วันพุธที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

งดเหล้า เลิกบุหรี่ สุขภาพดีและมีเงินออม



ตอนนี้กำลังหาแรงบันดาลใจเพื่อเริ่มเขียนพ๊อกเก็ตบุ๊คเล่มใหม่ อยากรู้ว่าอะไรที่ทำให้คนเราเลือกที่จะใช้ชีวิตเรื่อยเปื่อยปล่อยไปตามความรู้สึกหรือมุ่งมั่นเอาชนะเพื่อทำตามความฝัน คุณเชื่อไหมว่าเวลาที่เรานึกถึงอะไร สิ่งนั้นก็จะผ่านมาให้เห็นบ่อยๆ ซึ่งครั้งนี้เราก็เจอแรงบันดาลใจรูปแบบใหม่ เป็นแรงบันดาลใจจากสุดยอดจิตอาสา ในวันอาทิตย์ที่ผ่านมาเราก็เปิดทีวีกดแต่ละช่องไปเรื่อยๆไม่รู้จะดูอะไร บังเอิญเปิดมาเจอช่อง NBT (ช่อง 11 เดิม)และเห็นรายการปฏิบัติการข่าวดีกำลังนำเสนอเรื่อง ยมทูตต่อชีวิต โดยลุงพล บุญสาร ที่แต่งตัวเป็นยมทูตรณรงค์งดดื่มเหล้า เรื่องราวที่เราสนใจอยู่ตรงที่ว่า "ลุงพลทำไปเพื่ออะไร" (ภาพคุณลุงและวีดีโอของรายการจะอยู่ในส่วนด้านล่างของบล็อกนี้ค่ะ)

ลุงพลอายุ 70 ปี เป็นนักดื่มเหล้ามาเกือบ 30 ปี จนกระทั่งปี 2548 เข้าโครงการงดเหล้าเข้าพรรษากับ สสส. จนเลิกเหล้าได้อย่างเด็ดขาดในปี 2549 (เก่งจังปีเดียวเลิกได้) ลุงพลแต่งตัวเป็นยมทูตรณรงค์งดเหล้ามาแล้ว 6 ปี ทุกเช้าจะออกจากบ้านพร้อมกับมอไซด์คู่กายอายุ 20 ปีไปแจกสติ๊กเกอร์ในชุมชนให้คนงดดื่มเหล้า ถ้าวันไหนเจอเด็กๆก็จะสอนไปด้วยว่าการดื่มเหล้ามันไม่ดีอย่างไร ถ้าไม่อยากให้ยมทูตนำตัวพ่อกับแม่(ที่ดื่มเหล้า) ไปก็ต้องบอกให้เลิกเหล้า การรณรงค์นี้ลุงไม่ได้รับค่าตอบแทนเป็นตัวเงินแต่เป็นความรู้สึกดีที่ทำให้คนเลิกดื่มเหล้า หรือแค่ดื่มลดลงได้ลุงก็ดีใจแล้ว

คุณลุงมีความมุ่งมั่นและตั้งใจที่อยากให้คนในชุมชนงดดื่มเหล้า จะทำไปเรื่อยๆจนกว่าจะหมดแรงเดิน (สุดยอดจิตอาสาจริงๆ) มาถึงตรงนี้อยากทราบแล้วใช่ไหมค่ะว่าคุณลุงมีรายได้เท่าไหร่ถึงมีจิตอาสาได้ขนาดนี้ รายได้ลุงมาจากการเป็น อสม. 600 บาทกับเงินของผู้สูงอายุ 700 บาท สรุปรวมแล้วเดือนละ 1,300 บาท!! (แม้เงินไม่เยอะแต่ใจคุณลุงหล่อมากค่ะ) ค่าใช้จ่ายจะมีแต่เรื่องเสื้อผ้าที่ต้องซ่อมชุดยมทูตเพื่อใช้ในการรณรงค์ ค่าอาหารก็กินไม่เยอะส่วนใหญ่เป็นผักริมรั้ว แม้คุณลุงไม่ได้ร่ำรวยด้วยทรัพย์สินเงินทอง แต่เป็นคุณลุงมั่งคั่งและร่ำรวยความสุขจากการให้โดยแท้จริงซึ่งแม้แต่เงินก็ซื้อความสุขแบบคุณลุงไม่ได้ ผลของการทุ่มเทกับการเป็นจิตอาสารณรงค์เลิกเหล้านี้ทำให้คนในชุมชนบางส่วนสามารถเลิกเหล้าได้ มีเงินเหลือเก็บ มีเงินซื้อเครื่องมือในการประกอบอาชีพ ประหนึ่งว่าเหมือนได้ชีวิตใหม่กลับมา

คำพูดที่ใช้รณรงค์ก็มีหลายรูปแบบ เช่น
  • ถ้าเลิกเหล้า 3 เดือนจะได้โทรทัศน์ 1 เครื่อง
  • ถ้าเลิกเหล้า 9 เดือนจะซื้อมอไซด์ได้ 1 คัน
  • เหล้าคือปีศาจทำลายชีวิตผู้ดื่มได้ทุกรูปแบบ ถ้าไม่หยุดวันนี้คุณจะเป็นผีในวันหน้า
  • เงินพ่อลงขวดเหล้าแล้วใครจะซื้อข้าวให้หนูกิน
  • โตมาด้วยน้ำนม อย่าเสียคนด้วยน้ำเมา
  • เมาแล้วขับกลับไม่ถึงบ้าน ง่วงแล้วขับหลับไม่ตื่น เมาแล้วซิ่งกลิ้งกลางถนน
  • ชีิวิตใหม่ไร้แอลกอฮอล์
สำหรับบางคนมองว่าการดื่มเหล้าและสูบบุหรี่นั้นทำไปเพื่อเข้าสังคม อีกทั้งเป็นรายจ่ายที่มาจากเงินของตน คนอื่นไม่ควรมายุ่งเพราะมันเป็นเรื่องส่วนตัว ประเด็นมันไม่ได้อยู่ที่เงิน แต่มันอยู่ที่จิตสำนึกมากกว่า ขณะที่คุณเมาแลัวขับรถและบังเอิญประสบอุบัติเหตุชนผู้อื่นเสียชีวิต แบบนี้ก็เป็นการสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น หรือการสูบบุหรี่ที่คุณสูบคนเดียวแต่ควันมันลอยไปเข้าจมูกคนที่ไม่สูบด้วย มันคงไม่ยุติธรรมสำหรับคนไม่สูบสักเท่าไหร่ที่ต้องมาเป็นโรคทั้งที่ไม่ได้สูบเอง ถ้าเราเจอคนสูบบุหรี่ที่ป้ายรถเมล์หรือที่สาธารณะที่จิตใต้สำนึกควรรู้อยู่แล้วว่าห้ามสูบ แต่หยิบบุหรี่มาสูบหน้าตาเฉย ให้เรารีบเดินผ่านแล้วทำท่าปัดควันบุหรีหรือบีบจมูกให้เห็นกันไปเลยว่าเรารังเกียจแค่ไหน อย่างน้อยก็น่าจะกระตุกต่อมความละอายของเค้าบ้าง ซึ่งเราก็ใช้วิธีนี้เหมือนกันแต่บางครั้งเราทนไม่ได้เพราะจำเป็นต้องอยู่ตรงนั้นและเค้าก็ยืนสูบบุหรี่คุยกันอย่าสบายอารมรณ์ เราก็แค่เดินเข้าไปบอกอย่างสุภาพว่า "รบกวนไปสูบบุหรี่ที่อื่น เพราะตรงนี้ต้องทำงานค่ะ" ณ จุดนี้เค้าก็รีบทิ้งก้นบุหรี่เดินออกไปทันที อย่าได้กลัวเพราะเป็นสิทธิ์ที่เราเลือกได้ที่จะไม่สูดควันบุหรี่เข้าไป

ความคิดที่เข้าสังคมโดยใช้เหล้าและบุหรี่นั้นสามารถมีได้ เช่น ถ้าเราไม่ทำแบบนั้นเพื่อนเลิกคบ (แต่ถ้าเมาจนเงินหมดเพื่อนจะยังคบอยู่ไหม) ควรจำกัดตนเองให้อยู่ในความพอดี อย่ารักสังคมแบบนั้นมากเกินไปจนกระทั่งทำให้ร่างกายของเราเสียสุขภาพ เพราะเมื่อเราป่วยจนต้องเข้ารักษาโรคตับแข็ง มะเร็งปอด หรือโรคอื่นๆ เพื่อนในสังคมที่เรานัดกินเหล้ากันทุกวันศุกร์หรือนัดสูบบุหรี่เผาปอดที่ลานจอดรถก็ไม่ได้ร่วมเจ็บปวดและจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้กับเราด้วย เงินของเราทั้งนั้นที่จ่ายเพื่อรักษาตนเอง นอกจากเสียสุขภาพแล้วเงินออมยังไม่เหลืออีกด้วย


ถ้าเปลี่ยนจากเงินลงขวดเหล้าหรือเงินที่ซื้อบุหรี่เผาปอดเป็นเงินออมจะได้เท่าไหร่ ปกติคุณใช้เงินกับสิ่งเหล่านี้ครั้งละไม่มาก เพราะทะยอยจ่าย แต่ถ้าเราลองจดเล่นๆดูซิว่าแต่ละครั้งเท่าไหร่ แล้วรวมเป็นค่าใช้จ่ายต่อเดือนและต่อปีเป็นเท่าไหร่ นั่นแหละ....เงินออมของเรา

  ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 19 ก.ย. 56 (http://bit.ly/18cvaH1)

จากข้อมูลข้างต้นเราลองคำนวณคร่าวๆว่า ถ้าปีนึงเราดื่มสัปดาห์ละครั้งจะเสียเงินออมของเราลงขวดไปแล้วเท่าไหร่ เช่น สมมติสุราราคาขวดละ 240 บาท คูณ 52 สัปดาห์จะเป็นจำนวนเงิน 12,480 บาท ไม่น่าเชื่อว่าเงินจำนวนแค่ 12,480 บาทจะทำให้เราเป็นโรคมะเร็งตับที่ต้องใช้เงินรักษาึถึงหลายแสนบาท(หรือมากกว่านั้น)ในอนาคต เราลองคิดโดยที่ไม่ต้องใช้รอยหยักในสมองมากมาย

คำถามสั้นๆว่า "มันคุ้มไหม"

===============================================================

รายการดีๆที่อยากให้ติดตามใน Facebook


หน้าตาของลุงพลก่อนและหลังที่แต่งกายเป็นชุดยมทูต ซึ่งจะมีคำพูดประจำว่า "เหล้าคือปีศาจทำลายชีวิตผู้ดื่มได้ทุกรูปแบบ ถ้าไม่หยุดวันนี้คุณจะเป็นผีในวันหน้า" โดยจะแต่งชุดยมทูตไปแจกสติ๊กเกอร์ในชุมชน เช่น ตลาด บ้าน ร้านค้า



ข้อความบนสติ๊กเกอร์นำไปแจกคนในชุมชนด้วยมอไซด์คู่ชีพที่ตกแต่งด้วยสติ๊กเกอร์รอบคัน จากในภาพก็จะเห็นสภาพบ้านของคุณลุงที่มีรั้วเป็นสังกะสี


ข้อความชักจูงให้คนเลิกเหล้าว่าจะเหลือเงินไปทำอย่างอื่น(ที่ไม่ใช่เย็นมาก็ลงขวด) มีหลายบ้านที่ทำสำเร็จแล้วมีชีวิตใหม่ ครอบครัวรักกันมากขึ้น มีคนคุยด้วยมากขึ้น หรือบางบ้านก็เก็บเงินซื้อรถไถใช้ในการประกอบอาชีพ ทำให้ครอบครัวมีรายได้มากขึ้น



เราอยากให้คุณดูแรงบันดาลใจของลุงพลให้จบ เพื่อจะได้ตอบคำถามว่า "เราเกิดมาทำไม"


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น