วันศุกร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ออมเงินไปเพื่ออะไร

วันนี้คุยกับน้องที่ทำงานเรื่องเงินเก็บก็เลยเกิดเป็นหัวข้อ "ออมเงินไปเพื่ออะไร" ขึ้นมา

รุ่นน้องคนนี้ทำงานเก่ง รายได้ต่อเดือนก็น่าจะสูงกว่าคนในรุ่นเดียวกัน แต่ทำไมถึงไม่มีเงินเก็บ!!

ที่เคยบอกไปแล้วว่า "ถึงแม้คุณสามารถหารายได้เยอะมาก แต่ไม่สามารถเก็บเงินได้มันก็เท่านั้น"

ประเด็นมันอยู่ที่การที่เราซื้อของเกินความจำเป็น

อะไรบ้างหละที่เรียกว่าเกินความจำเป็น??  ยกตัวอย่างเช่น

  • รองเท้าส้นสูง 6 คู่ ซึ่งใส่ได้ครั้งละคู่และบางคู่ก็เก่าเก็บ เหตุที่ซื้อเพราะป้าย Sale
  • กระเป๋าที่ใช้ 7 วันยังไม่ซ้ำกันเลย (จะเยอะไปไหม)  
  • เสื้อผ้าที่ใส่ทั้งเดือนก็ยังไ่ม่หมดหรือบางตัวก็มานั่งนึกว่าซื้อมาตอนไหน
  • มือถือ 3 เครื่องที่ดังพร้อมกันก็ไม่รู้จะรับสายไหนก่อนดี เพราะสำคัญทุกสาย


บางคนก็คิดว่าเป็นความสุขส่วนตัว แต่ถ้าความสุขนั้นเราใ้ช้เกินฐานะของเราก็ลำบากนะค่ะ

แล้วยิ่งมีผลต่อเงินเก็บไว้ใช้หลังเกษียณก็ไม่สนุกยามชราเหมือนกัน

สำหรับคนทำงานบริษัทเมื่อทำงานจนเกษียณก็มีเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ  ประกันสังคม

ถ้าเป็นข้าราชการก็จะมีบำเหน็จหรือบำนาญไว้ใช้ใช้หลังเกษียณ ซึ่งคุณคิดว่าน่าจะพอใช้

แต่จริงๆแล้ว เงินจำนวนนั้นไม่เพียงพอในการดำรงชีพหลังเกษียณแน่นอนค่ะ ฟันธง!!

อย่าคิดว่าพอเราแก่ตัวไปแล้วลูกหลานเค้าจะมาตั้งใจเลี้ยงเรานะค่ะ ยากมากมายค่ะ

เพราะลำพังตัวลูกหลานเองยังเอาตัวไม่รอดเลย แล้วจะนำรายรับที่ไหนมาดูแลเรา

คิดง่ายๆเลยว่าสมัยก่อนพ่อแม่มีลูกทีละ 6-10 คน พอเวลาโตมาก็สามารถเลี้ยงดูพ่อแม่ได้

อย่างน้อยก็อาจจะให้เงินพ่อกับแม่เฉลี่ยคนละ 2,000 ต่อเดือน

ถ้ามีลูก 10 คนก็จะได้เงินเดือนละ 20,000 บาท

แต่ปัจจุบันมีลูกคนเดียวก็เหนื่อยไส้แตกกันแล้วเพราะค่าใช้จ่ายเลี้ยงดูสูงมาก

ดังนั้นแนวโน้มในอนาคตก็จะเป็นครอบครัวขนาดเล็กมากขึ้น ลูกคนเดียวดูแลพ่อแม่

เมื่อดูจากค่าครองชีพในตอนนี้แล้วบางคนก็อาจจะต้องทำงานและขอเงินพ่อแม่ใช้อยู่บ้าง

แล้วถ้าสภานการณ์นั้นเกิดกับครอบครัวเรา และถ้าเราไม่มีเงินเก็บไว้เลยสภาพจะเป็นอย่างไร

ดังนั้นเราเริ่มต้นออมเงินตั้งแต่วันนี้กันเถอะค่ะ ยิ่งเริ่มเร็วเท่าไหร่จำนวนเงินเก็บในแต่ละเดือน

ก็จะน้อยลงเท่านั้น  ขอยกตัวอย่างให้เป็นเลขกลมๆจะได้เข้าใจได้ง่ายๆ เช่น

เราต้องการเงิน 6 ล้านเมื่ออายุ 60 ปี เริ่มเก็บเงินตอนอายุ 30 ปี เฉลี่ยเก็บปีละ 200,000 บาท

แต่ถ้าเราเก็บตั้งแต่อายุ 20 ปีก็จะเก็บปีละ 150,000 บาท

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------

ถ้าใช้การคำนวณมูลค่าเงินตามเวลา ( TVM) ดีดลูกคิดแล้วก็จะไ้ด้ตัวเลขที่แท้จริงมากกว่านี้

เช่น FV = 6,000,000  ; N = 30 ; I/Y = 3.5%  CPT  PMT = 116,227.9896

หมายความว่า ถ้าเราต้องการเงินในอีก 30 ปีข้างหน้าเป็นจำนวน 6 ล้านบาท โดยได้รับดอกเบี้ย

3.5% (อาจจะใช้ตัวเลขเงินเฟ้อก็ได้) จะทำให้เราเก็บเงินปีละ 116,227.9896 บาทต่อปี

----------------------------------------------------------------------------------------------------------

อันที่จริงแล้วการเก็บเงินเพื่อเกษียณมีรายละเอียดอีกมาก แต่จะใส่ทีเดียวเกรงว่าจะตกใจ

ก็เลยต้องทำความเข้าใจก่อนว่าเราควรมีเงินออมไปเพื่ออะไร

อย่าคิดว่าหลังเกษียณก็คงไม่ได้ใช้เงินอะไร เพราะคงอยู่บ้าน ปลูกต้นไม้ ฯลฯ

มันมีค่าใช้จ่ายที่สูงมากอยู่อย่างหนึ่งที่คุณลืมนึกถึง นั่นคือ "ค่ารักษาพยาบาล"

เมื่อร่างกายใช้งานมาทั้งชีวิตก็ต้องซ่อมแซมกันบ้าง ยิ่งมีโรคประจำตัวยิ่งต้องใช้เงินมาก

พอหลังเกษียณบางท่านทำงานได้บ้าง หรือมีบำนาญก็ยังดีที่มีรายรับ

แต่ถ้าบางท่านหลังเกษียณทำงานไม่ได้แล้ว คราวนี้แหละมีแต่รายจ่ายล้วนๆ เหนื่อยกันเลย

นี่แหละค่ะ ประโยชน์ของการออมเงิน



วิธีปลูกต้นไม้การลงทุนตั้งแต่เด็กทำอย่างไร
http://pajareep.blogspot.com/2012/08/blog-post.html



"ถ้าอยากจะมีชีวิตเป็นสุขหลังเกษียณ เรามาออมเงินกันตั้งแต่วันนี้นะค่ะ" 




+ + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + +

ต้องเร่งรับมือสังคมวัยชรา


ต้องคิดและวางนโยบายกันให้มากแล้วว่าประเทศไทยจะฝ่าวิกฤติคนชราไปได้อย่างไร 
เพราะตัวเลขสิ้นปี 2553
สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่าสัดส่วนผู้สูงอายุอยู่ที่ระดับ 11.9% ซึ่งเมื่ออัตราเกินระดับ 10% ก็ถือว่าเข้าข่ายสังคมผู้สูงอายุตามหลักสากลไปเรียบร้อยแล้ว แต่ที่น่าวิตกมากกว่านั้น ยังมีการประเมินว่าหากสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้ ในปี 2573 สัดส่วนผู้สูงอายุต่อประชากร จะขยับเป็น 25.1% ถือว่าเป็นอัตราที่น่าวิตกยิ่ง เพราะนั่นเท่ากับว่าเด็กจะหายไปจากโรงเรียน แรงงานจะหายไปจากอุตสาหกรรมและภาคบริการ หน่วยงานของรัฐจะไม่มีข้าราชการมากพอกับหน้าที่บริการประชาชน กำลังซื้อในประเทศก็หดหายไป และที่น่าห่วงตามมาอีก คือ แรงงานหนึ่งคนต้องรับภาระดูแลคนแก่มากขึ้น ที่น่าวิตกอย่างมากอีกเรื่อง คือ ภาระการคลัง ที่จะเป็นปัญหาในอนาคต

  ทั้งนี้ ในปี 2506-2526 มีอัตราการเกิด 40% ต่อประชากรพันคน มีเด็กเกิดปีละ 1 ล้านคน หรือที่เรียกว่า "รุ่นเกินล้าน" และมีอัตราเพิ่มขึ้นของประชากรปีละ 3% แต่หลังจากที่มีการคุมกำเนิดมากขึ้น ประชากรแต่งงานช้า ทำให้ปี 2540 อัตราการเกิดของประชากร เหลือ 20% ต่อประชากรพันคน และเหลือ 12% ต่อประชากรพันคนเมื่อปี 2553 นั้นเท่ากับว่าอัตราเพิ่มของประชากรลดลงเหลือปีละ 0.5% เท่านั้น และยังประเมินกันต่อไปว่าในอีก 20 ปีข้างหน้าอัตราเพิ่มจะเหลือ 0% หรือโอกาสติดลบอย่างแน่นอนซึ่งเท่ากับว่ากำลังแรงงานในระบบจะหายไปอย่างมากประเทศไทยจะเต็มไปด้วยผู้สูงอายุ เท่ากับว่าปัญหาจะตามมาอีกมากมายขณะที่แรงงานใหม่อย่างเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปีก็มีทิศทางลดลงอย่างต่อเนื่อง จาก 20.5% ในปี 2553 จะเหลือ 13.5% ในปี 2573 รวมไปถึงวัยแรงงาน 30 ปีและเกิน 40 ปีก็ปรับลดลงเช่นกันซึ่งเท่ากับว่าอัตราผู้ใช้แรงงาน 7 ดูแลคนแก่ 1 คนจะลดลงเหลือ 5 ต่อ 1 เมื่อปี 2554 และคาดว่าจะเหลือ 2 ต่อ 1 ในปี 2573 หรืออีกประมาณอีก 18 ปีข้างหน้า
  จากโครงสร้างประชากรไทยและการคาดการณ์ข้างหน้าจึงถือเป็นพันธกิจเร่งด่วนที่ต้องเริ่มวางแผนรับมือตั้งแต่วันนี้เพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของสังคมไทย เริ่มจากวางแผนวัยแรงงานในภาคอุตสาหกรรมและบริการ เพราะจากข้อมูลของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยพบว่าโครงสร้างอายุแรงงานในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเดิมเป็นแรงงานวัยหนุ่มสาวแต่ในระยะหลัง อายุแรงงานในภาคอุตสาหกรรมก็เริ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นลักษณะของประเทศที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างประเทศไทยที่สัดส่วนประชากรวัยเด็กลดลงในขณะที่สัดส่วนประชากรวัยสูงอายุเพิ่มขึ้น ซึ่งมีผลให้โครงสร้างอายุแรงงานในภาคอุตสาหกรรมจะเป็นแรงงานสูงอายุเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยจากข้อมูลในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีสัดส่วนของแรงงานผู้เยาว์ลดลงอย่างต่อเนื่อง จากประมาณ 55% ในปี 2534 เป็น 20.7% ในปี 2553 ในขณะที่แรงงานผู้สูงอายุ เพิ่มจากประมาณ 12% เป็นประมาณ 20% หรือเกือบเท่าตัวซึ่งนั้นเท่ากับว่าแรงงานสูงอายุที่เพิ่มขึ้น จะมีผลทางลบต่อประสิทธิภาพการผลิตของแรงงานโดยเฉลี่ย
  จากสถานการณ์ดังกล่าว รัฐบาลเมื่อทราบสถิติชัดเจนว่าอัตราเด็กเกิดใหม่ มีสัดส่วนที่ลดลงก็ต้องกลับมาบริหารจัดการเด็กจบใหม่ ให้เกิดประสิทธิภาพมากสุด ทั้งเรื่องคุณภาพศึกษาและอัตราแรงงานที่ควรจะเป็นในอนาคต นั่นหมายความว่า ในแต่ละปีรัฐบาลต้องประกาศออกมาให้ได้ว่าอีก 4 ปีข้างหน้ามีอุตสาหกรรมภาคบริการหรือธุรกิจไหนบ้าง ที่ต้องการแรงงานอัตราเท่าไร เพื่อที่จะจัดสรรให้ตรงจุดและเหมาะสม แทนที่จะให้กระจุกหรือขาดแรงงานอย่างที่เป็นอยู่ปัจจุบัน
 ซึ่งนั่นต้องมาดูว่าระบบการคัดเลือกเด็กเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยเป็นอุปสรรคมากน้อยแค่ไหน ขณะที่ภาคการคลัง ต้องวางแผนระบบการเงินของประเทศครั้งใหญ่ว่าระบบออมเงินแบบไหนบ้างที่จะเข้ามาดูแลประชากรในวัยชรา  โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานนอกระบบที่ประเมินกันว่ามีสูงถึง 63% ซึ่งไม่อยู่ในความดูแลของรัฐบาลหรือกองทุนต่างๆ ซึ่งหากไม่ได้รับการเหลียวแล และวางแผนรับมือตั้งแต่วันนี้ประเทศจะเผชิญจะก่อวิกฤติในอนาคตได้




ขอขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติม เรื่อง ต้องเร่งรับมือสังคมวัยชรา
จากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 5 มิถุนายน 2555




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น