ซึ่งเราก็รู้สึกกลัวมากเช่นกัน เพราะงานเขียนที่รับไว้ก็ยังไม่สร้างรายได้ที่สม่ำเสมอพอที่จะเลี้ยงตัวเองได้ แต่เราก็จะสู้และจะเขียนงานต่อไป เราเชื่อว่าความรักและศรัทธาน่าจะมีผลงานสัก  1 ชิ้นที่จะสามารถสร้างรายได้พอเลี้ยงตัวเองได้ (ถ้าใครจะจ้างเขียนงานก็ส่งเมล์มาได้นะคะ ^_^ )

มาช่วยลุ้นกันนะคะว่าการตัดสินใจครั้งนี้ของเราจะไปรอดไหม ^_^!!

สำหรับผู้ที่มีความฝันที่อยากจะเป็นนักเขียน แม้ว่าเราอาจจะไม่ใช่คนที่เขียนเก่งสักเท่าไหร่แต่ก็สามารถแนะนำได้บ้าง  "ถ้าอยากเป็นนักเขียนควรทำอย่างไร"

==> รักการอ่านเป็นชีวิตจิตใจ 

ความสุขครั้งแรกในชีวิตของเราเกิดขึ้นในวันที่โรงเรียนประถมที่เราเรียนอยู่นั้นจัดงานสัปดาห์หนังสือ มีหนังสือน่าอ่านมาขายเยอะมาก เราก็แค่เดินไปเล็งๆไว้ว่าอยากจะได้อะไรบ้างแล้วก็ไปอ้อนแม่ให้ช่วยมาซื้อให้หน่อย แม้ความทรงจำในวัยเด็กจะหายไปบ้าง แต่เราจำวันที่เราได้อ่านหนังสือการ์ตูนนิทานได้แม่นมาก เพราะเราอ่านไปยิ้มไป ภาพสวยๆทำให้เราอยากอ่านหนังสือมากขึ้นแล้วบางวันกลับจากโรงเรียนเราก็ชอบนั่งอ่านหนังสือให้พ่อกับแม่ฟัง

โตขึ้นมาหน่อยมีแนวทางในการอ่านมากขึ้น ไม่เคยจำกัดว่าจะต้องอ่านอะไร คิดแต่ว่าอยากรู้อะไรก็อ่านอันนั้น หลักการในการเลือกก็จะยืนอ่านให้รู้ว่าชอบจริงๆค่อยซื้อ อ่านทุกครั้งที่ว่าง เช่น เข้าห้องน้ำ นั่งบนรถเมล์ นั่งรอเพื่อน สรุปว่าเราจะหยิบหนังสือติดมือไปทุกที่ว่างเมื่อไหร่ก็หยิบมาอ่าน

ภาพตัวอย่างหนังสือที่ชอบอ่าน นอกจากนี้ก็มีอ่านของอีกหลายคน เช่น "คุยกับประภาส, หนุ่มเมืองจันท์ , วินทร์ เลียววาริณ(หนังสือเสริมกำลังใจ), โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี" ก็ไม่ได้ชอบอะไรมากหรอกนะ แค่เก็บครบทุกเล่มเท่านั้น ^_^!!


==> ฝึกเขียน

บังเอิญลายมือเราเขียนหวัดมาก สมองมันคิดไวกว่าปากกาที่จะเขียนบนกระดาษ ก็เลยใช้วิธีการนั่งพิมพ์ที่คอมฯน่าจะดีกว่า ช่วงแรกที่เราเริ่มเขียนนั้นก็ยากเหมือนกัน ไม่รู้จะเริ่มเขียนยังไง นั่งจ้องคอมฯนานมากกว่าจะพิมพ์ได้สักประโยค บางครั้งพิมพ์แล้วลบอยู่นั่นแหละ แต่พอได้เริ่มพิมพ์ออกมาสักพักก็เริ่มพลิ้วมากขึ้น ไอเดียพลั่งพลูออกมาเยอะขึ้น เหมือนเครื่องยนต์ที่ต้องอุ่นเครื่องก่อนวิ่ง พอเครื่องร้อนก็วิ่งได้ฉิวเลย

"มันทำให้เรารู้ว่าไม่ต้องรอให้พร้อมทุกอย่างเราก็สามารถเริ่มทำได้ 
พอเริ่มทำไปแล้วเราจะได้รู้ว่าอะไรบ้างที่เรายังไม่พร้อม
เพื่อจะได้ฝึกฝนในจุดนั้นๆให้มันพัฒนาเพิ่มขึ้น"

เทคนิคส่วนตัวที่ใช้ในงานเขียน คือ การอ่านเพื่อรีเช็คในเรื่องที่เราพึ่งเขียนไป เมื่อเราเขียนงานอะไรออกมาแล้วยังไม่ควรปล่อยผลงานออกสู่สาธารณะทันที หรือถ้าใครมาจ้างเขียนงานก็จะไม่เขียนแล้วรีบส่งทันที ควรทำให้สมองว่างๆแล้วอ่านซ้ำก่อนส่งงาน เคล็ดลับสำคัญ คือ เขียนงานเสร็จวันนี้แล้วอีก 1-2 วันมาอ่านเรื่องซ้ำอีกสัก 2-3 รอบ ตอนนั้นก็อาจจะมีการแก้ไขข้อมูลและเรียบเรียงคำให้ดูดีขึ้นอีกครั้ง การอ่านรีเช็คทุกครั้งต้องถามตัวเองตลอดเวลาว่า "ข้อความตรงนี้ควรเขียนไหม ผู้อ่านจะได้รับประโยชน์อะไรหลังจากที่อ่านบทความนี้จบแล้วบ้าง"

==> หมั่นเติมความรู้

วิธีเติมความรู้มาจากหลายช่องทาง เช่น
  • ที่เห็นใกล้ตัวที่สุดจะเป็นการอ่านเพื่อนำความรู้ใหม่ๆมาต่อยอด ซึ่งเราควรเลือกรับรู้ข้อมูล เช่น อ่านจากหนังสือ นิตยสาร อินเตอร์เน็ต
  • การเข้ารับการอบรมหรือนั่งฟังสัมมนาเพราะจะได้เพื่อนเพ่ิมขึ้น มีคนให้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นจะได้เปิดมุมมองใหม่ๆ หนึ่งในคำพูดที่เราชอบถามคนอื่นหลังจากที่คุยกันจบแล้วว่า "ทำไมคุณถึงคิดแบบนี้" เพื่อจะได้รู้หลักของความคิดว่าเกิดจากอะไร ความคิดเห็นที่เหมือนและแตกต่างจะทำให้เราเข้าใจเพื่ออยู่ร่วมกับคนอื่นได้ดีมากขึ้น 
  • ส่งผลงานให้คนอื่นอ่านแล้ววิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา วิธีที่เราใช้ในการอธิบายเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่ายนั้น เมื่อเราเขียนบทความจบแล้วจะส่งบทความนั้นให้คนในอาชีพอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับเราอ่านเพื่อจะถามว่า "อ่านบทความนี้จบแล้วเข้าใจว่าอย่างไร" ถ้าคนนั้นเข้าใจเป้าหมายในการเขียนของเรานั้นคือ แฮปปี้ละ แต่ถ้าออกมาในทิศทางตรงกันข้าม เช่น เข้าใจคนละแบบ เขียนแบบงงๆ วกไปเวียนมาให้ปวดหัว ถ้าเป็นแบบนี้เราก็จะต้องกลับมาคิดว่าจะแก้ปัญหาตรงนั้นได้อย่างไร แล้วก็มาเขียนใหม่ให้เข้าใจมากขึ้น 
    • การเลือกคนมาอ่านรีเช็คบทความนั้นสำคัญ เช่น การเขียนอธิบายศัพท์เทคนิคทางการเงินให้คนทั่วไปเข้าใจอย่างง่ายได้ คนที่มาอ่านรีเช็คของเราก็ควรเป็นคนที่ไม่เคยเรียนเรืองการเงินมาก่อน เพราะเรามองว่าเรื่องที่เขียนคนที่อ่านเป็นคนทั่วไปไม่ใช่เฉพาะนักการเงิน

==> เป็นตัวของตัวเอง

บุคคลิกของแต่ละคนก็จะสะท้อนออกมาในงานเขียน สไตล์ในงานเขียนจะเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่สามารถลอกเลียนแบบได้ เราเชื่อว่าการลอกเลียนแบบนั้นทำให้เราจะหมดศรัทธาในตัวเอง เพราะคุณจะเป็นเพียงเงาของคนอื่น ถ้าเรายังหาแนวการเขียนของตัวเองยังไม่ได้ก็อย่าพึ่งท้อ ลองหาไปเรื่อยๆก็เจอเอง ซึ่งแนวการเขียนของเราอาจจะมีทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบ เป็นเรื่องปกติที่ทุกคนต้องเจอ เราไม่ปรับเพื่อให้เข้ากับทุกคน แต่เราจะคงเอกลักษณ์นี้ไว้ให้เป็นจุดเด่นของตัวเอง

เอกลักษณ์ในการเขียนของตัวเองจะมาจากการเขียนให้เหมือนกับการพูด หลังจากที่หนังสือเราวางแผงเพื่อนของเราก็อ่านแล้วมีคำวิจารณ์นึงที่ติดใจเรามาถึงวันนี้ เพื่อนบอกว่า "อ่านหนังสือของเราแล้วเหมือนเรามาพูดให้ฟังอยู่ข้างๆ" ก็ใช่ซิจ๊ะก็นั่นมันสไตล์การพูดของเรานิหน่า อิอิ

==> อย่าพึ่งคิดถึงเรื่องเงิน 

เราควรรู้ว่าจะเขียนไปเพื่ออะไร เช่น เขียนเพื่อแบ่งปันความรู้ เขียนเพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ หรือว่าจะเขียนเพื่ออะไรก็ตามควรตั้งเป้าหมายการเขียนให้ชัดเจนเพื่อผลิตผลงานที่มีคุณภาพออกมา การเขียนครั้งแรกๆจะยังไม่ได้รับค่าตอบแทน แต่เราควรขยันเขียนออกมาเพื่อเป็นตัวอย่างงานเขียนของเรา ถ้ามีใครสนใจจ้างให้เราเขียนก็จะได้ส่งผลงานที่เคยเขียนให้ดู ถ้าอ่านแล้วสนใจแนวการเขียนแบบเราค่อยจ้างเขียนงาน ซึ่งส่วนใหญ่เราจะใช้วิธีการแบบนี้ในการนำเสนอผลงาน

เคยมีคนจ้างให้เขียนหนังสือเล่มเล็กๆประมาณ 20 หน้า A5 (ประมาณ 10 หน้า A4)ให้เราเขียนไปก่อนจะจ้างเขียนจริงรึเปล่าก็ยังไม่รู้ ซึ่งเค้าก็เกรงใจเราที่อาจจะเสียเวลาเขียนฟรี เค้าก็บอกว่าลองเขียนมานิดหน่อยก็พอ สำหรับเรามันไม่ใช่แบบนั้น ทุกอย่างต้องจัดเต็ม มีอะไรในหัวก็ใส่ให้หมด เราจะได้ไม่ต้องมาเสียใจทีหลังเพราะเราทำเต็มที่แล้ว สุดท้ายถ้าเค้าไม่จ้างเขียนก็คิดซะว่าได้รับความรู้เพิ่มและเป็นการฝึกเขียนไปด้วย เรื่องนี้จบลงที่เราได้เขียนงานนี้และงานอื่นๆของเค้าด้วย เอาไว้ผลงานตีพิมพ์เมื่อไหร่จะนำมาให้ดูนะจ๊ะ

แต่ถ้าเราเขียนขึ้นมาเพื่อเรื่องเงินล้วนๆ เช่น เขียนแบบขอไปทีหรืออาจจะไปก๊อบเว็ปอื่นมาเพื่อเรียกยอดการเข้าชม แล้วก็ขายโฆษณาหน้าบล็อกเพื่อสร้างรายได้ แบบนี้มีรายได้เร็วก็จริงแต่ไม่ยั่งยืน ทำให้คุณมีกินแบบช่วงสั้นๆ แล้วพอมีคนรู้มากขึ้นก็จะไม่สนใจเข้ามาอ่านในบล็อกหรือเว็ปของคุณอีกต่อไป 



"อย่าหยุดที่จะฝัน
เมื่อกล้าที่ฝันก็ต้องกล้าที่จะทำด้วย
ลุกออกมาสู้เพื่อความฝันกันนะคะ"