วันจันทร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2556

สร้างแรงบันดาลใจเป็นตัวเลข



เชื่อว่าคุณวิกรมเป็นแรงบันดาลใจของใครหลายๆคนซึ่งรวมทั้งเราด้วย หลังจากเห็นโพสใน facebook ว่าคุณวิกรมจะมาแจกลายเซ็นในงานหนังสือเวลา 13.00 - 15.00 น. พอเสร็จธุระแล้วเราก็รีบมางานหนังสือทันที โชคดีที่มาทันเลยได้เจอตัวจริง ตื่นเต้นจนพูดผิดๆถูกๆ คุณวิกรมแจกลายเซ็นแล้วก็ถ่ายรูปคู่กับทุกคน พอถึงคิวเราที่ 166 (เราต่อแถวรอคิว 3 คน) ก็ยื่นหนังสือให้คุณวิกรมก็ถามว่าเราชื่ออะไร พอเราพูดชื่ออภินิหารเงินออมค่ะ เค้าก็หัวเราะนิดๆประมาณว่าชื่อนี้คิดได้ยังไง เราบอกว่าเราเป็นบล็อกเกอร์เขียนเรื่องการออมเงินเลยใช้ชื่่อนี้และอยากเป็นนักเขียนที่เก่งเหมือนคุณวิกรมด้วย ขอบอกว่าตื่นเต้นมาก พอถ่ายรูปเสร็จแล้วก็รีบเดินออกมาเพราะคนมารอคิดเยอะมาก จนลืมดูว่าเขียนชื่อเราไม่ครบ ไม่เป็นไรคราวหน้าซื้อหนังสือแล้วค่อยขอลายเซ็นใหม่ 

เราชอบแนวคิดของคุณวิกรมตั้งแต่ดูรายการที่นี่หมอชิตและติดตามผลงานมาตลอด ทำให้คิดตลกๆว่าถ้าได้ติดตามอยู่ในกองคาราวานไปดูวิถีชีวิต การดำเนินชีวิตในประเทศต่างๆคงสนุกและได้อะไรเยอะมากเพื่อมาเขียนหนังสือ การที่เราได้เจออะไรแปลกใหม่ ทำสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อนนั้นจะทำให้ชีวิตมีสีสัน และได้ไอเดียแปลกใหม่ในการดำเนินชีวิต แม้เราชอบการเดินทางแต่งบประมาณมีจำกัด ดังนั้น ตอนนี้เราต้องอยู่กับความจริงไปก่อน เพราะการสร้างฝันกับความจริงมันต้องไปด้วยกัน ก็เหมือนกับการเลือกทำงานว่าเรียนจบแล้วจะทำงานอะไรดี บางคนมีความฝันอยากจะทำหลายอย่างแต่ไม่มีงบประมาณหรือบางคนทำตามความฝันหลายอย่างจนไม่เป็นชิ้นเป็นอันสักอย่าง วิธีตัดสินใจว่าจะเลือกอาชีพอะไรนั้นควรจะเริ่มต้นที่ภาระทางครอบครัวว่าเราต้องแบกรับอะไรไว้บ้าง เช่น
  • ถ้าเราไม่ต้องเป็นเสาหลักของบ้านในการหาเลี้ยงครอบครัว รายได้ที่ได้มาก็ใช้ส่วนตัวและแบ่งให้พ่อแม่ตามความเหมาะสม ลักษณะนี้เราสามารถทำตามความฝันของเราได้ด้วยความสบายใจ เช่น ถ้าเรามีความฝันแล้วไม่มีงบประมาณก็อาจจะเขียนโครงการในฝันออกมาเป็นรูปธรรมแล้วเสนอไปยังกองทุนที่สนับสนุนเพื่อทำให้เป็นจริงต่อไป  
  • แต่ถ้าเราเป็นหลักให้กับครอบครัว ภาระรายจ่ายทุกอย่างเราต้องรับผิดชอบ ลักษณะนี้ก็อาจจะลำบากสักนิดนึงที่จะวิ่งตามความฝันของตนเอง เพราะเราต้องทำงานที่มีรายได้มาจุนเจือครอบครัวเราก่อน ถ้ามีความมั่นคงระยะหนึ่งแล้วก็เจียดเวลาเพื่อทำตามความฝัน เพราะถ้าเรามุ่งมั่นทำตามความฝันที่ไม่รู้จะเป็นจริงได้เมื่อไหร่ ในขณะที่เราเป็นเสาหลักของบ้านแบบนี้ครอบครัวอาจจะขาดความมั่นคงก่อนที่เราจะทำฝันสำเร็จก็ได้
สำหรับบางคนที่ยังไม่รู้ว่าตนเองชอบอะไรหรืออยากทำอะไรแล้วปล่อยชีวิตไปเรื่อยๆนั้นแสดงว่าเราเริ่มขาดแรงบันดาลใจในการดำเนินชีวิต ซึ่งวิธีสร้าแรงบันดาลใจในแต่ละด้านมีหลายรูปแบบ เช่น จากบุคคลที่ประสบความสำเร็จ จากดาราที่เราชื่นชอบ จากประวัติการสู้ชีวิตของผู้พิการ(เช่น Nick Vulicic ผู้พิการแขนขา) เป็นต้น ใครชอบแบบไหนก็เลือกได้ตามถนัด แต่ถ้าดูแล้วยังไม่ได้ผลจุดไฟให้แรงบันดาลใจไม่ได้ เราก็มีทางเลือกอีกหนึ่งทางที่ลองคิดขึ้นมาเพื่อทดลองดูว่าจะสร้างแรงบันดาลใจให้กับเพื่อนของเราโดยการคิดแรงบันดาลใจออกมาเป็นตัวเลข

เรื่องมีอยู่ว่าเราอยากจะเขียนพ็อกเก็ตบุ๊คเล่มใหม่ก็ลองปรึกษากับ บก.ว่าจะเขียนเกี่ยวกับอะไรดี เพราะแนวที่อยากเขียนสำนักพิมพ์เค้าไม่รับ(หากเขียนตามความฝันก็อาจจะไม่มีข้าวกิน กลายเป็นนักเขียนไส้แห้งไปจริงๆ งั้นเราควรเลือกอยู่กับความจริงโดยเขียนตามความต้องการของตลาด) สรุปว่าเขียนเกี่ยวกับมนุษย์เงินเดือนเพราะเป็นเรื่องใกล้ตัวเรามากที่สุด อุดมการณ์ในการเขียนก็ยังอยู่ครบ จากนี้ไปก็เป็นเรื่องของการหาข้อมูลในการเขียน บางคนมองว่าแค่เราไปอ่านของคนที่เคยเขียนอยู่แล้วมาพัฒนาต่อยอดแค่นี้ก็เขียนได้ละ ฮีฮึ!! ชีวิตมันไม่ง่ายขนาดนั้น เพราะถ้าไปอ่านของคนอื่นเราก็จะติดกรอบความคิดของคนนั้น ความเป็นตัวตนของเราก็จะหายไป ดังนั้น เราควรต้องคิดใหม่ขึ้นเองโดยไม่อ่านของเดิมซึ่ง บก.ก็คิดเหมือนกัน และอีกคำถามที่ตามมาก็คือ แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่าสิ่งที่เราเขียนจะซ้ำกับของเดิมรึเปล่า นั่นแหละเป็นความท้าทายที่จะทำยังไงให้แตกต่างโดยไม่อ่านของเดิม

จากความคิดที่เป็นอากาศแล้วไม่รู้จะเริ่มยังไงกลายมาเป็นความสนุกที่ต้องลุ้นว่าเล่มนี้จะเขียนรอดไหม เราเริ่มต้นที่การสัมภาษณ์มนุษย์เงินเดือนรอบข้าง คิดว่าควรถามต่างอาชีพ ต่างวัยจำนวน 40 คนขึ้นไปน่าจะเริ่มเขียนได้ จากคนแรกที่สัมภาษณ์เพียง 10 นาทีแล้วจบเพราะไม่รู้จะถามอะไร กลายมาเป็นคำถามที่มากขึ้นกับเวลา  1 ชั่วโมงกว่าจะสัมภาษณ์จบ แล้ววิธีการคิดแรงบันดาลใจเป็นตัวเลขก็เกิดขึ้น ซึ่งแรงบันดาลใจในที่นี้เกี่ยวกับการเริ่มต้นออมเพื่อที่จะมีเงินใช้ถึงวัยเกษียณ บังเอิญเพื่อนสนิทที่เราสัมภาษณ์นั้นมีวินัยการออมเงินที่ดีมาก เก็บเงินเก่ง ไม่มีภาระครอบครัว ประเด็นอยูที่ว่าเก็บแต่ฝากออมทรัพย์กับฝากประจำซึ่งนับวันดอกเบี้ยยิ่งน้อยลงทุกที แล้วแบบนี้เงินจะงอกเงยแซงเงินเฟ้อได้อย่างไร (ขออนุญาตคุณเพื่อนที่นำมาเป็นกรณีศึกษา ทั้งนี้เพื่อเป็นความรู้ให้แก่คนอื่นๆนะจ๊ะ) เพราะเราอยากรู้ว่าทำไมคนถึงไม่นำเงินไปลงทุน เค้ากำลังคิดอะไรและจะมีวิธีปรับวิธีคิดเค้าได้อย่างไรบ้าง เป็นประเด็นที่น่าสนใจมาก

ก่อนจบการสัมภาษณ์เราฝากให้เพื่อนอ่านบทความและดูภาพประกอบในบล็อกก่อนหน้านี้(ตามภาพข้างล่าง)และคำถามให้คิด  3 ข้อ คือ
  1. ถ้าเราต้องเตรียมเงินให้พ่อกับแม่เพื่อดูแลสุขภาพของท่านต้องเตรียมเงินเท่าไหร่และเก็บเงินเผื่อส่วนนี้แล้วรึยัง
  2. ถ้าสมมติเราเป็นโสดต้องเตรียมเงินดูแลสุขภาพตนเองหลังเกษียณเท่าไหร่และเก็บเงินเผื่อส่วนนี้แล้วรึยัง 
  3. ถ้าเราแต่งงานมีลูกแล้ววาระสุดท้ายลูกพึ่งพาไม่ได้ เราจะเตรียมเงินไว้ดูแลตนเองเท่าไหร่และเก็บเงินเผื่อส่วนนี้แล้วรึยัง
เราอยากรู้ว่าวิธีสร้างแรงบันดาลใจเกี่ยวกับจำนวนเงินที่ต้องใช้จ่ายดูแลสุขภาพในวัยเกษียณจะทำให้เพื่อนเราศึกษาวิธีออมเงินแบบอื่นได้ไหม ถ้าใช้ได้ผลดีก็คงมีอะไรไปเขียนบ้าง แต่ถ้าใช้ไม่ได้ผลคงต้องลองวิธีใหม่ หากผู้อ่านนำไปใช้ได้ผลอย่างไร หรือมีคำแนะนำเพิ่มเติมรบกวนส่งเมล์บอกกล่าวกันได้นะคะ ยินดีรับทุกคอมเม้นค่ะ ^_^

อ่อ....อ่านจบแล้วคุณอย่าลืมตอบคำถาม 3 ข้อ ข้างต้นกับตนเองด้วยนะคะ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจที่จะออมเงินใช้ในวัยเกษียณค่ะ




บทความน่าสนใจ

งดเหล้า เลิกบุหรี่ สุขภาพดีและมีเงินออม 
==> http://pajareep.blogspot.com/2013/11/blog-post.html




วันอังคารที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ภาพรวมของการวางแผนทางการเงินส่วนบุคคลมี 5 แผน



จากประสบการณ์การทำงานในส่วนของที่ปรึกษาการลงทุน(ชื่อตำแหน่งที่เปลี่ยนมาจาก "เจ้าหน้าที่การตลาด" ซึ่งเปลี่ยนชื่อแล้วก็ทำหน้าที่เหมือนเดิมคือ ดูแลลูกค้าเทรดหุ้นกับอนุพันธ์) ทำให้เจอกับคนที่หลากหลาย ลักษณะนิสัยที่แตกต่างกันออกไป แต่มีสิ่งหนึ่งที่ทุกคนเป็นเหมือนกันคือ ความกลัว การทำให้ลูกค้าคลายความกังวลหรือกลัวตลาดหุ้นน้อยลงก็เป็นหนึ่งในหน้าที่ของเรา ส่วนใหญ่แล้วเราอธิบายให้ลูกค้าเข้าใจถึงภาพรวมตลาดก่อนแล้วค่อยเจาะหุ้นรายอุตสาหกรรมที่เป็นผลดีต่อภาพรวมนั้น เหตุการณ์ชัดเจนที่สุด คือ การเติบโตของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงโลกเร็วมาก(ภาพรวมตลาด) ดังนั้นอุตสาหกรรมที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะเป็นหุ้นกลุ่มสื่อสาร ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต ผู้วางระบบ (เจาะหุ้นรายอุตสาหกรรม) และเราก็มาเลือกหุ้นรายตัวศึกษาธุรกิจให้เข้าใจก่อนลงทุน

ตัวอย่างเหตุการณ์ประมูล 3G  หลังจากมีข่าวการประมูลออกมาก็ทำให้หุ้นที่มีส่วนได้ประโยชน์นั้นถูกเก็งกำไรปรับตัวขึ้นมาก พอการประมูลนั้นถูกยกเลิกทำให้มีชาวดอยจำเป็นเกิดขึ้นมากมาย และเมื่อมีข่าวการประมูลเกิดขึ้นอีกครั้งลูกค้าเรากลัวว่าจะยกเลิกการประมูลเหมือนคราวที่แล้ว ถ้าซื้อหุ้นแบบนั้นราคาอาจจะตกลงอีก ส่วนตัวเชื่อว่าเหตุการณ์นั้นจะไม่เกิดขึ้นอีกเพราะผลประโยชน์จากการประมูลได้มากกว่าการยกเลิก อีกทั้งประเทศเพื่อนบ้านของเราไปถึง 4G แ้ล้วเราจะยอมได้อย่างไร เราชอบอธิบายด้วยการตั้งคำถามมากกว่าการอธิบายว่าทำไมถึงต้องประมูลเพราะคำตอบมันก็อยู่ในคำถามนั้นแล้ว อ่านไปอ่านมาอาจจะงงเรายกตัวอย่างสั้นๆที่ชอบคุยกับลูกค้าให้ดูละกันนะคะ
  • คุณคิดว่าถ้าไม่มีการประมูลครั้งนี้ประเทศเราจะเป็นอย่างไร โดยที่ประเทศลาวมี 4G ใช้แล้ว? 
  • คุณคิดว่า SCB คิดอะไรอยู่ถึงปล่อยกู้ให้กับ TRUE เพื่อเป็นเงินทุนในการวางระบบรองรับ 3G ทั้งที่ TRUE ยังขาดทุนและมีหนี้สินมากมาย? 
  • ถ้าลูกค้ายังกลัวอยู่เราก็จะใช้คำถามสุดท้ายว่า "คุณคิดว่าถ้าไม่มีการประมูล 3G ในประเทศไทยใครจะเสียหายมากกว่ากันระหว่างประเทศไทย, ธนาคารที่ปล่อยกู้หรือนักลงทุนอย่างพวกเรา" 
สรุปว่าลูกค้าส่วนใหญ่มีหุ้นสื่อสารสักตัวในพอร์ต มากบ้างน้อยบ้างขึ้นอยู่กับความกังวลส่วนตัว

การอธิบายให้ลูกค้าเห็นภาพรวมนั้นไม่จำเป็นต้องยกตัวอย่างหุ้นเสมอไป เราชอบใช้ตัวอย่างที่ลูกค้าน่าจะมีประสบการณ์เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น เราเชื่อว่าเกือบทุกคนเคยเห็นภาพวิวบนภูเขา ทั้งที่เดินขึ้นเขาไปสัมผัสด้วยตนเองหรือดูจากรูปถ่าย การมองภาพรวมเหมือนกับการยืนชมวิวทิวทัศน์บนยอดเขา เห็นท้องฟ้าที่กว้างใหญ่ ภาพเหล่านั้นจะเห็นชัดเจนที่สุดบนยอดเขา ไม่ใช่ตีนเขา
  • การมองจากมุมสูงบนภูเขามาที่ข้างล่างจะทำให้เราเห็นภาพรวมของสิ่งต่างๆได้ดีกว่าการมองวิวทิวทัศน์จากพื้นราบที่เชิงเขา  
  • ส่วนการมองที่พื้นราบจะทำให้เราเข้าใจรายละเอียดสิ่งต่างๆรอบตัวได้ดีกว่าการมองลงมาจากมุมสูง 
เรากำลังจะอธิบายถึงการวางแผนการเงินส่วนบุคคลที่บางคนมองว่าเป็นเรื่องเข้าใจยาก เพราะเรามองในรายละเอียดมากเกินไปทำให้เราคิดว่าเป็นเรื่องยาก ซึ่งในความจริงแล้วเราควรเข้าใจว่าภาพรวมมีอะไรบ้างแล้วค่อยเจาะลึกรายละเอียดของแต่ละแผน จากการวางแผนในแต่ละส่วนจะมีลิ้งค์เดิมที่เคยเขียนไว้อธิบายเพิ่มเติมในส่วนท้ายของบทความค่ะ

หลักการวางแผนการเงินส่วนบุคคลแบ่งเป็น 5 แผน ดังนี้


  1. สภาพคล่อง&หนี้สิน ==> เป็นเรื่องเกี่ยวกับงบดุลส่วนตัวของเราว่ามีสินทรัพย์อยู่เท่าไหร่ หนี้สินและความมั่งคั่งเป็นเท่าไหร่ โดยคำนวณจากอัตราส่วนทางการเงิน หัวใจสำคัญของเรื่องนี้อยู่ที่การจดบัญชีรายรับรายจ่าย เพื่อทราบแหล่งที่มาของรายได้และประวัติการใช้จ่ายเพื่อดูพฤติกรรมของเราว่าตัวเราอุดมไปด้วยความมั่งคั่งหรือหนี้สิน เช่น 
    • การสร้างหนี้เพื่อซื้อบ้านถือเป็นการลงทุนเพื่อความมั่งคั่ง แต่ถ้าราคาของบ้านนั้นสูงเกินไปเราผ่อนไม่ไหวก็จะกลายเป็นการก่อหนี้ที่มากเกินความจำเป็น ดังนั้นอาจจะไปซื้อบ้านในราคาที่เราสามารถผ่อนจ่ายได้เพื่อสภาพคล่องไม่ตึงจนเกินไป หรือบางคนก่อหนี้บัตรเครดิตเยอะเกินไปก็ดูได้จากอัตราส่วนทางการเงินในส่วนหนี้สินเพื่อปรับลดพฤติกรรมใช้จ่ายฟุ่มเฟือยก่อนที่ตนเองจะล้มละลาย 
  2. ความเสี่ยงส่วนบุคคล ==> เป็นการวางแผนเพื่อสร้างและรักษาความมั่งคั่งของสินทรัพย์ของเราให้ยั่งยืน ซึ่งลดความเสี่ยงโดยโอนความเสี่ยงนั้นให้กับบริษัทประกันรับผิดชอบ 
    • จากหลักการอาจจะเข้าใจยาก ลองดูตัวอย่างใกล้ตัว เช่น การประกันภัยรถยนต์นอกจาก พรบ.แล้วเราทำประกันภัยรถยนต์ชั้น  1 ,2,3 หรือ 4 เพิ่มเติม แล้วแต่เจ้าของรถยนต์ว่าจะซื้อประกันชั้นไหน พอเกิดรถชนกันก็เรียกประกันมาตรวจความเสียหาย การทำประกันชั้น 1,2,3,4 นั้นเป็นการโอนความเสี่ยงจากเจ้าของรถยนต์ให้บริษัทประกันภัยรับผิดชอบ เมื่อสิ่งของยังมีประกันคุ้มครอง ชีวิตของเราก็สมควรได้รับความคุ้มครองด้วยเช่นกัน (ในวีดีโอคลิปข้างล่างเป็นการสัมภาษณ์นักวางแผนการเงิน เราอยากให้ดูให้จบแล้วตอบคำถามตนเองว่า "ทุนประกันรถยนต์เท่าไหร่และทุนประกันชีวิตของเราเท่าไหร่")  
  3. การลงทุน = => เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับให้เงินช่วยเราทำงานซึ่งดอกผลจะออกมาในรูปแบบของเงินปันผล ดอกเบี้ย โดยจัดพอร์ตการลงทุนตามระดับความเสี่ยงที่เรารับได้ในตราสารทางการเงินหรือการลงทุนในรูปแบบต่างๆเพื่อที่จะได้รับผลตอบแทนที่เราต้องการในอนาคต เช่น
    •  หุ้น กองทุนรวม ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ พันธบัตร หุ้นกู้ ฯลฯ การศึกษาเรื่องการลงทุนนั้นมีมากมายไม่ว่าจะเป็นในอินเตอร์เน็ต หนังสือการลงทุน หลักสูตรการอบรมการลงทุนฟรี ซึ่งนักลงทุนสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลได้ทุกที่ทุกเวลา 
  4. ภาษี&มรดก 
    • เรื่องภาษีเป็นการวางแผนเพื่อลดฐานเงินได้ เพิ่มค่าลดหย่อน เพิ่มเงินที่ได้รับยกเว้นและเพิ่มค่าใข้จ่าย เพื่อเสียภาษีให้น้อยที่สุด ตัวอย่างที่เราชอบนำมาลดหย่อน เช่น
      • การซื้อประกันชีวิต การซื้อกองทุนรวม LTF RMF การบริจาคเงินสนับสนุนการศึกษา เป็นต้น โดยที่แต่ละรูปแบบจะมีเงื่อนไขการหักลดหย่อนแตกต่างกันออกไป ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนก็คือ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มนุษย์เงินเดือนอย่างเรารู้จักกันดี เมื่อเปลี่ยนงานแต่ละครั้งไม่ควรปิดกองทุนและรับเงิน เพราะเงินส่วนนั้นจะมารวมเป็นรายได้ปลายปีซึ่งทำให้เราเสียภาษีสูงขึ้น ดังนั้น เราควรคงกองทุนเดิมไว้เพื่อคงให้อายุงานนานที่สุด จำสั้นๆว่า "เปลี่ยนงาน คงกองทุน"
    • เรื่องมรดกเป็นเรื่องเกี่ยวกับการส่งมอบทรัพย์สมบัติของเราให้แก่ทายาทตามความเหมาะสมเพื่อสืบทอดและพัฒนาให้มีความมั่งคั่งต่อไป ทั้งนี้ควรทำให้เรียบร้อยโดยการเขียนพินัยกรรมก่อนเสียชีวิต มิฉะนั้นแล้วอาจจะกลายเป็นมรดกเลือดก็ได้
  5. การเกษียณ ==>เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการวางแผนเก็บเงินเพื่อใช้ในช่วงเกษียณอายุเพื่อให้คุณภาพชีวิตหลังเกษียณใกล้เคียงกับช่วงชีวิตก่อนเกษียณมากที่สุด 
    • รายละเอียดที่เคยเขียนการวางแผนเกษียณอยู่ในลิ้งค์ส่วนล่างของบล็อกจะไม่อธิบายซ้ำ แต่จะให้ดูเอกสารชุดนึงที่เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายดูแลผู้สูงอายุจากศูนย์ดูแลผู้สูงอายุแห่งหนึ่ง(แถวบ้านเราเอง) แม้ว่าอนาคตเราจะต้องเข้าไปอยู่ในศูนย์นี้หรือไม่ แต่ก็ทำให้เราทราบคร่าวๆเกี่ยวกับรายจ่ายดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ ซึ่งเราอาจจะเป็นลูกหลานที่ต้องจ่ายให้พ่อกับแม่หรืออาจจะเป็นตัวเราเองที่ต้องจ่ายให้ตนเองในสภาวะแบบนั้น เมื่อคุณอ่านจบแล้วรบกวนตอบคำถามว่า "เราควรเก็บเงินเกษียณเท่าไหร่"  


เมื่อเราทราบภาพรวมของการวางแผนการเงินส่วนบุคคลแล้วว่ามีอะไรบ้าง เราลองมาสำรวจตนเองดูซิว่ายังขาดส่วนไหนเพื่อจะได้เติมเต็มรายละเอียดในส่วนนั้นให้ครบถ้วย โดยศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมหรือหาที่ปรึกษาเฉพาะด้านนั้นๆ

ตัวอย่างการวางแผน(ขึ้นอยู่กับเป้าหมายของเราเป็นหลัก)

รูปที่ 1 ภาพรวมของการวางแผน คือ เรามีการวางแผนสภาพคล่อง&หนี้สิน กับ ภาษี& มรดก แสดงว่าเรายังขาดการวางแผนทางด้านความเสี่ยงส่วนบุคคล การลงทุนและการเกษียณ ดังนั้นเราควรเริ่มศึกษารายละเอียดในส่วนที่ขาดหายไปในแต่ละด้าน โดยเริ่มเรียงลำดับความสำคัญของเป้าหมายก่อน เช่น ถ้าอยู่ในช่วงวัยทำงานก็เริ่มศึกษาเรื่องการวางแผนลงทุน ความเสี่ยงส่วนบุคคลและแผนเกษียณ แต่ถ้าอยู่ในวัยใกล้เกษียณก็อาจจะวางแผนการลงทุนที่เสี่ยงมากไม่ได้ ก็อาจจะเน้นที่แผนเกษียณเป็นหลัก เป็นต้น

รูปที่ 1

รูปที่ 2 เรามีการวางแผนทางด้านสภาพคล่อง&หนี้สิน ภาษี&มรดก และการลงทุน โดยที่เน้นหนักทางการลงทุนมากเกินไป โดยเราลืมวางแผนทางด้านความเสี่ยงส่วนบุคคลและการเกษียณ การวางแผนลักษณะนี้อาจจะมีความเสี่ยงมากในกรณีที่สินทรัพย์ที่เราลงทุนเกิดการขาดทุนอย่างหนัก ทำให้เราไม่มีสภาพคล่องนำเงินไปใช้อย่างอื่นหรือเงินลงทุนหายไปเลยก็ได้ ดังนั้นควรแบ่งเงินจากการลงทุนไปวางแผนทางด้านอื่่นๆบ้าง 

รูปที่ 2

รูปที่ 3 เป็นการวางแผนการเงินที่ค่อนข้างสมบูรณ์ เพราะเฉลี่ยให้เท่ากันเกือบทุกส่วน ซึ่งการแบ่งสัดส่วนแต่ละแผนว่าควรมีเท่าใดนั้นขึ้นอยู่กับเป้าหมายของแต่ละคนนะคะ

รูปที่ 3

===============================================================

วีดีโอคลิปสัมภาษณ์การวางแผนการเงินของนักวางแผนการเงิน


===============================================================
ลิ้งค์ที่เกี่ยวข้องจากบทความที่เคยเขียน
  1. สภาพคล่อง&หนี้สิน 
  2. ความเสี่ยงส่วนบุคคล 
  3. การลงทุน 
  4. การเกษียณ 
  5. ภาษี&มรดก

วันอาทิตย์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2556

บทเรียนจากแบบฝึกหัดเขียน




รุ่นพี่ที่อยู่ในซอยบ้านเดียวกันเป็นจิตอาสาสอนภาษาอังกฤษให้เด็กนักเรียนวัดแถวบ้าน โดยสอนทุกวันอาทิตย์ช่วง 13.00 - 15.00 น. ซึ่งเป็นเด็กที่พ่อแม่ต้องออกไปทำงานไม่มีเวลาสอนลูก จึงมาฝากให้ทางวัดอบรมในเรื่องพุทธศาสนาและการศึกษาอื่นๆเพิ่มเติม เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน เราอยากรู้ว่าเค้าสอนกันยังไงก็เลยตามเป็นผู้ช่วยสอน โดยช่วงชั่วโมงแรกจะสอนเด็กประถมตั้งแต่ ป.1- ป.3 เราลองนับดูแล้วประมาณ 20 กว่าคน ส่วนช่วงหลังจะสอนเด็ก ป.4- ม.2 เด็กน่าจะเกือบ 20 คน แต่ก่อนไม่มีหนังสือเรียนก็อาศัยจดที่กระดานแล้วให้เด็กจดลงในสมุด รุ่นพี่คนนี้รวบรวมเงินบริจาคได้จำนวนหนึ่งจึงไปซื้อหนังสือเรียนภาษาอังกฤษแจกเด็กๆ เราชอบสอนเด็กเล็กที่สอนในชั่วโมงแรกเพราะเราได้เดินดูเด็กทุกคนหัดเขียนตัวอักษรภาษาอังกฤษในหนังสือที่แจกไป

วันนี้เราสอนการทักทายเบื้องต้น เราอ่านนำให้เด็กๆอ่านตาม พอพูดได้บ้างแล้วก็หัดเขียนคำทักทายที่เราพูดตามรอยเส้นปะ พอเด็กๆเขียนเสร็จก็มาให้ตรวจโดยสอบอ่านทีละคน ระหว่างที่รอตรวจการบ้านก็จะมีเด็กบางคนที่ยังเขียนไม่เสร็จ เราก็เดินดูไปเรื่อยๆว่าเขียนกันไปถึงไหนแล้ว บางคนเขียนตรงตามเส้นเป๊ะ บางคนก็เขียนไม่ตรงเส้นหยิกๆงอๆก็มี แต่มีอย่างนึงที่น่าสนใจจากการที่เราเดินดูเด็กๆหัดเขียน

วิธีการเขียนให้เสร็จเร็ว โดยวิธีที่เด็กคนนี้ใช้นั้นทำให้เค้าจำคำศัพท์ไม่ได้ เขียนเพื่อใ้ห้เสร็จแล้วส่งเท่านั้น เพราะเราทดสอบให้เด็กสะกดคำศัพท์ที่พึ่งเขียนเสร็จให้ฟังก็ยังจำไม่ได้ เรามาดูวิธีการเขียนของเด็กคนนี้กันว่าเขียนตามเส้นปะอย่างไร

ตัวอย่างคำที่เขียนตามเส้นปะวันนี้ คือ GOOD MORNING


วิธีเขียนของเด็กคนนี้จะเขียนตัว G จากทั้งหมดก่อนแล้วตามด้วยตัว O ทีละแถวจากซ้ายไปขวา ซึ่งคล้ายๆกับการเขียนซ้ำๆกันจนชำนาญก็ทำให้เขียนเร็ว


หลังจากที่มองเด็กเขียนสักพักเราก็เข้าไปบอกวิธีการเขียนใหม่ที่น่าจะทำให้จำคำศัพท์ได้ง่ายขึ้น โดยบอกให้เด็กเขียนทีละบรรทัดจากบนลงล่าง ระหว่างเขียนให้อ่านออกเสียงตัวอักษรและท่องศัพท์ไปด้วย


ตอนแรกเราก็ไม่คิดว่าเด็กประถม 3 จะเข้าใจที่เราพูด เด็กอีกคนที่นั่งข้างหน้าเด็กคนนี้ก็ใช้วิธีการเขียนแนวตั้งเพื่อเขียนให้เสร็จเร็วเหมือนกัน เราก็เดินเข้าไปบอกว่า "ถ้าหนูเขียนแบบนี้หนูเขียนเสร็จเร็ว แต่หนูจำคำศัพท์ไม่ได้แสดงว่า........." เด็กตอบกลับมาว่า "เขียนไม่เสร็จ" เราก็ดีใจมากเพราะเด็กเข้าใจ แค่เราอธิบายเหตุผลให้ฟังเด็กก็รู้เรื่อง ถ้าเราใช้วิธีออกคำสั่งว่า "ห้ามเขียนแบบนี้นะ" เด็กก็อาจจะฟังบ้าง ไม่ฟังบ้าง แต่ไม่เข้าใจว่าเพราะอะไรถึงห้ามทำแบบนั้น 

** อย่าลืมว่าเด็กรู้เรื่องทุกอย่างที่เราต้องการจะบอก เพียงแต่เราจะมีวิธีอธิบายให้เด็กเข้าใจได้มากแค่ไหน ถ้าสารที่ส่งออกไปมันผิดที่คนส่งสารก็อย่าไปโทษว่าเด็กไม่เข้าใจ

แบบฝึกหัดเขียนครั้งนี้ทำให้เรารู้ว่าเขียนเสร็จเหมือนกัน แต่ผลลัพธ์ที่ได้ต่างกัน ถ้าเปรียบเทียบการจำคำศัพท์ได้และจำคำศัพท์ไม่ได้กับการทำงาน ดังนี้

จำคำศัพท์ได้ ==> การทำงานอย่างมีแบบแผน ช้าๆแต่ชัวร์ 
จำคำศัพท์ไม่ได้ ==> การทำงานเสร็จเร็วแต่ไม่มีคุณภาพทำให้ต้องมาแก้ไขทีหลัง 

จากเรื่องนี้ก็สะท้อนให้เราเห็นอะไรบางอย่าง คือ ระบบการศึกษา หลังจากที่เห็นข่าวว่า "เด็กไทยระดับประถมอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้" เราจึงโทรถามน้าที่เป็นผู้ตรวจโรงเรียนที่ต่างจังหวัดว่าการศึกษาเด็กไทยเป็นถึงขนาดนั้นเลยหรอ ไฟฟ้าเข้าถึงเกือบทุกบ้านแล้วก็น่าจะมีเวลาอ่านหนังสือมากขึ้น เราถามน้าด้วยคำถามที่คับข้องใจมานานว่า "พ่อแม่ก็อ่านหนังสือออกทำไมไม่สอนลูกอ่านหนังสือ ครอบครัวช่วยกันดูแลบ้าง ไม่ใช่อะไรก็โยนให้ครูสอนทุกอย่าง ลูกศิษย์ตั้งเยอะครูดูแลไม่ทั่วถึงอยู่แล้ว" จากคำตอบของน้าก็ทำให้เรารู้เลยว่าระบบการศึกษาของเราไม่พัฒนาขึ้นเพราะอะไร  "ก็เพราะพ่อกับแม่ต้องออกไปทำงานหาเงินจนไม่มีเวลาอบรมสั่งสอนลูก"

น้าแนะนำว่าถ้าเราอยากจะช่วยก็ไปสอนเด็กยากจนที่เร่ร่อนใต้สะพานน่าจะดีกว่า เพราะความคิดที่ให้ครอบครัวดูแลกันเองนั้นเป็นเพียงหลักการที่ดูดีแต่ทำยาก เราเห็นคนพูดเรื่องช่วยสังคมมามากแล้ว ตอนนี้เราอยากเห็นคนช่วยกันลงมือทำ ลองหาเวลาว่างวันเสาร์ - อาทิตย์เป็นจิตอาสาสอนเด็กๆที่ไหนก็ได้ แล้วเราจะเห็นพลังของเด็กที่ทำให้ไฟในการทำงานของเราลุกขึ้นอีกครั้ง


บทความน่าสนใจ

สร้างแรงบันดาลใจเป็นตัวเลข
==> http://pajareep.blogspot.com/2013/10/blog-post_28.html

ภาพรวมของการวางแผนการเงินส่วนบุคคลมี 5 แผน
==> http://pajareep.blogspot.com/2013/10/5.html

วันเสาร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ความสามารถของเรามีมูลค่าเท่าไหร่??



นวัตกรรมทำให้เรารู้ว่ามนุษย์นั้นมีศักยภาพในการคิดและทำสิ่งต่างๆได้มากมายโดยไม่มีขีดจำกัด ปัญหาความต้องการไม่สิ้นสุดของมนุษย์ทำให้โลกใบนี้มีสิ่งประดิษฐ์เกิดขึ้นมากมาย บางความคิดที่เหมือนไร้สาระและเป็นไปไม่ได้นั้นก็พลิกอุตสาหกรรมได้อย่างไม่น่าเชื่อ ตัวอย่างเช่นอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่ปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว โดยขณะที่การแชทบนมือถือ BlackBerry ได้รับความนิยม ก็ไม่มีใครคาดคิดว่าจะถูก iPhone ที่เป็นระบบสัมผัสเข้ามาแทนที่และทำให้ BlackBerry ขาดทุนจนต้องขายกิจการ และใครเป็นคนทำเรื่องเหล่านี้ถ้าไม่ใช่ทรัพยากรมนุษย์


นวัตกรรมนั้นเกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ มันจะเกิดขึ้นเองไม่ได้ถ้าเราไม่ช่วยกันสร้างปัญหาและช่วยกันคิดแก้ปัญหานั้นๆ จึงทำให้มนุษย์เป็นทรัพยากรที่มีค่ามากที่สุด แม้เราจะไม่ใช่คนที่สร้างนวัตกรรมเพื่อเปลี่ยนโลก แต่เราทุกคนก็มีคุณค่าในตัวเองที่ธรรมชาติได้เลือกแล้วว่าเราควรเกิดเป็นมนุษย์มากกว่าเกิดเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น ดังนั้นโปรดอย่าทำให้ธรรมชาติเสียใจที่สร้างเราขึ้นมา

เราคิดว่าทรัพยากรที่มีค่ามากที่สุดควรมีมูลค่าเท่าไหร่ โดยที่คุณค่านั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกที่เป็นรูปร่างหน้าตาหรือฐานะการเงิน แต่อยู่ที่สิ่งที่มีอยู่ในตัวของเราทุกคนก็คือ ความสามารถในการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ 

ถ้าเป็นสิ่งของ เช่น ต้นไม้ พืชสมุนไพร วัตถุโบราณ ทองคำ เพชร ภาพวาดโบราณ ฯลฯ เราสามารถให้มูลค่าจากประโยชน์ของสิ่งเหล่านั้น ยิ่งเป็นสิ่งของหายาก เป็นที่ต้องการของตลาด ราคายิ่งแพง สมมติต้นไม้อายุ 5 ปีเท่ากัน เช่น ต้นมะพร้าว ต้นคูณ ต้นสัก ต้นพะยูง ต้นกฤษณา เราคิดว่าต้นไม้แต่ละชนิดราคาเป็นเท่าไหร่ หรือภาพวาดโบราณที่ไม่ค่อยมีมูลค่าในสมัยที่ผู้วาดนั้นมีชีวิตอยู่ แต่พอเวลาผ่านไปความนิยมในศิลปะแพร่หลายมากขึ้น จึงทำให้ภาพวาดโบราณนั้นมีมูลค่ามากขึ้น จนกระทั่งมากพอที่จะบ่งบอกรสนิยมและฐานะของผู้ครอบครอง 

แล้วทรัพยากรมนุษย์ที่มีความสามารถในการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆนั้นควรมีมูลค่าเท่าไหร่ รบกวนผู้อ่านอย่าเข้าใจผิดคิดว่าเรานำความเป็นมนุษย์มาตีราคาว่ามีค่าเท่าไหร่ เพราะความเป็นมนุษย์นั้นตีมูลค่าไม่ได้ แต่เรากำลังจะอธิบายมูลค่าทางเศรษฐกิจของมนุษย์ (มูลค่าความสามารถของมนุษย์ในการสร้างรายได้ในปัจจุบันจนกระทั่งเกษียณอายุ อธิบายวิธีการคำนวณข้างล่าง) ซึ่งทุกคนเกิดมาปฏิบัติหน้าที่ของตนในระยะเวลาที่แตกต่างกัน เราลองทำภาพรวมของอายุว่าช่วงการทำงาน เกษียณแล้วก็ถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ตั้งแต่อายุ 22 - 90 ปี เพื่อจะบอกว่าเราควรแบ่งเงินบางส่วนเป็นเงินออมเพื่ออะไร 

ภาพเวลาชีวิต


ภาพนี้ข้างบนเป็นอายุของเราตั้งแต่เริ่มทำงานจนกระทั่งโค้งสุดท้ายของชีวิต ลูกศรสีเขียวนั้นเป็นช่วงที่เราเริ่มทำงาน(อายุ 22 ปี) ลูกศรสีฟ้าเป็นช่วงเวลาที่เราเกษียณ(อายุ 60 ปี) และลูกศรสีแดงเป็นช่วงวาระสุดท้ายของชีวิต(อายุ 90 ปี) แต่ถ้าวิทยาการทางการแพทย์เจริญก้าวหน้ามากขึ้นซึ่งเราอาจจะมีอายุถึง 100 ปี จากภาพจะเห็นว่าเราหาเงินมาครึ่งชีวิต(ลูกศรสีเขียวถึงลูกศรสีฟ้า)เพื่อนำไปใช้อีกครึ่งชีวิตที่เหลือ(ลูกศรสีฟ้าถึงลูกศรสีแดงหรือเกินกว่านั้น)

การสร้างรายได้นั้นเกิดจากการทำงานซึ่งมี 2 วิธี คือ
  • การใช้แรงงาน คือ การใช้แรงของเราทำงานเพื่อได้รับผลตอบแทน ถ้าเราสุขภาพแข็งแรง มีเรี่ยวแรงในการทำงานมากก็จะได้รับผลตอบแทนมาก ซึ่งเรียวแรงในการทำงานจะลดลงในขณะที่อายุของเราเพิ่มขึ้น โดยจะมีข้อได้เปรียบในการทำงานแตกต่างกัน เช่น คนอายุ 25 กับ 65 
    • คนอายุ 25 จะมีแรงทำงานมากกว่าคนอายุ 55 แต่ยังไม่มีประสบการณ์
    • คนอายุ 55 จะมีแรงทำงานน้อยกว่าคน 25 แต่มีประสบการณ์มากกว่า
ถ้านำคนสองรุ่นนี้มาทำงานด้วยกันก็จะมีประสิทธิภาพมากเพราะให้คนอายุ 25 ลงแรงทำงานจากประสบการณ์และคำแนะนำของคนอายุ 55 ปี  แต่ถ้าคนอายุ 25 กับ 55 เป็นบุคคลเดียวกันหละ คือ ตัวเราขณะที่อายุ 55 ก็คงไม่สามารถอดหลับอดนอนทำงานได้เหมือนกับตอนอายุ 25 อย่างแน่อนอน ตัวอย่างการใช้แรงงานแลกผลตอบแทนที่เป็นทั้งเงินและประสบการณ์ เช่น ชีวิตมนุษย์เงินเดือน เจ้าของกิจการที่บริหารงานเอง พ่อค้าหรือแม่ค้าที่ตลาดนัด นักเขียนอิสระ หรืออาชีพอื่นๆที่ต้องใช้เวลาของเราไปแลกกับผลตอบแทน
  • การให้เงินทำงานแทนเรา คือ รายได้ที่เราสะสมไว้ในรูปแบบต่างๆ โดยที่เงินนั้นสามารถสร้างผลตอบแทนให้เราได้ขณะที่เราทำงานและเกษียณจากการทำงานแล้ว ซึ่งจะมาในรูปแบบของดอกเบี้ย เงินปันผล รายรับจากค่าเช่า ฯลฯ 
ดังนั้น เราควรกระจายแหล่งทำเงินให้งอกเงยจากรายได้ตั้งแต่ช่วงที่มีแรงทำงาน โดยส่งให้เงินไปทำงานในหุ้น กองทุนรวม สังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ให้เช่า ประกันชีวิตควบการลงทุน(Unit Link) หรือแหล่งใดก็ได้ที่ทำให้ช่วงวัยพักผ่อน(เกษียณ)มีเงินใช้โดยที่เราไม่ต้องออกแรงมาก แต่ถ้าถึงวัยเกษียณแล้วก็ยังต้องทำงานแบบเบาๆเพื่อให้สมองทำงาน มิฉะนั้นจะเบื่อ เหงา และรู้สึกว่าเวลาในแต่ละวันนั้นผ่านไปช้ามาก

คำถาม : ถ้าเราไม่เริ่มวางแผนการการออมเงินตั้งแต่ช่วงเวลาที่เรามีกำลังมากที่สุดในการหาเงินตอนนี้แล้วจะไปเริ่มตอนไหน??

คำตอบที่เรามักจะได้ยินกันจนชินเกี่ยวกับการไม่ออมเงิน
  • ตอนนี้มีภาระเยอะ เพราะต้องผ่อนบ้าน ผ่อนรถยนต์ ผ่อนบัตรเครดิต ค่าเทอมลูกเรียนหนังสือ ถ้ามัวแต่นำเงินไปออมแล้วจะมีเงินตรงไหนมาชำระค่าใช้จ่ายเหล่านี้หละ
  • เป็นช่วงกอบโกย ธุรกิจกำลังรุ่งเรืองเพราะมีคนมาจ้างให้ทำงานเยอะ รายได้ไหลมาไม่หยุด ไม่อยากเสียเวลาไปวางแผนการออมหรอก นำเงินมาหมุนในธุรกิจได้ผลตอบแทนดีกว่าเยอะ
  • ไม่มีเวลาไปทำอย่างอื่นเลยนอกจากงานประจำท่วมหัว ตอนนี้เงินเดือนขึ้น ทำให้เราได้งานเพิ่มขึ้น ทำงานเยอะๆจะได้ประเมินออกมาดีและปลายปีจะได้โบนัสเยอะๆ ไม่มีเวลาศึกษาเรื่องการออมเงิน
  • ทำงานมีเงินเดือนแล้วก็ต้องให้รางวัลกับชีวิตบ้างซิ แค่ทำงานก็เครียดมากแล้ว ขอมีความสุขกับการใช้เงินหน่อยละกัน ซื้อทุกอย่างที่อยากได้ ใช้เงินซื้อความสุขดีกว่าเอาเงินไปเก็บไว้เฉยๆ ส่วนเรื่องออมเงินเอาไว้ทีหลังก็ได้เพราะเป็นคนทำงานเก่ง แข็งแรง หาเงินได้เยอะ
คำถาม : วันนี้เป็นอดีตของพรุ่งนี้ และวันนี้ก็เป็นอนาคตของเมื่อวาน ถ้าไม่มีวันนี้แล้วอนาคตจะเป็นอย่างไร??
  • ถ้าไม่มีวันนี้แล้วอนาคตภาระผ่านบ้าน ผ่อนรถยนต์ ผ่อนบัตรเครดิต ค่าเทอมลูกเรียนหนังสือใครจะรับผิดชอบ??
  • ถ้าไม่มีวันนี้แล้วอนาคตใครจะวางแผนกลยุทธ์ให้ธุรกิจเจริญเติบโตต่อไป ธุรกิจจะหยุดชะงักหรือไม่??
  • ถ้าไม่มีวันนี้บริษัทก็หาคนอื่นมาทำงานแทนได้รึเปล่า??
  • ถ้าไม่มีวันนี้แล้วความสุขนั้นเกิดจากเงินหรือภาวนาให้รอดพ้นจากโรคร้าย??
คำตอบ : ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน แม้ว่านโยบายภาครัฐดูแลเราดีแค่ไหน บริษัทที่เราทำงานด้วยนั้นมีความมั่นคงและสวัสดิการดีมากเพียงใด ก็ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของเราได้ครบทุกสิ่งทุกอย่าง ดังนั้น เรามาเริ่มทำวันนี้โดยลดความไม่แน่นอนของอนาุคตด้วยความมั่นคงจากการออมเงิน ซึ่งเริ่มง่ายๆจากการเริ่มต้นวางแผนการออมเงินจากแนวความคิดคุ้มครองความสามารถในการหารายได้ของเรา

คำถาม : ความสามารถสร้างรายได้ของเรามีมูลค่าเท่าไหร่??
สำหรับวิธีการคำนวณจะแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ วิธีที่คิดขึ้นเองกับวิธีตามหลักการในทฤษฎี
  • วิธีที่ 1 คือ เราคิดขึ้นเองเพื่อที่จะให้ผู้อ่านเข้าใจแนวคิดของความสามารถในการหารายได้ของเรา โดยคำนวณอย่างง่าย เป็นตัวเลขโดยประมาณและมีความคลาดเคลื่อนสูงเพราะใช้ปัจจัยเงินเดือนคงที่เพียงอย่างเดียว(ซึ่งในความจริงต้องมีปัจจัยเกี่ยวข้องมากกว่านี้)
ตัวอย่าง จากภาพเวลาชีวิตข้างต้นนั้นเราเริ่มทำงานตอนอายุ 22 ปี มีเวลาทำงาน 38 ปีก่อนที่จะเกษียณตอนอายุ 60 ปี เราสะสมเงินเพื่อไว้ใช้หลังเกษียณจนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิตที่อายุ 90 ปี(หรือเกินกว่านั้น) 
    • สมมติให้เงินเดือนคงที่ตั้งแต่เริ่มทำงานจนเกษียณอายุปีละ 300,000 บาท 
    • ทำงาน 38 ปีจะเป็นรายได้ทั้งสิ้น 300,000 x 38 = 11,400,000 บาท
    • ถ้าเกิดเหตุไม่คาดฝันทำงานได้เพียง 20 ปีแล้วเสียชีวิต เราจะมีรายได้ทั้งสิ้น 300,000 x 20 = 6,000,000 บาท ซึ่งเงินรายได้เราหายไป 11,400,000 - 6,000,000 = 5,400,000 บาท
คำถาม ==> ในกรณีที่เราทำงานโดยใช้แรงงานอย่างเดียวทั้งชีวิต ถ้าเราประสบอุบัติเหตุทำงานไม่ได้หรือเสียชีวิตไปก่อนวัยอันควร คุณคิดว่าครอบครัวคุณจะมีรายได้เป็น 11,400,000 บาทหรือไม่ และถ้ามีทางเลือกทำไมเราถึงไม่คุ้มครองความสามารถในการหารายได้ที่เราคาดว่าจะทำได้ในอนาคต
  • วิธีที่ 2 คือ การคำนวณตามหลักการในทฤษฎีของหลักสูตรนักวางแผนการเงิน(การวางแผนประกันภัย) เรื่องมูลค่าทางเศรษฐกิจของบุคคล ซึ่งจะเป็นตัวเลขประมาณการณ์ใกล้เคียงความเป็นจริง ซึ่งวิธีการนี้เรานำมาจากเอกสารที่ฝึกอบรมเกี่ยวกับการวางแผนการเงิน
มูลค่าทางเศรษฐกิจของบุคคล(Human Life Value Approach) คือ มูลค่าปัจจุบันของจำนวนรายได้ทั้งหมดที่คาดว่าเราจะทำได้ในช่วงชีวิตที่เหลือในการทำงานหรือจนกว่าจะเกษียณอายุ

แนวคิด
==> บุคคลแต่ละบุคคลมีมูลค่าในเชิงเศรษฐกิจซึ่งสามารถคำนวณได้จากความสามารถในการหารายได้ของบุคคลนั้น
==> จำนวนเงินเอาประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตควรจะเพิ่มขึ้นตามความสามารถในการหารายได้ที่เพิ่มขึ้นของแต่ละบุคคล

ปัจจัยที่สำคัญที่ต้องพิจารณาในการคำนวณหามูลค่าปัจจุบันมี 5 ปัจจัย คือ
  1. รายได้จากการทำงานสุทธิ ณ ปีปัจจุบันต่อปีหลังหักภาษี (c)
  2. อัตราการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการทำงานสุทธิต่อปีปรับด้วยอัตราเงินเฟ้อ(g)
  3. จำนวนปีการทำงานในปัจจุบันจนถึงปีที่คาดว่าจะเกษียณ (n)
  4. อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนหลังหักภาษีปรับด้วยอัตราเงินเฟ้อ (r)
  5. อัตราคิดลดหลังหักภาษี ( i ) 
    • การคำนวณอัตราคิดลด ( i ) =  (r-g) / (1+g) 
ตัวอย่าง นายเออายุ 35 ปีเป็นคนโสดทำงานบริษัทได้เงินเืดือนเฉลี่ยปีละ 500,000 บาท อัตราเพิ่มขึ้นของรายได้เฉลี่ยหลังปรับอัตราเงินเฟ้อปีละ 5% เสียภาษีเงินได้ปัจจุบันปีละ 29,000 บาท คาดว่าจะเกษียณอายุ 60 ปี จงคำนวณหาทุนประกันภัยที่เหมาะสมโดยใช้วิธี Human Life Value Approach ซึ่งกำหนดให้อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนหลังหักภาษีปรับด้วยอัตราเงินเฟ้อเท่ากับ 6%


ความสามารถในการหารายได้ของนายเอจากอายุ 35 ถึง 60 ปี คือ 10,434,185.95 บาท กรณีที่นายเอจะซื้อประกันคุ้มครองความสามารถก็ควรทำที่ทุนประกัน 10,434,185.95 บาท ถ้านายเอเกิดเหตุไม่คาดฝันก่อนที่จะถึงอายุ 60 ปีทางครอบครัวก็จะได้รับเงินตามทุนประกันที่ทำไว้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับรูปแบบของแผนประกันชีวิตและความสามารถในการชำระเบี้ยประกัน ไม่จำเป็นต้องทำทีเดียวด้วยทุนประกันที่สูง ควรเริ่มจากทุนประกันน้อยๆก่อน แล้วจึงมากขึ้นตามความสามารถของเราในอนาคต

ตัวเลข 10,434,185.95 มาจากการคำนวณของเครื่องคิดเลขทางการเงิน โดยใช้การคำนวณแบบสิ้นงวด ( Ending Mode) เพราะรายได้เราได้รับตอนสิ้นงวด วิธีการกดเครื่องคิดเลขตามลำดับ ดังนี้ (ถ้าไม่ถนัดกดเครื่องคิดเลขก็สามารถใช้ Excel คำนวณได้เหมือนกัน)


ข้อจำกัดของวิธีนี้ คือ
  1. เงินชดเชยจากแหล่งรายได้อื่นไม่ถูกนำมาคำนวณด้วย เช่น สิทธิประโยชน์จากประกันสังคม 
  2. สมมติฐานการเติบโตของรายได้ในแต่ละปี (g) และปัจจัยอื่นๆนั้นคงที่ ซึ่งเป็นรูปแบบที่ง่ายแต่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง
  3. ไม่ได้คำนึงถึงค่าใช้จ่ายของครอบครัวที่อาจะมีการเปลี่ยนแปลงในอนาคต เช่น การมีบุตร การเสียชีวิต การเจ็บป่วย ผลกระทบจากน้ำท่วม 
  4. ผู้ที่จะซื้อประกันตามทุนประกันที่คำนวณได้นั้นอาจจะประสบปัญหาการจ่ายเบี้ยประกันอันเนื่องมาจากไม่มีกำลังทรัพย์ที่เพียงพอ
ทั้งหมดนี้เป็นแนวคิดเบื้องต้นที่ทำให้เรามองเห็นความสำคัญของความสามารถในการหารายได้ของเรากับการออมเงิน ซึ่งผลิตภัณฑ์ทางการเงินแต่ละรูปแบบนั้นตอบสนองเป้าหมายการออมแตกต่างกัน เช่น
  • พันธบัตรรัฐบาล ตราสารหนี้ภาคเอกชน เหมาะสำหรับผู้ออมที่ต้องการได้รับดอกเบี้ยที่แน่นอน อ้ัตราผลตอบแทนต่ำ เน้นความปลอดภัยของเงินต้นเป็นหลัก(ขึ้นอยู่กับอันดับเครดิตของผู้ออกตราสารหนี้นั้นๆ)
  • การออมในหุ้น เหมาะสำหรับผู้ออมที่ต้องการได้ผลตอบแทนสูง ซึ่งความเสี่ยงก็จะสูงตามไปด้วยโดยขึ้นอยู่กับลักษณะการลงทุนเป็นหลัก เช่น นักลงทุนแนวซื้อแล้วถือเพื่อรอปันผลโดยเน้นพื้นฐานเป็นหลักก็จะไม่ค่อยกังวลในขณะที่หุ้นตกหนักๆเหมือนกับนักลงทุนประเภทเก็งกำไร
  • การออมในกองทุนรวม เหมาะสำหรับผู้ออมที่ไม่มีเวลาติดตามข่าวสาร ต้องการหาผู้ดูแลพอร์ตการลงทุนแทนตนเอง หรือเพื่อเป้าหมายการประหยัดภาษี
  • การออมในรูปแบบสลากออมสินหรือสลาก ธกส. เหมาะสำหรับผู้ออมที่รักการเสี่ยงโชคลุ้นเลข โดยที่เงินต้นอยู่ครบและเมื่อครบกำหนดยังได้รับดอกเบี้ย 
  • การออมในรูปแบบเงินสดไว้ในธนาคาร เหมาะสำหรับผู้ออมที่ต้องการสภาพคล่องของเงินสด พอต้องการใช้ก็สามารถถอนได้อย่างทันใจ แต่ถ้าเก็บไว้มากๆก็จะกลายเป็นเงินขี้เกียจเพราะผลตอบแทนแพ้เงินเฟ้อ
  • การออมสะสมทรัพย์ในรูปแบบประกันชีวิต เหมาะสำหรับผู้ออมเงินที่ต้องการเก็บเงินและได้รับความคุ้มครองชีวิตไปพร้อมๆกัน (หรือเพื่อเป้าหมายประหยัดภาษี) ซึ่งแต่ละรูปแบบการประกันชีวิตก็จะมีตัวเลือกว่าจะคุ้มครองเฉพาะชีวิต อุบัติเหตุ คุ้มครองโรคร้ายแรง ฯลฯ  ชีวิตเราคงไม่สนุกอีกต่อไปถ้าเงินที่เราลำบากหามานั้นต้องมาจ่ายค่ารักษาพยาบาลหรือถ้าเราป่วยจนกระทั่งทำงานไม่ได้ก็จะเป็นภาระรายจ่ายให้กับครอบครัว(ลูกศรสีส้ม) แม้ว่าเงินชดเชยจากการประกันชีวิตที่ได้รับไม่อาจจะครอบคลุมภาระทางการเงินของคนในครอบครัวเราได้ทุกด้าน แต่มันสามารถบรรเทาความความเสียหายให้เบาบางลงได้


คำถามสั้นๆก่อนจบบทความ 
  • คุณซื้อประกันรถยนต์ด้วยทุนประกันเท่าไหร่ ===> ???
  • แล้วความสามารถของเราหละ ควรมีทุนประกันที่เท่าไหร่ ==> ???
อย่าให้ความคุ้มครองตัวเราน้อยกว่ามูลค่ารถยนต์นะจ๊ะ มันคงแปลกๆที่สิ่งของมีมูลค่ามากกว่าตัวเราก่อนที่จะเข้าใจผิดคิดว่าบทความนี้ขายประกัน ผู้เขียนเพียงนำบางส่วนของหัวข้อที่เรียนมาขยายโดยใส่ตัวอย่างให้เห็นชัดเจนมากขึ้น ซึ่งสรุปภาพรวมของการวางแผนการเงินซึ่งประกอบด้วย 5 ด้าน ( http://pajareep.blogspot.com/2013/10/5.htmlด้วยกัน คือ
  1. สภาพคล่องและหนี้สิน
  2. ความเสี่ยงของบุคคล(ประักันชีวิต)
  3. การลงทุน
  4. การเกษียณ
  5. ภาษีและมรดก


บทความที่น่าสนใจ


สร้างแรงบันดาลใจเป็นตัวเลข
==> http://pajareep.blogspot.com/2013/10/blog-post_28.html

บทเรียนจากแบบฝึกหัดเขียน