วันพฤหัสบดีที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2556

บันไดขั้นแรกของความมั่งคั่ง




ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเราเจอคอมเม้นหนึ่งในกระทู้ Pantip ว่า "เงินเรื่องใหญ่ที่โรงเรียนไม่เคยสอน" ซึ่งเป็นประโยคที่โดนใจเรามาก จนเกิดเป็นคำถามขึ้นในใจว่าโรงเรียนไม่สอนเรื่องการใช้เงินจริงหรือ ถาม Google คงตอบเราไม่ได้ทุกอย่าง แบบนี้เราต้องพิสูจน์ว่าจริงหรือไม่ สถานที่ที่ตอบคำถามเราดีที่สุด คือ โรงเรียน ปกติช่วงเวลาบ่ายโมงของทุกวันอาทิตย์เราเป็นครูอาสาสอนเด็กแถวบ้านในวัดแห่งหนึ่งที่ จ.นนทบุรี ซึ่งพระอาจารย์ให้เด็กมาทำกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาพร้อมกับสอนวิชาการให้เด็กเพื่อให้มีจริยธรรมและความรู้กลับบ้าน มีครูสอนด้วยกัน 2 คนคือ รุ่นพี่กับเรา ซึ่งปกติจะสอนวิชาภาษาอังกฤษกับคณิตศาสตร์ สัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นช่วงเวลาที่ดีที่จะสอนเรื่อง การออมเงิน ให้กับเด็กกลุ่มนี้

เราแจกกระดาษเปล่าให้เด็กทั้งหมด 36 คน ซึ่งเป็นเด็กช่วงอายุเด็กตั้งแต่อนุบาล 2 - ม.3 โดยให้ตอบคำถามว่า "ถ้าได้เงินค่าขนมจากผู้ปกครองมาน้องจะนำเงินนั้นไปทำอะไร"  ซึ่งเด็กอนุบาล 2- ป3 ได้ค่าขนม 50 บาทและเด็ก ป.4 ขึ้นไปได้ค่าขนม 1,000 บาท เราให้เวลาน้องเขียนคำตอบ 10 นาทีแล้วก็ส่งกระดาษคำตอบ ซึ่งคำตอบที่เราได้รับแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม(มีภาพคำตอบให้ดูที่ข้างท้ายบทความ) คือ
  • กลุ่มที่ 1 เด็กที่แบ่งสัดส่วนการใช้เงินว่ากิน ออมเงิน เก็บไว้ฉุกเฉินเท่าไหร่ คิดเป็น 11%
  • กลุ่มที่ 2 เด็กที่นำเงินฝากธนาคารเพียงอย่างเดียว คิดเป็น 36%
  • กลุ่มที่ 3 เด็กที่ตอบว่านำเงินไปกินขนมทั้งหมด คิดเป็น 53%
เราให้น้องที่อยู่กลุ่มที่ 1 มาบอกว่าทำไมถึงมีวิธีการใช้เงินแบบนั้นเพราะจะได้เป็นประโยชน์ให้คนอื่นทำตาม ระหว่างนั้นเด็กหลายคนก็เริ่มคุยกันไม่ฟังคนที่อยู่หน้าห้องว่ากำลังพูดอะไร เราตะโกนให้เงียบสักพักเริ่มเจ็บคอก็เลยหาวิธีใหม่ให้เด็กยอมฟังและไม่เจ็บคอด้วย คือ ให้เด็กที่กำลังคุยกับเพื่อนออกมาตอบคำถามเราที่หน้าห้อง เรามองไปทั่วห้องถ้าเห็นเด็กคนไหนคุยก็เรียกออกตอบคำถามที่หน้าห้อง จนมีเด็ก ป.1 คนนึงหันมามองหน้าเรา โบกไม้โบกมือแล้วพูดว่า "หนูตั้งใจฟังแล้วค่ะ อย่าเรียกหนูไปหน้าห้องนะคะ" ตอนนั้นอยากอัดวีดีโอหน้าของน้องมาให้ดูจริงๆเพราะขำตลอดที่นึกถึง น้องดูซื่อและน่ารักมากๆ เราคิดว่าเด็กกลัวการพูดหน้าห้องก็เลยใช้วิธีนี้ให้เด็กเงียบ แล้วมันก็ได้ผลซะด้วยซิ

ประเด็นสุดท้ายที่เราสอนเื่รื่องการออมเงินจะเป็นสิ่งที่เราอยากให้เด็กๆคิดเป็นมากกว่าใส่ความคิดเราลงไป เราตั้งคำถามและให้เด็กทั้งห้องช่วยกันตอบ เพราะเราอยากรู้ว่าถ้าเจอสถานการณ์แบบนั้นน้องจะแก้ปัญหากันอย่างไร มีการสนทนาดังนี้

เรา : ถ้าน้องใช้เงินกินขนมหมดเลยไม่มีเงินออม แล้วจะนำเงินตรงไหนไปซื้อของเล่นที่อยากได้คะ?
เด็ก : ขอพ่อกับแม่ไงครับ
เรา : ถ้าพ่อกับแม่ทำงานแล้วเงินไม่พอใช้ หาเงินให้น้องเรียนไม่ได้ น้องจะทำยังไงคะ?
เด็ก : ก็ไปถอนเงินในธนาคาร
เรา : ถ้าน้องถอนเงินในธนาคารใช้จนหมดแล้วจะนำเงินตรงไหนมาใช้คะ?
เด็ก : ก็ไปกู้ไงคะ (คำตอบนี้เป็นของเด็ก ป.4 ซึ่งทำให้เราเจ็บใจสุดๆ)
เรา : ถ้าน้องไปกู้เงินแล้วน้องใช้หนี้เค้าไม่ได้น้องจะทำยังไงคะ?
เด็ก : ก็ไปกู้อีกที่นึงมาให้อีกที่นึงไง (มันจี๊ดตรงนี้แหละ -_-!!)
-------จบการสนทนา-------

เป้าหมายของคำถามทั้งหมดเพื่อจะได้ยินคำตอบว่า "หยอดกระปุกออมเงิน ลดค่าขนม หาเงินเพิ่ม" ไม่มีสักคำตอบเดียวที่เข้าข่ายสิ่งที่เราต้องการอยากจะได้ยิน พอเรารู้ว่าความคิดเรื่องการออมเงินเป็นอย่างไรเราก็เริ่มใส่สิ่งที่มีประโยชน์กว่าการกู้เงินเพื่อใช้จ่ายให้น้องฟังว่าควรทำอะไรบ้าง เช่น คิดก่อนที่จะใช้เงิน ตั้งใจเรียน ช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน ถ้าเด็กโตหน่อยก็จะให้ทำกำไรข้อมือขายแทนที่จะซื้อ และสอนน้องให้จำไว้คำนึงว่า "เป็นหนี้มันไม่ดี" แต่ถ้าสอนรายละเอียดมากกว่านี้น้องคงไม่เข้าใจว่าหนี้ดีกับหนี้ไม่ดีเป็นอย่างไร ไว้ให้น้องหาคำตอบเองตอนโตขึ้น ถ้าอยากรู้ว่าลูกของคุณคิดอย่างไรกับการออมเงินอาจจะใช้คำถามข้างต้นเป็นประตูสู่ความคิดของเด็กก็ได้ว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร

แม้ว่าเด็กกลุ่มนี้ไม่ได้เป็นคำตอบของเด็กทุกคน แต่มีสิ่งนึงที่เราได้รับจากกรณีตัวอย่างข้างต้นที่เป็นบันไดขั้นแรกของความมั่งคั่ง คือ การปลูกฝั่งค่านิยมการออมเงิน ให้เด็กโดยที่ผู้ใหญ่ต้องทำตัวเป็นแบบอย่างให้ดูเป็นรูปธรรมจับต้องได้มากกว่าการพูดให้เด็กออมเงินที่เป็นนามธรรมซึ่งเด็กอาจจะฟังแต่ไม่เข้าใจว่าออมเงินไปทำไม

ตัวอย่างเช่น การฝากเงินในธนาคารโดยเปิดบัญชีในชื่อของเด็กหรือชื่อร่วมกับผู้ปกครอง เมื่อหยอดเงินในกระปุกจนเต็มแล้วก็พาเด็กไปฝากเงินที่ธนาคาร โดยให้เด็กทำกิจกรรมทุกอย่างด้วยตัวเอง เพื่อให้เค้าได้รู้สึกถึงความเป็นเจ้าของและหวงแหนเงินที่ฝาก การที่เด็กได้เห็นเงินที่ฝากมีปริมาณมากขึ้นจากเงินต้นกับดอกเบี้ยจะทำให้เด็กภาคภูมิใจ โดยเห็นว่าทุกบาททุกสตางค์นั้นมีค่า เศษเหรียญค่าขนมที่หยอดกระปุกทุกเย็นเมื่อรวมกันก็จะกลายเป็นก้อนใหญ่ที่ฝากในบัญชีธนาคาร

"ไม่มีคำว่าสายที่จะเริ่มต้น" เราเริ่มต้นออมเงินตอนเป็นผู้ใหญ่ก็ยังไม่สายเพราะดีกว่าไม่เริ่ม (แต่จะมีพอใช้ไปจนเกษียณรึเปล่าก็อีกประเด็นนึงนะคะ) โดยที่เราเริ่มจากสิ่งเล็กๆก่อน เมื่อทำสำเร็จก็จะเป็นความภาคภูมิใจเล็กๆ แล้วค่อยสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่โดยการทำเงินให้งอกเงยต่อไป จำไว้ว่า สิ่งเล็กๆรวมตัวกันนั้นสามารถสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้ ดูตัวอย่างน้ำท่วมก็น่าจะเห็นภาพว่า "น้ำฝนหยดเล็กๆนั้นสร้างความเสียหายได้เพราะมีมากเกินไปจนกลายเป็นน้ำท่วม"

การออมเงินเบื้องต้น คือ การฝากเงินในบัญชีธนาคาร เมื่อเงินฝากก้อนเล็กๆของเรารวมตัวใหญ่มากขึ้นจึงค่อยขยับขยายไปทำอย่างอื่นที่จะไปสร้างความยิ่งใหญ่ให้เราในอนาคต สิ่งแรกที่เราควรทำ คือ การค้นหาข้อมูลว่าจะไปฝากเงินที่ธนาคารไหนดี ดอกเบี้ยของแต่ละที่ให้เท่าไหร่ จะฝากออมทรัพย์หรือฝากประจำ โปรโมชั่นของแต่ละธนาคารมีอะไรบ้างแล้วนำมาเปรียบเทียบกันว่าที่ไหนเข้าเงื่อนไขการฝากเงินของเรามากที่สุดจึงนำเงินไปฝากที่นั่น

เวลาของเราก็ไม่ได้มีมากมายอะไรขนาดนั้นที่จะมาเปรียบเทียบให้ครบทุกธนาคาร ก็น่าจะมีบางเว็ปที่เก็บข้อมูลเปรียบเทียบให้ดูเบื้องต้นก่อนตัดสินใจ ลองถาม Google โดยใช้คำว่า "เปรียบเทียบเงินฝากหลายธนาคาร" ก็เจอเว็ปนึงที่น่าสนใจ คือwww.checkraka.com ซึ่งจะมีการเปรียบเทียบเงื่อนไขเบื้องต้นที่ใช้ในการตัดสินใจ อีกทั้งยังมีบทความการออมเงินให้ด้านต่างๆให้ความรู้อีกด้วย


ที่มา : www.checkraka.com

ตัวอย่างการเปรียบเทียบบัญชีเงินฝากธนาคาร


ตัวอย่างบทความการออมเงิน


------------------------------------------------------------------------------------------

ภาพคำตอบส่วนหนึ่งในกิจกรรมสอนการออมเงิน







วันอาทิตย์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2556

เปลือกนอกที่หลอกตา



วันเลขสวย
เวลาช่วงเช้า 8 นาฬิกา 9 นาที 10 วินาที 
วันที่ 11 เดือนธันวาคม 2013
เวลาช่วงบ่าย 14 นาฬิกา 15 นาที 16 วินาที

เมื่อวันพุธที่ผ่านมาเป็นวันเลขเรียงกันสวยดีก็น่าจะทำสิ่งดีๆให้น่าจดจำ จึงเขียนบล็อกฉลองวันเลขสวยสักหน่อย บทความนี้จะพูดถึงสิ่งสวยงามรอบๆตัวเราซึ่งแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ สวยงามจากภายนอกและงดงามจากภายใน

==> สิ่งสวยงามภายนอก เป็นการมองเพียงผิวเผินที่ทำให้ตัดสินคนจากลักษณะภายนอก เช่น คิดว่าคนนี้รวยจากรถที่ขับ คนนั้นสวยจากใบหน้าที่เข้ารูปและรูปร่างที่ดูดี คนโน้นดูดีจากเสื้อผ้าที่สวมใส่ ซึ่งแท้จริงแล้วอาจจะไม่เป็นอย่างที่เราคิดก็ได้ การตัดสินด้วยข้อมูลที่ได้รับเพียงสายตาอาจไม่เพียงพอที่จะตัิดสินใจควรพิสูจน์และศึกษาข้อมูลให้กระจ่างก่อนที่จะเชื่ออะไร เช่น ผู้หญิงสวยที่ทำให้คุณต้องหันหลังกลับไปมองแท้จริงแล้วอาจจะไม่ใช่ผู้หญิงแท้ก็ได้(สวยจนผู้หญิงจริงๆต้องอายกันเลย) คนดีที่คุณชื่นชมอาจจะมาจากการทำตัวให้คนอื่นดูแย่เพื่อให้ตนเองดูดีก็ได้ คนที่ดูดีมีฐานะร่ำรวยอาจจะได้เงินมาจากวิธีที่ไม่เหมาะสมก็ได้ ฯลฯ อาจจะมองโลกในแง่ร้ายไปสักนิดแต่ก็เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นที่เราควรทำความเข้าใจและอย่าเืชื่อจากภาพที่เห็น

==> สิ่งงดงามจากภายใน การตัดสินอะไรก็ตามในรูปแบบนี้ทำยากเพราะต้องใช้เวลาในการค้นหา คนที่สามารถมองเห็นความงดงามจากภายในได้นั้นจะเป็นกลุ่มคนพิเศษและได้รับสิ่งดีๆไปครอบครอง เพราะใช้การมองด้วยตาและความรู้สึกที่อยากจะค้นหาความจริงเป็นเครื่องมือในการตัดสินใจก่อนที่จะเชื่ออะไร เช่น คุณตาขอทานที่บริจาคเงินให้วัดเป็นล้าน นิทานของไทยเรื่องพระสังข์ทอง แม้เป็นเพียงนิทานแต่ก็เป็นเรื่องสำคัญที่แฝงความคิดให้เด็กว่า "อย่ามองอะไรแค่ภายนอกอย่างเดียว" ซึ่งผู้ใหญ่อย่างเราควรนำเป็นแบบอย่าง (คติที่ได้จากนิทานเรื่องนี้มีหลายประเด็นขึ้นอยู่กับมุมมองของผู้เล่านิทานว่าต้องการสอนอะไรเด็กบ้าง ในกรณีนี้จะยกตัวอย่างเรื่องอย่ามองคนแค่ภายนอกอย่างเดียวค่ะ)


การตัดสินจากความสวยงามภายนอกหรือสิ่งงดงามจากภายในนั้น ปัจจุบันนี้ตัดสินกันได้ยากมากขึ้น แม้ว่าโลกจะท้วมท้นไปด้วยข้อมูลจากการสื่อสารที่รวดเร็วด้วยอินเตอร์เน็ต ความรู้หาได้ง่ายเพียงถาม Mr.Google ข่าวสารแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ข้อมูลไหนจริงหรือหลอก ภาพนี้มีการตัดต่อหรือไม่ จนยากที่จะตัดสินใจได้ว่าจะเชื่ออะไร สิ่งเดียวที่ทำได้ คือ การสร้างภูมิคุ้มกันความคิดให้ตนเอง โดยการค้นหาความจริงก่อนที่จะเชื่ออะไร  วันนี้มีเรื่องของเปลือกนอกมาเล่าให้ฟัง 2 เรื่อง คือ เรื่องของอินเตอร์เน็ตและน้องแสน

เรื่องแรก "อินเตอร์เน็ต"
บังเอิญว่าหนังสือที่เราตั้งใจเขียนอย่างสุดชีวิตนั้นไปปรากฏอยู่ในหน้า Facebook ของบุคคลท่านนึง โดยใช้คำบรรยายที่มีลักษณะเชิงลบ คุณคงเดาไม่ยากว่าคอมเม้นต่อจากนี้จะเป็นลักษณะไหน แต่อยู่ในลักษณะที่คาดการณ์ไว้ตั้งแต่แรกก่อนที่หนังสือจะวางแผงว่าอาจจะถูกคอมเม้นอะไรบ้าง จากเปลือกนอกที่มีหน้าปกชื่อว่า "เล่นหวย(สลากกินแบ่งรัฐบาล)ก็รวยได้" ก็สร้างความรู้สึกเชิงลบให้กับผู้ที่ยังไม่ได้สัมผัสมันอย่างแท้จริง ประมาณว่าแค่เห็นหน้าก็เกลียดกันซะแล้ว ทั้งที่ยังไม่ได้ศึกษานิสัยใจคอกันเลย

ถ้าจะเปรียบเรื่องนี้กับการลงทุนในหุ้นที่รู้ว่าควรศึกษาความเสี่ยงและตัวของหุ้นที่เราซื้อว่ามีผลประกอบการเป็นอย่างไร ดูสารพัดพื้นฐานเพื่อที่ว่าจะเป็น VI อย่างแท้จริง ทฤษฏีแม่นเป๊ะ แต่ที่สุดแล้วเมื่อเราซื้อหุ้นเก็บไว้จริงๆ หุ้นที่มีไม่วิ่งแล้วหุ้นคนอื่นวิ่งดีจัง นักลงทุน VI (เปลือกนอก) เริ่มร้อนใจว่าทำไมการลงทุนของเรามันถึงแย่กว่าคนอื่น แล้วก็กลายร่างเป็นนักเก็งกำไรโดยอัตโนมัติ คำพูดหนึ่งที่เราพูดกับนักลงทุนของเราเสมอคือ "พื้นฐานหุ้นไม่เปลี่ยน มีแต่จิตใจของเราเท่านั้นที่เปลี่ยนไป" เราให้น้ำหนักการถือหุ้นเป็น 2 ส่วน คือ พื้นฐาน 30% และจิตวิทยา 70% เพราะความอ่อนไหวต่อตลาดส่งผลเสียต่อวินัยการลงทุน ไม่ว่าคุณจะไปเรียนกราฟหลักสูตรแพงแค่ไหน เปิดอ่านหนังสือการลงทุนมาหลายสิบเล่ม แต่สุดท้ายมาตกม้าตายด้วยความอ่อนไหวของจิตใจอยู่ดี

บทสรุปของคอมเม้นหน้า Fb นั้นจบลงที่ผู้ใจดีไปค้นข้อมูลจาก Mr.Google แล้วมาทำลิ้งค์ให้อ่านว่าหนังสือเล่มนี้เป็นอย่างไร ส่งผลให้กระแสคอมเม้นในแง่ลบน้อยลง ขอขอบผู้ใจดีทุกท่านที่ช่วยชีวิตหนังสือเล่มนี้ไว้ เราไม่รู้ว่าคุณเป็นใครแต่ขอกราบขอบคุณมา ณ โอกาสนี้ด้วยค่ะ (* // \\ *)

==> บทเรียนจากเรื่องนี้สอนให้เรารู้ว่า "คิดอะไรไม่ออก ให้คิดถึง Mr.Google"

เรื่องที่ 2  "น้องแสน"
ตารางทุกวันอาทิตย์ตอนบ่ายโมงเราต้องไปสอนน้องเรียนหนังสือที่วัดแถวบ้าน โดยมีค่าตอบแทนเป็นรอยยิ้มและเสียงหัวเราะของเด็กๆ น้องแสนเป็นเด็กชายอยู่ชั้นป.1 รูปร่างอ้วนกำลังดี แก้มยุ้ย หน้าตาซนๆ เพราะแม่อ่านหนังสือไม่ออกจึงส่งลูกมาเรียนเพื่อเป็นความรู้ติดตัวและมีโอกาสในสังคมมากขึ้น ครั้งแรกที่เราเจอน้องแสนเป็นวันที่ต้องจดคำศัพท์จากกระดานลงสมุด เด็กคนอื่นก็ลอกตามเป็นปกติ แต่น้องแสนก็ยังคงเขียนไม่เสร็จสักคำ เราก็มาถามว่าทำไมไม่เขียนหละและบอกว่าคำศัพท์บนกระดานแต่ละคำมีตัวภาษาอังกฤษอะไรบ้าง เราพูดแต่ละตัวเพื่อให้น้องแสนเขียนตาม แต่ก็ยังเขียนตัวอักษรผิด เช่น บอกตัว R ก็เขียนตัว P ทำให้เราคิดว่าน้องคนนี้คงต้องแยกเรียนแล้วหละ เราจึงดึงน้องเค้ามานั่งคัดตัวอักษรภาษาอังกฤษใหม่ 26 ตัว เรียงเป็นแถวๆละ 8 ตัว สรุปคือเขียนจนเมื่อยมือกันเลยทีเดียว แต่มันก็ทำให้น้องเค้าจำตัวอักษรได้ดีขึ้น

หลังจากนั้นอีก 2 สัปดาห์ก็มีการทดสอบนักเรียนโดยการแปลเป็นไทยจากประโยคทักทายภาษาอังกฤษอย่างง่าย เช่น Good morning แปลว่าอะไร ฯลฯ เราทดสอบทั้งหมด 10 ประโยค เด็กบางคนเก่งเขียนเสร็จเร็ว บางคนก็ช้าตามเพื่อนไม่ทัน กรณีของน้องแสนจะเป็นอย่างหลังเพราะกระดาษน้องว่างเปล่า ระหว่างที่เพื่อนทำแบบทดสอบน้องแสนก็ถูกดุนิดหน่อยว่าทำไมไม่ทำ เราเป็นคนช่วยสอนก็ไม่รู้จะทำยังไงเพราะน้องเค้าไม่ยอมเขียนเอง คิดว่าท้ายชั่วโมงคงต้องคุยกับน้องเค้าสักหน่อย

ระหว่างที่เรากำลังสอนเด็กคนอื่นอยู่นั้น น้องแสนก็เดินถือกระดาษว่างเปล่านั้นมาหาเราแล้วพูดว่า "พี่ครับช่วยสอนผมหน่อย" เรารู้สึกดีใจมากที่น้องยังคิดถึงและไม่เกลียดเราไปซะก่อนจากคราวที่แล้วสั่งให้คัดตัวอักษรไปเยอะมาก เราก็ค่อยสอนทีละประโยคว่าแปลว่าอะไร อ่านออกเสียงอย่างไร ถ้าตัวไหนอ่านไม่ออกให้เขียนคำออกเสียงเป็นภาษาไทยไว้ข้างบนเพื่อว่ากลับมาอ่านทีหลังจะได้อ่านออก เราพูดให้น้องแสนฟังว่าเค้าต้องเรียนเรื่องยากๆนี้ไปเพื่ออะไร

"น้องแสนต้องเรียนไปเพื่อช่วยแม่ทำงาน หาเลี้ยงแม่ตอนที่แสนโตเป็นผู้ใหญ่นะครับ" 

น้องแสนพยักหน้ารับคำที่เราสอนและตั้งใจเขียนคำแปลให้จบทั้ง 10 ข้อ มันรู้สึกตื้นตันใจอย่างบอกไม่ถูกจริงๆนะ เพราะสภาพแวดล้อมที่น้องอยู่อาจจะทำให้เดินผิดเส้นทางได้ เราไม่สามารถอยู่ตักเตือนน้องได้ตลอดเวลา สิ่งที่เราทำได้คือสร้างเกราะป้องกันความคิดเพื่อให้น้องแยกสิ่งที่ถูกหรือผิดด้วยตัวเองให้ได้เท่านั้น

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นการสอนเรื่องคิดเลขเร็ว โดยเป็นการบวก ลบ คูณธรรมดา เราก็เดินดูเด็กทำแบบฝึกเหมือนเคย พอเราเดินผ่านน้องแสนก็สังเกตว่าน้องทำอะไรทำไมต้องชี้ไปที่นิ้วเท้าด้วย เราก็ถามว่า "น้องแสนทำอะไรหงะ" น้องตอบกลับมาว่า "พอดีนิ้วมือมีไม่พอนับเลขเลยต้องใช้นิ้วเท้าด้วย" ตึ่งโป๊ะ!! เราก็ได้แต่ยืนยิ้มและก็ขำในใจกับความน่ารักของเด็ก เพราะไม่คิดว่าจะเจอวิธีการนับแบบนี้ที่นี่

==> บทเรียนจากเรื่องนี้สอนให้เรารู้ว่า เราไม่ควรตัดสินเด็กจากเปลือกนอกที่ไม่สนใจเรียนว่าเป็นเด็กดื้อหรือขี้เกียจ แท้จริงแล้วเด็กไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร มีเพียงผู้ใหญ่เท่านั้นที่ช่วยแนะแนวทางด้วยวิธีที่ถูกต้อง

วันเสาร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ประกันชีวิตลดหย่อนภาษี 200,00 บาท ตอนที่ 2/2


ใกล้ช่วงสิ้นปีจะเป็นเทศกาลลงทุนลดหย่อนภาษีโค้งสุดท้าย คำถามที่ตามมา คือ
  • เราควรซื้ออะไรเพื่อลดหย่อนเป็นกองทุน LTF , RMF หรือประกันชีวิตอันไหนดีกว่ากัน?
  • เรามีสิทธิ์ซื้อกองทุนได้สูงสุดเท่าไหร่?
  • เราซื้อกองทุนของอะไรดี?
  • เราซื้อประกันชีวิตลดหย่อนภาษีมากกว่า 100,000 บาทได้ไหม?
ก่อนที่จะจ่ายเงินให้กับอะไรสักอย่าง เราควรศึกษาให้ดีก่อนว่ามีความจำเป็นต้องซื้อหรือไม่ การลงทุนเืพื่อลดหย่อนภาษีควรตอบสนองต่อเป้าหมายการออมเงินมากกว่าลงทุนเพื่อให้เกิดค่าลดหย่อนเท่านั้น เช่น เมื่อเห็นว่าหุ้นลงจึงรีบซื้อ LTF เพราะจะได้ราคาถูกลง ซื้อกองอะไรก็ได้แล้วแต่เจ้าหน้าที่แนะนำโดยไม่อ่านนโยบายการลงทุน ไม่อ่านผลประกอบการย้อนหลังของกองทุน ไม่ศึกษาอะไรทั้งนั้น รู้แต่ว่าปีนี้มีค่าลดหย่อนแล้วก็พอ ซึ่งไม่ควรทำอย่างยิ่ง หรือการซื้อประกันชีวิตที่เคยเป็นประเด็นในกระทู้ Pantip ในลักษณะที่ถูกหลอกขายประกันชีวิต นอกจากการรับฟังจากตัวแทนแล้วเราควรศึกษาข้อมูลเองและสอบถามกลับไปที่ต้วแทนให้เกิดความเข้าใจตรงกันด้วย

==> ตามหาเป้าหมายการออมเงิน <==

เราควรดูว่าเป้าหมายการออมเงินของเราคืออะไรแล้วจึงไปจับคู่กับแหล่งเก็บเงินออมที่ตอบสนองกับเป้าหมายที่ตั้งไว้  อยากให้ลองเปรียบเทียบแหล่งเก็บเงินออมในรูปแบบต่างๆ (เช่น เงินฝาก หุ้น กองทุนรวม ทองคำ ประกันชีวิตฯลฯ) เหมือนอุปกรณ์ของใช้ในครัว เช่น หม้อ ไมโครเวฟ เขียง มีด ครก สาก ฯลฯ เราควรรู้ว่าการทำอาหารแต่ละประเภทควรใช้อุปกรณ์อะไรบ้างเืพื่อให้อาหารของเราออกมาหน้าตาสวยงาม
  • เราใช้มีดไว้หั่นผักโดยใช้มีดขนาดเล็ก สับหมูโดยมีดอีโต้ แล่เนื้อปลาโดยใช้มีดที่เหมาะกับเนื้อปลา(เคยดูสารคดีของคนญี่ปุ่นจะมีการแบ่งแยกว่าเนื้อปลาชนิดนี้ควรใช้มีดอะไร) 
    • อาหารเราคงออกมาหน้าตาแย่ถ้าเราใช้มีดอีโต้สับหมูมาแล่เนื้อปลา
ภาพมีดแล่เนื้อปลาของคนญี่ปุ่น
ที่มา http://www.bladereview.com/forums/index.php?topic=15369.150
  • เรามีหม้อสารพัดแบบไว้ใช้ในกิจกรรมที่แตกต่างกัน เช่น หม้อหุงข้าวไว้หุงข้าว(หรือบางครั้งออกแบบมาให้นึ่งอาหารได้) หม้อนึ่ง หม้อตุ๋น หม้อต้มไข่ 
    • ข้าวสวยคงไม่สุกถ้าเรานึ่งข้าวในหม้อต้มไข่
คงไม่ต้องยกมาทั้งครัวว่าอุปกรณ์แต่ละแบบใช้งานอย่างไรก็คงเห็นภาพแล้วว่าอุปกรณ์แต่ละแบบมีประโยชน์ที่แตกต่างกันอย่างไรบ้าง เช่น เรารู้ว่าการทำข้าวผัดกุ้งควรใช้อุปกรณ์อะไรบ้าง การทำต้มจืดไข่น้ำควรใช้อุปกรณ์อะไรบ้าง ก็เหมือนกับ "แหล่งเก็บเงินออม" ของเรานั่นเอง แต่ละที่นั้นมีประโยชน์เหมาะกับเป้าหมายที่แตกต่างกัน ดังนั้นเราควรศึกษาเรียนรู้ให้เข้าใจถึงแหล่งเก็บเงินออมในแต่ละรูปแบบก่อนตัดสินใจว่าจะนำเงินของเราไปเก็บไว้ที่ใดและเพื่อเป้าหมายอะไร

เปรียบเทียบการออมเงินเหมือนการทำอาหาร 


เราแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ
  1. รายการอาหารที่เราจะทำเปรียบเหมือนกับเป้าหมายการออม เมื่อรู้ว่าจะทำอะไรจึงจัดเตรียมอุปกรณ์และวัตถุดิบเพื่อทำอาหารตรงกับที่เราต้องการ
  2. อุปกรณ์ในการทำอาหารเปรียบเหมือนกับแหล่งเก็บเงินออม เราควรรู้ว่ามีเครื่องมืออะไรบ้างที่ทำให้เราบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้(แกงจืดไข่น้ำ,การศึกษาลูก)
  3. วัตถุดิบเพื่อใช้ในการประกอบอาหารเปรียบเหมือนกับแหล่งความรู้ อาหารจะอร่อยก็ต้องมีเคล็ดลับในการปรุงเพื่อให้มีรสชาติกลมกล่อม เหมือนกับความรู้ที่ถูกต้องนั้นมาจากการเลือกศึกษาจากแหล่งข้อมูลที่มีคุณภาพ เชื่อถือได้ (ไม่ใช่จากการบอกเล่าว่าลงทุนอันนี้แล้วรวยเร็วเพราะมันไม่มีจริง) แล้วนำมาปรุงรวมกันให้ได้การลงทุนที่มีประสิทธิภาพและตรงกับเป้าหมายที่ตั้งไว้
เมื่อเรารู้แล้วว่าเป้าหมายการออมเหมือนการทำอาหาร ถ้าเราจะทำให้อร่อยแซ่บเวอร์จนเกษียณได้ต้องอาศัยการวางแผนมาอย่างดี ในบทความนี้จะยกตัวอย่างของการทำประกันชีวิตลดหย่อนภาษี 200,000 บาทที่เป็นเฉพาะแบบบำนาญ คือ ลดหย่อนภาษีสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาทและต้องไม่เกิน 15% ของเงินได้พึงประเมิน และเมื่อรวมกับ(กองทุน RMF ,กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ,กบข.,กองทุนสงเคราะห์โรงเรียนเอกชน) แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท 

==> ลดหย่อนภาษี + เกษียณสบาย <==

ประกันชนิดนี้เหมาะกับผู้ที่ใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษี 100,000 บาทแรกหมดแล้ว(ประกันชีวิตที่ให้ความคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไปจะได้รับสิทธิ์ลดหย่อนภาษี 100,000 บาท) หรือบุคคลที่ต้องวางแผนเกษียณสบาย

หนังสือที่ควรอ่านก่อนตัดสินใจซื้อประกันชีวิต

ที่มา http://www.thinkbeyondbook.com
ตัวอย่างต่อไปนี้จะเป็นกรณีของคุณอภินิหารเงินออมอายุ 35 ปีต้องการทำประกันแบบบำนาญทุนประกัน 1,000,000 บาท ซึ่งมีให้เลือกรับเงินบำนาญได้ 3 ช่วงอายุ คือ อายุ 55 ปี , อายุ 60 ปีและอายุ 65 ปี โดยประกันชีวิตชนิดนี้จะเรียกว่า "ยิ่งอยู่นาน ยิ่งคุ้มค่า" เพราะรับบำนาญถึงอายุ 90 ปี ดังนี้

แบบที่ 1 เลือกรับเงินบำนาญ ณ อายุ 55 ปี


คุณอภินิหารเงินออมจะต้องเสียเบี้ยประกันปีละ 139,400 บาท(เฉลี่ยเดือนละ 11,616.66 บาท) โดยชำระเบี้ยตั้งแต่อายุ 35 ปีจนกระทั่งอายุ 54 ปี โดยความคุ้มครอง(ตัวเลขสีดำแนวตั้ง) จะเพิ่มขึ้นตามอายุ เช่น ปีที่ 54 ความคุ้มครองจะอยู่ที่ 2,927,400 บาท (ถ้าคุณอภินิหารเงินออมเสียชีวิต ณ อายุ 54 ปีก็จะได้รับเงินจำนวน 2,927,400 บาท) การเริ่มรับเงินบำนาญจะเริ่มที่อายุ 55 ปีจะได้รับเงินบำนาญปีละ 150,000 บาทไปจนกระทั่งอายุ 90 ปีแต่ถ้าบังเอิญเสียชีวิตช่วงรับเงินบำนาญที่อายุ 56 ปี จะได้รับเงินบำนาญบวกกับความคุ้มครองชีวิต(ตัวเลขสีน้ำเงินแนวตั้ง) จะให้ความคุ้มครองลดลงตามอายุที่เพิ่มขึ้น คือ 150,000 + 1,699,000 = 1,849,000 บาท

ตารางอธิบายสิทธิประโยชน์ตามฐานภาษี ชนิดเลือกรับเงินบำนาญ ณ อายุ 55 ปี


ฐานภาษีใหม่ที่มีตั้งแต่ 0% , 5% ,10% ,15% ,20% , 25% ,30% และ 35% โดยจะยกตัวอย่างที่ฐานภาษี 15% ดังนี้
  • ได้รับเงินบำนาญคืน 15% ทุกปีตั้งแต่อายุ 55-90 ปี(บำนาญ) ทั้งหมด 150,000 x 36 = 5,400,000 บาท
  • ได้รับผลประโยชน์ลดหย่อนภาษี ณ ฐาน 15% (สมมติว่าเท่ากันทุกปีตั้งแต่อายุ 35-54 ปี) คือ 418,200 บาท 
  • ผลประโยชน์รวมตลอดสัญญา(เงินบำนาญ + ลดหย่อนภาษี) คือ 5,400,000 + 418,200 = 5,818,200 บาท
  • เราจ่ายเบี้ยประกันตั้งแต่อายุ 35-54 ปี จำนวนปีละ 139,000 บาท รวมทั้งสิ้น 139,400 x 20 = 2,788,000 บาท
  • สรุปว่ามีส่วนต่างที่ได้รับมากกว่าเบี้ยประกันที่จ่าย 5,818,200 - 2,788,000 = 3,030,200 บาท 

แบบที่ 1.2 เลือกรับเงินบำนาญ ณ อายุ 55 ปี แต่ตัดสินใจเริ่มทำช้าไป โดยเริ่มทำที่อายุ 45 ปีที่ทุนประกัน 1,000,000 บาทเท่ากัน


การเริ่มทำช้าจะต้องชำระเบี้ยประกันเพิ่มขึ้นเป็น 322,200 บาทต่อปี(เฉลี่ยเดือนละ 26,850 บาท) แต่ลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาทเท่านั้น ถ้าบุคคลที่เลือกทำแบบนี้มีเป้าหมายที่ต้องการเก็บเงินไว้ใช้หลังเกษียณแต่รู้ตัวช้าทำให้เริ่มเก็บช้าจึงต้องเก็บเป็นจำนวนที่มาก

ตารางสิทธิประโยชน์ ของแบบที่ 1.2


แบบที่ 2 เลือกรับเงินบำนาญ ณ อายุ 60 ปี (วิธีการอ่่านข้อมูลเหมือนแบบที่ 1 เพียงแต่เปลี่ยนอายุการเริ่มรับเงินบำนาญเป็นอายุ 60 ปี)


แบบที่ 3 เลือกรับเงินบำนาญ ณ อายุ 65 ปี (วิธีการอ่่านข้อมูลเหมือนแบบที่ 1 เพียงแต่เปลี่ยนอายุการเริ่มรับเงินบำนาญเป็นอายุ 65 ปี)



การซื้อประกันบางคนบอกว่าเป็นการเก็บเงินที่นานเกินไป ไม่มีสภาพคล่อง ถ้าฉุกเฉินก็ไม่สามารถนำออกมาใช้ได้ ฯลฯ ก็แล้วแต่มุมมองของแต่ละคน แต่เราขอถามนิดนึงว่าถ้าเงินออมนั้นถอนออกมาใช้ง่ายๆแล้วเราจะเป็นการบังคับตนเองให้ออมเงินได้อย่างไร เคยเจอเคสนึงที่แม่ต้องการเก็บเงินให้ลูกเรียนหนังสือ ก็ฝากเงินในธนาคารไว้ธรรมดา อยู่มาวันนึงเกิดจะต้องใช้เงินก็ถอนเงินการศึกษาของลูกในอนาคตออกมาใช้ก่อน และคิดว่าค่อยเริ่มเก็บใหม่ ถ้าเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆแล้วเมื่อไหร่จะเก็บได้ตามที่ตั้งใจไว้ ทุกคนมีปัญหาการเงินด้วยกันทั้งนั้น แล้วคนที่มีปัญหาการเงินเค้าจัดการกันอย่างไร คำตอบอยู่ที่การวางแผนการใช้เงิน ขอเพียงอย่าหลอกตัวเองโดยนำเงินในอนาคตมาใช้(การใช้บัตรเครดิตแบบไม่ระมัดระวัง)หรือคิดว่าตนเองสบายเพราะมีมรดกของที่บ้านจึงไม่คิดจะเก็บเงินเอง ถึงแม้วันที่เราได้รับมรดกมาจริงๆแล้วรักษาไว้ไม่ได้ ใช้อย่างสิ้นเปลือง ยังไงมรดกนั้นก็หมดอยู่ดี



บทความน่าสนใจ

ประกันชีวิตหักลดหย่อนภาษี 200,000 บาท ตอนที่ 1/2

วันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ที่มาของบล็อก "อภินิหารเงินออม" กับหนังสือเล่มแรก


ทางสำนักพิมพ์ส่งหนังสือมาแจกให้ผู้อ่าน เราแบ่งหนังสือบางส่วนไปบริจาคและใช้เป็นรางวัลในการร่วมสนุกตอบโดยมีคำถามว่า

"หวยครั้งล่าสุดที่คุณซื้อมานั้น ถูก....อะไร"

ข้อ 1 ถูกรางวัล 
ข้อ 2 ถูกกิน 

โดยตอบว่าข้อ 1 หรือข้อ 2 มาทางบทความนี้หรือส่งทางอีเมล์ s.superware@gmail.com เพื่อรับหนังสือฟรีค่ะ

หมายเหตุ การส่งคำตอบผ่านทางบทความนี้อาจจะยังไม่เห็นคำตอบทันที เพราะตั้งระบบคัดกรองคอมเม้น เราจะกลับมาอ่านเพื่อกดเผยแพร่คอมเม้นต่อไป  ที่ต้องทำแบบนี้เพราะมีคอมเม้นโฆษณาสินเชื่อมาแปะมากมายจนทำให้บล็อกเลอะมากและเราตามลบไม่ไหว จึงขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วยค่ะ

ขณะนี้แจกหนังสือหมดแล้ว
ขอบคุณที่ร่วมสนุกนะคะ 
ครั้งหน้ามาร่วมตอบคำถามกันใหม่ค่ะ

===============================================================

สำหรับผู้ที่ต้องการทราบประวัติของบล็อก เชิญอ่านทางนี้ค่ะ

ประวัติย้อนหลังของบล็อก "อภินิหารเงินออม" และหนังสือเล่มนี้ว่าเริ่มมาได้อย่างไร เมื่อปีที่แล้วมีวันเลขสวยคือ วันที่ 5 พ.ค. 55 หรือ 5/5/55 เราคิดว่าน่าจะทำอะไรดีๆในวันนั้นเพื่อเป็นวันที่น่าจดจำ บังเอิญแม่ชวนไปไถ่ชีวิตโคกระบือที่วัดหนึ่งในจังหวัดลพบุรี เราก็เริ่มคิดละเพราะว่าคนที่ไถ่ชีวิตโคควรจะเลิกทานเนื้อ ประเด็นคือเราชอบทานเืนื้อมากถึงมากที่สุด เราจะต้องเลิกทานเนื้อตลอดชีวิตเลยหรอ แล้วตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ก็ทำให้เรารู้ว่าการเลิกทานเนื้อมันดีอย่างไร การไถ่ชีวิตโคกระบือจะมีเกษตรกรมารับไปเลี้ยงแทนเรา แต่ตอนนี้ยังไม่ได้ไปดูเลยว่าโคของเราเป็นยังไงบ้าง

พอกลับบ้านเราก็เริ่มทำสิ่งดีๆชิ้นที่  2 คือ การเริ่มเขียนบล็อกนี้ การตั้งชื่อครั้งแรกอยากให้มีเรื่องของการออมเงินอยู่ด้วย จนมาได้ชื่อว่า "อภินิหารเงินออม" เป้าหมายหลักของการเขียนเพื่อให้คนทั่วไปหันมาออมเงินมากขึ้น โดยที่เราจะใช้หลักทฤษฎีที่เรียนมาในหลักสูตร CFP (หลักสูตรนักวางแผนการเงิน) ดัดแปลงเพื่ออธิบายให้คนอ่านเข้าใจง่ายมากขึ้น ตั้งใจว่าจะเขียนเดือนละ 5-6 บทความ เขียนแล้วก็ส่งให้เพื่อนอ่านก่อนว่าเราเขียนอธิบายเข้าใจไหม ยากไปรึเปล่า ถ้าเพื่อนเราเข้าใจก็สามารถนำไปเผยแพร่ได้ ทำแบบนี้จนกระทั่งเดือนสิงหาคม 2555 มีการประกวด Thailand Blog Awards 2012 เราก็ลองส่งประกวด โดยบล็อกที่เราส่งเข้าประกวดเป็นเรื่อง วิธีการรวยจากการซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล (http://pajareep.blogspot.com/2012/08/blog-post_13.html)

ที่มาของบทความนั้นมาจากบทสนทนาของเรากับแม่ เพราะในมุมมองของแม่เห็นว่าตลาดหุ้นที่เราทำงานอยู่นั้นคือการพนัน เราก็ตอบแม่กลับไปว่า "แล้วแม่ซื้อล็อตเตอร์รี่ทำไม ถ้าซื้อหุ้นแล้วลง 50% เงินยังเหลือแต่ถ้าซื้อหวยแล้วไม่ถูกเงินก็เป็นศูนย์" ตึ่งโป๊ะ!! แล้วเราก็กลับบ้านเขียนบล็อกเรื่องหวย โดยคิดว่าอยากจะให้คนเล่นหวยอ่านก็เลยตั้งหัวเรื่องแบบนั้นเพื่อให้คนเล่นหวยตระหนักว่าควรเก็บออมเงินมากกว่าที่จะเล่นหวยจนมีหนี้สินล้นพ้นตัว

จุดเปลียนเกิดขึ้นในวันที่ 21 กันยายน 2555 ปกติเราไม่ค่อยเช็คอีเมล์สักเท่าไหร่ว่ามีใครส่งอะไรมาบ้าง วันนั้นนึกครึ้มใจอะไรไม่รู้ลองเปิดดูเล่นๆ แล้วเราก็ต้องตบหน้าตัวเอง 1 ทีว่าเราฝันไปรึเปล่าเพราะมี บก.คนนึงมาอ่านบทความนี้แล้วชอบก็ส่งเมล์มาเพื่อชวนเขียนพ็อกเก็ตบุ๊ค จำได้ว่าเราต้องเรียกรุ่นน้องมาช่วยอ่านเมล์ว่าพี่อ่านถูกใช่ไหมว่า "มีคนมาชวนเขียนหนังสือ" เรายิ้มไม่หุบกันเลยทีเดียวเพราะมันเป็นของขวัญวันเกิดที่ดีที่สุด = ^ _ ^ =

ถ้าเป็นนักเขียนแล้วต้องทำยังไงบ้าง เราต้องไปลงเรียนที่ไหน มีที่ไหนเปิดสอนเพื่อเป็นนักเขียนบ้าง ทั้งหมดนี้เราเริ่มถาม Google สรุปว่าถ้าไปเรียนก็ต้องรออีกนานกว่าจะเปิดอบรม แล้วเราก็เจอหนังสือเล่มนี้ที่สอนการเขียน ชื่อหนังสือ เขียนอย่างนักเขียนมืออาชีพ เราอ่านวิธีการเขียนจากประสบการณ์ตรงของนักเขียนก็เริ่มมองภาพออกว่าจะเขียนอย่างไร ถ้าเรามัวแต่กลัว ไม่กล้าเริ่มต้นก็ไม่รู้ว่าจะสำเร็จเมื่อไหร่ เราลายมือแย่มากก็ต้องใช้การพิมพ์แทนการเขียน เราพิมพ์แล้วลบ พิมพ์แล้วลบอยู่นานกว่าจะผ่านไปแต่ละบท 3 เดือนกับการเขียนต้นฉบับ แทบจะใช้วันลาหมดกันเลยทีเดียว(เราทำงานประจำไปด้วยเขียนไปด้วย)

ช่วงกลางปีเราถึงจะเริ่มเห็นตัวการ์ตูนที่วาดฝันไว้ออกมาเป็นรูปร่าง นักวาดๆออกมาได้ถูกใจเรามากๆ เริ่มมีการจัดเรียงหน้า เราติดตามทุกขั้นตอนอย่างตื่นเต้น มีการแก้ต้นฉบับระหว่างทางบ้างเพื่อให้ข้อมูลอัพเดทที่สุด เมื่อเนื้อหาเรียบร้อยก็ถึงขั้นตอนทำปกหนังสือ เราเห็นภาพสเก็ตของปกจนกระทั่งออกมาเป็นปกจริงๆ บก.แจ้งว่าหนังสือจะออกมาในงานหนังสือเดือนตุลาคม 56 อารมณ์ตอนนั้นดีใจมากๆกับสิ่งที่รอคอยมาหลายเดือน แล้วฝันของเราที่จะได้เห็นเล่มจริงก็ดับลงเพราะงานล้นมือจนคนที่สำนักพิมพ์ทำงานไม่ทัน ทำให้หนังสือของเราออกล่าช้าออกไปอีก 1 เดือน แม่ให้กำลังใจเราว่า "ไม่ช้าก็เร็วหนังสือต้องออกอยู่ดีไม่ต้องคิดมาก "

แม่คิดบวกได้ขนาดนี้เราก็มีกำลังใจมากขึ้น ลึกๆแล้วเราดีใจมากที่ได้ทำหนังสือเล่มนี้ แม่ภูมิใจในตัวเรามากกว่าเดิมเพราะเป็นการพิสูจน์ว่าลูกหัวดื้อคนนี้ก็ทำอะไรสำเร็จกับเค้าเหมือนกัน ณ จุดนี้ขอขอบคุณทุกท่านที่ให้โอกาสเขียนบทความเรื่องการออมเงินในนิตยสารเพื่อเผยแพร่ให้คนไทยมีค่านิยมเรื่องการออมเงินมากขึ้น และหวังว่าจะได้รับโอกาสให้ทำอื่นๆต่อไปค่ะ ^_^

ภาพการเดินทางของอภินิหารเงินออม.....เริ่ม ณ วันที่ 5/5/55

 ภาพของแม่กับน้องชาย กำลังนำพวงมาลัยไปคล้องคอวัว

ภาพของวัวที่เราไถ่ชีวิตชื่อสายพวง หมายเลข 15

พวกมาลัยที่เจ้าหน้าที่แจกให้กับผู้ที่ไถ่ชีวิตโคกระบือ
(ประเด็นคือ แม่บอกว่าหวยงวดนั้นออกเลขนี้ด้วย แต่ไม่มีใครซื้อก็เลยอดกันไป 555) 

หนังสือที่อ่านเพื่อเป็นนักเขียน

พิมพ์ต้นฉบับส่ง บก.

ภาพสเก็ตตัวการ์ตูนและหน้าปก กับของจริง

แจกลายเซ็นให้แม่ไปแจกเพื่อนๆ

ผลงานทั้งหมด


ลิงค์รวบรวมผลงานทั้งหมดของอภินิการเงินออมค่ะ 

วันอังคารที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

วิธียืมเงินเพื่อนที่ได้เงินชัวร์ๆ


ปัญหาเงินขาดมือนั้นเกิดได้กับทุกคนขึ้นอยู่กับว่าเราเลือกที่จะแก้ปัญหาการเงินด้วยวิธีไหน เช่น ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น หารายได้เพิ่ม กดบัตรเครดิต กู้เงินธนาคาร ยืมเงินครอบครัว บางคนใช้ทุกวิธีแล้วก็ยังหาเงินไม่ได้ก็ต้องใช้วิธีสุดท้าย คือ การขอยืมเงินเพื่อน แต่ก็ติดปัญหาที่ว่าไม่รู้จะเอ่ยปากขอยืมเงินเพื่อนอย่างไร ขอยืมไปไม่รู้ว่าเพื่อนจะให้ยืมรึเปล่า

บทความนี้จะบอกถึงวิธียืมเงินเพื่อนที่ได้เงินชัวร์ๆ ดังนี้
  • ลูกหนี้ที่ดีต้องมีสัจจะ 
    • เมื่อรับปากว่าจะคืนวันไหนก็ต้องเป็นวันนั้น ห้ามผัดวันประกันพรุ่ง บอกว่าจะคืนวันนี้ก็ต้องเป็นวันนี้อย่าเลื่อนว่าเป็นวันอื่นๆ มิฉะนั้นความน่าเชื่อถือของคุณก็จะลดลง และอย่าลืมว่าเจ้าหนี้ของคุณก็ต้องมีเหตุเดือดร้อนต้องใช้เงินเหมือนกัน ถ้ายืมแล้วไร้สัจจะไม่คืนตรงวันแบบนี้อย่าหวังว่าครั้งต่อไปจะมีใครให้ยืมเงิน ถ้าจะสร้างเครดิตให้ตัวเองต้องยืมแล้วรีบคืนจะดีกว่านะจ๊ะ หรือประเภทที่ 2 คือ การตลกบริโภคชวนเพื่อนไปกินข้าวแล้วไม่ยอมจ่าย โดยให้เพื่อนจ่ายเงินแทนไปก่อนแล้วบอกว่าจะชำระคืนทีหลัง ถ้ามีเงินแล้วรีบคืนก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าตีเนียนแกล้งทำเป็นลืมไม่คืนเงินแล้วทำบ่อยๆแบบนี้ใครที่ไหนจะยอมไปกินข้าวด้วย ถ้าทำนิสัยให้เพื่อนจ่ายเงินค่าข้าวแทนไปเรื่อยๆต่อไปอาจจะต้องกินข้าวคนเดียว เพราะเพื่อนรู้พฤติกรรมคุณแล้วไม่อยากชวนมากินข้าวด้วย
  • ลูกหนี้ที่ดีต้องไม่อาย 
    • เมื่อยืมเงินแล้วต้องกล้าสู้หน้ากับเจ้าหนี้ อย่าหลบหน้าแม้ว่าไม่มีเงินคืน การหลบหน้าไม่ช่วยให้หนี้ที่มีอยู่หายไป แต่มันจะทำให้เจ้าหนี้รู้สึกโกรธและคิดว่าคุณเป็นคนขี้ขลาด ไม่กล้าสู้กับความจริง ความน่าเชื่อถือที่คุณมีก็จะยิ่งลดลงเรื่อยๆ ทางที่ดีที่สุด คือ หันหน้าไปบอกเจ้าหนี้ตรงๆว่าตอนนี้คุณกำลังทำอะไรเพื่อพยายามชดใช้คืนหนี้บ้าง 
  • ลูกหนี้ที่ดีต้องไม่ทำร้ายจิตใจเจ้าหนี้ 
    • ขึ้นชื่อว่าลูกหนี้ต้องรู้จักเจียมตัวไว้เสมอว่าเงินที่ยืมมานั้นเป็นเงินคนอื่น ถึงเวลาเจ้าหนี้ทวงคืนก็ต้องให้ "อย่าเหนียวหนี้" หรือบางครั้งลูกหนี้มีเงินไปช้อปปิ้งที่ต่างประเทศ แล้วอัพรูปลง Facebook หรือ IG ด้วยท่าทีที่เบิกบานใจ รู้ไหมว่าเจ้าหนี้จะรู้สึกเจ็บใจแค่ไหน เพราะทำให้คิดว่า "มีสติปัญญาหาเงินไปช้อปปิ้งได้ แต่ทำไม่มีเงินมาคืนเจ้าหนี้" และอย่าให้เจ้าหนี้รู้สึกผิดเวลาไปทวงเงินคืนว่าเหมือนเป็นคนผิดที่ต้องไปทวงเงินลูกหนี้ ซึ่งน่าจะเป็นลูกหนี้ต่างหากที่ต้องละอายใจที่ไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะหาเงินมาชำระหนี้ได้ ดังนั้น เมื่อมีเงินรีบชำระหนี้ดีที่สุด
  • ลูกหนี้ที่ดีต้องรักษามิตรภาพ 
    • เมื่อยืมเงินเืพื่อนแล้วคืนครบตาุมกำหนดแค่นี้เพื่อนก็ดีใจมากมาย แต่จะให้ดีกว่านั้นเืพื่อเครดิตที่ดีและจะได้ยืมเงินต่อในอนาคตลูกหนี้ควรแถมดอกเบี้ยให้ด้วยเพื่อมิตรภาพที่ยั่งยืน อย่าทำตัวปากหวานรักเพื่อนในวันที่เพื่อนให้ยืมเงินแล้วชิ่งหนี้ไม่ใช้หนี้ แบบนี้มิตรภาพที่มีมาก็หมดลงด้วยเงินก้อนที่คุณยืมไป โดยมูลค่าของเงินที่ยืมแลกกับมิตรภาพความเป็นเพื่อนนับสิบปีมันคุ้มที่จะแลกหรอ แม้ว่าคุณจะมีความสุขระยะสั้นจากเงินที่ยืมแล้วไม่คืน แต่คุณผลร้ายกว่านั้น คือ สูญเสียมิตรภาพในอนาคตที่มีกับเพื่อนคนนั้นไปจนหมดสิ้น และสุดท้ายคุณก็จะไม่เหลือใครที่จริงใจไว้คอยให้กำลังใจอีกต่อไป มีเงินแต่ไม่มีคนจริงใจด้วยก็เท่านั้น
สำหรับบางคนที่รู้สึกว่าชีวิตนี้มีแต่อุปสรรค ทำอะไรก็ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ หรือเกือบจะประสบความสำเร็จแต่ก็มีอะไรมาขัดลาภทุกที อยากจะลองให้นั่งคิดดูว่าเราเคยติดหนี้อะไรใครไว้บ้างรึเปล่า หรือครอบครัวของเราเคยไปติดหนี้อะไรใครไว้แล้วลืมชำระคืนบ้างไหม เพราะถ้ามีก็รีบชำระคืนโดยด่วน เพื่อช่วงชีวิตต่อจากนี้จะได้มีความสงบสุขและอุปสรรคในชีวิตก็จะลดน้อยลง 



"มิตรภาพระหว่างเพื่อนใช้เงินซื้อไม่ได้
แต่เงินทำลายมิตรภาพระหว่างเพื่อนได้"


บทความน่าสนใจ

บันไดขั้นแรกของความมั่งคั่ง
==> http://pajareep.blogspot.com/2013/12/blog-post_26.html

จดบันทึกเพื่อให้เงินหมดช้าลง
==> http://pajareep.blogspot.com/2014/01/blog-post.html


เปลือกนอกที่หลอกตา
==> http://pajareep.blogspot.com/2013/12/blog-post.html

ประกันชีวิตลดหย่อนภาษี 200,000 บาท ตอนที่ 2/2
==> http://pajareep.blogspot.com/2013/12/200000-22.html

วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

วิธีค้นหาตัวตนจากการเขียนคำไว้อาลัย



การค้นหาตัวตนของตนเองว่าเราชอบอะไรหรือมีความฝันที่อยากจะทำอะไรนั้นหายาก บางคนตามหามาทั้งชีวิตก็ยังไม่เจอ แต่ถ้าใครหาเจอเร็วถือว่าโชคดีเพราะจะมีความสุขที่ได้ทำในสิ่งที่รัก การที่เราได้ทำงานที่เรารักก็เหมือนกับว่าเราไม่ได้ทำงาน แต่เราจะค้นหาตัวตนของตัวเองเจอได้อย่างไรว่าเราชอบอะไรหรือว่าฝันอยากจะทำอะไร ในบทความนี้อยากจะแชร์ไอเดียวิธีการค้นหาตัวตนที่อ่านเจอในหนังสือและประสบการณ์ส่วนตัวมาเล่าให้ฟังค่ะ

สำหรับบางคนที่กำลังตามหาความฝัน ตามหาตัวตนของตนเองว่าเราชอบอะไร ค้นหามาหลายวิธีแล้วยังไม่เจอสักที ลองดูวิธีนี้ก่อนไหมคะอาจจะเจอก็ได้ วิธีนี้เราอ่านเจอในหนังสือคิดว่าน่าจะมีประโยชน์และนำมาปรับใช้ได้จึงอยากจะแชร์ให้คนอื่นได้ลองไปใช้ เราจะเรียกวิธีนี้ว่า "การค้นหาตัวตนจากการเขียนคำไว้อาลัยให้งานศพตนเอง" เราไม่รู้ว่าคนอื่นมองเรื่องความตายเป็นอย่างไรแต่เรามองในมุมที่ว่า ณ วันหนึ่งทุกคนก็ต้องตาย ทรัพย์สมบัิติที่สร้างมาทั้งชีวิตเราไม่สามารถนำไปได้สักบาทเดียว หลงเหลือไว้แต่ความทรงจำที่ทำให้คนรุ่นหลังคิดถึงและจดจำในสิ่งที่เราทำไว้ในขณะที่มีชีวิตอยู่ โดยผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ได้เขียนคำไว้อาลัยให้แก่งานศพตนเองว่า "จะเป็นแพทย์และเปิดคลีนิกเหมือนพ่อ ทำให้พ่อภูมิใจ มีรายได้ที่มั่นคง ได้รับรางวัลเกียรติยศมากมาย" หลังจากเขียนไปได้สักพักก็มารู้สึกตัวว่าทุกอย่างที่เขียนไปมันไม่ใช่เพื่อความฝันของเขาเลย แต่เป็นการทำเพื่อพ่อ เพื่อคนอื่นทั้งนั้น แล้วเขาก็ขีดฆ่าทุกอย่างที่เขียน และเริ่มเขียนใหม่ตามสิ่งที่อยากทำจริงๆ สุดท้ายเขาก็ทำเพื่อตนเอง ทำเพื่อความฝันจนประสบความสำเร็จเหมือนอย่างที่เขียนไว้

ชื่อของวิธีการอาจจะฟังดูหดหู่แต่มันก็เป็นสัจธรรมของชีวิตที่เราต้องยอมรับเรื่องความตาย แต่ก่อนตายเราขอทำอะไรสักหน่อยให้สมกับที่เกิดมาเป็นคน เราลองเขียนกันนะคะ

ตัวอย่าง คำไว้อาลัยให้อภินิหารเงินออม
  • ต้องการให้หนังสือของเราสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อ่านเริ่มต้นและเห็นความสำคัญของการวางแผนการออมเงินเพื่อความสุขระยะยาวมากกว่าความสุขสบายเพียงชั่วคราว
  • บริจาคหนังสือและอุปกรณ์การศึกษาให้โรงเรียนที่ขาดแคลน
  • เป็นวิทยากรที่สร้างแรงบันดาลใจให้คนเห็นความสำคัญของการออมเงิน
ขณะนี้คิดคำไว้อาลัยได้ 3 ข้อ เริ่มต้นทำไปแล้วบ้างใน 2 ข้อแรก ส่วนข้อสุดท้ายนั้นขึ้นอยู่กับโอกาสที่จะได้รับในอนาคต แม้ว่าสิ่งที่เราคิดและเขียนเป็นหนังสือไม่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับทุกคนได้ แต่เราก็รู้สึกมีความสุขที่คนกลุ่มเล็กๆอ่านบทความนี้เริ่มต้นวางแผนการใช้เงิน  เราขอขอบคุณแฟนคลับคนนึงที่บอกเล่าให้เราฟังว่าอ่านบทความของเราแล้วสร้างแรงบันดาลใจอยากออมเงินมากขึ้น แค่นี้เราก็รู้สึกดีอย่างบอกไม่ถูก

เรารู้สึกโชคดีที่ค้นหาตัวตนของตนเองเจอว่าเราชอบทำอะไร รู้ว่าตนเองอยากทำอะไร มีความเชื่อและแรงบันดาลใจที่ทำเพื่ออะไรบนเส้นทางที่เราเลือกเอง ซึ่งตัวตนของเราสะท้อนอยู่ในบทความทั้งหมดที่เราเขียน วิธีค้นหาตัวตนของเรานั้นมาจากประสบการณ์ส่วนตัวที่ไม่คาดคิดว่าจะเจอ มันเป็นประสบการณ์เฉียดความตาย

จุดเริ่มต้นของการค้นหาเกิดขึ้นในช่วงที่เรียนปริญญาตรีได้ไปเที่ยวกับเพื่อนที่เีรียนด้วยกันเกือบสิบคนนัดกันไปขับเจ็ทสกี เราไปเจอเพื่อนเกือบ 5 โมงเย็น ตอนนั้นอากาศก็เริ่มมืด เราก็ไปเปลี่ยนเสื้อผ้าเตรียมจะเล่นเพราะถ้าเย็นกว่านี้อาจจะมองอะไรไม่เห็น  เหตุการณ์อย่างกับในละคร พอคิดจะลงเล่นน้ำเท่านั้นแหละแม่ก็โทรมาบอกว่า "อย่าเล่นน้ำนะลูกเพราะพระเตือนไว้ว่าจะมีอุบัติิเหตุทางน้ำ" เพื่อความสบายใจของแม่เราจึงตอบกลับไปว่า "จ้าแม่ ไม่เล่นน้ำจ๊ะ" ฮึฮึ เตรียมตัวมาขนาดนี้จะไม่เล่นได้อย่างไร แล้วเราก็ลงไปเล่นรอบแรกก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นและคิดว่าแม่คิดมากเกินไป เราพักเหนื่อยและกินเติมพลังก่อนลงเล่นรอบสองบังเอิญว่าเพื่อนอยากนั่งไปด้วยก็เลยนั่งกันไป 3 คน(เพื่อนเป็นคนขับ) ช่วงเข้าโค้งเตรียมที่จะเลี้ยวกลับเจ๊ทสกีพลิกคว่ำเหตุจากคนเยอะเกินไป เพื่อนสองคน 2 คนกระเด็นออกไปจากเจ็ทสกีได้ แต่เราติดอยู่ใต้เบาะเจ๊ทสกีที่คว่ำนั่นแหละ

ประเด็นอยู่ที่ว่าเราว่ายน้ำไม่เป็น อาการช่วงนั้นคงไม่ต้องบอกว่ากลัวมากแค่ไหนที่คนว่ายน้ำไม่เป็นจมน้ำและกำลังหายใจไม่ออก สมองเราเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า "เรากำลังจะตายอยู่สระน้ำนี้จริงๆหรอ" คำตอบที่ดังอยู่ในหัวตอนนั้นและจำได้จนถึงตอนนี้คือ "แกจะตายไม่ได้เพราะยังไม่ได้ทำในสิ่งที่อยากทำสักอย่าง จะมาตายง่ายๆแบบนี้ได้ยังไง" แล้วเราก็รวบรวมสติเพื่อนึกภาพว่าเราอยู่ส่วนไหนของเบาะและมุดหัวออกมา เพื่อนก็ดีใจที่หาเราเจอ พอขึ้นมาข้างบนเล่าเหตุการณ์ให้เพื่อนฟังก็ขำๆได้เพราะรอดมาได้ละนิ แต่ตอนจมน้ำขอสารภาพว่ามันไม่ขำเลยจริงๆ ทำให้เราคิดว่าพระทำนายแม่นหรือเราไม่ระวังตัวกันแน่จึงเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น

จากเรื่องนี้ก็ทำให้แนวความคิดของเราในการเลือกทางเดินของชีวิตเปลี่ยนไป จากสิ่งที่แม่เลือกให้กลายเป็นเส้นทางที่เราเลือกเอง คำแนะนำของแม่ก่อนที่เราจะเลือกเส้นทางเดินของตัวเอง(ขอบคุณที่น้องชายช่วยแม่ทำงานอยู่ที่บ้านไม่อย่างนั้นเราคงออกมาผจญภัยนอกบ้านไมไ่ด้) เช่น
  • ทำงานเป็นข้าราชการเพราะความมั่งคงของรายได้ช่วงวัยเกษียณ
  • การทำธุรกิจโต๊ะจีนเพื่อสืบทอดกิจการของแม่ที่ปูทางไว้แล้วเราจะได้ไม่ต้องเริ่มต้นใหม่ 
  • ทำอาชีพค้าขายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เมลามีนของบริษัทศรีไทยซุปเปอร์แวร์เพราะแม่ทำงานมา 25 ปี ก็มีฐานลูกค้าไว้แล้ว เราก็เข้าไปทำงานต่อ
ตัวเลือกที่มีเราสามารถทำได้เพราะเป็นงานที่ทำมาตั้งแต่เด็กๆ แต่ดูเหมือนว่าชีวิตไม่ค่อยมีรสชาติและเราไม่อยากตายทั้งเป็นกับงานที่เราไม่ชอบ จึงตัดสินใจมาผจญภัยในเมืองกรุงเพื่อพิสูจน์ให้แม่เห็นว่าเรายืนด้วยขาของเราได้เพราะรู้ว่า "เรามีชีวิตอยู่ไปเพื่ออะไร" แล้วตอนนี้สิ่งที่เราหวังไว้ค่อยๆเป็นจริงทีละอย่างแล้ว อิอิ

ถ้าเรามีความมุ่งมั่นและมีแรงบันดาลใจก็สามารถทำทุกอย่างสำเร็จได้ เหมือนกับการมีจุดมุ่งหมายในการออมเงิน ถ้าเรามีจุดเริ่มต้นเมื่อไหร่วิธีการก็จะตามมาเอง แนวความคิดเรื่องการออมเงินของแต่ละคนนั้นมีจุดเริ่มต้นแตกต่างกัน  เคยถามตนเองไหมว่า "รู้ทั้งรู้ว่าการออมเงินมีประโยชน์แล้วทำไมไม่ทำ" เราจึงเริ่มค้นหาคำตอบจากการสัมภาษณ์คนรอบข้างเพื่อจะได้รู้ว่าทำไมถึงไม่อยากออมเงิน ซึ่งคนส่วนใหญ่จะให้เหตุผล ดังนี้
  • บางคนได้เงินเดือนมาแล้วก็ไม่คิดจะเก็บ ได้มาเท่าไหร่ก็ใช้จนหมดหรือใช้เกินเงินที่หาได้ เพราะคิดว่าเดี๋ยวก็หาเงินใหม่ได้ หาเงินได้เยอะก็ต้องใช้ให้คุ้มกับที่เหนื่อยมาสักหน่อยหรือมองว่าการออมเงินมันยากเกินไป ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร พฤติกรรมแบบนี้จะยังคงอยู่ต่อไปจนกระทั่งถึงจุดเปลี่ยนที่ทำให้เริ่มต้นออมเงิน คือ ช่วงตกงาน ถ้าใครหางานใหม่ได้เร็วก็โชคดีไป แต่ถ้าตกงานเกินกว่า 3 เดือนจะเิริ่มกระวนกระวายละว่าจะทำอย่างไรดี เงินทองที่เก็บไว้ก็จะหมด บ้านและรถยนต์ที่ผ่อนอยู่กำลังจะถูกยึดเพราะไม่ส่งค่างวด จุดเปลี่ยนในชีวิตแบบนี้มองดูผิวเผินแล้วแย่เพราะเจอแต่ปัญหา แต่ถ้ามองดีๆแล้วถือเป็นโอกาสอันดีที่ทำให้เราปรับแนวคิดการใช้ชีวิต คิดได้และเริ่มวางแผนการใช้เงิน
  • สำหรับคนที่มีพ่อแม่คอยหนุนหลัง เวลาเดือดร้อนเรื่องเงินก็ไปยืมที่พ่อกับแม่ จึงไม่คิดจะเก็บเงินเอง จุดเปลี่ยน คือ ตอนที่ตู้ ATM ของเราไม่มีให้กดนั่นแหละเราจะทำอย่างไร ไม่กลัวท่านจะลำบากตอนเกษียณกันบ้างรึ 
  • บางคนที่กำลังจะสร้างครอบครัว จากก่อนหน้านี้อยู่คนเดียวจะทำอะไรก็ได้ ไม่มีเงินเหลือเก็บ ต้องเริ่มคิดและเริ่มวางแผนมากขึ้นว่า เพราะจุดเปลี่ยนที่ทำให้เริ่มออมเงิน คือ ช่วงที่มีลูก เพราะต้องเริ่มวางแผนแล้วว่าจะต้องเก็บเงินให้ลูกเท่าไหร่ ค่าเรียน ค่าอาหาร และอีกสารพัดปัจจัยที่ทำให้ชีวิตครอบครัวอยู่รอด เราเชื่อว่าความรักชนะทุกสิ่งก็จริง แต่ความรักในครอบครัวเริ่มลดน้อยลงถ้าเราไม่มีเงินซื้อข้าวกิน หลายครั้งที่การทะเลาะเบาะแว้งในครอบครัวนั้นเกิดจากการขาดวินัยทางการเงิน ดังนั้นควรตกลงให้ดีตั้งแต่ก่อนแต่งงานว่าจะมีวิธีเก็บเงินกันอย่างไร



"ถ้าเรารู้ว่าจุดจบอยู่ที่ไหน
ก็จะรู้ว่าเราจะเริ่มต้นอย่างไร"


บทความน่าสนใจ

บันไดขั้นแรกของความมั่งคั่ง
==> http://pajareep.blogspot.com/2013/12/blog-post_26.html

จดบันทึกเพื่อให้เงินหมดช้าลง
==> http://pajareep.blogspot.com/2014/01/blog-post.html

เปลือกนอกที่หลอกตา
==> http://pajareep.blogspot.com/2013/12/blog-post.html

วิธียืมเงินเพื่อนที่ได้เงินชัวร์ๆ
==> http://pajareep.blogspot.com/2013/11/blog-post_26.html







วันพุธที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

งดเหล้า เลิกบุหรี่ สุขภาพดีและมีเงินออม



ตอนนี้กำลังหาแรงบันดาลใจเพื่อเริ่มเขียนพ๊อกเก็ตบุ๊คเล่มใหม่ อยากรู้ว่าอะไรที่ทำให้คนเราเลือกที่จะใช้ชีวิตเรื่อยเปื่อยปล่อยไปตามความรู้สึกหรือมุ่งมั่นเอาชนะเพื่อทำตามความฝัน คุณเชื่อไหมว่าเวลาที่เรานึกถึงอะไร สิ่งนั้นก็จะผ่านมาให้เห็นบ่อยๆ ซึ่งครั้งนี้เราก็เจอแรงบันดาลใจรูปแบบใหม่ เป็นแรงบันดาลใจจากสุดยอดจิตอาสา ในวันอาทิตย์ที่ผ่านมาเราก็เปิดทีวีกดแต่ละช่องไปเรื่อยๆไม่รู้จะดูอะไร บังเอิญเปิดมาเจอช่อง NBT (ช่อง 11 เดิม)และเห็นรายการปฏิบัติการข่าวดีกำลังนำเสนอเรื่อง ยมทูตต่อชีวิต โดยลุงพล บุญสาร ที่แต่งตัวเป็นยมทูตรณรงค์งดดื่มเหล้า เรื่องราวที่เราสนใจอยู่ตรงที่ว่า "ลุงพลทำไปเพื่ออะไร" (ภาพคุณลุงและวีดีโอของรายการจะอยู่ในส่วนด้านล่างของบล็อกนี้ค่ะ)

ลุงพลอายุ 70 ปี เป็นนักดื่มเหล้ามาเกือบ 30 ปี จนกระทั่งปี 2548 เข้าโครงการงดเหล้าเข้าพรรษากับ สสส. จนเลิกเหล้าได้อย่างเด็ดขาดในปี 2549 (เก่งจังปีเดียวเลิกได้) ลุงพลแต่งตัวเป็นยมทูตรณรงค์งดเหล้ามาแล้ว 6 ปี ทุกเช้าจะออกจากบ้านพร้อมกับมอไซด์คู่กายอายุ 20 ปีไปแจกสติ๊กเกอร์ในชุมชนให้คนงดดื่มเหล้า ถ้าวันไหนเจอเด็กๆก็จะสอนไปด้วยว่าการดื่มเหล้ามันไม่ดีอย่างไร ถ้าไม่อยากให้ยมทูตนำตัวพ่อกับแม่(ที่ดื่มเหล้า) ไปก็ต้องบอกให้เลิกเหล้า การรณรงค์นี้ลุงไม่ได้รับค่าตอบแทนเป็นตัวเงินแต่เป็นความรู้สึกดีที่ทำให้คนเลิกดื่มเหล้า หรือแค่ดื่มลดลงได้ลุงก็ดีใจแล้ว

คุณลุงมีความมุ่งมั่นและตั้งใจที่อยากให้คนในชุมชนงดดื่มเหล้า จะทำไปเรื่อยๆจนกว่าจะหมดแรงเดิน (สุดยอดจิตอาสาจริงๆ) มาถึงตรงนี้อยากทราบแล้วใช่ไหมค่ะว่าคุณลุงมีรายได้เท่าไหร่ถึงมีจิตอาสาได้ขนาดนี้ รายได้ลุงมาจากการเป็น อสม. 600 บาทกับเงินของผู้สูงอายุ 700 บาท สรุปรวมแล้วเดือนละ 1,300 บาท!! (แม้เงินไม่เยอะแต่ใจคุณลุงหล่อมากค่ะ) ค่าใช้จ่ายจะมีแต่เรื่องเสื้อผ้าที่ต้องซ่อมชุดยมทูตเพื่อใช้ในการรณรงค์ ค่าอาหารก็กินไม่เยอะส่วนใหญ่เป็นผักริมรั้ว แม้คุณลุงไม่ได้ร่ำรวยด้วยทรัพย์สินเงินทอง แต่เป็นคุณลุงมั่งคั่งและร่ำรวยความสุขจากการให้โดยแท้จริงซึ่งแม้แต่เงินก็ซื้อความสุขแบบคุณลุงไม่ได้ ผลของการทุ่มเทกับการเป็นจิตอาสารณรงค์เลิกเหล้านี้ทำให้คนในชุมชนบางส่วนสามารถเลิกเหล้าได้ มีเงินเหลือเก็บ มีเงินซื้อเครื่องมือในการประกอบอาชีพ ประหนึ่งว่าเหมือนได้ชีวิตใหม่กลับมา

คำพูดที่ใช้รณรงค์ก็มีหลายรูปแบบ เช่น
  • ถ้าเลิกเหล้า 3 เดือนจะได้โทรทัศน์ 1 เครื่อง
  • ถ้าเลิกเหล้า 9 เดือนจะซื้อมอไซด์ได้ 1 คัน
  • เหล้าคือปีศาจทำลายชีวิตผู้ดื่มได้ทุกรูปแบบ ถ้าไม่หยุดวันนี้คุณจะเป็นผีในวันหน้า
  • เงินพ่อลงขวดเหล้าแล้วใครจะซื้อข้าวให้หนูกิน
  • โตมาด้วยน้ำนม อย่าเสียคนด้วยน้ำเมา
  • เมาแล้วขับกลับไม่ถึงบ้าน ง่วงแล้วขับหลับไม่ตื่น เมาแล้วซิ่งกลิ้งกลางถนน
  • ชีิวิตใหม่ไร้แอลกอฮอล์
สำหรับบางคนมองว่าการดื่มเหล้าและสูบบุหรี่นั้นทำไปเพื่อเข้าสังคม อีกทั้งเป็นรายจ่ายที่มาจากเงินของตน คนอื่นไม่ควรมายุ่งเพราะมันเป็นเรื่องส่วนตัว ประเด็นมันไม่ได้อยู่ที่เงิน แต่มันอยู่ที่จิตสำนึกมากกว่า ขณะที่คุณเมาแลัวขับรถและบังเอิญประสบอุบัติเหตุชนผู้อื่นเสียชีวิต แบบนี้ก็เป็นการสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น หรือการสูบบุหรี่ที่คุณสูบคนเดียวแต่ควันมันลอยไปเข้าจมูกคนที่ไม่สูบด้วย มันคงไม่ยุติธรรมสำหรับคนไม่สูบสักเท่าไหร่ที่ต้องมาเป็นโรคทั้งที่ไม่ได้สูบเอง ถ้าเราเจอคนสูบบุหรี่ที่ป้ายรถเมล์หรือที่สาธารณะที่จิตใต้สำนึกควรรู้อยู่แล้วว่าห้ามสูบ แต่หยิบบุหรี่มาสูบหน้าตาเฉย ให้เรารีบเดินผ่านแล้วทำท่าปัดควันบุหรีหรือบีบจมูกให้เห็นกันไปเลยว่าเรารังเกียจแค่ไหน อย่างน้อยก็น่าจะกระตุกต่อมความละอายของเค้าบ้าง ซึ่งเราก็ใช้วิธีนี้เหมือนกันแต่บางครั้งเราทนไม่ได้เพราะจำเป็นต้องอยู่ตรงนั้นและเค้าก็ยืนสูบบุหรี่คุยกันอย่าสบายอารมรณ์ เราก็แค่เดินเข้าไปบอกอย่างสุภาพว่า "รบกวนไปสูบบุหรี่ที่อื่น เพราะตรงนี้ต้องทำงานค่ะ" ณ จุดนี้เค้าก็รีบทิ้งก้นบุหรี่เดินออกไปทันที อย่าได้กลัวเพราะเป็นสิทธิ์ที่เราเลือกได้ที่จะไม่สูดควันบุหรี่เข้าไป

ความคิดที่เข้าสังคมโดยใช้เหล้าและบุหรี่นั้นสามารถมีได้ เช่น ถ้าเราไม่ทำแบบนั้นเพื่อนเลิกคบ (แต่ถ้าเมาจนเงินหมดเพื่อนจะยังคบอยู่ไหม) ควรจำกัดตนเองให้อยู่ในความพอดี อย่ารักสังคมแบบนั้นมากเกินไปจนกระทั่งทำให้ร่างกายของเราเสียสุขภาพ เพราะเมื่อเราป่วยจนต้องเข้ารักษาโรคตับแข็ง มะเร็งปอด หรือโรคอื่นๆ เพื่อนในสังคมที่เรานัดกินเหล้ากันทุกวันศุกร์หรือนัดสูบบุหรี่เผาปอดที่ลานจอดรถก็ไม่ได้ร่วมเจ็บปวดและจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้กับเราด้วย เงินของเราทั้งนั้นที่จ่ายเพื่อรักษาตนเอง นอกจากเสียสุขภาพแล้วเงินออมยังไม่เหลืออีกด้วย


ถ้าเปลี่ยนจากเงินลงขวดเหล้าหรือเงินที่ซื้อบุหรี่เผาปอดเป็นเงินออมจะได้เท่าไหร่ ปกติคุณใช้เงินกับสิ่งเหล่านี้ครั้งละไม่มาก เพราะทะยอยจ่าย แต่ถ้าเราลองจดเล่นๆดูซิว่าแต่ละครั้งเท่าไหร่ แล้วรวมเป็นค่าใช้จ่ายต่อเดือนและต่อปีเป็นเท่าไหร่ นั่นแหละ....เงินออมของเรา

  ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 19 ก.ย. 56 (http://bit.ly/18cvaH1)

จากข้อมูลข้างต้นเราลองคำนวณคร่าวๆว่า ถ้าปีนึงเราดื่มสัปดาห์ละครั้งจะเสียเงินออมของเราลงขวดไปแล้วเท่าไหร่ เช่น สมมติสุราราคาขวดละ 240 บาท คูณ 52 สัปดาห์จะเป็นจำนวนเงิน 12,480 บาท ไม่น่าเชื่อว่าเงินจำนวนแค่ 12,480 บาทจะทำให้เราเป็นโรคมะเร็งตับที่ต้องใช้เงินรักษาึถึงหลายแสนบาท(หรือมากกว่านั้น)ในอนาคต เราลองคิดโดยที่ไม่ต้องใช้รอยหยักในสมองมากมาย

คำถามสั้นๆว่า "มันคุ้มไหม"

===============================================================

รายการดีๆที่อยากให้ติดตามใน Facebook


หน้าตาของลุงพลก่อนและหลังที่แต่งกายเป็นชุดยมทูต ซึ่งจะมีคำพูดประจำว่า "เหล้าคือปีศาจทำลายชีวิตผู้ดื่มได้ทุกรูปแบบ ถ้าไม่หยุดวันนี้คุณจะเป็นผีในวันหน้า" โดยจะแต่งชุดยมทูตไปแจกสติ๊กเกอร์ในชุมชน เช่น ตลาด บ้าน ร้านค้า



ข้อความบนสติ๊กเกอร์นำไปแจกคนในชุมชนด้วยมอไซด์คู่ชีพที่ตกแต่งด้วยสติ๊กเกอร์รอบคัน จากในภาพก็จะเห็นสภาพบ้านของคุณลุงที่มีรั้วเป็นสังกะสี


ข้อความชักจูงให้คนเลิกเหล้าว่าจะเหลือเงินไปทำอย่างอื่น(ที่ไม่ใช่เย็นมาก็ลงขวด) มีหลายบ้านที่ทำสำเร็จแล้วมีชีวิตใหม่ ครอบครัวรักกันมากขึ้น มีคนคุยด้วยมากขึ้น หรือบางบ้านก็เก็บเงินซื้อรถไถใช้ในการประกอบอาชีพ ทำให้ครอบครัวมีรายได้มากขึ้น



เราอยากให้คุณดูแรงบันดาลใจของลุงพลให้จบ เพื่อจะได้ตอบคำถามว่า "เราเกิดมาทำไม"


วันจันทร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2556

สร้างแรงบันดาลใจเป็นตัวเลข



เชื่อว่าคุณวิกรมเป็นแรงบันดาลใจของใครหลายๆคนซึ่งรวมทั้งเราด้วย หลังจากเห็นโพสใน facebook ว่าคุณวิกรมจะมาแจกลายเซ็นในงานหนังสือเวลา 13.00 - 15.00 น. พอเสร็จธุระแล้วเราก็รีบมางานหนังสือทันที โชคดีที่มาทันเลยได้เจอตัวจริง ตื่นเต้นจนพูดผิดๆถูกๆ คุณวิกรมแจกลายเซ็นแล้วก็ถ่ายรูปคู่กับทุกคน พอถึงคิวเราที่ 166 (เราต่อแถวรอคิว 3 คน) ก็ยื่นหนังสือให้คุณวิกรมก็ถามว่าเราชื่ออะไร พอเราพูดชื่ออภินิหารเงินออมค่ะ เค้าก็หัวเราะนิดๆประมาณว่าชื่อนี้คิดได้ยังไง เราบอกว่าเราเป็นบล็อกเกอร์เขียนเรื่องการออมเงินเลยใช้ชื่่อนี้และอยากเป็นนักเขียนที่เก่งเหมือนคุณวิกรมด้วย ขอบอกว่าตื่นเต้นมาก พอถ่ายรูปเสร็จแล้วก็รีบเดินออกมาเพราะคนมารอคิดเยอะมาก จนลืมดูว่าเขียนชื่อเราไม่ครบ ไม่เป็นไรคราวหน้าซื้อหนังสือแล้วค่อยขอลายเซ็นใหม่ 

เราชอบแนวคิดของคุณวิกรมตั้งแต่ดูรายการที่นี่หมอชิตและติดตามผลงานมาตลอด ทำให้คิดตลกๆว่าถ้าได้ติดตามอยู่ในกองคาราวานไปดูวิถีชีวิต การดำเนินชีวิตในประเทศต่างๆคงสนุกและได้อะไรเยอะมากเพื่อมาเขียนหนังสือ การที่เราได้เจออะไรแปลกใหม่ ทำสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อนนั้นจะทำให้ชีวิตมีสีสัน และได้ไอเดียแปลกใหม่ในการดำเนินชีวิต แม้เราชอบการเดินทางแต่งบประมาณมีจำกัด ดังนั้น ตอนนี้เราต้องอยู่กับความจริงไปก่อน เพราะการสร้างฝันกับความจริงมันต้องไปด้วยกัน ก็เหมือนกับการเลือกทำงานว่าเรียนจบแล้วจะทำงานอะไรดี บางคนมีความฝันอยากจะทำหลายอย่างแต่ไม่มีงบประมาณหรือบางคนทำตามความฝันหลายอย่างจนไม่เป็นชิ้นเป็นอันสักอย่าง วิธีตัดสินใจว่าจะเลือกอาชีพอะไรนั้นควรจะเริ่มต้นที่ภาระทางครอบครัวว่าเราต้องแบกรับอะไรไว้บ้าง เช่น
  • ถ้าเราไม่ต้องเป็นเสาหลักของบ้านในการหาเลี้ยงครอบครัว รายได้ที่ได้มาก็ใช้ส่วนตัวและแบ่งให้พ่อแม่ตามความเหมาะสม ลักษณะนี้เราสามารถทำตามความฝันของเราได้ด้วยความสบายใจ เช่น ถ้าเรามีความฝันแล้วไม่มีงบประมาณก็อาจจะเขียนโครงการในฝันออกมาเป็นรูปธรรมแล้วเสนอไปยังกองทุนที่สนับสนุนเพื่อทำให้เป็นจริงต่อไป  
  • แต่ถ้าเราเป็นหลักให้กับครอบครัว ภาระรายจ่ายทุกอย่างเราต้องรับผิดชอบ ลักษณะนี้ก็อาจจะลำบากสักนิดนึงที่จะวิ่งตามความฝันของตนเอง เพราะเราต้องทำงานที่มีรายได้มาจุนเจือครอบครัวเราก่อน ถ้ามีความมั่นคงระยะหนึ่งแล้วก็เจียดเวลาเพื่อทำตามความฝัน เพราะถ้าเรามุ่งมั่นทำตามความฝันที่ไม่รู้จะเป็นจริงได้เมื่อไหร่ ในขณะที่เราเป็นเสาหลักของบ้านแบบนี้ครอบครัวอาจจะขาดความมั่นคงก่อนที่เราจะทำฝันสำเร็จก็ได้
สำหรับบางคนที่ยังไม่รู้ว่าตนเองชอบอะไรหรืออยากทำอะไรแล้วปล่อยชีวิตไปเรื่อยๆนั้นแสดงว่าเราเริ่มขาดแรงบันดาลใจในการดำเนินชีวิต ซึ่งวิธีสร้าแรงบันดาลใจในแต่ละด้านมีหลายรูปแบบ เช่น จากบุคคลที่ประสบความสำเร็จ จากดาราที่เราชื่นชอบ จากประวัติการสู้ชีวิตของผู้พิการ(เช่น Nick Vulicic ผู้พิการแขนขา) เป็นต้น ใครชอบแบบไหนก็เลือกได้ตามถนัด แต่ถ้าดูแล้วยังไม่ได้ผลจุดไฟให้แรงบันดาลใจไม่ได้ เราก็มีทางเลือกอีกหนึ่งทางที่ลองคิดขึ้นมาเพื่อทดลองดูว่าจะสร้างแรงบันดาลใจให้กับเพื่อนของเราโดยการคิดแรงบันดาลใจออกมาเป็นตัวเลข

เรื่องมีอยู่ว่าเราอยากจะเขียนพ็อกเก็ตบุ๊คเล่มใหม่ก็ลองปรึกษากับ บก.ว่าจะเขียนเกี่ยวกับอะไรดี เพราะแนวที่อยากเขียนสำนักพิมพ์เค้าไม่รับ(หากเขียนตามความฝันก็อาจจะไม่มีข้าวกิน กลายเป็นนักเขียนไส้แห้งไปจริงๆ งั้นเราควรเลือกอยู่กับความจริงโดยเขียนตามความต้องการของตลาด) สรุปว่าเขียนเกี่ยวกับมนุษย์เงินเดือนเพราะเป็นเรื่องใกล้ตัวเรามากที่สุด อุดมการณ์ในการเขียนก็ยังอยู่ครบ จากนี้ไปก็เป็นเรื่องของการหาข้อมูลในการเขียน บางคนมองว่าแค่เราไปอ่านของคนที่เคยเขียนอยู่แล้วมาพัฒนาต่อยอดแค่นี้ก็เขียนได้ละ ฮีฮึ!! ชีวิตมันไม่ง่ายขนาดนั้น เพราะถ้าไปอ่านของคนอื่นเราก็จะติดกรอบความคิดของคนนั้น ความเป็นตัวตนของเราก็จะหายไป ดังนั้น เราควรต้องคิดใหม่ขึ้นเองโดยไม่อ่านของเดิมซึ่ง บก.ก็คิดเหมือนกัน และอีกคำถามที่ตามมาก็คือ แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่าสิ่งที่เราเขียนจะซ้ำกับของเดิมรึเปล่า นั่นแหละเป็นความท้าทายที่จะทำยังไงให้แตกต่างโดยไม่อ่านของเดิม

จากความคิดที่เป็นอากาศแล้วไม่รู้จะเริ่มยังไงกลายมาเป็นความสนุกที่ต้องลุ้นว่าเล่มนี้จะเขียนรอดไหม เราเริ่มต้นที่การสัมภาษณ์มนุษย์เงินเดือนรอบข้าง คิดว่าควรถามต่างอาชีพ ต่างวัยจำนวน 40 คนขึ้นไปน่าจะเริ่มเขียนได้ จากคนแรกที่สัมภาษณ์เพียง 10 นาทีแล้วจบเพราะไม่รู้จะถามอะไร กลายมาเป็นคำถามที่มากขึ้นกับเวลา  1 ชั่วโมงกว่าจะสัมภาษณ์จบ แล้ววิธีการคิดแรงบันดาลใจเป็นตัวเลขก็เกิดขึ้น ซึ่งแรงบันดาลใจในที่นี้เกี่ยวกับการเริ่มต้นออมเพื่อที่จะมีเงินใช้ถึงวัยเกษียณ บังเอิญเพื่อนสนิทที่เราสัมภาษณ์นั้นมีวินัยการออมเงินที่ดีมาก เก็บเงินเก่ง ไม่มีภาระครอบครัว ประเด็นอยูที่ว่าเก็บแต่ฝากออมทรัพย์กับฝากประจำซึ่งนับวันดอกเบี้ยยิ่งน้อยลงทุกที แล้วแบบนี้เงินจะงอกเงยแซงเงินเฟ้อได้อย่างไร (ขออนุญาตคุณเพื่อนที่นำมาเป็นกรณีศึกษา ทั้งนี้เพื่อเป็นความรู้ให้แก่คนอื่นๆนะจ๊ะ) เพราะเราอยากรู้ว่าทำไมคนถึงไม่นำเงินไปลงทุน เค้ากำลังคิดอะไรและจะมีวิธีปรับวิธีคิดเค้าได้อย่างไรบ้าง เป็นประเด็นที่น่าสนใจมาก

ก่อนจบการสัมภาษณ์เราฝากให้เพื่อนอ่านบทความและดูภาพประกอบในบล็อกก่อนหน้านี้(ตามภาพข้างล่าง)และคำถามให้คิด  3 ข้อ คือ
  1. ถ้าเราต้องเตรียมเงินให้พ่อกับแม่เพื่อดูแลสุขภาพของท่านต้องเตรียมเงินเท่าไหร่และเก็บเงินเผื่อส่วนนี้แล้วรึยัง
  2. ถ้าสมมติเราเป็นโสดต้องเตรียมเงินดูแลสุขภาพตนเองหลังเกษียณเท่าไหร่และเก็บเงินเผื่อส่วนนี้แล้วรึยัง 
  3. ถ้าเราแต่งงานมีลูกแล้ววาระสุดท้ายลูกพึ่งพาไม่ได้ เราจะเตรียมเงินไว้ดูแลตนเองเท่าไหร่และเก็บเงินเผื่อส่วนนี้แล้วรึยัง
เราอยากรู้ว่าวิธีสร้างแรงบันดาลใจเกี่ยวกับจำนวนเงินที่ต้องใช้จ่ายดูแลสุขภาพในวัยเกษียณจะทำให้เพื่อนเราศึกษาวิธีออมเงินแบบอื่นได้ไหม ถ้าใช้ได้ผลดีก็คงมีอะไรไปเขียนบ้าง แต่ถ้าใช้ไม่ได้ผลคงต้องลองวิธีใหม่ หากผู้อ่านนำไปใช้ได้ผลอย่างไร หรือมีคำแนะนำเพิ่มเติมรบกวนส่งเมล์บอกกล่าวกันได้นะคะ ยินดีรับทุกคอมเม้นค่ะ ^_^

อ่อ....อ่านจบแล้วคุณอย่าลืมตอบคำถาม 3 ข้อ ข้างต้นกับตนเองด้วยนะคะ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจที่จะออมเงินใช้ในวัยเกษียณค่ะ




บทความน่าสนใจ

งดเหล้า เลิกบุหรี่ สุขภาพดีและมีเงินออม 
==> http://pajareep.blogspot.com/2013/11/blog-post.html




วันอังคารที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ภาพรวมของการวางแผนทางการเงินส่วนบุคคลมี 5 แผน



จากประสบการณ์การทำงานในส่วนของที่ปรึกษาการลงทุน(ชื่อตำแหน่งที่เปลี่ยนมาจาก "เจ้าหน้าที่การตลาด" ซึ่งเปลี่ยนชื่อแล้วก็ทำหน้าที่เหมือนเดิมคือ ดูแลลูกค้าเทรดหุ้นกับอนุพันธ์) ทำให้เจอกับคนที่หลากหลาย ลักษณะนิสัยที่แตกต่างกันออกไป แต่มีสิ่งหนึ่งที่ทุกคนเป็นเหมือนกันคือ ความกลัว การทำให้ลูกค้าคลายความกังวลหรือกลัวตลาดหุ้นน้อยลงก็เป็นหนึ่งในหน้าที่ของเรา ส่วนใหญ่แล้วเราอธิบายให้ลูกค้าเข้าใจถึงภาพรวมตลาดก่อนแล้วค่อยเจาะหุ้นรายอุตสาหกรรมที่เป็นผลดีต่อภาพรวมนั้น เหตุการณ์ชัดเจนที่สุด คือ การเติบโตของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงโลกเร็วมาก(ภาพรวมตลาด) ดังนั้นอุตสาหกรรมที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะเป็นหุ้นกลุ่มสื่อสาร ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต ผู้วางระบบ (เจาะหุ้นรายอุตสาหกรรม) และเราก็มาเลือกหุ้นรายตัวศึกษาธุรกิจให้เข้าใจก่อนลงทุน

ตัวอย่างเหตุการณ์ประมูล 3G  หลังจากมีข่าวการประมูลออกมาก็ทำให้หุ้นที่มีส่วนได้ประโยชน์นั้นถูกเก็งกำไรปรับตัวขึ้นมาก พอการประมูลนั้นถูกยกเลิกทำให้มีชาวดอยจำเป็นเกิดขึ้นมากมาย และเมื่อมีข่าวการประมูลเกิดขึ้นอีกครั้งลูกค้าเรากลัวว่าจะยกเลิกการประมูลเหมือนคราวที่แล้ว ถ้าซื้อหุ้นแบบนั้นราคาอาจจะตกลงอีก ส่วนตัวเชื่อว่าเหตุการณ์นั้นจะไม่เกิดขึ้นอีกเพราะผลประโยชน์จากการประมูลได้มากกว่าการยกเลิก อีกทั้งประเทศเพื่อนบ้านของเราไปถึง 4G แ้ล้วเราจะยอมได้อย่างไร เราชอบอธิบายด้วยการตั้งคำถามมากกว่าการอธิบายว่าทำไมถึงต้องประมูลเพราะคำตอบมันก็อยู่ในคำถามนั้นแล้ว อ่านไปอ่านมาอาจจะงงเรายกตัวอย่างสั้นๆที่ชอบคุยกับลูกค้าให้ดูละกันนะคะ
  • คุณคิดว่าถ้าไม่มีการประมูลครั้งนี้ประเทศเราจะเป็นอย่างไร โดยที่ประเทศลาวมี 4G ใช้แล้ว? 
  • คุณคิดว่า SCB คิดอะไรอยู่ถึงปล่อยกู้ให้กับ TRUE เพื่อเป็นเงินทุนในการวางระบบรองรับ 3G ทั้งที่ TRUE ยังขาดทุนและมีหนี้สินมากมาย? 
  • ถ้าลูกค้ายังกลัวอยู่เราก็จะใช้คำถามสุดท้ายว่า "คุณคิดว่าถ้าไม่มีการประมูล 3G ในประเทศไทยใครจะเสียหายมากกว่ากันระหว่างประเทศไทย, ธนาคารที่ปล่อยกู้หรือนักลงทุนอย่างพวกเรา" 
สรุปว่าลูกค้าส่วนใหญ่มีหุ้นสื่อสารสักตัวในพอร์ต มากบ้างน้อยบ้างขึ้นอยู่กับความกังวลส่วนตัว

การอธิบายให้ลูกค้าเห็นภาพรวมนั้นไม่จำเป็นต้องยกตัวอย่างหุ้นเสมอไป เราชอบใช้ตัวอย่างที่ลูกค้าน่าจะมีประสบการณ์เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น เราเชื่อว่าเกือบทุกคนเคยเห็นภาพวิวบนภูเขา ทั้งที่เดินขึ้นเขาไปสัมผัสด้วยตนเองหรือดูจากรูปถ่าย การมองภาพรวมเหมือนกับการยืนชมวิวทิวทัศน์บนยอดเขา เห็นท้องฟ้าที่กว้างใหญ่ ภาพเหล่านั้นจะเห็นชัดเจนที่สุดบนยอดเขา ไม่ใช่ตีนเขา
  • การมองจากมุมสูงบนภูเขามาที่ข้างล่างจะทำให้เราเห็นภาพรวมของสิ่งต่างๆได้ดีกว่าการมองวิวทิวทัศน์จากพื้นราบที่เชิงเขา  
  • ส่วนการมองที่พื้นราบจะทำให้เราเข้าใจรายละเอียดสิ่งต่างๆรอบตัวได้ดีกว่าการมองลงมาจากมุมสูง 
เรากำลังจะอธิบายถึงการวางแผนการเงินส่วนบุคคลที่บางคนมองว่าเป็นเรื่องเข้าใจยาก เพราะเรามองในรายละเอียดมากเกินไปทำให้เราคิดว่าเป็นเรื่องยาก ซึ่งในความจริงแล้วเราควรเข้าใจว่าภาพรวมมีอะไรบ้างแล้วค่อยเจาะลึกรายละเอียดของแต่ละแผน จากการวางแผนในแต่ละส่วนจะมีลิ้งค์เดิมที่เคยเขียนไว้อธิบายเพิ่มเติมในส่วนท้ายของบทความค่ะ

หลักการวางแผนการเงินส่วนบุคคลแบ่งเป็น 5 แผน ดังนี้


  1. สภาพคล่อง&หนี้สิน ==> เป็นเรื่องเกี่ยวกับงบดุลส่วนตัวของเราว่ามีสินทรัพย์อยู่เท่าไหร่ หนี้สินและความมั่งคั่งเป็นเท่าไหร่ โดยคำนวณจากอัตราส่วนทางการเงิน หัวใจสำคัญของเรื่องนี้อยู่ที่การจดบัญชีรายรับรายจ่าย เพื่อทราบแหล่งที่มาของรายได้และประวัติการใช้จ่ายเพื่อดูพฤติกรรมของเราว่าตัวเราอุดมไปด้วยความมั่งคั่งหรือหนี้สิน เช่น 
    • การสร้างหนี้เพื่อซื้อบ้านถือเป็นการลงทุนเพื่อความมั่งคั่ง แต่ถ้าราคาของบ้านนั้นสูงเกินไปเราผ่อนไม่ไหวก็จะกลายเป็นการก่อหนี้ที่มากเกินความจำเป็น ดังนั้นอาจจะไปซื้อบ้านในราคาที่เราสามารถผ่อนจ่ายได้เพื่อสภาพคล่องไม่ตึงจนเกินไป หรือบางคนก่อหนี้บัตรเครดิตเยอะเกินไปก็ดูได้จากอัตราส่วนทางการเงินในส่วนหนี้สินเพื่อปรับลดพฤติกรรมใช้จ่ายฟุ่มเฟือยก่อนที่ตนเองจะล้มละลาย 
  2. ความเสี่ยงส่วนบุคคล ==> เป็นการวางแผนเพื่อสร้างและรักษาความมั่งคั่งของสินทรัพย์ของเราให้ยั่งยืน ซึ่งลดความเสี่ยงโดยโอนความเสี่ยงนั้นให้กับบริษัทประกันรับผิดชอบ 
    • จากหลักการอาจจะเข้าใจยาก ลองดูตัวอย่างใกล้ตัว เช่น การประกันภัยรถยนต์นอกจาก พรบ.แล้วเราทำประกันภัยรถยนต์ชั้น  1 ,2,3 หรือ 4 เพิ่มเติม แล้วแต่เจ้าของรถยนต์ว่าจะซื้อประกันชั้นไหน พอเกิดรถชนกันก็เรียกประกันมาตรวจความเสียหาย การทำประกันชั้น 1,2,3,4 นั้นเป็นการโอนความเสี่ยงจากเจ้าของรถยนต์ให้บริษัทประกันภัยรับผิดชอบ เมื่อสิ่งของยังมีประกันคุ้มครอง ชีวิตของเราก็สมควรได้รับความคุ้มครองด้วยเช่นกัน (ในวีดีโอคลิปข้างล่างเป็นการสัมภาษณ์นักวางแผนการเงิน เราอยากให้ดูให้จบแล้วตอบคำถามตนเองว่า "ทุนประกันรถยนต์เท่าไหร่และทุนประกันชีวิตของเราเท่าไหร่")  
  3. การลงทุน = => เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับให้เงินช่วยเราทำงานซึ่งดอกผลจะออกมาในรูปแบบของเงินปันผล ดอกเบี้ย โดยจัดพอร์ตการลงทุนตามระดับความเสี่ยงที่เรารับได้ในตราสารทางการเงินหรือการลงทุนในรูปแบบต่างๆเพื่อที่จะได้รับผลตอบแทนที่เราต้องการในอนาคต เช่น
    •  หุ้น กองทุนรวม ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ พันธบัตร หุ้นกู้ ฯลฯ การศึกษาเรื่องการลงทุนนั้นมีมากมายไม่ว่าจะเป็นในอินเตอร์เน็ต หนังสือการลงทุน หลักสูตรการอบรมการลงทุนฟรี ซึ่งนักลงทุนสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลได้ทุกที่ทุกเวลา 
  4. ภาษี&มรดก 
    • เรื่องภาษีเป็นการวางแผนเพื่อลดฐานเงินได้ เพิ่มค่าลดหย่อน เพิ่มเงินที่ได้รับยกเว้นและเพิ่มค่าใข้จ่าย เพื่อเสียภาษีให้น้อยที่สุด ตัวอย่างที่เราชอบนำมาลดหย่อน เช่น
      • การซื้อประกันชีวิต การซื้อกองทุนรวม LTF RMF การบริจาคเงินสนับสนุนการศึกษา เป็นต้น โดยที่แต่ละรูปแบบจะมีเงื่อนไขการหักลดหย่อนแตกต่างกันออกไป ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนก็คือ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มนุษย์เงินเดือนอย่างเรารู้จักกันดี เมื่อเปลี่ยนงานแต่ละครั้งไม่ควรปิดกองทุนและรับเงิน เพราะเงินส่วนนั้นจะมารวมเป็นรายได้ปลายปีซึ่งทำให้เราเสียภาษีสูงขึ้น ดังนั้น เราควรคงกองทุนเดิมไว้เพื่อคงให้อายุงานนานที่สุด จำสั้นๆว่า "เปลี่ยนงาน คงกองทุน"
    • เรื่องมรดกเป็นเรื่องเกี่ยวกับการส่งมอบทรัพย์สมบัติของเราให้แก่ทายาทตามความเหมาะสมเพื่อสืบทอดและพัฒนาให้มีความมั่งคั่งต่อไป ทั้งนี้ควรทำให้เรียบร้อยโดยการเขียนพินัยกรรมก่อนเสียชีวิต มิฉะนั้นแล้วอาจจะกลายเป็นมรดกเลือดก็ได้
  5. การเกษียณ ==>เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการวางแผนเก็บเงินเพื่อใช้ในช่วงเกษียณอายุเพื่อให้คุณภาพชีวิตหลังเกษียณใกล้เคียงกับช่วงชีวิตก่อนเกษียณมากที่สุด 
    • รายละเอียดที่เคยเขียนการวางแผนเกษียณอยู่ในลิ้งค์ส่วนล่างของบล็อกจะไม่อธิบายซ้ำ แต่จะให้ดูเอกสารชุดนึงที่เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายดูแลผู้สูงอายุจากศูนย์ดูแลผู้สูงอายุแห่งหนึ่ง(แถวบ้านเราเอง) แม้ว่าอนาคตเราจะต้องเข้าไปอยู่ในศูนย์นี้หรือไม่ แต่ก็ทำให้เราทราบคร่าวๆเกี่ยวกับรายจ่ายดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ ซึ่งเราอาจจะเป็นลูกหลานที่ต้องจ่ายให้พ่อกับแม่หรืออาจจะเป็นตัวเราเองที่ต้องจ่ายให้ตนเองในสภาวะแบบนั้น เมื่อคุณอ่านจบแล้วรบกวนตอบคำถามว่า "เราควรเก็บเงินเกษียณเท่าไหร่"  


เมื่อเราทราบภาพรวมของการวางแผนการเงินส่วนบุคคลแล้วว่ามีอะไรบ้าง เราลองมาสำรวจตนเองดูซิว่ายังขาดส่วนไหนเพื่อจะได้เติมเต็มรายละเอียดในส่วนนั้นให้ครบถ้วย โดยศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมหรือหาที่ปรึกษาเฉพาะด้านนั้นๆ

ตัวอย่างการวางแผน(ขึ้นอยู่กับเป้าหมายของเราเป็นหลัก)

รูปที่ 1 ภาพรวมของการวางแผน คือ เรามีการวางแผนสภาพคล่อง&หนี้สิน กับ ภาษี& มรดก แสดงว่าเรายังขาดการวางแผนทางด้านความเสี่ยงส่วนบุคคล การลงทุนและการเกษียณ ดังนั้นเราควรเริ่มศึกษารายละเอียดในส่วนที่ขาดหายไปในแต่ละด้าน โดยเริ่มเรียงลำดับความสำคัญของเป้าหมายก่อน เช่น ถ้าอยู่ในช่วงวัยทำงานก็เริ่มศึกษาเรื่องการวางแผนลงทุน ความเสี่ยงส่วนบุคคลและแผนเกษียณ แต่ถ้าอยู่ในวัยใกล้เกษียณก็อาจจะวางแผนการลงทุนที่เสี่ยงมากไม่ได้ ก็อาจจะเน้นที่แผนเกษียณเป็นหลัก เป็นต้น

รูปที่ 1

รูปที่ 2 เรามีการวางแผนทางด้านสภาพคล่อง&หนี้สิน ภาษี&มรดก และการลงทุน โดยที่เน้นหนักทางการลงทุนมากเกินไป โดยเราลืมวางแผนทางด้านความเสี่ยงส่วนบุคคลและการเกษียณ การวางแผนลักษณะนี้อาจจะมีความเสี่ยงมากในกรณีที่สินทรัพย์ที่เราลงทุนเกิดการขาดทุนอย่างหนัก ทำให้เราไม่มีสภาพคล่องนำเงินไปใช้อย่างอื่นหรือเงินลงทุนหายไปเลยก็ได้ ดังนั้นควรแบ่งเงินจากการลงทุนไปวางแผนทางด้านอื่่นๆบ้าง 

รูปที่ 2

รูปที่ 3 เป็นการวางแผนการเงินที่ค่อนข้างสมบูรณ์ เพราะเฉลี่ยให้เท่ากันเกือบทุกส่วน ซึ่งการแบ่งสัดส่วนแต่ละแผนว่าควรมีเท่าใดนั้นขึ้นอยู่กับเป้าหมายของแต่ละคนนะคะ

รูปที่ 3

===============================================================

วีดีโอคลิปสัมภาษณ์การวางแผนการเงินของนักวางแผนการเงิน


===============================================================
ลิ้งค์ที่เกี่ยวข้องจากบทความที่เคยเขียน
  1. สภาพคล่อง&หนี้สิน 
  2. ความเสี่ยงส่วนบุคคล 
  3. การลงทุน 
  4. การเกษียณ 
  5. ภาษี&มรดก