วันอังคารที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2556

รู้อะไรไม่สู้ "รู้งี้" กับการวางแผนเกษียณ



อย่าให้เราต้องพูดแบบนี้ในช่วงเวลาที่สายเกินไปนะคะ

คุณคิดแบบนี้รึเปล่าเมื่อนึกถึงการวางแผนเกษียณ
  • มองว่าจะรีบวางแผนไปทำไมทั้งที่ยังไม่แก่ ยังมีเวลาอีกนานไม่ต้องรีบก็ได้ 
    • นั่นซิ...แล้วจะเริ่มตอนไหนดีหละ??
  • มองว่าขณะนี้ยังหาเงินไม่พอใช้หนี้ แล้วจะนำเงินที่ไหนมาวางแผนเกษียณ
    • นั่นซิ...ถ้าอายุ 60 ยังต้องทำงานใช้หนี้แล้วจะนำเรี่ยวแรงมาจากไหนหละ??
  • มองว่าทรัพย์สมบัติที่มีก็ใช้แทบไม่หมดอยู่แล้วจะวางแผนทำไมให้เสียเวลา 
    • นั่นซิ...อย่าลืมว่าทรัพย์สมบัติมีได้ก็หมดได้เหมือนกัน
  • มองว่าอายุ 50 ปีแล้วค่อยคิดก็ยังทัน 
    • นั่นซิ....ดูเหมือนช้าเกินไป แต่ก็ยังดีที่ได้เริ่มสักที 
==> สาเหตุสำคัญที่เราต้องวางแผนเกษียณก็เพราะว่าเราต้องการให้คุณภาพชีวิตของเราใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกษียณมากที่สุด การดูแลสุขภาพก็สำคัญไม่แพ้เรื่องการเงิน มันคงไม่สนุกแน่ๆที่เราต้องนำเงินที่ออมไว้อย่างเหน็ดเหนื่อยมาจ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาล

การที่เริ่มคิดและทำเร็วกว่าก็ทำให้เรามีเวลาที่จะปรับปรุงแก้ไขแผนเกษียณของเราให้มีเงินเพียงพอที่จะใช้หลังเกษียณ ซึ่งการออมเงินเป็นลักษณะของการเก็บสะสมเพิ่มพูนความมั่งคั่งขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งใช้ระยะเวลาสะสมนานก็จะทำให้มีมูลค่ามาก เราลองนึกถึงตัวอย่างใกล้ตัวซึ่งทุกคนผ่านมาแล้วก็น่าจะนำมาประยุกต์ใช้ได้กับการออมเงิน คือ ช่วงเวลาอ่านหนังสือเพื่อเตรียมตัวสอบ


  • ถ้าเราวางแผนการอ่านตั้งแต่เนิ่นๆ ค่อยๆอ่านหนังสือสะสมเรื่อยๆ มีเวลาทำแบบฝึกหัดเพื่อทดสอบตนเองก่อนเจอข้อสอบจริง ถ้าเราทำผิดในข้อใดบ่อยๆแสดงว่าเรายังไม่เข้าใจเนื้อหาที่จะสอบอย่างเพียงพอ เราก็กลับไปอ่านทบทวนเพื่อสร้างความเข้าใจก่อนเข้าสอบจริง พอใกล้วันสอบเรามีเวลาพักผ่อนเพื่อสมองจะได้ปลอดโปร่งเตรียมพร้อมที่จะสอบในวันรุ่งขึ้น 


  • แต่ถ้าเราไม่สนใจอ่านหนังสือตั้งแต่แรกแล้วมาเร่ิงในช่วงก่อนสอบเพียงไม่กี่วัน เราก็อาจจะต้องอ่านหนังสือแบบหามรุ่งหามค่ำ มีเวลาอ่านทบทวนน้อยเพราะต้องเร่งอ่านให้จบ ไม่มีเวลาทบทวนแบบฝึกหัดเพื่อทำความเข้าใจก่อนสอบ เมื่อนอนดึกสมองก็เบลอเจอข้อสอบเข้าไปก็มึนๆก็อาจจะทำข้อสอบได้ไ่ม่เต็มที่
บางคนอาจจะเถียงว่าเพื่อนคนนั้นไม่เห็นอ่านหนังสือก็สอบผ่าน มันไม่เกี่ยวกับการวางแผนอ่านหนังสือสักนิด อย่าลืมว่าสมองของแต่ละคนมีการรับรู้ได้ช้าหรือเร็วแตกต่างกัน บางคนฟังครั้งเดียวก็เข้าใจแล้วก็สอบได้โดยที่ไม่ต้องทบวนมาก บางคนก็ต้องอ่านซ้ำหลายๆครั้งถึงเข้าใจ แต่เราเชื่อว่าคนเก่งขนาดไหนก็แพ้ความขยัน ถ้าเราคิดว่าเราเก่ง เรารู้หมดแล้วก็จะไม่พัฒนา การเรียนรู้ก็จะหยุดลงเมื่อเรียนจบ ความรู้บนโลกนี้มีเยอะเรียนรู้ทั้งชาติก็ไม่หมด เพียงแต่เราต้องรู้ว่าเรารู้อะไรและไม่รู้อะไร เพื่อที่เราจะได้รู้ในสิ่งที่ไม่รู้ต่อไป

ถ้าเราสอบตกก็อ่านหนังสือกลับไปแก้ตัวใหม่ได้
แต่การวางแผนเกษียณ
ถ้าเราวางแผนช้าเกินไปก็ไม่มีโอกาสย้อนอายุกลับไปแก้ไขได้

ตัวเลขต่อไปนี้อาจจะเป็นแรงจูงใจหนึ่งที่ทำให้เราเริ่มคิดวางแผนเกษียณกันได้นะค่ะ สองวิธีแรกจะเป็นการใ้ช้สูตรทางการเงินโดยคิดจากมูลค่าเงินตามเวลา ส่วนสูตรที่สามจะเป็นตัวเลขตรงๆคิดโดยไม่คำนึงถึงมูลค่าเงินตามเวลาหนะค่ะ

วิธีที่ 1 วิธีคิดคำนวณจากปัจจุบัน ==> อนาคต

เราลองคำนวณตัวเลขการออมเงินต่อเดือนในปัจจุบันเพื่อดูว่าจะเป็นจำนวนเงินเท่าไหร่ในอนาคตโดยคิดให้เกินเงินเฟ้อไว้จะได้ปลอดภัยดังนั้นจึงใช้สมมติฐานที่อัตราดอกเบี้ยคงที่ 3% และเป็นการฝากเงินในจำนวนที่คงที่เท่ากันทุกเดือน (ถ้าจะคำนวณโดยใช้อัตราการออมที่มากขึ้น เช่น เริ่มทำงานออมเดือนละ 1,000 บาท พอทำงานผ่านไป 2 ปีออมเงินเป็นเดือนละ 5,000 บาท อาจจะใช้การคำนวณใน Excel จะทำให้ได้มูลค่าเงินออมที่ตรงกับวิธีการออมของเรามากที่สุด)


อธิบายตาราง

ถ้าเราออมเงินเดือนละ 1,000 บาท ที่อัตราดอกเบี้ย 3% ต่อปี
  • เราออมเงินติดต่อกันเป็นระยะเวลา 35 ปี( สมมติว่าออมตั้งแต่อายุ 25 ปีจนถึง 60 ปี)
    • เราจะมีเงินในอีก 35 ปีข้างหน้าเท่ากับ 741,563.66 บาท
  • เราออมเงินติดต่อกันเป็นระยะเวลา 25 ปี( สมมติว่าออมตั้งแต่อายุ 35 ปีจนถึง 60 ปี) 
    • เราจะมีเงินในอีก 25 ปีข้างหน้าเท่ากับ 446,007.82 บาท
  • เราออมเงินติดต่อกันเป็นระยะเวลา 15 ปี( สมมติว่าออมตั้งแต่อายุ 45 ปีจนถึง 60 ปี) 
    • เราจะมีเงินในอีก 15 ปีข้างหน้าเท่ากับ 226,972.69 บาท

เราลองสังเกตตัวเลขที่ออมเงิน ยิ่งระยะเวลาการเก็บออมยาวนานเงินสะสมเราจะยิ่งมากขึ้น  ปัจจัยสำคัญที่เราควรนึกถึงจะเป็นแหล่งเก็บเงินที่ไหนบ้างที่รักษาเงินของเราไว้ไม่ให้เสื่อมมูลค่าลงตามกาลเวลา รักษาให้มีอัตราเติบโตปีละ 3% (ให้อัตราผลตอบแทนมากกว่าเงินเฟ้อ) ตัวเลขตารางนี้บอกไม่ได้ว่าเงินจำนวนนี้เพียงพอหลังเกษียณหรือไม่ เพียงแต่ต้องการบอกว่าถ้าเราออมด้วยจำนวนเงินนี้แล้วจะเป็นเงินเท่าไหร่ในอนาคต สังเกตได้ว่าไม่เพียงพอที่จะใช้จ่ายอย่างแน่นอน ดังนั้นเราควรปรับปรุงแผนการออมของเรา  โดยการหาแหล่งเก็บเงินที่ให้อัตราผลตอบแทนสูงกว่าเงินเฟ้อมากๆ(เพิ่มรายได้) หรือตัดลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น

วิธีที่ 2 วิธีการคำนวณจากอนาคต ==>ปัจจุบัน

ตารางนี้ใช้อัตราผลตอบแทนคงที่ 3% โดยคิดจากจำนวนเงินที่เราต้องการจะใช้ในอนาคตนับจากการเกษียณอายุที่ 60 ปีว่าใช้จ่ายเดือนละเท่าไหร่แปลงให้เป็นมูลค่าปัจจุบันเป็นจำนวนเงินออมที่เราควรมี ณ ปีที่อายุ 60 ถ้าปัจจุบันมีเงินออมเกินแล้วก็เบาใจได้นิดนึง แต่ไม่ควรนิ่งนอนใจเพราะอาจจะมีค่าใช้่จ่ายที่ไม่คาดหวังเกิดขึ้น  เช่น ค่ารักษาพยาบาล เราควรเตรียมเผื่อไว้ด้วย แต่ถ้ายังมีไม่ถึงก็ต้องมานั่งพิจารณาแล้วหละว่าปัจจุบันจะทำอย่างไร ตัดค่าใช้จ่ายอะไรหรือหารายได้เพิ่มอย่างไร


คำอธิบายตาราง
  • สมมติเรามีช่วงเวลานับจากวันเกษียณอีก 35 ปี(เริ่มจาก 60 ปีไปอีก 35 ปี คือ อายุ 95 ปี) 
    • เราต้องการใ้ช้เงินหลังเกษียณเดือนละ 10,000 บาท ดังนั้นเราควรมีเงินออมให้เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายในช่วงเวลานั้นทั้งหมด 2,598,413.68 บาท
  • สมมติเรามีช่วงเวลานับจากวันเกษียณอีก 25 ปี(เริ่มจาก 60 ปีไปอีก 25 ปี คือ อายุ 85 ปี) 
    • เราต้องการใ้ช้เงินหลังเกษียณเดือนละ 10,000 บาท ดังนั้นเราควรมีเงินออมให้เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายในช่วงเวลานั้นทั้งหมด 2,108,764.53 บาท 
  • สมมติเรามีช่วงเวลานับจากวันเกษียณอีก 15 ปี(เริ่มจาก 60 ปีไปอีก 15 ปี คือ อายุ 75 ปี)
    • เราต้องการใ้ช้เงินหลังเกษียณเดือนละ 10,000 บาท ดังนั้นเราควรมีเงินออมให้เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายในช่วงเวลานั้นทั้งหมด 1,448,054.71 บาท
อายุคาดการณ์หลังจากอายุ 60 ปีนั้นขึ้นอยู่กับสุขภาพของแต่ละบุคคล ความเจริญก้าวหน้าทางการแพทย์จะทำให้คนอายุยืนขึ้น สิ่งสำคัญที่ต้องเตรียมไว้คือ ค่าใช้จ่ายเพื่อให้เพียงพอหลังเกษียณ ผู้เขียนมีย่าที่ชรามาก ต้องนอนพักอยู่บนเตียงตลอดเวลา โชคดีที่ย่ามีลูกเยอะก็ทำให้มีคนดูแลในช่วงเวลานี้ แต่ถ้ามองไปในอีกหลายปีข้างหน้าเป็นช่วงที่คนไทยเป็นโสดมากขึ้น ครอบครัวที่แต่งงานก็มีลูกน้อยลง บางครอบครัวมีเพียง 1-2 คน แต่ละคนต้องดิ้นรนหาเลี้ยงครอบครัวของตนก็ไม่มีเวลาดูแลญาติผู้ใหญ่ แล้วตอนนั้นใครกันที่จะมาดูแลคนชราเหล่านี้ จุดนี้แหละทำให้เกิดเป็นธุรกิจใหม่ซึ่งเป็นธุรกิจที่เกี่ยวกับการดูแลคนแก่ตามบ้านมากขึ้น ถ้าตอนนั้นเราจำเป็นต้องจ้างคนมาดูแลจึงจำเป็นต้องเตรียมค่าใ้ช้จ่ายส่วนนี้ไว้ด้วย

วิธีที่ 3 
จากตารางข้างบนใช้สูตรการเงินบางคนอาจจะอ่านแล้วงงๆ เราเลยลองคำนวณตัวเลขแบบตรงๆโดยไม่ได้คำนึงถึงมูลค่าเงินตามเวลา คิดเป็นตัวเลขกลมๆเข้าใจง่าย 


เราลองสอบถามเพื่อนบางคนว่าอยากมีเงินไว้ใช้หลังเกษียณเดือนละเท่าไหร่ ก็บอกมาว่าเดือนละ 50,000 บาท เราคำนวณให้ว่าต้องเก็บเดือนละเท่าไหร่จากปัจจุบันถึงจะมีเงินไว้ใช้ตามที่ตั้งใจไว้ เท่านั้นแหละ ก็ถึงกับบ่นว่าทำไมเยอะจัง ใครจะทำได้ เราอย่าปล่อยให้เป็นเพียงตัวเลขสมมติ เราต้องใช้ตัวเลขนี้เป็นเป้าหมายให้เรามีวินัยในการออมเงินให้มากขึ้น

-----------------------------------------------------------------------------------------------------

ข้อมูลนี้อ่านเจอเมื่อเช้า เป็นสัดส่วนการออมเงินของผู้มีความมั่งคั่งสูงว่าเค้าเหล่านั้นจัดสรรเงินไว้ในสินทรัพย์อะไรบ้าง ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ



บทความที่น่าสนใจ


วิธีค้นหาตัวตนจากการเขียนคำไว้อาลัย
==> http://pajareep.blogspot.com/2013/11/blog-post_22.html

สร้างแรงบันดาลใจเป็นตัวเลข
==> http://pajareep.blogspot.com/2013/10/blog-post_28.html

ความสามารถของเรามีมูลค่าเท่าไหร่??
==> http://pajareep.blogspot.com/2013/10/blog-post.html

ประกันชีวิตหักลดหย่อนภาษี 200,000 บาท ตอนที่ 1/2
==> http://pajareep.blogspot.com/2013/09/200000-12.html

แนะนำหนังสือ "SOROS" (โซรอส)
==> http://pajareep.blogspot.com/2013/08/soros.html

อ่านหนังสือสร้างโลก
==> http://pajareep.blogspot.com/2013/08/blog-post_20.html

ลูกจะมีวินัยทางการเงินหรือไม่นั้นต้องเริ่มจากพ่อกับแม่
==> http://pajareep.blogspot.com/2013/08/blog-post_4.html

ต้นทุนชีวิต - มีมูลค่าเท่าไหร่
==> http://pajareep.blogspot.com/2013/05/blog-post.html

บัตรเครดิตที่เราต้องรู้
 ==> http://pajareep.blogspot.com/2013/07/blog-post.html